ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #64 : ประวัติศาสตร์ปฏิทิน สังคมสยาม-ไทย

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 579
      7
      7 ม.ค. 59

    แรกมีปฏิทินไทยยุคปลาย ร.3

    การพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 (ปลายสมัย รัชกาลที่ 3) ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงฯโปรดให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย โดยโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ ครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการใช้ปฏิทินเกรกอเรียนตามแบบสากล โดยเดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน และเดือนสุดท้ายของปีคือมีนาคม และปรับมาใช้รัตนโกสินทรศก และพุทธศักราชตามลำดับ

    จนกระทั่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้งโดยปรับให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2484


    ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทย เรียกว่า "ประนินทิน" ขายเล่มละ 4 บาท ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของปฏิทินไทย การพิมพ์ปฏิทินเล่มยังมีการจัดทำต่อมา ในหลายรูปแบบ ซึ่งมีการบอกน้ำขึ้น-น้ำลง ดิถีดวงจันทร์ และปฏิทินภาษาจีนร่วมด้วย และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย ในรูปแบบของ ไดอารี่ หรือ "สมุดบันทึกประจำวัน" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรด ฯ ให้พิมพ์ ‘ปฏิทินพก’ เล่มเล็กๆเป็นของชำร่วย สำหรับพระราชทานแก่ขุนนางที่ลงนามถวายพระพร ในวันขึ้นปีใหม่ และปฏิทินก็ได้รับความนิยมสืบมา


    ปฏิทินธนาคารไทยพาณิชย์ พ.ศ.2523

    ′ภาพจำ′ หลากหลายในปฏิทินแขวนผนัง

    หลังจากนั้น หน่วยงานเอกชนมีการพิมพ์ปฏิทินแจก โดยเฉพาะหน่วยงานใหญ่ๆ อย่างธนาคาร บริษัท ห้างร้าน เพื่อแจกลูกค้าในช่วงปีใหม่ โดยมีการใช้ภาพบนปฏิทินที่หลากหลาย ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงยิ่ง คือ ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งถือเป็นภาพอันเป็นสิริมงคลเมื่อได้รับในช่วงปีใหม่ นอกจากนี้ ยังมีภาพของอดีตบูรพมหากษัตริย์ไทย รวมถึงพระเกจิอาจารย์ชื่อดังด้วย

    ไม่เพียงเท่านั้น ภาพวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม รวมถึงภาพดารานักแสดงก็ได้รับความนิยมกว้างขวาง โดยทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ จะให้ดาราในสังกัดของตนมาเป็นแบบในการถ่ายปฏิทิน ซึ่งมีทั้งภาพเดี่ยว ภาพพระเอก-นางเอกคู่ขวัญ ไปจนถึงภาพหมู่ ซึ่งยังปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีรูปแบบการถ่ายและโพสต์ท่าแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น ในอดีตนิยมแนวฝรั่ง ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม และท่วงท่า ปัจจุบันหันมาฮิตแบบเกาหลี จนมีบรรดาแฟนคลับตั้งข้อสังเกตว่า ก๊อปปี้เกาหลีมาทั้งดุ้นจนเป็นดราม่าเล็กๆกันมาแล้ว 

    จะเห็นได้ว่า ปฏิทินแขวนผนังมีความทรงจำที่หลากหลาย ทั้งเรื่องของความเป็นสิริมงคล ความสวยงาม และสิ่งบันเทิงใจในด้านต่างๆ


    ปฏิทินแขวนผนังของ "สบู่ลักส์" พ.ศ.2520 ที่ใช้ดาราหญิงชื่อดังเป็นเเบบ
     
    ปฏิทินโป๊ เหตุเกิดจากยุค ‘สงครามเย็น’

    ปฏิทินแขวนผนังอีกหนึ่งแนว ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะถูกสังคมหยิบยกมาจงใจแซวแบบแสบๆคันๆสนั่นโลกโซเชียล กับคำกล่าวที่อ้างถึงจารีตของปฏิทินแขวนผนัง นั่นก็คือ ปฏิทินโป๊ยั่วยวนชวนน้ำลายหก ที่ได้รับความนิยมยาวนานหลายสิบปี จนกลายเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมไทย

    พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้สนใจปฏิทินโป๊ในเชิงวิชาการ บอกว่า มีธุรกิจอยู่ 2 ประเภทที่ชอบแจกปฏิทินโป๊ ได้แก่ ธุรกิจเหล้าเบียร์ กับธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องยนต์ รถ น้ำมัน โดยมีที่มาจากการรับอิทธิพล ‘วัฒนธรรมอเมริกัน’ ในยุคสงครามเย็น 

    ปฏิทินโป๊ชุดแรก ผลิตใน พ.ศ. 2502 โดยสุรายี่ห้อหนึ่ง ซึ่งยังไม่โป๊เต็มขั้น เพราะนางแบบสวมกางเกงขาสั้น เสื้อเชิ้ตพับแขน แล้วเอาชายเสื้อผูกด้านหน้า ฟังดูอาจไม่เร้าอารมณ์เท่าไหร่ แต่ในยุคนั้นถือว่า “หวิว” แล้ว

    2 ปีต่อมา มีพัฒนาไปสู่ “ชุดว่ายน้ำ”แบบวันพีช (เต็มตัว) แต่ยังสวมกางเกงขาสั้นทับอยู่ จากนั้นอีกหลายปี จึงกลายเป็นชุดว่ายน้ำแบบบิกินนี่ เผยให้เห็นสัดส่วนชัดเจน กระทั่ง พ.ศ. 2519 จึงบรรลุเข้าสู่ยุคปฏิทิน “นู๊ด”อย่างแท้จริง คือเปลื้องผ้าเห็นเนื้อหนังมังสาแบบเต็มตา แน่นอนว่า เป็นงานแนวสุรา คือ วิสกี้ยี่ห้อไก่แดง ซึ่งได้รับความฮือฮาจนทำให้มีปฏิทินแขวนผนังในลักษณะนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

    พิพัฒน์ กล่าวว่า พอไทยรับวัฒนธรรมแบบอเมริกันในสมัยสงครามเย็นเข้ามาก็เริ่มเกิดปฏิทินโป๊ขึ้น เพราะสังคมมันเปิดมากขึ้น และรับวัฒนธรรมพวกนี้อย่างตรงไปตรงมาถึงจะอายๆ อยู่บ้างในระยะแรกๆ เริ่มแรกเลย ปฏิทินชุดแรกนี่ผลิตขึ้นในปี พ.ศ. 2502  เป็นปฏิทินเหล้ายี่ห้อหนึ่งเข้าใจว่าคงเป็น "แม่โขง" ถามว่าโป๊หรือเปล่า มองว่าเดี๋ยวนี้วัยรุ่นไทยแต่งตัวไม่ได้แตกต่างจากปฏิทินโป๊หรือนู้ดสมัยนั้นเลย คือ ตอนนั้นนางแบบแค่ใส่กางเกงขาสั้นและใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นพับแขนแล้วเอาชายมา ผูกเข้าด้วยกัน แค่ก็หวิวแล้ว

    มาถึง พ.ศ.2504 เริ่มกลายชุดว่ายน้ำแบบวันพีชสีขาวแต่ยังใส่กางเกงขาสั้นให้กับ "แม่โขง" แต่สังเกตได้ว่ายังไม่ได้เว้าไปถึงเอวเลย จนปี พ.ศ. 2511 นางแบบก็เริ่มใส่ทูพีชกัน แต่ที่ดังมากที่สุดคือ โขมพัสตร์ อรรถยา ซึ่งถ่ายปฏิทินชุดว่ายน้ำทูพีชสีเหลืองให้กับสุรากวางทองเปิดให้เห็นสัดส่วนอย่างชัดเจน

