ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #89 : พระองค์หญิงผู้ว้าเหว่ ออกนอกวังไปได้แค่วัด พูดกับชายต้องครองเพศบรรพชิต..

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 202
      4
      29 เม.ย. 59

    พระองค์หญิงยิ่งเยาว์ลักษณ์ฯกับเจ้าน้องร่วมพระมารดา
            ความรักมักจะทำให้สิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้เกิดขึ้นได้เสมอ ความรักทำให้ทั้งกล้าและอ่อนแอ กล้ากระทำความผิดทั้งๆที่รู้ดีว่ามีโทษถึงตาย อ่อนแอที่ปล่อยให้ความรักชักจูงให้ทำในสิ่งที่รู้ดีว่าไม่ควรกระทำ โดยเฉพาะตัวละครทั้งสองฝ่ายในเรื่องนี้น่าจะห่างไกลกันจนยากที่จะสัมผัสกันได้ แต่กลับใกล้ชิดอย่างที่คนอื่นยากจะมีโอกาส
           
           พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชโอรส ๓๙ พระองค์พระราชธิดา ๔๓ พระองค์ ประสูติแต่พระมารดา ๓๔ พระองค์ แต่ก็ทรงรักใคร่พระราชโอรสธิดาเช่นเดียวกันกับสามัญชนที่รักลูก อุ้มชูเชยชมเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะประสูติแต่พระราชินีหรือเจ้าจอมมารดา
           
           ก่อนออกทรงผนวชที่ยาวนานถึง ๒๗ ปี พระองค์มีพระโอรสแล้ว ๒ พระองค์ คือพระองค์เจ้าชายนพวงศ์และพระองค์เจ้าชายสุประดิษฐ์ และในปีแรกที่ขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. ๒๓๙๔ แม้ยังไม่มีพระมเหสี ก็ทรงให้กำเนิดพระธิดาองค์แรกทรงพระนาม พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา จากเจ้าจอมมารดาแพ พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์จึงเป็นพระพี่นางองค์ใหญ่ที่ต้องคอยดูแลว่ากล่าวเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ และคอยรับใช้ใกล้ชิดพระบรมชนกนาถที่ทรงเรียกว่า “แม่หนูใหญ่”
           
           พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ผิดกับพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลก่อนๆ ซึ่งไม่ใคร่เสด็จไปไหนนอกวัง เป็นแต่ขึ้นเฝ้าบนพระราชมณเฑียรตามเวลาแล้วก็กลับตำหนัก แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดเสด็จประพาสนอกวังเป็นประจำ ทั้งในกรุงเทพฯและแปรพระราชฐานไปหัวเมือง พระเจ้าลูกเธอที่เป็นชั้นโตก็ต้องตามเสด็จไปคอยรับใช้ ที่เป็นชั้นเล็กก็ติดไปกับเจ้าจอมมารดา เจ้าพี่ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ต้องคอยดูแลว่ากล่าวเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ เจ้าน้องก็ต้องยำเกรงเชื่อฟังในโอวาทเจ้าพี่ ปกครองกันตามประสาเด็ก ทุกพระองค์ทุกชั้นจึงสนิทสนมกันมาตั้งแต่ไว้พระเกศาจุกด้วยกัน
           
           ราชสำนักรัชกาลที่ ๔ เปิดกว้างกว่ารัชกาลก่อนๆ ทรงต้อนรับแขกเมืองถึงพระราชมณเฑียรที่ประทับ ทรงแนะนำให้รู้จักกับฝ่ายในและพระเจ้าลูกเธอ อย่างในคราวเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ พระเจ้าลูกเธอรุ่นโต ๔ พระองค์ได้ตามเสด็จไปรับใช้ใกล้ชิดด้วย คือ พระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์ พระองค์เจ้าหญิงทักษิณชา พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ซึ่งอยู่ในวัย ๑๖ พรรษาด้วยกัน และเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์พระชนม์ ๑๔ พรรษา ซึ่งจดหมายเหตุของ เซอร์ แฮรี่ ออด ผู้ว่าราชการสิงคโปร์ ได้บันทึกไว้ว่า
           
