ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #103 : พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎร ๔ ภาคครั้งแรกในรัชกาล

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 148
      6
      19 ต.ค. 59

    ทรงน้อมพระองค์ลงสู่แม่เฒ่าแห่งนครพนมที่มารอรับเสด็จ
            ตามราชประเพณีมาแต่โบราณ เมื่อพระมหากษัตริย์ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติอย่างสมบูรณ์แล้ว จะเสด็จออกให้ราษฎรเข้าเฝ้าเพื่อจะได้รู้จักพระองค์ แต่ในสมัยโบราณที่การคมนาคมยังไม่สะดวก การเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลเป็นการยากลำบาก จึงเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราแต่ในเมืองหลวงเท่านั้น
           
           ในรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงผ่านพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ และเสด็จเลียบพระนครตามโบราณราชประเพณีแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องเสด็จไปสวิตเซอร์แลนด์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรักษาพระองค์อันเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อเสด็จกลับมาประทับในพระราชอาณาจักรอย่างถาวรและทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว มีหลายประเทศทูลเชิญให้เสด็จไปเยือน แต่ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคต่างๆก่อนจึงจะเสด็จไปต่างประเทศ
           
           ในขณะที่เตรียมหมายกำหนดการจะออกเยี่ยมราษฎรทั้ง ๔ ภาคอยู่นั้น ก็ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นที่ตลาดบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีในวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๗ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากไฟไหม้ในครั้งนี้อย่างมาก ต่อมาในวันที่ ๑๓ กันยายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถด้วยพระองค์เองไปเยี่ยมราษฎรพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี และพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอัคคีภัยที่นั่น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล อย่างที่เคยเล่ามาแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๙
           
           การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทั้ง ๔ ภาคครั้งแรกนี้ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งพระราชปณิธาน พระราชอัธยาศัย ได้แสดงออกปรากฏอย่างชัดเจน ทรงห่วงใยทุกข์สุขและการทำมาหากินของประชาชน ทรงปรารถนาที่จะหาทางช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งพระราชอัธยาศัยอันงดงาม เป็นแบบฉบับของกษัตริย์ประชาธิปไตย ทรงวางพระองค์เป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่มีตำแหน่งเป็นพระประมุขของประเทศ ไม่เหลือความเป็นสมมุติเทพเช่นกษัตริย์ในสมัยโบราณ ทรงนับญาติลุงป้าตายายกับราษฎรตามธรรมเนียมไทย พระราชดำรัสของพระองค์และสมเด็จพระบรมราชินีกับราษฎรนั้น เสมือนคนไทยที่รักใคร่สนิทสนมพูดคุยกัน ไม่เหลือช่องว่างระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนอีกต่อไป
           
           ในโอกาสนี้ จึงขอนำเฉพาะพระราชอัธยาศัยที่น่าตื่นตาและประทับใจเหล่านั้นมารำลึกกันอีกครั้ง ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
           
           การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ๔ ภาค ได้เริ่มที่ภาคกลางเป็นภาคแรก โดยในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๙๘ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรีเป็นแห่งแรก ที่อำเภออู่ทอง มีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จล้นหลาม ทั้งสองพระองค์เสด็จลงจากรถพระที่นั่งปฏิสันถารกับราษฎร พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามหญิงชราคนหนึ่งว่า มีฝนตกลงมามากในระยะนี้ การทำนาและน้ำสำหรับรับประทานพอใช้ไหม หญิงชราทูลว่ามีใช้พอเพียง พระเจ้าอยู่หัวถามว่าอยู่ที่ไหน ทำมาหากินอะไร หญิงชราทูลตอบว่า “ตั้งร้านค้าขายอยู่ในตลาดจ้ะ” พระเจ้าอยู่หัวทรงซักถามอีกว่า “ร้านใหญ่ไหม” หญิงชราทูลว่า “ก็ไม่ใหญ่นักหรอก แต่คงจะใหญ่คราวนี้ เพราะได้เฝ้าในหลวง” พระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล แล้วเสด็จพระราชดำเนินทักทายราษฎรคนอื่นต่อไป
           
           สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตรัสกับราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า พระองค์มีพระประสงค์จะมาเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีนานแล้ว เพิ่งจะมีโอกาสมาคราวนี้ และอยากจะมาอาบน้ำเล่นให้สนุก ทรงถามหญิงคนหนึ่งว่า “จระเข้ในแม่น้ำสุพรรณชุมมากไหมจ๊ะ” หญิงผู้นั้นทูลตอบว่า “เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วค่ะ” ราษฎรที่เข้าเฝ้านั้นส่วนใหญ่ต่างไม่ประสีประสาในราชาศัพท์ แต่ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ทรงถือสาแต่อย่างไร ผู้สื่อข่าวซึ่งติดตามรายงานข่าวโดยละเอียด ได้รายงานว่า หญิงชราคนหนึ่งได้ทูลถามสมเด็จพระบรมราชินีตามภาษาชาวบ้านว่า “ยังสาวเหลือเกิน มีลูกกี่คนแล้ว” สมเด็จฯทรงตอบว่า “สามคนแล้วละจ้ะ เป็นหญิงสองชายหนึ่ง คนเล็กอายุได้ ๕ เดือน ฉันอยากจะพามาเที่ยวด้วย แต่หนทางไกลกลัวไม่สบาย และต้องค้างคืน” หญิงชราแสดงความประหลาดใจทูลถามว่า “แล้วรับประทานนมที่ไหน” สมเด็จฯทรงตอบว่า “กินนมกระป๋อง” และตรัสต่อไปว่า “นมของฉันไม่พอให้รับประทาน ฉันต้องกินแกงเลียงทุกวัน ผู้ใหญ่เขาบอกว่าถ้ากินแกงเลียงแล้วจะมีน้ำนมมาก แต่ของฉันก็ไม่มาก” ตรัสแล้วก็ทรงพระสรวลและชมว่า “คุณป้าคนนี้พูดเก่งจัง”
           
           ที่จังหวัดชัยนาท มีราษฎรมาเฝ้าสองข้างทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงภายในจังหวัดอย่างแน่นขนัด เสด็จไปที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จจากที่ประทับไปทรงเยี่ยมและปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเฝ้าอยู่หน้าที่ประทับ ทรงไต่ถามถึงทุกข์สุข การทำมาหาเลี้ยงชีพ และพระราชทานพรพร้อมเงินก้นถุง ในขณะที่ทั้งสองพระองค์อยู่ท่ามกลางราษฎรนั้น หญิงชราคนหนึ่งได้วิ่งเข้ามากราบและกอดพระบาทพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจที่ได้เห็นองค์พระประมุขอย่างใกล้ชิด จนทั้งสองพระองค์ไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินต่อไปได้ ทรงไต่ถามความเป็นอยู่และการทำมาหากิน ซึ่งทำให้หญิงชราปลื้มปีติอย่างยิ่ง
           
