ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #54 : สืบสานสาย "สกุลบุนนาค" ตระกูล "ข้าแผ่นดิน"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 767
      4
      3 ธ.ค. 58


    งานรวมญาติสกุลบุนนาคครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อปี 2454โดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค) ที่วัดประยูรวงศาวาส ณ ตึกพรรณาคาร ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างเป็นอนุสรณ์ให้แก่ท่านผู้หญิงพรรณ


    สายสกุลบุนนาค ถือเป็นสกุลหนึ่งที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลมากที่สุดในอดีต เนื่องเพราะบรรพชนในสกุลนี้ตั้งแต่ปฐมวงศ์เป็นต้นมาเข้ารับราชการสนองคุณแผ่นดินโดยแต่ละท่านล้วนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีอันถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการแทบทุกคน นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ผ่านเลยมา 400 ปีแล้ว ถือเป็นสกุลหนึ่งที่มีเครือญาติมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เรียกว่านับญาติไม่ถ้วนจนต้องมีการทำหนังสือสาแหรกสกุลบุนนาคขึ้นทะเบียนทำเป็นรหัสว่าใครมาจากสายไหนกันบ้าง แถมทำเก๋เปิดเว็บไซต์ให้ญาติสื่อสารกันได้
           

           *"เฉกอะหมัด"ปฐมวงศ์
           

           นักประวัติศาสตร์รวมทั้งลูกหลานของสกุลบุนนาค ต่างพยายามจะสืบค้นหาร่องรอยบรรพบุรุษของสายสกุลบุนนาคกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าต้นตระกูลนี้สืบเชื้อสายมาจากชาวเปอร์เซียมีนามว่า "เฉกอะหมัด" ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ก็ค้นพบสุสานของท่านเฉกอะหมัดซึ่งอนุโลมว่าเป็นสุสานจริง ที่สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
           
           ปฐมบทของสกุลบุนนาคเริ่มต้นเมื่อ 400 ปีที่ผ่านมา ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ยุคกรุงศรีอยุธยา มี 2 พี่น้องมุสลิมเป็นเศรษฐีชาวเมืองกุน ประเทศเปอร์เซีย ผู้พี่ชื่อเฉกอะหมัด ผู้น้องชื่อมะหะหมัดสะอิด ทั้ง 2 เป็นพ่อค้าที่เดินทางมาสู่กรุงศรีอยุธยาเพื่อค้าขายเครื่องหอม แพรพรรณ แล้วตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลท่าภาษี
           
           ภายหลังเฉกอะหมัดสมรสกับหญิงไทยชื่อ "เชย" มีบุตรชายคน 2 ชื่อชื่นและชม และบุตรสาว1 คนชื่อชี ส่วนมะหะหมัดสะอิดผู้น้องชายอยู่เมืองไทยไม่ได้นานก็กลับไปยังบ้านเกิดและไม่ได้กลับกรุงศรีอยุธยาอีกเลย
           
           ต่อมาท่านเฉกอะหมัดได้ช่วยราชการแผ่นดินโดยเข้าร่วมกับเจ้าพระยาพระคลังเพื่อปรับปรุงราชการกรมท่า ทำให้งานเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก โดยเฉพาะการค้าขายกับชาวต่างชาติ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯตั้งให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวาและจุฬาราชมนตรี ซึ่งถือว่าท่านเฉกอะหมัดเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีของชาวมุสลิมแห่งเมืองไทย จนเมื่อเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีกรมท่าถึงแก่อสัญกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเป็นเสนาบดีกรมท่ากลางอีกตำแหน่งหนึ่ง
           
           ต่อมาเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง มีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นกำเริบเสิบสานก่อการจลาจลยกพวกเข้าโจมตีพระนครและมีแผนจะจับตัวสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามบานปลาย ออกญามหาอำมาตย์เชื้อพระวงศ์ในแผ่นดินได้ร่วมกับพระยาเฉกอะหมัด พร้อมไพร่พลทั้งไทย จีนและแขก เข้าปราบจลาจลได้สำเร็จ
           
