ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #34 : มิตร ชัยบัญชา พระเอกอมตะตลอดกาล 1

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 327
      4
      30 ก.ย. 58



    ประวัติ  มิตร ชัยบัญชาชีวิตช่วงแรกและการศึกษา มิตร ชัยบัญชา เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรชายของพลฯ ชม ระวีแสง ตำรวจชั้นประทวน กับนางยี หรือ สงวน ระวีแสง สาวตลาดท่ายาง นางยีให้กำเนิดลูกน้อย ขณะที่สามีไม่ได้ดูแลใส่ใจเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ มิตร ชัยบัญชา เดิมเรียกกันว่า "บุญทิ้ง" เพราะพ่อแม่แยกทางกัน เมื่อมิตร ชัยบัญชาอายุได้ 1 ขวบ นางยีก็เข้ามาเป็นแม่ค้าขายผักในกรุงเทพ โดยฝากลูกชายไว้กับนายรื่นและนางผาด ซึ่งเป็นปู่และย่าของมิตร ชัยบัญชา ที่หมู่บ้านไสค้าน
              เมื่อนายรื่นและนางผาด เห็นว่าตนอายุมากขึ้นทุกวัน จวนจะเป็นไม้ใกล้ฝั่งเข้าทุกที จึงฝากเลี้ยงไว้กับสามเณรแช่ม ระวีแสง ผู้เป็นอา ซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดท่ากระเทียม ชีวิตในวัยเด็กของมิตร ต้องติดสอยห้อยตามสามเณรแช่มซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดสนามพราหมณ์ เป็นเด็กวัดที่อาศัยข้าวก้นบาตรกิน ในเพลง"ข้าวก้นบาตร" ที่แต่งโดย สมโภชน์ ล้ำพงษ์และ บำเทอง เชิดชูตระกูล มีเนื้อเพลงบางท่อนกล่าวถึงชีวิตของ มิตร ชัยบัญชาในช่วงนี้ มิตร ชัยบัญชา สมัยเรียนอยู่โรงเรียนฝึกการบินต่อมา ได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดไสค้าน และย้ายมาที่โรงเรียนประชาบาลวัดจันทร์ เมื่อมารดามีฐานะดีขึ้นจึงมาขอรับมิตรย้ายมาอยู่กรุงเทพ ที่บ้านย่านนางเลิ้ง เยื้องกับวัดแคนางเลิ้ง เมื่ออายุประมาณ 9 ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ถนนกรุงเกษม โดยเป็นบุตรบุญธรรมของน้ากับน้าเขย จากชื่อ บุญทิ้ง มาเป็น สุพิศ นิลศรีทอง (นามสกุลน้าเขย) และ สุพิศ พุ่มเหม (นามสกุลของนายเฉลิมพ่อเลี้ยง)
              เมื่อโอนกลับมาเป็นบุตรบุญธรรมของแม่กับพ่อเลี้ยง หลังเรียนจบมัธยม ก่อนเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ มิตรเป็นเด็กเรียนดี เก่งศิลปะ งานช่าง และ ภาษาอังกฤษ นอกจากการเรียนและทำงานรับจ้างสารพัดแล้วมิตรก็เลี้ยงปลากัด ช้อนลูกน้ำขาย รวมถึงนำจักรยานเก่ามาซ่อมให้เช่าหัดถีบ เพื่อหาเงินใช้เองโดยไม่ต้องพึ่งครอบครัว เนื่องจากแม่มีหลานหลายคนที่ต้องดูแล มิตร ชัยบัญชานอกจากนี้ยังชอบเล่นกีฬา และ หัดชกมวยไว้ป้องกันตัว ทั้งนี้เขาสามารถคว้าเหรียญทองมวยนักเรียน 2 ปี ในรุ่นเฟเธอร์เวท และ ไลท์เวท (135 ปอนด์) พ.ศ. 2492 และ พ.