    "แต่ที่นับเป็นการเปิดศักราชของปฏิทินโป๊หรือนู้ดอย่างแท้จริงเลยก็คือในปีพ.ศ.2519วิสกี้ยี่ห้อ′ไก่แดง′ได้จับดาราดังสมัยนั้นคือศิริขวัญ นันทศิริ มาเปลื้องผ้า จนมีดาราหลายคนถ่ายปฏิทินแนวนี้กันเป็นแถว แต่ว่ามีอยู่ชุดหนึ่ง เธอใส่ชุดตำรวจแล้วปลดกระดุมเม็ดบน 2-3 เม็ด ทำให้ตำรวจถึงขั้นยื่นหนังสือประท้วง ในช่วงปี พ.ศ.  2530-2533 ปฏิทินโป๊ฮิตกันมาก แต่ที่พูดถึงกันมากคือในปี 2533 ปฏิทินที่ดาริน กรสกุล (รูปที่ 4) ถ่ายให้กับแม่โขง เป็นชุดเปียกน้ำสีขาวเห็นจุก ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงสั่งห้ามตีพิมพ์และเผยแพร่ภาพที่มีลักษณะยั่วยุทางเพศ ทำให้ปฏิทินโป๊ซบเซาไปสักพัก” อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ เล่าอย่างออกรส


    วิกฤต ′ต้มยำกุ้ง′ ทำนู้ดซบเซา

    ด้านสินค้าประเภทเครื่องยนต์กลไกไม่น้อยหน้า จัดนางแบบหุ่นงามมาพรีเซ้นต์ผลิตภัณฑ์ผ่านปฏิทินแขวนผนังเช่นกัน และก็ฮิตฮอตเคียงคู่เครื่องดื่มจำพวกสุราเรื่อยมา จาการศึกษาของพิพัฒน์ พบว่า ในปี พ.ศ.2537 มีปฏิทินนู้ดของแบตเตอร์รี่ 3K มือนางแบบข้างหนึ่งเอาไปปิดส่วนล่าง อีกมือถือแบตเตอร์รี่ แต่ไม่ได้เอาไปบังหน้าอก เลยไม่รู้จะเลือกมองอะไรดี ในช่วงเดียวกัน พ.ศ.2538 ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายเริ่มต้นดึงนางแบบมาถ่ายปฏิทินกัน เช่น มรกต มณีฉาย มาถ่ายปฏิทินรถยนต์รถบรรทุก FUSO ตามมาด้วยจักรยานยนต์ KAWASAKI ซึ่งได้ อัครนี แดงใส มาถ่ายปฏิทิน 

    "แต่แล้วปฏิทินโป๊ก็ต้องซบเซาอีกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทำให้ต้องลดเงินค่าโฆษณาลง จนกระทั่งปี พ.ศ.2544 เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว จึงเริ่มมีการถ่ายปฏิทินนู้ดกันอีกครั้ง คราวนี้เป็นยุคของลูกครึ่งฝรั่ง เช่น วิชุดา พินดัม, มิเชล วอร์กอร์ด, ซินดี้- สิรินยา เบอร์บริดจ์ หลังจากนั้นปฏิทินนู้ดหรือโป๊ก็ทำกันมาเรื่อยๆ ครับ ที่พอจะดังหน่อยก็คือปฏิทินนู้ดของ Club F ที่เริ่มต้นทำเมื่อปี พ.ศ.2548 เป็นของเบียร์ลีโอ ปฏิทินทำให้ยอดขายสุราเพิ่มสูงขึ้นมาก จนบางที่พิมพ์ปฏิทินไม่ทันเลยทีเดียว แม้แต่ ตั๊น-จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ก็ยังเคยนำปฏิทินของเบียร์ลีโอไปแจกที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วมานี้เอง" พิพัฒน์ กล่าว

    ส่วนประเด็นการห้ามแจกปฏิทิน ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์’ พิพัฒน์วิเคราะห์ว่า กรณีปฏิทินทักษิณ ปัญหาอยู่ตรงที่ทักษิณถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์บางอย่าง หน่วยงานราชการก็เลยตีความกันไปใหญ่โต”

    ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่มากกว่า ปฏิทินแขวนผนัง แต่ยังบันทึกประวัติศาสตร์สังคมไว้อย่างครบถ้วน เช่นเดียวกับเหตุการณ์ห้ามแจกปฏิทิน ‘นักการเมือง’ ในพุทธศักราช 2559 นี้ 

    ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่จะต้องถูกจดจารไว้ด้วยเช่นเดียวกัน

    Credit 
    http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1452074012


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×