           “...ในวันนั้นเมื่อเวลาค่ำประมาณ ๙ ล.ท.(๒๑.๐๐ น.) ท่านเจ้าเมืองกับพวกที่มาด้วยทั้งชายหญิงทั้งหมดได้รับเชิญให้ไปที่ค่ายหลวง เมื่อไปถึงตรงทางที่จะไปท้องพระโรง พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดเสด็จออกมาทรงต้อนรับ และทรงพาเข้าไปในพระห้องที่เฝ้ารโหฐานแห่งหนึ่ง ทรงแนะนำให้รู้จักกับข้าราชการฝ่ายใน และพระองค์เจ้าหญิงที่ยังทรงพระเยาว์”
           
           ทั้งยังวิจารณ์พระราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ไว้ว่า
           “...สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระราชกุมารที่ทรงพระปัญญาเฉลียวฉลาดยิ่งนัก พระรูปทรงสูงและท่วงทีกล้าหาญเกินแก่พระชนมายุ ส่วนพระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง ๓ พระองค์ที่มีพระชนมายุสูงกว่าก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ (ให้ดำ) ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชม และตรัสภาษาอังกฤษได้ดีทุกพระองค์ แท้จริงพระราชโอรสพระราชธิดาโดยมากตรัสภาษาอังกฤษได้ เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงจัดหาพระพี่เลี้ยงเป็นชาวอังกฤษไว้”
           
           เนื่องจากทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษา ๔๗ พรรษาแล้ว จึงทรงวิตกว่า หากพระองค์สวรรคตขณะพระราชโอรสพระราชธิดายังเยาว์วัยจะต้องลำบาก ในวันสมโภชเดือนของพระราชโอรสธิดา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจะพระราชทานทรัพย์ทั้งอสังหาริมทรัพย์ สำหรับเก็บค่าเช่าและเงินทองไว้ใช้จ่ายเลี้ยงพระชนม์ชีพ ทั้งยังพระราชทานสำเนาพระบรมราโชวาทแนบไปด้วย มีข้อความบางตอนว่า
           
           “...พ่อขอสั่งแก่ตัวเจ้าไว้ ทรัพย์ที่มีหางว่าวจำนวนผูกติดกับหนังสือนี้ มีตราของพ่อปิดไว้เป็นสำคัญนี้ พ่อให้แก่เจ้าคนเดียว ตัวเจ้าเมื่อโตได้ ๑๖ ปีแล้ว จึงคิดอ่านเอาเปนทุนทำมาหากินแลเลี้ยงตัวต่อไป แลใช้สอยตามสมควรเถิด แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อสั่งสอนให้มากนักหนา อย่าสูบฝิ่นแลอย่าเล่นผู้หญิงที่ชั่ว อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก จงรักษาทุนของพ่อให้ไว้เป็นเกียรติยศชั่วลูกชั่วหลาน...
           
           จงระวังความผิดให้มาก อย่าตามใจมารดาและคนรักนัก ทรัพย์สินนี้ของพ่อให้ดอก ไม่ใช่มารดาเจ้าแลผู้อื่นเข้าทุนด้วย จงคิดถึงพ่อคนเดียวให้มาก เจ้าเกิดเมื่อพ่อสูงอายุแล้ว พ่อไม่ประมาท จึงจัดแจงไว้แต่เดิม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่อันตรายมีแก่เจ้าก่อน ถ้าอายุถึง ๑๖ ปีแล้วสั่งให้ใคร พ่อจะให้ผู้นั้น ถ้ายังไม่ถึงกำหนดหรือไม่ได้สั่ง พ่อจะเอาคืนมาทำบุญให้ทาน ถ้าพ่อมีชีวิตแลอำนาจไปนาน ทำมาหากินได้ก็จะเพิ่มให้อีก...”
           