ศ. 2494 จากนั้น เขาได้ย้ายไปอยู่โรงเรียนปริยัติรังสรรค์ จังหวัดเพชรบุรีอยู่ระยะหนึ่ง แล้วเรียนต่อระดับเตรียมอุดมที่ โรงเรียนพระนครวิทยาลัย และลาออกเพื่อมาสมัครสอบเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ เพื่อรับราชการทหารอากาศ จังหวัดนครราชสีมา เพราะอยากเป็นนักบิน เริ่มการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2497 เป็นนักเรียนการบินรุ่นที่ ป.15 ของโรงเรียนการบินโคราช และ นักเรียนจ่าอากาศ เหล่าอากาศโยธิน รุ่นที่ 11 สำเร็จการศึกษา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 ติดยศจ่าอากาศโท เมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 จนได้เป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม เมื่อ พ.ศ. 2499 จ่าโทสมจ้อยได้ส่งรูปและแนะนำมิตร ชัยบัญชา หรือ จ่าเชษฐ์ ในขณะนั้น ให้รู้จักกับ ก. แก้วประเสริฐ เพื่อให้เล่นหนังเพราะเห็นท่าทาง รูปร่างหน้าตาที่หล่อและสูงสง่าของมิตร ประกอบกับบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนโยน กระทั่งได้พบกับ ภราดร ศักดา นักเขียนนวนิยายชื่อดัง
              ภราดรได้เสนอกับผู้สร้างหนังหลายราย จ่าสมจ้อยและจ่าเชษฐ์ก็ไปถ่ายรูปและส่งไปตามโรงพิมพ์ โดยกิ่ง แก้วประเสริฐเป็นผู้พลักดันพาไปพบผู้สร้างหนังรายต่างๆ ตามกองถ่าย เพราะเห็นความตั้งใจจริงของจ่าเชษฐ์ รวมถึงส่งภาพให้ผู้สร้าง และ ถ่ายภาพลงประกอบนวนิยายในนิตยสารด้วย จนกระทั่งได้รับการตอบรับให้เป็นพระเอกในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แต่ต้องทำใจปฏิเสธไปเพราะติดราชการสำคัญ ไม่สามารถไปพบผู้สร้างได้ หลังจากนั้นก็มักได้รับการปฏิเสธ ติจมูก ติโหนกแก้ม โดยเฉพาะเรื่องความสูง ที่จะหานางเอกมาเล่นด้วยลำบาก และจ่าเชษฐ์เองก็ไม่รับเล่นบทอื่นด้วย นอกจากพระเอก ต่อมาได้พบกับ สุรัตน์ พุกกะเวส จนกระทั่งนัดให้ กิ่ง แก้วประเสริฐ พาจ่าเชษฐ์ ไปพบทีมงานผู้สร้าง ชาติเสือ ซึ่งวางตัวเอกไว้แต่แรก หลายคนรวมทั้ง ชนะ ศรีอุบล แต่ ประทีป โกมลภิส ไม่ถูกใจเลยสักคน ต้องการดาราหน้าใหม่ ซึ่งเมื่อพบแล้วทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับ ก็พอใจบุคลิก ลักษณะ ของจ่าเชษฐ์ จึงได้รับจ่าเชษฐ์เข้าสู่วงการหนังไทย และตั้งชื่อให้ใหม่ โดยเมื่อประทีปตั้งคำถามให้ตอบ ข้อ 1 "ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด" มิตรตอบว่า "เพื่อนครับ" ประทีปบอกว่า "เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นดีให้ใช้ชื่อใหม่ว่า 'มิตร' ก็แล้วกัน" (เป็นที่มาของชื่อ มิตร) ข้อ 2 "ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด" มิตรตอบอย่างไม่ลังเลว่า "ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ" เพราะมิตรได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด และเขาได้ทำหน้าที่นี้ทุกปีตลอดการเป็นทหารของเขา (เป็นที่มาของนามสกุล "ชัยบัญชา")