           รุ่งอรุณของวันที่ ๒๘ กันยายน สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นับแต่ชัยนาทถึงสิงห์บุรี สะพรั่งไปด้วยธงทิวประดับประดาไว้อย่างสวยงาม ประชาชนได้พากันหลั่งไหลไปที่หน้าศาลากลางจังหวัดอย่างมืดฟ้ามัวดิน หลามออกมาจนถึงถนนหน้าศาลากลาง ที่ต่างปลื้มปีติยินดีในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้เสด็จมาเยี่ยมชาวสิงห์บุรี หลังจากมีพระราชดำรัสกับราษฎรแล้ว ได้เสด็จลงเยี่ยมเยียนทักทายกับผู้ที่มาเข้าเฝ้าโดยทั่วกัน ทรงยื่นพระหัตถ์ให้ผู้เฒ่าผู้แก่จับ ราษฎรได้นำไข่ไก่และดอกไม้มาถวาย ทรงพระราชทานเงินก้นถุงให้ผู้ถวายของทุกคน
           
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามราษฎรคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวบางระจันมีอาชีพทำนา ว่าการทำนาเป็นอย่างไร ข้าวเจริญงอกงามดีหรือ ราษฎรทูลว่าการทำนาไม่ดี เพราะน้ำมากจนทำนบพัง ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการอำเภอ ผู้แทนราษฎรไม่เอาใจใส่ บอกว่าจะให้ข้าวกินก็ไม่ให้ ข้าราชการที่ตามเสด็จจึงได้รับเรื่องไปดำเนินการช่วยเหลือต่อไป
           
           ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรจังหวัดนครนายก เมื่อมีพระราชดำรัสจบแล้ว เสด็จลงจากศาลากลางจังหวัด เพื่อทรงทักทายปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด หญิงชราหลายคนเมื่อเห็นสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จมา ก็เข้ากราบขอจับพระหัตถ์ไปกอด บางคนจับพระหัตถ์ได้ก็ไม่ยอมปล่อย ทำให้สมเด็จฯทรงพระสรวล
           
           ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินในหมู่ราษฎรที่มาเฝ้าหลายหมื่นคน เป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง ด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้มตลอดเวลา จึงเสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากศาลากลาง มีประชาชนห้อมล้อมรถพระที่นั่งเพื่อส่งเสด็จ ต่างเปล่งเสียงไชโยจนรถพระที่นั่งพ้นศาลากลาง
           
           ต่อมาในวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน ซึ่งก็เป็นการสร้างประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานมาก่อนเลย เนื่องจากเส้นทางคมนาคมยังทุรกันดาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จไปถึงโคราชเมื่อมีทางรถไฟถึง แต่ก็เป็นการเสด็จประพาสต้นส่วนพระองค์ ไม่ให้ราษฎรรู้ข่าว
           
           การเสด็จพระราชดำเนินของทั้งสองพระองค์ในครั้งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสผ่านพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า ให้ทางจังหวัดต่างๆที่เตรียมการรับเสด็จ ยึดถือหลักประหยัดให้มากที่สุด พระองค์ไม่ถือว่าที่ประทับในการรับเสด็จจะเล็กหรือใหญ่อย่างใด ให้ถือเอาการประหยัดเป็นหลักสำคัญในการรับเสด็จ และขออย่าให้มีการเกณฑ์ราษฎรมารับ
           
           ข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว แม้สื่อการประชาสัมพันธ์สมัยนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพนัก แต่การร่ำลือปากต่อปากก็ทำให้แพร่ไปอย่างทั่วถึง ประชาชนแม้ในถิ่นทุรกันดารต่างหอบเสื่อหอบหมอน ข้าวปลาอาหาร จูงลูกจูงหลาน ชักชวนกันมาเฝ้า ทั้งในตัวเมืองที่กำหนดเป็นสถานที่รับเสด็จ หรือตามเส้นทางเสด็จผ่านทางถนนและทางรถไฟ แม้แต่บนยอดภูกระดึง ก็ยังมีราษฎรพากันเดินทางขึ้นไปเฝ้าชมพระบารมีกันมากมาย ต่างจัดหาข้าวของมีค่าที่จะหาได้ ทั้งของเก่าแก่ประจำตระกูล ของกินของใช้ ตลอดจนของป่าพื้นเมือง นำไปทูลเกล้าฯถวายทั้งสองพระองค์ด้วยความจงรักภักดี และด้วยปรารถนาที่จะเข้าเฝ้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดที่สุด ซึ่งต่างก็ประทับใจในพระราชจริยาวัตรอันงดงาม และปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณ อันเป็นความทรงจำที่มีค่ายิ่งของชีวิต
           
           ที่สถานีรถไฟนครราชสีมา มีราษฎรมาเฝ้ารับเสด็จเป็นแสนคน โดยเดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ทำให้โรงแรมในเมืองทุกแห่งเต็มหมดจนต้องพักกันตามศาลาวัด ทั้งสองพระองค์เสด็จลงจากรถไฟพระที่นั่ง ประทับโดยรถยนต์ ผ่านซุ้มรับเสด็จที่สวยงามกว่า ๕๐ ซุ้มไปที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ เกิดความชุลมุนขึ้นเล็กน้อย เมื่อมีราษฎรพยายามออกจากแถวรับเสด็จเพื่อหมอบกราบพระบาททั้งสองพระองค์
           
           ในวันนั้น ฝนซึ่งไม่ได้ตกในนครราชสีมาเป็นเวลานานแล้ว ก็โปรยลงมาขณะที่แดดยังอ่อนๆ มหาดเล็กนำพระมาลามาถวาย แต่ทรงปฏิเสธ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในหมู่ราษฎรที่มาเฝ้าในสายฝน ทรงรับของถวายและทรงทักทายเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร เด็กหญิงคนหนึ่งถูกเบียดจนเซ จึงคว้าพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้กันล้ม ทรงพระเมตตาให้ราษฎรได้เฝ้าอย่างใกล้ชิดในบรรยากาศที่ชุ่มชื่นเป็นเวลาถึง ๒ ชั่วโมงกว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ต่างยกมือขึ้นเหนือหัวกล่าวว่า “บารมีของในหลวงองค์นี้ล้นเหลือนัก เหมือนฟ้ามาโปรด แต่นี้ไปความแห้งแล้งจะหมดไปจากอีสานละ”
           