           ด้วยความจงรักษ์ภักดีและด้วยความสามารถที่ปรากฏแก่พระเนตรพระกรรณมาช้านาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อนพระยาเฉกอะหมัดขึ้นเป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ พร้อมกันนั้นได้เลื่อนนายชื่น บุตรชายเจ้าพระยาเฉกอะหมัดฯ ขึ้นเป็นพระยาวรเชษฐภักดี เจ้ากรมท่าขวาในครั้งนั้นด้วย

    เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา และเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล ต้นสกุลบุนนาค
           
           เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดีรับราชการต่อมาอีกหลายรัชกาลจนอายุ 87 ปี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองทรงพระราชดำริเห็นว่าท่านชราภาพลงมากแล้วจึงโปรดเกล้าฯให้พ้นตำแหน่งสมุหนายก และเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย หรือตำแหน่งที่ปรึกษาการปกครองแผ่นดิน และเลื่อนพระยาวรเชฐภักดี(ชื่น) บุตรชายเป็นเจ้าพระยาอภัยราชาที่สมุหนายกอัครเสนาบดีฝ่ายเหนือแทนบิดา นอกจากนี้เจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดียังกราบบัลคมทูลฝากธิดาคือท่านชี ไปเป็นพระสนม ก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.2174 สิริรวมอายุได้ 88 ปี ศพของท่านฝังอยู่ที่ป่าช้าแขกเจ้าเซ็น บ้านท้ายคู จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
           
           หลังจากเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดีถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ลูกหลานของท่านก็ยังเข้ารับราชการสืบต่อมา และมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยตลอดมาทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 400 ปี บุตรหลานของท่านได้สืบสกุลออกเป็นตระกูลใหญ่ ที่มีชื่อเสียงทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ อาทิ บุนนาค บุรานนท์ จาติกรัตน์ ศุภนิมิตร ฉัตรกุล สวัสดิ์-ชูโต แสง-ชูโต ณ บางช้าง ศรีเพ็ญ ภาณุวงศ์ อหะหมัดจุฬา อากาหยี่ จุฬารัตน์ ช่วงรัศมี สุวกูล เป็นต้น
           
           *ต้นสกุล "บุนนาค"
           

           ลูกหลานของท่านเฉกอะหมัดนับถือศาสนาอิสลามมาจนถึงพระยาเพ็ชรพิไชย(ใจ) วงศ์เฉกอะหมัดชั้นที่ 4 ซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการพระพุทธบาท ได้เข้ารับศีล ปฏิญาณเป็นพุทธศาสนิกชนต่อสมเด็จพระสังฆราช หน้าพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเหตุให้วงศ์เฉกอะหมัดส่วนหนึ่งละศาสนาเดิมมาถือพุทธศาสนา จากนั้นมาทายาทของพระยาเพ็ชรพิไชย(ใจ)ก็เข้ารับราชการอยู่ในระดับเสนาบดีอีกหลายรัชกาลต่อมา
           
           ผู้สืบเชื้อสายท่านเฉกอะหมัดในชั้นที่ 6 นั้นมีท่านหนึ่งที่ถือเป็นต้นสกุลบุนนาคคือนายฉลองไนยนารถเดิมชื่อ "บุนนาค" เป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา(เสน) เมื่อตอนเด็ก ๆ นั้นนายบุนนาคเคยเป็นเพื่อนสนิทกับ นายสินบุตรจีนแต้ไหฮอง( ซึ่งต่อมาได้ขึ้นขึ้นครองราชเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ส่วนเพื่อนอีกคนคือนายทองด้วง บุตรหลวงพินิจอักษร ( ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 แห่งรัตนโกสินทร์ ) นายฉลองไนยนารถมีภรรยาคือท่านนวลซึ่งเป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงนาก ภรรยาท่านเจ้าพระยาจักรี( รัชกาลที่ 1 )
           
           เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเคยทำความดีความชอบให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ส่วนนายบุนนาคก็ได้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม
           
           เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี(บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรมในปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 1 รวมอายุ 67 ปี ถือว่าท่านเป็นต้นสกุลนับชั้นที่ 1 ของสายสกุลบุนนาค และนับเป็นชั้นที่ 6 ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยาบวรราชนายก(เฉกอะหมัด)
           
           จนเมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามสกุล "บุนนาค" ตามนามของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา(บุนนาค)เพื่อ เป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาผู้ที่เป็นลูกหลานให้พยายามประพฤติชอบเพื่อรักษาสกุลไว้มิให้ตกต่ำ

     *ตระกูล "3 สมเด็จเจ้าพระยา"
           

           สายสกุลบุนนาคถือเป็นตระกูลเก่าแก่ที่ลูกหลานที่สืบสกุลเข้ารับราชการต่อเนื่องกันมาตลอดจนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีที่ทรงอำนาจในหลายรัชกาล และเป็นที่ยินดีเมื่อสกุลนี้มีผู้สืบสกุลที่รับราชการทำความดีความชอบจนได้รับพระราชทานตำแหน่งสูงสุดคือ "สมเด็จเจ้าพระยา" มากถึง 3 ท่าน ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คือตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี"


    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ( ดิศ บุนนาค )
     
           
           ท่านแรกคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ( ดิศ บุนนาค ) เป็นบุตรเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี ( บุนนาค ) กับเจ้าคุณนวล เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 1 รับพระราชทานตำแหน่งเป็นนายสุดจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามลำดับ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ " ให้สำเร็จราชการตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ใช้ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ
           
           สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์( ดิศ บุนนาค) ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 4 คนทั่วไปนิยมเรียกว่า " สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ " และเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์แรกของวังหลวง ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจและมีอิทธิพลมากที่สุดในพระราชอาณาจักรรองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิต
           
           สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์( ดิศ บุนนาค) มีบุตรธิดากับท่านผู้หญิงจันทร์ จำนวน 9 คน และมีบุตรธิดากับภรรยาอื่น ๆ อีกหลายคนรวมบุตรธิดาทั้งหมด 44 คน( หนังสือบางเล่มระบุว่า 61 คน ) ซึ่งบุตรธิดาก็ได้รับราชการสืบต่อกันมาอีก


    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชไชยญาติ( ทัด บุนนาค)
           
           ส่วนน้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้องของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ( บุนนาค )อีกท่านที่เกิดกับเจ้าคุณนวลชื่อเจ้าคุณชายทัดก็เข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นนายสนิทหุ้มแพรมหาดเล็ก จนถึงรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งจากพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา ขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติฯ คนทั่วไปนิยมเรียกขานว่า " สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย "
           
           การที่ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 2 ท่านที่ว่าราชการทุกอย่างทั้งในเขตพระนครและทั่วราชอาณาจักร ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้นสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง 2 ก็เป็นพี่น้องในสกุลเดียวกันด้วย


    สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุนนาค )
           
           สำหรับตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาท่านสุดท้ายของสกุลบุนนาคคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ( ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เข้าถวายตัวเป็นมหาเล็กในรัชกาลที่ 2 ท่านผู้นี้มีความเฉลียวฉลาดและช่วยงานบิดาในกิจการด้านพระคลังและกรมท่าซึ่งทำหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศด้วย เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่3 ได้เลื่อนเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก
           
           หลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็กคนนี้มีสนใจศึกษาวิชาการต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่งจนสามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้ และได้ต่อเรือกำปั่นรวมทั้งเรือรบอีกหลายลำเพื่อขนทหารไปรบกับญวน ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก โดยกล่าวได้ว่าท่านเป็นมหาดเล็ก "คู่บุญ" เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่รัชกาลที่ 3 รับสั่งให้เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด
           
           หลังจากที่รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งนำโดยเจ้าพระยาพระคลัง(ดิส บุนนาค) เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา(ทัด บุนนาค) รวมทั้งพระยาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) ได้พากันไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ทรงครองสมณเพศเป็นวชิรญาณภิกขุเพื่อให้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติด้วยความพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียว
           
           ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหพระกลาโหม ในช่วงแผ่นดินของรัชกาลที่ 4 นั้นท่านได้ประกอบคุณความดีให้แก่ชาติบ้านเมืองไว้มากมาย อาทิ ทำการเจรจาทำสัญญาการค้ากับประเทศมหาอำนาจตะวันตกเพื่อไม่ให้คนไทยเสียเปรียบต่างชาติ รวมถึงการพัฒนาประเทศโดยเป็นแม่กองคุมการขุดคลองผดุงกรุงเกษม คลองดำเนินสะดวก สร้างถนนริมคลองข้างวัง และถนนเจริญกรุง
           
           หลังจากรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้ทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จเสวยราชย์ แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์มีพระชนม์เพียง 15 พรรษา ดังนั้นที่ประชุมจึงลงมติแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนปี 2416 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะ ขณะนั้นพระยาศรีสุริยวงศ์มีอายุได้ 64 ปีเศษ จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และนับเป็น " สมเด็จเจ้าพระยา" คนสุดท้ายในประวัติศาสตร์ของไทย นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงดารานพรัตน์ ดวงดารามหาสุริยมณฑล ปฐมจุลจอมเกล้า
           
           สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรชายคนเดียวชื่อคุณชายวร (เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ) ธิดาอีก 3 คนคือคุณหญิงกลาง คุณหญิงเล็กและคุณหญิงปิ๋ว ท่านถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมเมื่อปี 2425 บนเรือปากคลองกระทุ่มแบนขณะเดินทางกลับจากราชบุรี สิริอายุได้ 74 ปี

    ตราสุริยมณฑลใหญ่
           
           สืบสาแหรกวงศ์สกุล
           
           ตามปกติคนในสายสกุลบุนนาคเมื่อเวลาพบกันมักจะทักกันว่า " อยู่สายไหน?" หมายถึงเป็นลูกหลานสืบสายทาง" สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ " หรือ " สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย "
           
           คนในสกุลบุนนาคหลายต่อหลายคนได้มีความพยายามสืบค้นหารากเหง้าบรรพบุรุษของตนเองว่ามีความเป็นมาอย่างไรตลอดเวลา หนังสือเล่มแรกที่คาดว่าค้นคว้าเรื่องสกุลบุนนาคเก่าแก่ที่สุดนั้นคือ " จดหมายเหตุประถมวงศ์สกุลบุนนาค " ซึ่งเรียบเรียงโดย พระยาจุฬาราชมนตรี ( เชน) พระยาวรเทศ( เถื่อน) และเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ มหาโกษาธิบดี(ขำ บุนนาค )
           
           นอกจากนี้ยังมีเล่ม "เฉกอะหมัด" ของพระยาโกมารกุลมนตรี ซึ่งท่านได้นำบทความของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดีมาและได้เพิ่มความคิดเห็นลงไปด้วย จากนั้นก็มีหนังสือเกี่ยวกับสกุลบุนนาคพิมพ์ออกมาอีกหลายเล่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะพิมพ์ในรูปของหนังสืออนุสรณ์ในงานต่าง ๆ
           
           จนล่าสุดในปี 2542 ชมรมสายสกุลบุนนาคได้จัดทำหนังสือเรื่อง "สกุลบุนนาค" ขึ้น 2 เล่ม ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือที่ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องราวบรรพบุรุษของสายสกุลบุนนาคที่ครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
           
           " หนังสือ 2 เล่มนี้ รวบรวมและเรียบเรียงเขียนขึ้นใหม่ ถือเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดในสายสกุลบุนนาคเท่าที่เคยทำมา เพราะอยากให้ลูกหลานได้รู้จักตระกูลของเราดีขึ้น " เดือนฉาย คอมันตร์ ประธานคณะผู้จัดทำหนังสือ กล่าว
           
           กว่าจะมาเป็นหนังสือเรื่องสายสกุลบุนนาคทั้ง 2 เล่มได้นั้น ทางชมรมฯได้รวบรวมญาติพี่น้องจากสายสกุลต่าง ๆ ที่แตกสายออกไปจากสกุลบุนนาคได้กว่า 400 คน ที่ส่งเอกสาร รูปภาพต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งเกร็ดประวัติ เรื่องที่เล่าขาน และตำนาน รวมถึงการหาญาติด้วยการสำรวจสำมะโนครัวผู้ที่ใช้นามสกุลบุนนาคทั่วประเทศได้ประมาณ 4,000 คนทั่วประเทศจากเหนือจดใต้ ซึ่งเดือนฉายกล่าวว่าข้อมูลที่ได้จากบรรดาญาติทั้งทางตรงและทางอ้อมนี้เป็นประโยชน์ต่อการจัดสายสาแหรกของสกุลบุนนาคเป็นอย่างมาก
           