    ก้าวสู่วงการแสดง ภาพยนตร์ ชาติเสือ บทประพันธ์ของ เศก ดุสิต กำกับโดย ประทีป โกมลภิส เป็นเรื่องแรกที่มิตรได้ประกบกับนางเอกที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นถึง 6 คน เช่น เรวดี ศิริวิไล นัยนา ถนอมทรัพย์ ประภาศรี สาธรกิจ และ น้ำเงิน บุญหนัก เป็นภาพยนตร์ที่เริ่มถ่ายทำในปลาย  พ.ศ. 2500 และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2501 ภาพยนตร์ทำรายได้กว่าแปดแสนบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากของสมัยนั้นทำให้ชื่อของ มิตร ชัยบัญชา เป็นที่รู้จักของประชาชน มิตร ชัยบัญชาในบท อินทรีแดง เรื่อง จ้าวนักเลงมิตรโด่งดังเป็นอย่างมาก จากบท "โรม ฤทธิไกร" หรือ "อินทรีแดง" ในภาพยนตร์เรื่อง จ้าวนักเลง (2502) ซึ่งเป็นบทที่มิตร ชัยบัญชา ต้องการแสดงเป็นอย่างมากหลังจากได้อ่านหนังสือ จนทีมผู้สร้าง ชาติเสือ ตัดสินใจไปพบ เศก ดุสิต พร้อม มิตร ชัยบัญชา เพื่อขอซื้อเรื่องมาทำเป็นภาพยนตร์ เศก ดุสิต พูดต่อมิตร ชัยบัญชาว่า "...คุณคือ อินทรีแดง ของผม..." ซึ่งภาพยนตร์ทำรายได้มากและมีภาพยนตร์ภาคต่อหลายเรื่อง ต่อมามีภาพยนตร์สร้างชื่อเสียงให้มิตรอีกหลายเรื่อง เช่น เหนือมนุษย์ แสงสูรย์ ค่าน้ำนม ร้ายก็รัก ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเก้า หงษ์ฟ้า ทับสมิงคลา
              ในปี พ.ศ. 2502 (ปีเดียวกับที่สร้างภาพยนตร์ จ้าวนักเลง) คู่ขวัญ มิตร-เพชรามิตร ชัยบัญชา มีชื่อเสียงโด่งดังมากขึ้นเรื่อย ๆ จากบทบาทการแสดงที่ประชาชนชื่นชอบ และจากวินัยที่ดีในการทำงาน รวมถึงนิสัย และอัธยาศัยต่อเพื่อนร่วมงาน มิตรเป็นพระเอกดาวรุ่งที่โด่งดังอยู่ เมื่อแสดงภาพยนตร์คู่กับเพชรา เชาวราษฎร์นางเอกใหม่ เรื่อง บันทึกรักพิมพ์ฉวี เป็นเรื่องแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ภาพยนตร์ออกฉาย พ.ศ. 2505 มิตรเริ่มก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งพระเอกอันดับ 1 ของประเทศ ที่เป็นที่รักของประชาชน ซึ่งต่อมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ได้แสดงภาพยนตร์คู่กับเพชรามากขึ้น และเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จึงเป็นคู่ขวัญได้แสดงภาพยนตร์คู่กันมากที่สุดตลอดมา รับบทคู่รักในภาพยนตร์ ประมาณ 200 เรื่อง จนแฟนภาพยนตร์เรียกว่า มิตร-เพชรา (แฟนหนังบางส่วนเข้าใจผิดว่ามิตร นามสกุล เพชรา) มีแฟนภาพยนตร์จำนวนมากที่ชื่นชอบในตัวมิตร ถึงขนาดว่าถ้าไม่มีชื่อมิตรแสดงก็เดินทางกลับ ไม่ดูหนัง ทั้งที่เดินทางมาไกล แม้แฟนภาพยนตร์มักเข้าใจว่าเป็นคู่รัก แต่ก็เป็นเพียงในภาพยนตร์ ในความเป็นจริงแล้วทั้งคู่มีความสนิทสนมจริงใจเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกัน มิตรรักเพชราเหมือนน้องสาว คอยปกป้องและเป็นที่ปรึกษาแก้ปัญหาให้เพชรา แต่ก็มักโกรธกันอยู่บ่อย ๆ บางครั้งไม่พูดกันเป็นเดือน ทั้ง ๆ ที่แสดงหนังร่วมกันอยู่ โดยเพชรา เคยกล่าวว่า มิตรเป็นคนช่างน้อยใจ