           ที่อำเภอโนนไทย มีราษฎรมารอเฝ้าเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประทับอยู่บนที่ว่าการอำเภอ ราษฎรจะขอนำของขึ้นมาถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับนายอำเภอว่า “ฉันจะลงไปหาเอง ไม่ต้องให้ขึ้นมาหรอก ให้เขาอยู่นั่นแหละ” แล้วเสด็จลงไปเยี่ยมอย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยในเรื่องน้ำทำนา ทรงซักถามเรื่องนี้เป็นพิเศษ มักจะรับสั่งถามว่า “ฝนแล้งขาดน้ำไหม ชลประทานช่วยดีไหม” สมเด็จพระบรมราชินีก็ทรงทักทายกับราษฎรเคียงข้างพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งกับหญิงชราผู้หนึ่งว่า “มารอนานแล้วหรือจ๊ะ ฉันมาช้าไปเพราะราษฎรมากเหลือเกิน ต้องแวะเยี่ยมเขาตลอดทาง”
           
           มีเด็กอายุ ๔ เดือนคนหนึ่งร้องไห้จ้า สมเด็จฯรับสั่งกับแม่เด็กว่า “เอาผ้าปิดเสียซีจ๊ะ แดดร้อนเดี๋ยวจะเป็นไข้” แต่เด็กก็ยังไม่หยุดร้อง จึงทรงดีดนิ้วเปาะๆ ทำให้เด็กหัวเราะได้ ทรงรับสั่งว่า “ยิ้มได้แล้ว เด็กชื่ออะไรจ๊ะ” แม่เด็กทูลว่า “ชื่อสุวรรณชาติ” รับสั่งว่า “แหม ชื่อเพราะจริงๆ ฉันมีลูกชาย แต่ก็ยังเล็กๆอยู่ ไม่ช้าจะได้เห็นลูกฉัน ฉันจะพามาเยี่ยม”
           
           ที่อำเภอโนนไทยนี้ ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่บนพลับพลา หญิงจากบ้านคูด่าน อำเภอโนนไทย ชื่อนางปล้อง จาเกาะ อายุ ๒๗ ปี ตั้งครรภ์แก่แล้วก็ยังอุตส่าห์มาเฝ้า และเกิดเจ็บท้องกะทันหัน เพื่อนบ้านประคองจะพาไปสุขศาลาก็ไม่ทัน จึงคลอดบุตรออกมาที่หน้าพลับพลา ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีทรงปฏิสันถารอยู่กับราษฎร
           
           ออกจากอำเภอโนนไทยแล้ว ขบวนรถพระที่นั่งต้องเดินทางต่อไปยังบ้านหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเส้นทางระหว่างนครราชสีมาไปชัยภูมิมีสภาพทรุดโทรมมาก นอกจากทำให้รถทั้งขบวนต้องตลบไปด้วยฝุ่นแล้ว ก่อนถึงสี่แยกหนองบัวโคก รถพระที่นั่งเกิดยางแตกเพราะถูกตะปูตำ ทั้งสองพระองค์ต้องเปลี่ยนไปประทับในรถพระที่นั่งสำรอง
           
           ขบวนรถพระที่นั่งมาถึงจังหวัดชัยภูมิเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. มีราษฎรทั้งในตัวจังหวัดและมาจากอำเภอภูเขียว เกษตรสมบูรณ์ บ้านเขว้า คอนสวรรค์ เฝ้ารอรับเสด็จอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดไม่ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ คน หนังสือพิมพ์ “ไท รายวัน” ฉบับวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ รายงานว่า หนึ่งในผู้ที่มาเฝ้า มีนางดวงคำ ธนศรีรังกูร ซึ่งเป็นแม่ยายของอัยการจังหวัด ได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวด้วยสำเนียงพื้นเมืองว่า “ข้าน้อยพูดภาษาอีสาน พระองค์ฟังรู้เรื่องบ่” ทำให้ทรงพระสรวลและรับสั่งว่า “พอรู้เรื่องจ้ะ” แล้วทรงมีพระราชดำรัสถามเด็กหญิงอุดมศิลป์ว่า “หนูเรียนหนังสือชั้นไหน อยู่โรงเรียนอะไร อายุเท่าไหร่” เมื่อเด็กทูลตอบก็ทรงชมว่า “เรียนเก่งจริง” เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงชายชราอายุ ๘๐ ปีคนหนึ่ง ทรงรับสั่งถามว่า “ลุงอยู่ที่ไหน ชายชราพนมมือตอบด้วยเสียงสั่นว่า “อยู่ที่ตำบลแจ้งคร้อครับ” ทรงถามว่า “ไกลไหมจ๊ะลุง” ชายชราทูลตอบว่า “เดินทาง ๒ คืน” ทรงรับสั่งถามอีกว่า “เดินทางมาด้วยพาหนะอะไร” ทูลตอบว่า “ย่างมา ๒ วัน ๒ คืน” ทรงหันไปถามพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เมื่อทรงทราบความหมายของคำว่า “ย่าง” แล้ว จึงรับสั่งถามว่า “ลุงแก่แล้วไม่เหนื่อยหรือ” ชายชราทำตาลุกโพลง ยกมือขึ้นท่วมหัว ทูลตอบว่า “เจ้าประคุณทูนหัว ไม่เหนื่อยหรอก อยากเห็นเจ้าประคุณ ขอหอมมือจักหน่อยจะได้บ่” พระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นพระหัตถ์ให้ชายชรา ซึ่งยกพระหัตถ์ขึ้นทูลเหนือหัว พร้อมกับก้มดมที่พระหัตถ์ แล้วกล่าวว่า “จะตายก็ไม่ว่า เกิดมาชาตินี้สมปรารถนาแล้ว” ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล
           
           ส่วนสมเด็จพระราชินี ทรงทักทายกลุ่มผู้หญิง เด็ก และคนชรา ตอนหนึ่งทรงมีพระราชปฏิสันถารกับหญิงชราที่เอาผ้าปูพื้นให้ประทับรอยพระบาท ซึ่งทรงพระกรุณาตามความประสงค์ และตรัสถามว่า “ไม่กลัวเปื้อนหรือยาย” หญิงชราก้มลงกราบแทบพระบาท ทั้งยังขอแตะพระบาท เมื่อทรงอนุญาตหญิงชราก็ใช้มือลูบขึ้นลูบลงพร้อมกับกล่าวว่า “แหม เนื้อนิ่มเหลือเกิน สมกับเป็นพระราชินีแท้ๆ ยังสาวสวยอยู่นะเจ้าประคุณทูนหัว ขอให้เจริญๆยิ่งๆเถิด”
           
           ที่จังหวัดขอนแก่น ทรงเสด็จฯลงเยี่ยมราษฎรที่สนามหน้าศาลากลาง เพื่อให้ประชาชนเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ประชาชนต่างเบียดเสียดกัน จนทำให้เก้าอี้ที่ตั้งไว้ให้ประชาชนนั่งเฝ้ารับเสด็จ ได้ล้มลงเพราะแรงดันของฝูงชน ผู้นำเสด็จฯต่างต้องนั่งคุกเข่าลงเพื่อกันมิให้ประชาชนเข้ามาชิดถึงพระองค์ แถวรับเสด็จรวนเรอยู่พักหนึ่งก็กลับคืนสู่ความเรียบร้อย
           