           แต่แล้วเหมือนอาทิตย์ดับ หลังจากกลับจากหว้ากอได้ ๕ วัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงประชวรด้วยไข้ป่า พระอาการทรุดหนักอยู่ได้เดือนเศษก็สวรรคต เมื่อรู้พระองค์ว่าจะต้องสวรรคตในไม่ช้า ยังทรงมีความห่วงพระราชโอรสธิดา ตรัสฝากฝังกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นครั้งสุดท้ายว่า
           
           “ข้าเป็นคนลูกมากรากดก แล้วลูกก็ยังเล็กเด็กอยู่ ไหนๆคุณศรีสุริยวงศ์อุปถัมภ์บำรุงข้ามา ก็ช่วยบำรุงลูกข้าเหมือนอย่างตัวข้า ขออย่าให้มีภัยอันตรายเป็นที่กีดขวางด้วยการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่เนรเทศ ถ้าโทษตั้วเหียแล้ว (หมายถึงอั้งยี่ส้องสุมผู้คน) ก็ตามแต่การจะเป็นไป ถ้าไม่ถึงกับตั้วเหียแล้วก็อย่าให้ต้องเปนไปเลย...”
           
           ขณะนั้นหลายพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่มาก บางพระองค์ก็เพิ่งประสูติในปีนั้น บางองค์ก็ยังอยู่ในครรภ์พระมารดา พระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์ “แม่หนูใหญ่” องค์โตสุดก็เพิ่ง ๑๖ พรรษาเท่านั้น เหล่าพระสนมกำนัลในต่างหมดบุญสิ้นวาสนาไปตามกัน พระสนมที่ไม่มีพระโอรสธิดาก็มีสิทธิ์ที่จะไปใช้ชีวิตอิสระนอกวังหลวงได้ แต่บรรดาเจ้าจอมมารดาและพระองค์หญิงทั้งหลายจำต้องถูกจำกัดขอบเขตอยู่ในวัง เหมือนนกในกรงทองที่จะออกไปคบหาสมาคมกับคนภายนอกไม่ได้ พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ที่ขาดพระมารดาแล้วยังมาขาดพระบรมชนกนาถที่ทรงเมตตาให้รับใช้ใกล้ชิดอีก จะดิ้นรนไปอย่างคนที่มีอิสระก็ไม่ได้ จึงจำต้องทรงอดทนอยู่กับความว้าเหว่ นึกถึงพระบรมราโชวาทที่พระราชทานมาตั้งแต่วันฉลองเดือนประโยคที่ว่า
           
           “...เมื่อสืบไปภายหน้านานกว่าจะสิ้นอายุเจ้า ตัวเจ้าจะต้องตกเปนข้าแผ่นดินใดใด ก็จงอุตส่าห์ตั้งใจทำราชการแผ่นดินให้ดี อย่ามีความเกียจคร้านแชเชือนแลเปนอย่างอื่นๆบรรดาที่ไม่ควร เจ้าอย่าทำอย่าประพฤติให้ต้องตำหนิติเตียนตลอดถึงพ่อด้วยว่าสั่งสอนลูกไม่ดี จงเอาทรัพย์ที่พ่อให้ไว้นี้เปนกำลังตั้งเปนทุน เอากำไรใช้การบุญอุดหนุนตัวทำราชการแผ่นดิน...”
           
           นานวันพระชนมายุมากขึ้นความว้าเหว่ก็ยิ่งทวีคูณ วัยที่เคยเป็นสาวแรกรุ่นก็เริ่มโรยรา พระองค์หญิงก็หาทางปลงกับชีวิตด้วยพระธรรม เข้าวัดทำบุญมิได้ขาด และวัดที่ไปมาสะดวกที่สุดก็คือ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม อันเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง เพียงแต่ออกประตูเทวาพิทักษ์ข้างพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ ข้ามถนนมหาไชยก็ถึงแล้ว บรรยากาศในวัดยังร่มรื่นทำให้พระทัยสงบเหมือนได้ออกมาสู่อีกโลกหนึ่ง ทั้งยังได้เห็นชาวบ้านชาวเมืองที่มาทำบุญหน้าตาแปลกๆกว่าชาววังที่จำเจ ได้มีโอกาสโอภาปราศรัยกับผู้ชายแปลกหน้า หากชายผู้นั้นครองเพศบรรพชิต
           
