ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #45 : สาวอัมพวา หนีตำแหน่งสนมพระเจ้าเอกทัศน์ มาเป็นราชินีพระพุทธยอดฟ้าฯ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 291
      5
      2 พ.ย. 58

    อุทยาน ร.๒ นิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระอมรินทราที่อัมพวา
            พงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ได้กล่าวถึงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตอนหนึ่งว่า
           
           “...พระองค์ประสูติ ณ วันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช ๑๐๙๘ (พ.ศ.๒๒๗๘) ณ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา มีนิวาสฐานอยู่ภายในกำแพงพระนครเหนือป้อมเพชร ครั้นปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๑๙ พระชนมายุครบ ๒๑ ปีเสด็จออกทรงผนวชเป็นภิกษุอยู่วัดมหาทะลายพรรษา ๑ แล้วลาผนวชเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๒ ซึ่งปรากฏพระนามเรียกเป็นสามัญว่า ขุนหลวงดอกมะเดื่อนั้น ครั้นต่อมาพระองค์ได้วิวาห์มงคลกับธิดาในตระกูลเศรษฐีที่ตำบลอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม อยู่ต่อพรมแดนเมืองราชบุรี จึงเสด็จออกไปรับราชการอยู่ในเมืองราชบุรี ได้เป็นตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมื่อพระชนม์พรรษา ๒๕ ปี”
           
           ใน “สามกรุง” พระนิพนธ์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าของนามปากกา น.ม.ส. ได้กล่าวถึงเบื้องหลังเรื่องนี้ไว้ว่า
           
           ใคร่กล่าวสาวเรื่องย้อน ถอยหลัง หน่อยรา
           พระพุทธยอดฟ้ายัง ใช่เจ้า
           บ่าวสาวกล่าวปลูกฝัง ฝังใฝ่ ฝาแฮ
           นรีรัตน์ขัติเยศเข้า คู่ห้องสองสมฯ
           
           และขยายความเรื่องนี้ไว้ในท้ายเล่มว่า
           
           “มีเรื่องเล่าตามที่ได้ยินผู้ใหญ่กล่าวสืบกันมาว่า ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ มีข้าหลวงเที่ยวไปตามหัวเมืองแลตำบลใหญ่ๆในชนบท สืบหาธิดาของผู้มีเทือกเถาอันดีกอบด้วยรูปลักษณ์อันงาม จดชื่อส่งเข้าไปถวายพระเจ้าแผ่นดินว่าสมควรแก่ตำแหน่งพระสนม ถ้าพูดตามประเพณีบิดามารดาก็ต้องส่งลูกสาวเข้าไปถวาย หากจะมีชายอื่นกล่าวสู่ขอไว้ก็ต้องระงับ เพราะเกรงพระราชอาญา เสมอกับว่านางนั้นขึ้นทะเบียนที่เป็นนางในเสียแล้ว พูดตามปรกติบิดามารดาโดยมากก็คงจะยินดีที่บุตรีมีโอกาสจะได้สู่ฐานะอันสูง เป็นเกียรติ์แก่พ่อแม่พี่น้องแลตำบลบ้านช่องของตนสืบไป
           
           แต่พระชนกชนนีของสมเด็จพระอมรินทร (พระนามเดิม นาก) ไม่ยินดีที่จะถวายบุตรีเป็นพระสนมของพระเจ้าเอกทัศ ครั้นทราบว่าธิดาถูกจดนามส่งไปยังกรุง ก็รีบไปปฤกษาหลวงพินิจอักษรเสมียนตรามหาดไทย หลวงพินิจอักษรเห็นว่าทางแก้มีทางเดียว คือให้รีบแต่งงานเสียกับบุตรชายคนใหญ่ของหลวงพินิจอักษรเอง พระชนกชนนีเห็นชอบ พระพุทธยอดฟ้ากับสมเด็จพระอมรินทรจึ่งได้ทรงแต่งงานกัน แต่ก่อนที่จะแต่งนั้นผู้ใหญ่ในสกุลได้นำความขึ้นทูลพระเจ้าเอกทัศ พระเจ้าเอกทัศพระราชทานอนุมัติ แลพระราชทานพรให้อยู่กินด้วยกันเป็นสุขสวัสดี
           
           เรื่องที่เล่านี้ไม่เคยเห็นในหนังสือ แต่คนรุ่นเก่าเล่ากันแพร่หลาย เมื่อเร็วๆนี้ข้าพเจ้าถามสอบในพวกญาติราชนิกุลบางช้างที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า ก็ว่าเคยได้ยินเช่นเดียวกัน ตามที่เล่าข้างบนนี้อาจไม่ถูกทั้งหมดแต่คงจะมีเค้ามูลบ้าง”
           
           นั่นเป็นข้อความในหนังสือ “สามกรุง”
           
           สมเด็จพระอมรินทรา มีพระบิดามารดา คือ ท่านทอง กับ ท่านสั้น และมีพี่น้องรวม ๑๐ พระองค์ ท่านทองถึงพิราลัยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนท่านสั้นมีพระชนม์ถึง ๙๐ ปีเศษ สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๔๔ และได้รับการถวายพระนามในสมัยรัชกาลที่ ๔ ว่า สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี ซึ่ง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ว่า
           
           “เคยได้ยินพระบรมราชาธิบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ได้ทรงยกย่องพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีให้วิเศษแต่อย่างใด ตรัสเล่าเรื่องที่ได้ทรงสดับมาเป็นตัวอย่างว่า สมเด็จพระรูปศิริโสภาคทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่ก่อนถึงรัชกาลที่ ๑ ก็เป็นแต่เสด็จเข้ามาอยู่ที่ตำหนักสมเด็จพระอัมรินทราอย่างเงียบๆจนตลอดพระชนมายุ แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานโกศทรงพระศพ สมเด็จพระอมรินทรทรงยินดีถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า แม่ข้าเป็นเจ้าฯ”
           
           สมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี มีพระราชโอรสพระราชธิดาถึง ๑๐ พระองค์เช่นกัน แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ขึ้นครองราชย์แล้วไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระอมรินทราทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาอีกเลย อีกทั้งยังไม่เคยเข้าประทับในวังหลวงหลังจากที่ทรงได้รับสถาปนาพระยศขึ้นเป็น อรรคมเหสี คงเสด็จเข้ามาบางครั้งเพื่อทรงเยี่ยมพระราชโอรสพระราชธิดา และเสด็จกลับก่อนปิดประตูวังทุกครั้ง ประทับอยู่แต่บ้านเดิมจนสวรรคต แม้แต่ราชาศัพท์ก็ไม่ทรงใช้กับพระราชสวามีหรือพระราชโอรสพระราชธิดาเลย ทรงเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯว่า “เจ้าคุณ” เหมือนเดิม โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอตรัสเรียกพระองค์ว่า “คุณแม่” และตรัสเรียกสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชโอรสพระราชธิดาว่า พ่อฉิม พ่อจุ้ย แม่แจ่ม แม่เอี้ยง และตรัสด้วยภาษาสามัญเช่นคนธรรมดาจนสิ้นพระชนมายุ
           
           ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒
           
           กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มีพระชนมายุยืนยาวถึงรัชกาลที่ ๓ สวรรคตใน พ.ศ. ๒๓๖๙ ขณะพระชนม์ได้ ๘๙ ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติแห่งความเป็นเจ้าอย่างแท้จริง 
     
    พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.๒ ที่วัดอัมพวันเจติยาราม อัมพวา
            
     
    ป้ายที่ติดไว้ที่วัดอัมพวันฯ
            
    Credit http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000095812

     

    Flag Counter
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×