ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #32 : ขันทีแห่งราชสำนักสยาม สั่งนอกมีทั้งขาวและดำ ถึงขั้นตั้ง “กรมขันที”

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 197
      5
      11 ก.ย. 58

    เด็กชาวจีนที่ถูกเจี๋ยนเตรียมเป็นขันที
            ถ้าพูดถึง “ขันที” จะนึกไปถึงราชสำนักจีนกันทันที เพราะมีอยู่ในหนังหลายเรื่อง เลยคิดกันว่าขันทีมีแต่ในราชสำนักจีน ความจริงคนจีนไม่ได้เป็นต้นคิดขันที ต้นกำเนิดมาจากยุโรป แล้วแพร่มาทางเปอร์เซีย อินเดีย จนถึงจีน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ราชสำนักสยามของเราก็เคยมีขันทีเหมือนกัน เป็นขันที “สั่งนอก” เสียด้วย มีทั้งขาวและดำ และมีมากถึงขั้นตั้งเป็น “กรมขันที”
           
           เหตุที่มีขันที ก็เพราะในราชสำนักฝ่ายในนั้นมีแต่ผู้หญิง แต่มีงานบางอย่างที่ผู้หญิงทำไม่ได้ เช่นงานหนักที่ต้องใช้แรง การรักษาความปลอดภัยฝ่ายใน หรือออกไปติดต่อภายนอกที่ต้องพบปะกับผู้ชาย ถ้าให้ผู้หญิงฝ่ายในที่ไม่ค่อยได้เจอะเจอผู้ชายออกไปอาจเกิดเรื่องได้ จึงต้องใช้ผู้ชายมาช่วยงานด้านนี้ แต่ผู้ชายก็มีปัญหาเหมือนกัน ถ้าให้เข้ามาคลุกคลีกับผู้หญิงฝ่ายในแล้วพกอาวุธประจำกายเข้ามาด้วย คงยุ่งแน่ จึงต้องทำการปลดอาวุธเสียก่อน
           
           ขันทีในราชสำนักสยาม ปรากฏในเอกสารราชการอยู่หลายตอน และปรากฏมาตั้งแต่สมัยต้นๆกรุงศรีอยุธยา อย่างธรรมเนียมการเข้าเฝ้าของข้าราชสำนัก กฎมณเฑียรบาลกำหนดไว้ว่า
           
           “ฝ่ายเฉลียงนอก พระศรีมโนราช พระศรีอภัย ขุนราชาข่าน ขุนมโน ปลัดทั้ง ๔ นักเทศแลขันที...”
           
           นักเทศนี้ ปรากฏคู่อยู่กับขันทีเสมอ ดูคล้ายนักเทศและขันทีจะเป็นพวกเดียวกัน แต่ในกฎมณเฑียรบาลที่กล่าวถึงพระราชพิธีสมโภชเจ้าแม่อยู่หัว หรือพระชายาของกษัตริย์ ได้กล่าวว่า
           
           “...พระราชกุมารสมเด็จพระอรรคมเหสีเจ้าขวา พระราชบุตรีซ้าย ลูกเธอหลานเธอแม่เจ้าสนม ออกเจ้ากำนัลซ้าย นักเทศขวา ขันทีซ้าย...”
           
           นักเทศและขันทีแยกกันนั่งคนละข้าง และบางแห่งยังระบุที่พักสำหรับพนักงานในวังไว้ว่า
           
           “... ทิมนักเทศ ทิมขันที ทิมโขลน...” ทิม คือโรงที่พัก แสดงว่านักเทศและขันทีมีที่พักคนละแห่ง ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน แม้จะเป็นผู้ชายที่ทำงานอยู่ฝ่ายในด้วยกัน
           
           แต่อย่างไรก็ตาม เรื่อง “ขันที” ในราชสำนักอยุธยาไม่กระจ่างชัด จนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งถือได้ว่าเป็นแผ่นดินอินเตอร์ มีคนหลายชาติหลายภาษาเข้ามาเดินกันขวักไขว่ ในราชสำนักก็มีทั้งฝรั่งและแขกเปอร์เซีย แขกมลายู เข้ามารับราชการอยู่มาก จึงมีแฟชั่นทันสมัยสั่งขันทีนอกเข้ามาใช้ในราชสำนักด้วย และมีทั้งขันทีขาวและผิวหมึก
           
           หนึ่งในหนังสือที่ให้ความกระจ่างเมืองไทยยุคนั้น ก็คือ “ราชอาณาจักรสยาม” โดย เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตจากพระเจ้าหลุยส์ ๑๔ และกรมศิลปากรมอบให้ สันต์ ท.โกมลบุตร แปลไว้
           