           ในกลุ่มราษฎรที่เฝ้ารับเสด็จอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นนี้ มีราษฎรกลุ่มหนึ่งไม่ใช่คนอีสาน ปรากฏว่ามาจากจังหวัดนครปฐม จะทูลเกล้าฯถวายของตั้งแต่เสด็จนครปฐมแล้ว แต่ถวายไม่ได้ จึงต้องตามมา
           
           “ตั้งใจว่าก่อนตายจะต้องถวายให้ได้ นี่ก็มากันสิบกว่าคน ตอนนี้สบายใจแล้ว ได้ทูลเกล้าฯถวายสมปรารถนา” หนึ่งในกลุ่มบอกนักข่าว
           
           เช้าตรู่วันที่ ๖ พฤศจิกายน ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่สนามหน้าโรงเรียนสนามบิน ซึ่งกองทัพอากาศจัดเฮลิคอปเตอร์ถวาย เพื่อเสด็จขึ้นยอดภูกระดึง นายทองหนัก สุวรรณสิงห์ อดีต ส.ส.เลย ได้เล่าว่า เดิมได้เตรียมช้างสำหรับพระองค์ละเชือก แต่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ประทับช้างเชือกเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขบวนเสด็จฯครั้งนี้มีทหารถือปืนเตรียมพร้อมเดินอยู่ข้างช้างฝ่ายละ ๑๐ คน ห่างประมาณ ๕ วา เสียงหญ้าแห้งเดินทำให้ช้างตื่น ตัวส่ายไปส่ายมา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงรับสั่งว่า “ทำไมเขาจึงเดินซิกแซกแบบนี้” นายทองหนักซึ่งทำหน้าที่ควาญช้างจึงได้หยุดชะงัก แล้วโบกมือให้ทหารที่อยู่ทั้งสองข้างออกไปห่างๆ ช้างจึงเดินเป็นปกติ... ทรงรับสั่งว่า “อ๋อ เขากลัว” มีพระกระแสรับสั่งกับนายทองหนักอีกว่า “โซ่นี้ผูกขาเขาไว้ทำไม เดินลำบาก” นายทองหนักกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าได้เตรียมพร้อมไว้เผื่อบางทีช้างอาจจะตื่นตกใจ วิ่งไปก็เกิดอันตรายได้ ถ้าช้างตื่นตกใจทำท่าจะวิ่ง จะได้ทิ้งโซ่นี้ให้ควาญช้างผูกกับต้นไม้ วิ่งไปไม่ได้” ทรงมีรับสั่งว่า “อ๋อ รอบคอบดีนะ”
           
           ส่วน “พ่อเบี่ยง” นายยัน ศิริกันรัตน์ ควาญช้างอีกเชือกหนึ่งที่นำเสด็จทอดพระเนตรธรรมชาติบนภูกระดึง เล่าว่า คราวหนึ่งสมเด็จพระราชินีทรงเหยียดพระบาทมาถูกศีรษะ ทรงรับสั่งว่า “เท้าฉันถูกตาใช่ไหม ขอโทษนะ” พ่อเบี่ยงกราบทูลว่า “ไม่เป็นไรครับ” และมาเล่าภายหลังว่า ดีใจมากที่ได้ถวายการรับใช้ในการเสด็จครั้งนี้ พระบาทถูกหัวก็ถือว่าเป็นมงคล
           
           “บ่ไข้บ่ป่วย เพราะท่านได้เหยียบหัว” พ่อเบี่ยงว่า
           
           ในตอนบ่าย เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาลงที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียนบ้านสีฐาน อำเภอวังสะพุง มีราษฎรมารอฝ้าและถวายของป่าแปลกๆ เช่น นกเขา ไก่ฟ้า กระจง กล้วยไม้ เป็นต้น สมเด็จพระราชินีได้ทรงไต่ถามถึงการเดินทางมารับเสด็จของชาวบ้าน ก็ทรงได้รับคำตอบว่า “มาแต่หลังภูโน้น เดินมาแต่ ๒-๓ วันก่อน อยากเห็นให้เต็มตา วันนี้มารอแต่เช้า” บางคนก็ตอบเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “ฮ้อนปานใดก็ฮีดได้ ขอเห็นเจ้าอยู่หัวคักๆเถอะ”
           
           ระหว่างทางที่เข้าจังหวัดเลยนี้ รถพระที่นั่งมาจากทางทิศเหนือ และจะต้องเลี้ยวซ้าย แต่ตำรวจจราจรที่รักษาการณ์ตรงทางแยก ซึ่งยืนอยู่ข้างซ้ายของถนน เกิดผิดคำสั่งที่ไม่ต้องทำความเคารพ และลีลามากไปหน่อย ได้ยื่นแขนตรงไปข้างหน้าก่อนจะยกขึ้นแตะหมวก ถวายความเคารพอย่างเข้มแข็ง คนขับรถเลยนึกว่าให้สัญญาณเลี้ยวไปทางขวา จึงเลี้ยวไปตามมือตำรวจ ทำให้เสียเวลาเป็นชั่วโมงกว่าขบวนรถพระที่นั่งจะกลับรถเมื่อรู้ว่าผิดเส้นทาง
           
           เมื่อขบวนรถพระที่นั่งมาถึงจังหวัดเลย เป็นเวลา ๑๙.๐๐ น.เศษแล้ว เลยเวลาตามหมายกำหนดการไปมาก อากาศมืดมัว แต่ปรากฏว่าสองข้างถนนไปสู่ศาลากลาง ประชาชนได้ตั้งโต๊ะบูชาเรียงรายไว้เป็นแถว ต่างจุดธูปเทียน ทำให้แสงเทียนแวววาวอยู่ในความมืดทั้งสองฟากถนน เป็นภาพที่งดงาม ประชาชนต่างนั่งพนมมือขณะที่รถพระที่นั่งผ่าน
           
           ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ที่ทรงสร้างประวัติศาสตร์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จไปสักการะพระธาตุพนม ในวันนั้นยังเกิดภาพประทับใจ ที่คนไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี และถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ แสดงถึงความอ่อนโยนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์
           
           เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จกลับที่ประทับแรม มีราษฎรมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ตามรายทางเป็นระยะ ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็ทรงหยุดรถพระที่นั่ง เสด็จลงไปทักทายปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้น
           