           การมาทำบุญทุกวันพระ ทำให้พระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์ได้รู้จักมีความสนิทสนมกับ “พระโต” เพราะพูดคุยกันถูกอัธยาศัย ความทุกข์ร้อนอัดอั้นพระทัยในเรื่องใด เมื่อระบาย พระโตก็ช่วยผ่อนคลายด้วยหลักธรรมให้บรรเทาลง ในวัย ๓๐ พรรษาเศษ พระองค์หญิงไม่เคยได้พูดคุยกับชายใดได้สนิทชิดเชื้อทำให้สบายพระทัยเช่นนี้ ในที่สุดความสนิทสนมก็ถลำลึกเป็นความรัก พระองค์หญิงเฝ้าแต่รอคอยให้ถึงวันพระเพื่อจะออกไปวัดราชประดิษฐ์ฯ
           
           ส่วนพระโตเมื่อจีวรร้อน จึงตัดสินใจสลัดจีวรออกเป็นฆราวาส และเป็นหน้าที่ของอีเผือก บ่าวผู้ใกล้ชิดของพระองค์หญิงใหญ่ที่รู้เห็นเป็นใจกับเรื่องนี้มาตลอด เป็นผู้จัดการหาตึกแถวที่ถนนเจริญกรุงไม่ห่างจากพระราชวังนัก เป็นที่อยู่ของทิดโตตามที่พระองค์หญิงรับจะเป็นผู้อุปการะ
           
           ความลับเรื่องนี้ถูกปิดบังไว้มิดชิด รู้กันแต่พระองค์หญิง ทิดโต และอีเผือกเท่านั้น จากนั้นไม่นานพระองค์หญิงก็ประชวร เก็บพระองค์อยู่แต่ในเรือนไม่ยอมให้หมอหลวงรักษาและไม่ยอมให้ใครพบ ชาววังลือกันว่าพระองค์หญิงเป็นโรค “ท้องมาน” ครั้งหนึ่งเจ้าจอมมารดาเปี่ยมขอให้พระองค์หญิงเปิดพระภูษาให้ดู พอเห็นแล้วก็ทูลว่า
           
           “ขอประทานโทษเถอะเพคะ มองดูแล้วเหมือนคนท้องไม่มีผิด”
           
           พระองค์หญิงว่า
           
           “ก็ดูเถอะค่ะ โรคเวรกรรมอะไรก็ไม่รู้”
           
           แต่แล้ววันหนึ่งพระโรคของพระองค์หญิงก็กำเริบ เกิดอาการปวดพระครรภ์อย่างรุนแรง หมอหลวงถูกตามมาจนยากที่พระองค์หญิงจะปฏิเสธได้ และความลับก็แตก สร้างความโกลาหลไปทั่วพระราชวัง เมื่อพระองค์หญิงคลอดออกมาเป็นชาย
           
           ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ บันทึกไว้ว่า
           
           “เกิดความเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ คือพระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเดิมว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นลูกชายที่เรือนภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จกรมพระภาณุพันธ์ฯ กรมหมื่นนเรศร์ กรมหมื่นอดิศร กรมหมื่นเทววงศ์ ได้จัดการที่จะชำระพิจารณาการที่ได้เกิดขึ้นต่อไป แต่ลูกนั้นเอาออกไปไว้วังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช
           
           เวลา ๑๑ ทุ่ม สมเด็จฯกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กรมหมื่นเทววงศ์ได้ออกไปเมืองเพชรบุรี นำความนี้ออกไปกราบบังคมทูลพระกรุณา”
           
           กรมหมื่นอดิศรฯได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้พระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์เปิดเผยออกมาว่าใครคือพ่อของเด็ก เล่าความจริงทั้งหมด หากทำพระทัยแข็งไม่ยอมเปิดเผย ก็จะทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วมากขึ้นจนหมดพระเมตตา แต่พระองค์หญิงก็มิยอมรับสั่งใดๆ
           
           การสอบชำระความแทนที่จะกระทำเป็นความลับภายใน กรมหมื่นอดิศรฯจึงจำต้องเรียกคนใกล้ชิดพระองค์หญิงมาสอบ และคาดโทษว่าถ้าใครไม่พูดความจริงก็จะได้รับโทษอย่างหนัก เลยทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่ววัง ในที่สุดก็ได้ตัวคนที่ต้องสงสัยมากกว่าใคร คือ อ้ายทิดโต ที่เคยบวชเป็นพระอยู่วัดราชประดิษฐ์ฯ
           