           หนังสือ "สกุลบุนนาค"นี้ เล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสกุลบุนนาค ตั้งแต่เจ้าพระยาบวรราชนายก(เฉกอะหมัด) บรรพบุรุษท่านอื่น ๆ ถิ่นฐานบ้านเรือนของสกุลบุนนาค การสร้างวัดในสกุลบุนนาค เป็นต้น ส่วนเล่มที่ 2 ชื่อ "สาแหรกสกุลบุนนาค" โดยรัฐฎา บุนนาคและจงพิศ บุนนาคได้รวบรวมสาแหรกของสายสกุลตั้งแต่ท่านเฉกอะหมัด ไล่ชั้นเป็นชั้นลงมาตั้งแต่ชั้นที่ 1 มาจนถึงรุ่นเกือบปัจจุบัน
           
           โดยแต่ละชั้นมีใครบ้าง และแต่ละคนแตกครอบครัวออกไปกี่คน เป็นใครบ้าง ซึ่งแต่ละคนจะมีรหัสกำกับเอาไว้ อาทิ รัฐฎา บุนนาค ใช้รหัส ๗ :ท:11:4:2:1: หมายถึงอยู่ในลำดับชั้นที่ 7 สายท่านทัต , 11= พระยาอิศรานุภาพ(เอี่ยม)ชั้น๓ , 4= พระยาไพบูลย์สมบัติ(เดช) ชั้น 8 , 2=พระยาประเสนชิตศรีพิลัย (ดัด) ชั้น5 , 1= ศ.ดร.เดือน บุนนาค ชั้น๖ สรุปรัฐฎาเป็นลำดับที่ ๗ สายท่านทัด บุตรศ.ดร.เดือน บุนนาค
           การทำหนังสือสาแหรกสกุลบุนนาคนี้ขึ้นมาจะช่วยในการลำดับญาติที่สืบเชื้อสายมาจากหลายสายได้ง่ายและเข้าใจมากขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของวงศ์ตระกูลเมืองไทยที่มีการลำดับชั้นของบรรพบุรุษได้ละเอียดเช่นนี้
           
           บุนนาคยุคใหม่
           
           ถ้านับตั้งแต่ท่านเฉกอะหมัดปฐมวงศ์ของสกุลบุนนาคสืบต่อลูกหลานกันมาจนถึงปัจจุบันนั้นเป็นเวลาถึง 400 ปีแล้ว และถ้านับเนื่องตั้งแต่เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี(บุนนาค) ต้นสกุลบุนนาคชั้นที่ 1 มาจนถึงปัจจุบันนี้เข้าสู่ชั้นที่ 11 พร้อมทั้งลูกหลานบุนนาคที่สืบสายโลหิตทั้งสายตรงและไปแต่งกับตระกูลอื่นอีกนับจำนวนไม่ถ้วน จากถิ่นฐานเดิมของบรรพชนที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อนทั้งแถวคลองสาน ตลาดเก่า เยาวราช ถนนสุรวงศ์ ถนนเดโช ถนนสีลม ก็กระจัดกระจายหนีความวุ่นวายของเมืองที่ขยายตัวขึ้น จนลูกหลานในปัจจุบันแทบจะไม่มีการติดต่อหรือรู้จักกันแล้ว จะมีก็เพียงจับกันเป็นกลุ่ม ๆ
           
           เคยมีการจัดงานพบปะญาติสมาคมครั้งแรกและครั้งใหญ่ของสกุลบุนนาคเมื่อปี 2454 โดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค) ได้จัดการประชุมวงศ์ญาติแห่งสกุลนี้กว่า 100 คนเพื่อให้พี่น้องได้มาพบปะกันที่วัดประยุรวงศาวาส ณ ตึกพรรณาคาร ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างเป็นอนุสรณ์ให้แก่ท่านผู้หญิงพรรณ ภริยาสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)
           