           ที่สามแยกชยางกูร-เรณูนคร มีราษฎรอุ้มลูกจูงหลานมารอเฝ้าอยู่กลุ่มใหญ่ ลูกหลานได้พา แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย ๑๐๒ ปี มาเฝ้า ณ จุดนั้นด้วย ซึ่งห่างจากบ้าน ๗๐๐ เมตร และหาได้ดอกบัวสายสีชมพูให้แม่เฒ่ามา ๓ ดอก พาไปนั่งแถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท
           
           ตั้งแต่เช้าจนบ่าย แม้ความร้อนจากแสงแดดจะทำให้ดอกบัวในมือของแม่เฒ่าเหี่ยว แต่ก็ไม่อาจจะแผดเผาให้หัวใจแม่เฒ่าวัย ๑๐๒ ปีเหี่ยวเฉาไปได้ จะขอเฝ้าล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์สักครั้งในชีวิต เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงตรงหน้า แม่เฒ่ายกดอกบัวสายที่เหี่ยวทั้ง ๓ ดอกขึ้นเหนือหัว แสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง พระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่า และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยน
           
           อาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์ กดชัตเตอร์บันทึกภาพนี้ไว้ในประวัติศาสตร์
           
           ไม่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะมีรับสั่งกับแม่เฒ่าอย่างไร ภาพนี้ก็ไม่ต้องการคำอธิบายใดๆทั้งสิ้น และบอกถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้กับราษฎรของพระองค์ ได้มากกว่าคำอธิบายเป็นล้านคำ
           
           หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯแล้ว สำนักพระราชวังได้ส่งภาพนี้ พร้อมด้วยพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก
           
           ที่จังหวัดมหาสารคามมีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จหลายหมื่นคน จำนวนมากเดินทางมาจากอำเภอชั้นนอก และมาล่วงหน้า ๒-๓ วันแล้ว บริเวณตลาดและในเมืองจึงมีคนนอนกันอยู่ข้างถนนเกลื่อนไปหมด ตื่นเช้าก็หุงหาอาหารกันข้างถนนนั้น
           
           เช้าวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ขบวนรถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนออกจากที่ประทับแรมจังหวัดร้อยเอ็ด ท่ามกลางเสียงไชโยถวายพระพรของผู้ส่งเสด็จฯจนรถพระที่นั่งลับตา และได้หยุดเป็นระยะเพื่อปฏิสันถารกับราษฎรที่มารอเฝ้า ที่หน้าบ้านหลังหนึ่งห่างจากอำเภอธวัชบุรีประมาณ ๓๐๐ เส้น ชายคนหนึ่งมารอถวายของ โปรดให้หยุดรถพระที่นั่งไต่ถามทุกข์สุขและอาชีพ ชายผู้นั้นกราบทูลว่า “เมื่อวานไปเฝ้าที่ร้อยเอ็ด เมื่อคืนเดินจากร้อยเอ็ดราวๆ ๓๐๐ เส้นมาเฝ้าที่นี่อีก” รับสั่งถามว่า “เมื่อวานเห็นไหม” ทูลตอบว่า “เห็นแล้วครับ แต่อยากเห็นอีก เห็นนายหลวงหลายครั้ง แต่ยังไม่อิ่ม” ทรงตรัสว่า “ขอบใจมาก ขอให้ตั้งใจทำมาหากินนะ”
           
           ที่อำเภอม่วงสามสิบ ซึ่งเป็นอำเภอเล็กๆ มีผู้มาเฝ้าราว ๒,๐๐๐ คน แต่ทุกบ้านเรือนก็ตั้งโต๊ะบูชาและจุดธูปเทียนไว้สว่างไสว รถยนต์พระที่นั่งหยุดที่ว่าการอำเภอ ทรงปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเฝ้า หญิงชราคนหนึ่งฉวยพระหัตถ์สมเด็จพระราชินีไปกุมไว้ สมเด็จฯได้รับสั่งถึงพระเจ้าอยู่หัวว่า “สบายใจที่ได้มาพบกับราษฎร แม้จะทรงเหน็ดเหนื่อยมากที่ต้องตากแดดจนพระองค์ดำไปหมด และรถยนต์กระแทก แต่ก็ทรงดีใจที่เห็นราษฎรมากันมาก” หญิงชราทูลถามว่า “มีบุตรกี่คนแล้ว” ทรงชู ๓ นิ้วขึ้นแล้วรับสั่งว่า “มีสามคน แต่คนเล็กยังเล็กมาก พามาด้วยไม่ได้” แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไป
           
           ที่อุบลราชธานี ชาวอุบลฯต่างถือดอกบัวกันมาทุกคน เมื่อเสร็จพิธีแล้วทรงปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเฝ้า ซึ่งมีทั้งอินเดีย ฝรั่ง จีน ญวน และลาว ซึ่งจ้าวจันทรสมุทร ณ จำปาศักดิ์ ชายาจ้าวราชดนัย ณ จำปาศักดิ์ ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ได้นำพระญาติข้ามมาร่วมพิธีด้วยหลายองค์ ในระหว่างที่ทรงเสด็จฯเยี่ยมราษฎรนี้ ได้พระราชทานพระหัตถ์ให้หญิงชราผู้หนึ่งจับ หญิงชราผู้นั้นได้แต่กุมข้อพระหัตถ์ไว้ด้วยความตื้นตันใจ จนมิอาจกล่าวคำใดๆออกมาได้ มีแต่น้ำตาไหลพราก เป็นภาพที่ผู้พบเห็นต่างตื้นตันใจไปตามกัน
           
           เช้าวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน เสด็จออกจากจังหวัดอุบลราชธานี ไปจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ ปรากฏว่าเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่งเรียบร้อยแล้ว ขบวนรถไฟก็ยังไม่สามารถเคลื่อนออกไปได้ เพราะข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไม่อาจฝ่าฝูงชนที่มาส่งเสด็จกันอย่างมืดฟ้ามัวดินมาได้ทัน ต้องเสียเวลาคอยอยู่ครู่หนึ่ง
           
           พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคอีสานกับผู้สื่อข่าวเมื่อเช้าวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ว่า แม้ทั้งสองพระองค์จะทรงตรากตรำและเหน็ดเหนื่อยในการเยี่ยมราษฎร ทรงเสวยพระกระยาหารผิดเวลา แต่ก็ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง และยังเผยต่อไปว่า
           “นายกฯลาวและเขมรที่ข้ามมาเฝ้าถึงกับถามผมว่า นี่จัดการกันยังไง ราษฎรถึงมากันมากมายเช่นนี้ ผมจึงตอบว่า ไม่ได้จัดหรอก เขามากันเอง นายกฯลาวบอกว่า ต่อไปจะเอาเป็นตัวอย่างทำบ้าง”
           
           หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในปี ๒๔๙๙ แล้ว ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคเหนือเป็นภาคต่อไป เสด็จออกจากกรุงเทพฯโดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง ณ สถานีจิตรลดา ในเวลา ๐๖.๔๕ น. เมื่อขบวนรถไฟพระที่นั่งเคลื่อนออกจากสถานี ทั้งสองพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์ให้ผู้ส่งเสด็จและพสกนิกรที่คอยเฝ้าอยู่ริมทางรถไฟ ทั้งไม่ทรงลืมที่จะโบกพระหัตถ์ให้พระเจ้าลูกเธอองค์น้อยทั้ง ๓ พระองค์ ที่พระพี่เลี้ยงนำมาส่งเสด็จ โบกพระหัตถ์หยอยๆอยู่ภายในรั้วพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ตรงข้ามคูน้ำกับสถานีรถไฟ
           
           สำหรับพิษณุโลกจังหวัดแรกของภาคเหนือนี้ทรงประทับแรม ๒ ราตรี หลังจากเสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช และมีพระราชดำรัสกับชาวพิษณุโลกที่หน้าศาลากลางจังหวัดแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จลงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้ากันอย่างแน่นขนัด ระหว่างที่พระราชดำเนินผ่านแถวประชาชนที่นั่งเฝ้านั้น ต่างพากันปูผ้าเช็ดหน้าเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถย่ำพระบาทลง เพื่อจะเก็บรอยพระบาทนี้ไว้สักการบูชา พร้อมกับก้มกราบแสดงความจงรักภักดี
           
           ที่ศาลากลางจังหวัดนี้มีผู้นำของมาถวายเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีงาช้างคู่งามของนายปรุง พหุชนม์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งวายชนม์ก่อนวันเสด็จมาถึงเพียง ๓ วัน มอบไว้กับภรรยาก่อนตาย พร้อมสั่งความให้นาวาอากาศโททินกร พันธ์กระวี ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย
           
           ตามหมายกำหนดการเดิม จะเสด็จโรงพยาบาลพุทธชินราชในวันรุ่งขึ้นที่เสด็จมาถึงพิษณุโลก ทางโรงพยาบาลจึงจัดการทาสีตึกใหม่และสร้างซุ้มรับเสด็จ แต่แล้วทางจังหวัดได้แจ้งขอตัดรายการนี้ออกเพราะมีเวลาจำกัด ทางโรงพยาบาลจึงรื้อซุ้มรับเสด็จในวันนั้น แต่พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลพุทธชินราช จึงต้องจัดให้เสด็จไปตามหมายกำหนดการเดิม
           
           หนังสือพิมพ์ “ไท รายวัน” รายงานว่า ได้เสด็จขึ้นตึกอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาอานันทมหิดลได้พระราชทานพระราชทรัพย์สร้างขึ้น และสมเด็จพระบรมราชินีนาถซึ่งดำรงตำแหน่งองค์นายกสภากาดชาด ได้พระราชทานเงินของสภากาชาดจำนวน ๑๑๕,๕๑๕.๙๑ บาท เพื่อบรรเทาทุกข์คนอนาถาที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาลแห่งนี้มาแล้ว
           
           ต่อจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังอำเภอวังทอง มีราษฎรเรือนหมื่นมานั่งกรำแดดรอเฝ้าเป็นเวลาหลายชั่วโมง หญิงชราหลายคนได้ถือช่อดอกไม้มารอถวายสมเด็จพระบรมราชินี หญิงชราคนหนึ่งเมื่อถวายช่อดอกไม้แด่สมเด็จฯแล้ว ได้ก้มกราบทูลอวยพรว่า “ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเถิด” จากนั้นก็ร้องขึ้นดังๆว่า “เจ้าประคู้น ทำบุญอะไรมาแต่ไหนหนอ ถึงได้สวยอย่างนี้” ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังหัวเราะกันครืนใหญ่ สมเด็จพระบรมราชินีก็ทรงพระสรวลด้วย รับสั่งกับหญิงชราว่า “ขอบคุณจ้ะป้า”
           
           เช้าวันที่ ๔ มีนาคม เวลา ๐๘.๐๐ น. เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปเชียงใหม่ ซึ่งในสมัยนั้นยังต้องใช้เส้นทางไต่เทือกเขาที่สูงชันไปทางอำเภอเถินและลี้ เมื่อรถพระที่นั่งผ่านซุ้มอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่บริเวณหนองหอย มีพระภิกษุสวดชัยมงคลคาถา และนายอำเภอเมือง ได้จัดช่างฟ้อนร่วมร้อยคน มีทั้งหญิงสาวและคนชราอายุ ๖๐-๗๐ ปี ซึ่งเป็นช่างฟ้อนเก่ามาฟ้อนถวายพระพร ดูเป็นที่แปลกตาน่าปลื้ม
           
           การฟ้อนของสตรีสูงอายุนี้ อ่อนช้อย งดงาม และน่าทึ่งจนได้รับคำชมเป็นอันมาก
           
           หนังสือพิมพ์รายวันในยุคนั้นทุกฉบับรายงานตรงกันว่า ตั้งแต่ซุ้มประตูเขตติดต่อของลำพูนกับเชียงใหม่เป็นต้นมา จนถึงศาลาเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ล้นเกล้าฯสองพระองค์เสด็จผ่าน สองข้างทางแออัดไปด้วยฝูงชนจนแทบไม่มีทางเดิน แน่นยิ่งกว่าตอนงานสงกรานต์หลายเท่า เมื่อรถพระที่นั่งผ่าน ต่างก็ส่งเสียงถวายพระพรอย่างกึกก้อง และโบกสะบัดธงชาติพลิ้วอยู่ตลอดทาง ผู้เฒ่าผู้แก่อายุร่วมร้อยปักหลักด้านหน้าตั้งแต่บ่าย แม้แดดจะร้อนเหงื่อไหลไคลย้อย ก็มีความอดทนกันอย่างประหลาด
           
           เมื่อเสร็จพิธีที่เจ้านายฝ่ายเหนือจัดทูลพระขวัญ และทรงมีกระแสพระราชดำรัสต่อผู้มาเฝ้าแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯลงจากพลับพลาให้ราษฎรเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด หนังสือพิมพ์ “สารเสรี” ได้รายงานว่า ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินอยู่ท่ามกลางราษฎรนั้น มีเสียงจากครูและนักเรียนกลุ่มหนึ่งว่า “สมเด็จเพคะ ทางนี้เพคะ” เมื่อสมเด็จพระราชินีหันไปรับของถวายจากครูและนักเรียนกลุ่มนี้แล้ว มีเสียงเยิรยอพระศิริโฉมอีกว่า “สมเด็จเพคะ สมเด็จงามเหลือเกิน” ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีทรงยิ้ม จากนั้นก็มีเสียงทูลขึ้นว่า “สมเด็จเพคะ ขอจูบมือหน่อยค่ะ” เมื่อสมเด็จพระราชินีทรงยื่นพระหัตถ์ให้ ครูและนักเรียนสตรีเหล่านั้นก็แย่งกันชุลมุน หลายคนได้จูบพระหัตถ์ด้วยความปลาบปลื้มและตื่นเต้น
           