           ลาลูแบร์ได้กล่าวถึงหน้าที่ของขันทีในราชสำนักสยามไว้ว่า
           
           “ส่วนห้องที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามนั้น ตัวเจ้าพนักงานเป็นสตรีทั้งนั้น เจ้าพนักงานเหล่านี้จำพวกเดียวมีสิทธิ์ล่วงล้ำเข้าไปได้ เป็นผู้แต่งที่บรรทมและแต่งเครื่องพระกระยาหาร ทรงเครื่องพระองค์ท่านและคอยบำเรอพระยุคลบาทเวลาเสวย แต่ไม่มีใครจะต้องพระเศียรของพระองค์ได้เลยในขณะที่แต่งเครื่องถวาย หรือจะส่งสิ่งไรข้ามพระเศียรก็ไม่ได้ดุจกัน บรรดาผู้รับส่งอาหารจัดส่งเครื่องโภชนาการให้แก่ขันทีขนไปให้ผู้หญิงห้องเครื่องต้น”
           
           “บรรดานารีในพระบรมมหาราชวังนั้น จะออกไปข้างนอกไม่ได้เลย นอกจากตามเสด็จพระราชดำเนิน พวกขันทีก็เหมือนกัน ไม่ออกไปภายนอก นอกจากจะเชิญกระแสพระราชดำรัสไปจัดการตามพระราชโองการเท่านั้น ว่ากันว่าพระองค์มีขันทีอยู่เพียง ๘ ถึง ๑๐ คนเท่านั้น มีทั้งคนผิวขาวและผิวดำ”
           
           ขันทีในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ที่ลาลูแบร์ว่ามีทั้งคนผิวขาวและผิวดำนั้น น่าจะเป็น “แขก” ทั้งหมด เพราะยุคนั้นมีความใกล้ชิดกับเปอร์เซียมาก มีขุนนางหลายคนเป็นชาวเปอร์เซีย พระนารายณ์ราชนิเวศที่ลพบุรี ศิลปกรรมหลายอย่างก็ได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย ขันทีผิวขาวพวกนี้น่าจะเป็นเปอร์เซีย อาหรับ หรือแขกขาวจากอินเดีย ที่ยึดอาชีพเป็นขันทีกันมาก ส่วนขันทีผิวดำน่าจะเป็นพวกแอฟริกัน ที่ถูกพ่อค้าทาสนำมาขายและถูกตอนตั้งแต่เด็ก
           
           ในกฎหมายตราสามดวงก็มีข้อความระบุว่า ตำแหน่งข้าราชการใน “กรมขันที” มี พระศรีมโนราช พระศรีอภัย ขุนราชาข่าน ขุนมโน ปลัดทั้ง ๔ นักเทศและขันที
           
           หลักฐานอีกอย่างที่แสดงว่าขันทีของกรุงศรีอยุธยาเป็นแขก ก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏอยู่ตามพระอุโบสถบางแห่ง อย่างที่วัดไชยทิศ ซอยจรัลสนิทวงศ์ ๓๗ ตำบลบางขุนศรี เป็นภาพเขียนพุทธประวัติ มีรูปขันทีแต่งกายแบบมุสลิมเปอร์เซีย อยู่ในกลุ่มนางกำนัลฝ่ายในด้วย
           
           ส่วนที่หอเขียน วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา ซึ่งนำมาจากวัดบางกลิ้ง พระนครศรีอยุธยา มีรูปขันทีแขกถือไม้หวดคนที่มาแอบดูนางใน
           
           แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่ามีการ “ตัด” หรือผลิต “ขันทีเมดอินไทยแลนด์”
           
           หลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ปรากฏเรื่องราวของขันทีในราชสำนักสยามอีก อาจจะเลิกไป เพราะสังคมชาวพุทธไม่ยอมรับขันที และมีข้อห้ามมิให้บวชในพุทธศาสนา
           
           ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หน้าที่รักษาความปลอดภัยฝ่ายในซึ่งเคยเป็นหน้าที่ของขันทีในสมัยอยุธยา ได้ใช้ผู้หญิงที่มีร่างกายบึกบึนแข็งแรงมาทำหน้าที่แทน เรียกว่า “โขลน” จนในสมัยรัชกาลที่ ๔ กิจการของโขลนกว้างขวางขึ้นมากจนตั้งเป็น “กรมโขลน” นอกจากมีหน้าที่รักษาความสงบไม่ให้คนทะเลาะชกตีกันในวังแล้ว ยังมีหน้าที่เอาเกวียนไปเก็บขยะและมีถังรับเทกระโถนด้วย
           
           ปัจจุบัน “ขันที” มนุษย์พันธุ์พิเศษ ที่เคยมีบทบาทสำคัญอยู่ในประวัติศาสตร์ ทั้งในตะวันตกและตะวันออก ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่เรื่องราวอันแปลกพิสดาร หรือจะเรียกว่าเป็นความพิเรนของมนุษย์ผู้มีอำนาจก็ว่าได้ และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ 

     
    ภาพที่หอเขียนวังสวนผักกาด ขันทีแขกหวดคนมาแอบดูนางใน
            
     
    จ่าโขลนในสมัย ร.๔
            


    Flag Counter
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×