              ปลาย พ.ศ. 2504 มิตรประสบอุบัติเหตุ จากการเดินทางไปดูสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่อง ทวนสุริยะ ของ ปรีชา บุญยเกียรติ เป็นเหตุให้มิตร สะบ้าแตก หน้าแข้งหัก กระโหลกศีรษะกลางหน้าผากเจาะ และฟันหน้าบิ่น เกือบพิการ ถูกตัดขา แต่ในที่สุดก็ใส่สะบ้าเทียมและดามเหล็กยาวที่หน้าแข้ง ต้องฝึกเดินอยู่นานจึงหายเป็นปกติ แต่อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ ปรีชา บุญยเกียรติ เสียชีวิต พ.ศ. 2505 มิตรร่วมกับเพื่อนในวงการภาพยนตร์ เช่น อนุชา รัตนมาล แดน กฤษดา ไพรัช สังวริบุตร จัดตั้ง วชิรนทร์ภาพยนตร์ สร้างภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ ยอดขวัญจิต และ ทับสมิงคลา (ภาคหนึ่งของอินทรีแดง) พ.ศ. 2506 มิตร ชัยบัญชา ก่อตั้ง ชัยบัญชาภาพยนตร์ ของตัวเอง สร้างภาพยนตร์เรื่อง เหยี่ยวดำ (ครุฑดำ) ซึ่งแม้ว่าชื่อเรื่องจะมีปัญหา แต่มิตรก็ฝ่าฟัน ลงทุนแก้ไข จนออกฉายได้ โดยไม่ขาดทุน ท่ามกลางความเห็นใจของประชาชนและผู้อยู่รอบข้าง มีการกล่าวกันว่า ถ้าไม่ใช่หนังของ มิตร ชัยบัญชา คงจะล่มขาดทุนไปแล้ว



    ลาออกจากอาชีพทหารอากาศ เมื่อ พ.ศ. 2506 จำต้องลาออกจากอาชีพทหารอากาศ ขณะมียศพันจ่าอากาศโท เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 เนื่องจากการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ครุฑดำ โดย ชัยบัญชาภาพยนตร์ จากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต ที่เขาถูกกล่าวหาว่านำสัญลักษณ์ตราครุฑมาใช้อย่างไม่เหมาะสม ครุฑดำ จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นเหยี่ยวดำ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพอากาศขณะนั้นเห็นควรให้เลือกทำเพียงอาชีพเดียว มิตร ชัยบัญชา กล่าวกับแฟนๆ ที่หน้าโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงขณะยืนแจกภาพถ่ายในเครื่องแบบทหารอากาศ ในวันที่ " เหยี่ยวดำ " เข้าฉาย เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 ว่า ... ถึงแม้ว่าได้เลือกอาชีพการแสดงภาพยนตร์เพื่อการเลี้ยงชีพ แต่ทั้งร่างกายและจิตใจของผม คือ ทหาร ผมรักเครื่องแบบทหาร ชื่อเสียงความนิยมที่ประชาชนมอบให้ผมในฐานะนักแสดง ผมก็ถือว่าเป็นชื่อเสียงของกองทัพอากาศเช่นกัน การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกครั้ง ผมไม่เคยลืมที่จะกล่าวถึง การเป็นทหารอากาศ มากกว่าการให้สัมภาษณ์อย่างอื่น ถึงแม้ว่าการแสดงจะเป็นภาระจนทำให้ผมต้องตัดสินใจลาออก แต่จิตใจของผมและทั้งตัว คือ ทหารอากาศ 


    สู่การแสดงอย่างเต็มตัว หลังจากนั้นเขาจึงได้ใช้เวลาอย่างเต็มที่กับการแสดง ทำให้มีผลงานมากถึง 35-40 เรื่องต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนที่มากถึงครึ่งหนึ่ง หรือ มากกว่าครึ่งของจำนวนภาพยนตร์ที่ออกฉายทั้งปี กิ่งดาว ดารณี เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร ว่า มิตร ชัยบัญชา มีภาพยนตร์ต้องถ่ายเดือนละประมาณ 30 เรื่อง
              ผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อมา ได้เพิ่มชื่อเสียงให้กับมิตร ชัยบัญชา ได้แก่ ใจเดียว, ใจเพชร, จำเลยรัก, เพลิงทรนง, อวสานอินทรีแดง, นางสาวโพระดก, เก้ามหากาฬ, ชายชาตรี, ร้อยป่า, สมิงบ้านไร่, หัวใจเถื่อน, สาวเครือฟ้า, ทับเทวา, สิงห์ล่าสิงห์, 5 พยัคฆ์ร้าย, ทาสผยอง, อินทรีมหากาฬ, เดือนร้าว, ดาวพระศุกร์, มือนาง, พนาสวรรค์, ลมหนาว, แสงเทียน, พระอภัยมณี, ปีศาจดำ, พระลอ, ทรชนคนสวย, 7 พระกาฬ, พยัคฆ์ร้ายใต้สมุทร, ชุมทางเขาชุมทอง, ไฟเสน่หา, ฟ้าเพียงดิน, เงิน เงิน เงิน, เพชรตัดเพชร ฯลฯ ในช่วงนั้นมิตรมีรายได้เข้าบัญชีธนาคารเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 แสนกว่าบาท ซึ่งเขาก็สละเวลา 1 วันในแต่ละปีเพื่อไปชำระภาษีอากรอย่างถูกต้อง ภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงินพ.ศ. 2507 และ 2508 ภาพยนตร์เรื่อง นางสาวโพระดก และ สาวเครือฟ้า ที่มิตร แสดงนำคู่กับ พิศมัย ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี
              เมื่อ พ.ศ. 2509 สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทยมีความคิดที่จะจัดงานมอบรางวัลให้กับดารา นักแสดง ที่มีคุณสมบัติที่ดีในการทำงาน เป็นที่รักของคนในอาชีพเดียวกัน เป็นที่รักของประชาชน มีความรับผิดชอบ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมงาน โดยมิตร ชัยบัญชา ได้รับพระราชทานรางวัล "ดาราทอง" สาขานักแสดงนำภาพยนตร์ ฝ่ายชาย และพิศมัย วิไลศักดิ์ ฝ่ายหญิง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อ 24 มีนาคม พ.ศ. 2510 จากคุณสมบัติ 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี และ น้ำใจ] โดยก่อนหน้านั้น พ.ศ. 2508 มิตร แสดงภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน เป็นภาพยนตร์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ระบบซูเปอร์ซีเนสโคป สีอิสต์แมน ร่วมแสดงกับ เพชรา เชาวราษฎร์, ชรินทร์ นันทนาคร, สุมาลี ทองหล่อ, สุเทพ วงศ์กำแหง, อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา ทำรายได้มากเป็นประวัติการณ์] และมิตร-เพชรา ได้รับพระราชทานโล่ห์เกียรตินิยม ของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ประจำ พ.ศ. 2508 เมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ในฐานะนักแสดงนำที่ทำรายได้สูงสุด จากภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน ต่อมา พ.ศ. 2509 ภาพยนตร์เรื่อง เพชรตัดเพชร สามารถทำรายได้สูงกว่า เงิน เงิน เงิน 13 มีนาคม พ.ศ. 2510 มิตร ชัยบัญชา ขอเปลี่ยนนามสกุลที่อำเภอดุสิต โดยขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลว่า "ชัยบัญชา" หลังจากอยู่วงการภาพยนตร์ร่วม 10 ปี โดยตามบัตรประชาชนใบใหม่ที่ออกให้เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2512 หมดอายุ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2518 ใช้ชื่อและนามสกุลว่า พิเชษฐ์ ชัยบัญชา


    Credit 
    http://campus.sanook.com/910545/

    Flag Counter
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×