           ในเช้าวันที่ ๖ มีนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์ในชุดจอมทัพบก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถฉลองพระองค์ชุดสีดำรัดรูป คาดชายเสื้อด้วยแถบสีแดง ซึ่งชาวเชียงใหม่เรียกกันว่า “ชุดชาวเขา” ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่ว่าการอำเภอหางดงและสันป่าตอง หนังสือพิมพ์ “สารเสรี” รายงานว่า มีราษฎรได้คอยเฝ้าอยู่สองข้างทางเป็นระยะ ที่หน้าว่าการอำเภอสันป่าตองก็มีนับหมื่น ขณะที่ทรงเยี่ยมราษฎรและรับของถวายที่หน้าอำเภอสันป่าตองนั้น หญิงสาวสวยสามคนได้ถวายของแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วทูลขอจูบพระหัตถ์ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงยื่นให้ตามประสงค์ ทันทีที่คว้าพระหัตถ์ได้ หญิงสาวทั้งสามก็ชิงกันจูบพระหัตถ์ต่อพระพักตร์สมเด็จพระราชินี ซึ่งประทับยืนแย้มพระสรวลอยู่ใกล้ๆ
           
           หญิงชราผู้หนึ่ง หลังจากถวายของแด่สมเด็จพระราชินีแล้ว ได้เอ่ยขึ้นดังๆว่า “ช่างงามแต้เน้อ” สมเด็จพระราชินีทรงพระสรวลและรับสั่งว่า “ฉันลูกสามแล้วนะจ้ะป้า” ทำให้คนที่ได้ฟังต่างหัวเราะกันอย่างมีความสุข
           
           หญิงชราอีกคนหนึ่งได้ถวายพระพรขึ้นว่า “ขอให้บุญรักษา อายุมั่นขวัญยืนครองราชย์ ๑๐๐ ปี อันตรายอย่าได้มากลายใกล้เลย”
           
           เสด็จต่อมา หญิงชราอีกคนหนึ่งทูลถามว่ามีลูกกี่คนแล้ว ซึ่งสมเด็จฯก็ทรงตอบว่ามี ๓ คน แล้วทรงรับสั่งถามกลับว่า “แล้วยายล่ะจ๊ะ มีกี่คนแล้ว” ซึ่งยังความปลาบปลื้มประทับใจแก่ผู้เฝ้ารับเสด็จไปตามกัน
           
           ในวันที่ ๘ มีนาคม ตามหมายกำหนดการเป็นวันพักผ่อนพระราชอิริยาบถตามพระราชอัธยาศัย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมโรงเรียนปรินซรอแยลล์ โรงเรียนดาราวิทยาลัย และเยี่ยมโรงพยาบาลแมคคอมิค ซึ่งสมเด็จพระราชบิดาเคยมาทรงงานอยู่ที่นี่ระยะหนึ่ง นายแพทย์บุญชอบ อารีวงศ์ ผู้อำนวยการ ได้นำเสด็จทอดพระเนตรกิจการของโรงพยาบาลทุกแผนก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับผู้อำนวยการว่า “ถ้าเสด็จพ่อยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะได้อยู่ด้วยกัน” และได้พระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาล ๑๐,๐๐๐ บาท
           
           คืนวันที่ ๘ ซึ่งประทับที่เชียงใหม่เป็นคืนสุดท้าย คณะหนังสือพิมพ์คนเมืองเชียงใหม่ ได้จัดดนตรีพื้นเมือง ฟ้อนดาบ และขับร้องเพลงเพลงซอเฉลิมพระเกียรติถวาย ส่วนอีกรายการ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ซึ่งขณะนั้นอายุ ๔๗ ปี เป็นหัวหน้านำคณะช่างฟ้อนคนแก่อีก ๗ คน มีอายุ ๖๒ ถึง ๗๖ ปี ฟ้อนถวาย
           
           เช้าวันที่ ๙ มีนาคม ล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปอำเภอแม่ริมและเยี่ยมค่าย ตชด. “ดารารัศมี” แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการชลประทานแม่แฝกที่อำเภอแม่แตง เสด็จข้ามฝั่งไปยังที่ทำการหัวงานชลประทานแม่แฝกในเขตอำเภอสันทราย ประชาชนมารอเฝ้าตั้งแต่ตี ๔ หญิงชราอายุ ๗๐ ปีผู้หนึ่งขอผูกข้อพระกรสู่ขวัญ แล้วยกพระหัตถ์สมเด็จพระราชินีขึ้นลูบหัวพร้อมกับน้ำตาไหลพรากด้วยความยินดี สมเด็จฯรับสั่งถามว่า “สบายดีเจ๊า” แล้วทรงพระสรวล รับสั่งถามอีกว่า “ฉันอู้คำเมืองถูกไม๊” ทำให้ผู้ตามเสด็จและราษฎรที่อยู่รอบพระองค์ หัวเราะกันอย่างมีความสุขและประทับใจในพระอัธยาศัย
           
           จากอำเภอฝาง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปจังหวัดเชียงราย เส้นทางเสด็จจากอำเภอฝางไปอำเภอแม่สรวยเป็นเส้นทางทุรกันดาร ผ่านเทือกเขาสูงและหุบเหวมากมาย แต่ก็เป็นภูมิประเทศที่สวยงาม ทรงแวะลงถ่ายรูปไว้หลายครั้ง
           
           ในวันที่ ๑๕ มีนาคม มีหมายกำหนดการจะเสด็จถ้ำผาไทย อำเภองาว แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด จึงโปรดเกล้าฯให้งดเสด็จถ้ำผาไทย เพื่อให้ราษฎรที่รอรับเสด็จอยู่หน้าที่ว่าการอำเภองาว มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ทั่วถึง ก่อนเสด็จไปประทับแรมที่จังหวัดแพร่ ๒ ราตรี จากนั้นเสด็จไปสถานีรถไฟเด่นชัย ประทับรถไฟพระที่นั่งไปเยี่ยมอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดสุดท้าย ขบวนรถไฟพระที่นั่งจึงออกจากสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ในเวลา ๒๑.๐๐ น. ถึงสถานีจิตรลดา ในเวลา ๐๘.๐๐ น.ของวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๑
           
           หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๐๒ เป็นเวลาประมาณ ๒๐ วัน โดยเสด็จออกจากพระนครด้วยขบวนรถไฟพิเศษ จากสถานีจิตรลดาในเวลา ๖.๔๕ น. ของวันที่ ๖ มีนาคม ประทับที่ชุมพร ๑ คืน ต่อจากนั้นเสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งตลอด ไปยังจังหวัดระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากนราธิวาสเสด็จโดยรถไฟไปประทับที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดสุดท้าย
           