           ในการชุมนุมครั้งนั้นมีญาติจากทุกสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) ผู้เป็นต้นสกุล และภรรยาของท่านคือเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) ซึ่งมีทั้ง บุนนาค , ศุภมิตร , จาติกรัตน์ ฐ บุรานนท์ , และราชสกุลฉัตรกุล เป็นต้น
           
           ส่วนสกุลฝ่านราชินิกุล ซี่งเป็นพี่ชายและน้องสาวของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีและเจ้าคุณราชพันธุ์นวล(น้องสาว) อาทิ ชูโต , สวัสดิ์-ชูโต , แสง-ชูโต , และ ณ บางช้าง
           
           งานพบปะสังสรรค์รื่นเริงครั้งนั้นจัดต่อเนื่องถึง 3 วัน โดยได้อัญเชิญอัฐิของบรรพบุรุษ บรรพสตรีมาให้ลูกหลานสักการะ ส่วนในอาคารพรรณาคารได้จัดทั้งรูปปั้นรูปเขียนและรูปถ่ายของบรรพบุรุษ การประชุมญาติในครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะสร้างความพอใจและความกลมเกลียวในญาติพี่น้องอย่างมาก
           
           งานชุมนุมเครือญาติของสกุลบุนนาคได้เลิกร้างไปตั้งแต่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรม จนเมื่อปี 2541 มีบรรดาผู้ใหญ่ของสกุลบุนนาคได้รวมตัวกันจัดตั้งชมรมสายสกุลบุนนาคขึ้นพร้อมกับรื้อฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมาใหม่ในปี 2542 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ทางชมรมสายสกุลบุนนาคจึงได้ชุมนุมกันอีกครั้งเพื่อแสดงความจงรักภักดี รวมทั้งได้ทูลเกล้าฯถวายหนังสือ "สกุลบุนนาค" และ "สาแหรกสกุลบุนนาค"ที่ชมรมฯได้จัดทำขึ้น
           
           ล่าสุดทางชมรมฯได้จัดงานชุมนุมเป็นครั้งที่ 2 ในชื่อว่า "ญาติสมาคมจากร.ศ.130สู่ร.ศ.224" ซึ่งมีญาติสกุลบุนนาคสายต่าง ๆ มาร่วมงานกันกว่า 500 คน พร้อมกับทำการเปิดตัวเว็บไซต์ www.bunnag.in.th ซึ่งรวบรวมข้อมูลและประวัติสกุลบุนนาคมาเผยแพร่เพื่อการศึกษาของอนุชนรุ่นหลังและเป็นการช่องทางให้คนในสกุลได้สื่อสารกันได้ใกล้ชิดมากขึ้น
           
           กิจกรรมของชมรมฯนี้คือในทุกปีจะเข้าร่วมงานทำบุญประจำปีกับมูลนิธิเจ้าพระยาบวรราชนายก(เฉกอะหมัด)ซึ่งเป็นสายบุนนาคที่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับท่านเฉกอะหมัด รวมทั้งร่วมงานทำบุญถวายเกียรติคุณกับมูลนิธิ 3 สมเด็จ และจัดกิจกรรมทัศนศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของสกุลบุนนาค เป็นต้น
           
           สกุลบุนนาคนับเป็นวงศ์ตระกูลที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลในบ้านเมืองมากที่สุด ที่ถวายตัวเป็นข้าของแผ่นดินมาทุกยุคทุกสมัย จนถึงกับมีคำสอนจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นมาถึงลูกหลานให้ปฏิบัติต่ออย่างเคร่งครัด โดยร้อยตรีสำเร็จ บุนนาค ได้ประพันธ์คำสอนของบรรพชนมาเป็นร้อยกลองดังนี้
           
           หากตะวัน ยังอยู่ คู่ฟ้า
           หากคงคา ยังไหล เป็นนิจสิน
           หากราชัน ยังสถิต คู่แผ่นดิน
           ชีวิตนี้ ถวายสิ้น เพื่อถิ่นไทย
     

    Credit  
    http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000160965


    Flag Counter
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×