           อ้ายทิดโตถูกล่าตัวมาทันทีด้วยอาการตัวสั่นงันงก ถูกจับให้คุกเข่าต่อหน้ากรมหมื่นอดิศรฯ เมื่อเสด็จในกรมฯรับสั่งให้เงยหน้าตอบคำถาม อ้ายทิดโตก็ยิ่งตื่นตระหนก รับสารภาพด้วยปากคอสั่น
           
           อ้ายโตรับว่าเริ่มมีความสัมพันธ์กับพระองค์เจ้าหญิงมาตั้งแต่ยังเป็นพระอยู่วัดราชประดิษฐ์ฯ ซึ่งพระองค์หญิงมาทำบุญทุกวันพระ เมื่อพูดคุยกันถูกอัธยาศัยก็เพิ่มความสนิทสนมกันเรื่อยมา มีความทุกข์ใจเรื่องอะไรก็ระบายสู่กัน นานวันเข้าความสนิทสนมก็กลายเป็นความรัก จึงคิดสึกจากพระเพื่อไม่ให้มัวหมองพระศาสนา
           
           กรมหมื่นอดิศรฯถามว่าที่คิดบังอาจใฝ่สูงเช่นนี้ ไม่รู้หรือว่าเป็นความผิดขั้นร้ายแรงถึงประหาร
           
           อ้ายโตตอบว่าในเวลานั้นไม่ได้คิดถึงการณ์ภายหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับตัว ขอแต่เพียงให้สมหวังในรักเท่านั้น
           
           เสด็จในกรมฯทรงซักว่าตัวเองก็ไร้ญาติ สึกออกมาแล้วจะอยู่อย่างไร ที่กินที่นอนไม่ได้สะดวกเหมือนอยู่เป็นพระ
           
           อ้ายโตว่าก่อนตัดสินใจสึกก็คิดอยู่ แต่พระองค์หญิงรับว่าจะอุปการะ จึงคิดว่าชีวิตนี้มีบุญเหลือเกินแล้ว และเมื่อสึกออกมาพระองค์หญิงก็ทำตามที่รับสั่ง จัดหาตึกแถวที่ถนนเจริญกรุงให้อยู่อาศัย จากนั้นเมื่อได้โอกาสก็ลักลอบปืนเข้าไปในพระบรมมหาราชวังทางพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทตามที่นัดหมายกัน แล้วแอบซ่อนตัวอยู่ในเรือนพระองค์เจ้าหญิงคืนหนึ่งบ้างสองคืนบ้างต่อคราว รวม ๔ คราว
           
           กรมหมื่นอดิศรฯ ทรงเห็นว่าอ้ายโตลักลอบเข้ามาในวังได้เช่นนี้ จะต้องมีคนช่วยอย่างแน่นอน จึงทรงเค้นหาความจริงต่อไป
           
           ขั้นต้นอ้ายโตอิดเอื้อนเพราะกลัวว่าคนที่ช่วยเหลือมาจะพลอยได้รับเคราะห์กรรมไปด้วย เสด็จในกรมฯ จึงทรงขู่ว่าถ้ายังปิดบังเรื่องราวไว้จะเพิ่มโทษให้หนักขึ้นทั้งสองคน อ้ายโตจึงยอมเปิดเผยชื่ออีเผือกว่าเป็นแม่สื่อแม่ชักจัดการทุกเรื่อง
           
           ครั้นสอบสวนได้ความกระจ่างชัดแล้ว กรมหมื่นอดิศรฯจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงพิจารณา จะโปรดเกล้าฯให้กระทำประการใดต่อไป
           
           ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๙ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
           
           “...๔ ทุ่มเศษ เสด็จออกทรงสั่งเรื่องคลอดลูก ว่าด้วยพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ประพฤติชั่วอย่างอุกฤษฏ์อย่างนี้เป็นมหันตโทษ ควรริบราชบาทว์เป็นของหลวง ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ ลงพระราชอาญา ๙๐ ที ประหารชีวิต แต่ทรงพระมหากรุณาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯให้ริบราชบาทว์ สวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง สำหรับจ่ายการซ่อม แปลงพระอารามแลสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงสร้างไว้ แลให้ยกโทษเฆี่ยน ๙๐ ทีและประหารชีวิต ให้ถอดจากยศบรรดาศักดิ์ลงเป็นหม่อม เอาท้ายชื่อคือ เยาวลักษณ์อรรคราชสุดาออกเสีย เรียกแต่หม่อมยิ่งคำเดียว กับให้ไต่สวนชำระต่อไปให้ได้ความ เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น สมเด็จกรมพระภาณุพันธ์ฯ กรมหลวงเทววงศ์ ฯ กราบถวายบังคมลากลับกรุงเทพฯวันนี้”
           
           เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอทั้งสองกลับถึงกรุงเทพฯแล้ว ในวันศุกร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ จึงได้อ่านพระราชหัตถเลขาถอดหม่อมยิ่งแล้วเอาตัวไปจำไว้ ณ คุกข้างในพระบรมมหาราชวัง
           
           จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน วันอังคารที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ กล่าวว่า
           
           “...แล้วเสด็จต่อถึงพลับพลาคลองยอ ประทับอยู่ครู่หนึ่งพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณมาเฝ้าถวายหนังสือต่างๆเรื่องหม่อมยิ่ง มีคำให้การหม่อมยิ่ง อ้ายโต อีเผือก และผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องในเหตุนั้น แลคำลูกขุนปรึกษาโทษวางบทเป็นต้น...”
           
           ต่อมาในวันพุธที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันจึงบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า
           
           “...เสด็จออกทรงสั่งเรื่องหม่อมยิ่ง ซึ่งลูกขุนปรึกษาวางบทลงโทษหม่อมยิ่ง อ้ายโต อีเผือก ผู้ล่วงพระราชอาญามีความผิดเป็นมหันตโทษ ให้ริบราชบาทว์สวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์เป็นของหลวง ให้ลงพระอาญา ๓ ยก ๙๐ ทีเอาตัวไปประหาร หม่อมยิ่งและอีเผือกผู้ชักสื่อให้งดโทษประหาร นอกนั้นให้ทำตามคำลูกขุน...”
           
           ต่อมาอีก ๒ วันคือในวันศุกร์ที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ เจ้าพนักงานกรมพระนครบาล ก็ได้นำอ้ายโตไปประหารชีวิตที่วัดพลับพลาไชย
           
           แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทำตามคำขอของพระราชบิดาที่ฝากฝังเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ไม่ให้ลงโทษพระราชโอรสพระราชธิดาของพระองค์ถึงขั้นประหารชีวิต หากไม่ทำผิดถึงขั้นเป็นหัวหน้าอั้งยี่ส้องสุมผู้คน แต่พระองค์ก็คงไม่สบายพระราชหฤทัยที่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่เกี่ยวกับเรื่องการบ้านการเมือง ยังทรงกล่าวถึงพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์ไว้ด้วยว่า
           
           “...เห็นท่านพระองค์ใหญ่ยิ่งเยาวลักษณ์ครั้งนี้ก็โซมมากทีเดียว กลัวหม่อมฉันจะเป็นบ้าง แต่จะเพียงนั้นหรือจะยิ่งกว่านั้นก็ไม่ทราบ...”
           
           พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ก็คงตรอมตรมพระทัยในเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างยากที่จะทำใจได้ พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ นั้น ขณะพระชนมายุได้ ๓๖ พรรษา
           
           เรื่องราวของพระองค์หญิงยิ่งเยาวลักษณ์นี้นับเป็นความเสื่อมเสียอย่างยิ่ง ฉะนั้นหลังจากที่ทรงพิจารณาโทษในวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กุมภาพันธ์แล้ว รุ่งขึ้นในวันศุกร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ก็ทรงออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์และราชสำนักฝ่ายใน เพื่อป้องกันเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก มีข้อความว่า
           
           “ห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษาต่ำกว่ายี่สิบ (คือบวชมาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี) มิให้เข้าในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ส่วนฝ่ายหญิงอุบาสิกาผู้ใฝ่พระธรรมเพียงใดก็ตาม ถ้าอายุต่ำกว่า ๔๐ ปีแล้วไซร้ ห้ามมิให้ออกมาฟังเทศน์ ถืออุโบสถศีลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอันขาด ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ อันเป็นวันที่ ๖๖๔๕ ในรัชกาลปัจจุบัน” 

     
    พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา
            
     
    พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา

    Credit http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9580000127021

     

    Flag Counter
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×