           เนื่องจากช่วงเวลาเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ เป็นระยะเวลาที่มีอหิวาตกโรคระบาดประจำในทุกปี หลวงพิณพากย์พิทยาเภท ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงให้จัดรถพยาบาลพิเศษ พร้อมด้วยแพทย์พยาบาลและเวชภัณฑ์ ติดตามขบวนเสด็จไปทุกจังหวัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงทีหากมีอหิวาต์ระบาดขึ้น ทั้งยังกำชับอนามัยทุกแห่งที่อยู่ในเส้นทางเสด็จ ให้จัดเตรียมน้ำรับประทานและสร้างส้วมให้เพียงพอแก่ประชาชนที่มาเฝ้าชมพระบารมี นอกจากนี้ยังให้เร่งทำการฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยทั่วถึง และควบคุมในเรื่องอาหารเครื่องดื่มต่างๆให้ถูกสุขลักษณะ ป้องกันมิให้อหิวาต์ระบาดขึ้นได้ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน
           
           เช้าวันที่ ๖ มีนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานไปยังสถานีจิตรลดา นอกจากจะมีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการมาส่งเสด็จเป็นจำนวนมากแล้ว พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๓ พระองค์ ได้ไปส่งเสด็จที่สถานีรถไฟด้วย ไม่ได้แค่โบกพระหัตถ์ส่งในรั้วพระตำหนักเหมือนครั้งเสด็จภาคเหนือ
           
           ขบวนรถไฟพระที่นั่งเข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟชุมพร อันเป็นจังหวัดแรกของภาคใต้ เมื่อเวลา ๑๗.๔๐ น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนที่มาแน่นขนัดอยู่ในเมืองชุมพรนั้น จำนวนมากมาจากต่างอำเภอ เดินขวักไขว่แน่นไปทุกถนนยังกับย่านเยาวราช ทำให้ร้านอาหารทุกร้านไม่ว่างทั้งวัน ต้องเข้าคิวรอกัน แม้แต่ ๒๑ น.แล้ว ประชาชนก็ยังขวักไขว่อยู่ตามถนนต่างๆเหมือนมีงาน ตกดึกก็นอนกันอยู่ข้างถนน รอเฝ้าวันรุ่งขึ้น บางคนก็นอนที่หน้าศาลากลางจังหวัด ยึดที่ไว้เฝ้าในตอนเช้า
           
           ในคืนวันนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดฉายภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ ให้ประชาชนชมที่โรงเรียนประจำจังหวัดชุมพร “ชุมพรศรียาภัย” และโปรดให้แพทย์ส่วนพระองค์ฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาต์แก่ประชาชน ด้วยปืนฉีดยาแบบใหม่ที่เรียกว่า “ไฮโปสเปรย์” มีประชาชนสนใจมารับการฉีดวัคซีนแบบใหม่กันมาก
           
           รุ่งขึ้น หลังจากมีพระราชดำรัสกับราษฎรที่มาเฝ้าอย่างมืดฟ้ามัวดินแล้ว ได้เสด็จลงเยี่ยมราษฎรที่หน้าศาลากลางจังหวัด ทรงไต่ถามทุกข์สุข และทราบหรือไม่ว่าอหิวาต์เป็นอย่างไร ได้ฉีดวัคซีนกันแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ฉีดให้รีบฉีดเสีย ราษฎรต่างนำสิ่งของมาถวายเป็นที่ระลึกกันมาก
           
           ในวันที่ ๘ มีนาคม เวลา ๐๗.๐๐ น.เสด็จพระราชดำเนินออกจากจังหวัดระนองไปพังงา ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในทิวทัศน์อันสวยงามตามเส้นทางระหว่างระนองกับกะเปอร์เป็นอย่างมาก ขบวนเสด็จถึงตะกั่วป่าเมื่อเวลา ๑๒.๐๐ ในจำนวนราษฎรที่มาเฝ้าหน้าที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่านั้น มีนายท้วม พิมล อายุ ๙๙ ปี และนางยัง ภรรยาอายุ ๘๙ ปีมาเฝ้าด้วย นายท้วมอยู่ระหว่างป่วยกระเสาะกระแสะ ต้องอุ้มลุกนั่ง แต่พอได้ข่าวเสด็จ อาการป่วยก็หายทันที ให้ลูกหลานพามาเฝ้า บอกนักข่าวว่าเคยเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวงมาแล้ว จะต้องขอเฝ้าพระนัดดารัชกาลที่ ๕ ให้ได้ พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับบุตรสาวนายท้วมว่า “เลี้ยงดูแกให้ดีนะ จะได้มีอายุยืนๆ และหวังว่าครอบครัวนี้จะมีอายุยืนๆทั้งนั้น” นายท้วมกับนางยังและลูกหลานถึงกับปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณจนน้ำตาไหล
           
           ส่วนผู้มาเฝ้าอีกราย นางสาวอุไร เตตระกูล บอกกับผู้สื่อข่าวว่า มารดาได้นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มเจ้าฟ้าชาย ซึ่งซื้อไว้ มาทูลเกล้าฯให้สมเด็จพระราชินีทอดพระเนตรด้วย สมเด็จฯทรงรับสั่งว่า “เดี๋ยวนี้ ๖ ขวบแล้ว”
           
           ในสมัยนั้นยังไม่มีสะพานสารสิน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงท่านุ่น รถยนต์พระที่นั่งต้องลงแพขนานยนต์ ข้ามช่องปากพระจากท่านุ่นของพังงา ไปท่าฉัตรไชยของภูเก็ต มีประชาชนรอเฝ้าอยู่แน่นขนัด ต่างเปล่งเสียงถวายพระพรดังกึกก้องเมื่อเสด็จข้ามไปถึง ชาวภูเก็ตรับเสด็จกันอย่างมโหฬารที่สุด แถวประชาชนเรียงรายตั้งแต่ชานเมืองไปจนถึงจวนผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากพสกนิกรชาวไทยแล้ว ชาวต่างชาติในภูเก็ต ทั้งจีน อินเดีย มลายู ฝรั่งทุกชาติทุกภาษา ต่างตั้งซุ้มในแบบของตนเรียงรายไปไม่ต่ำกว่า ๒๐ ซุ้ม ต่างกระตือรือร้นในการรับเสด็จ ตกแต่งบ้านเรือนรวมทั้งเครื่องแต่งกายสวยงามเป็นพิเศษ ก่อนวันเสด็จราว ๑๐ วัน ร้านตัดเสื้อชายหญิงในภูเก็ตต่างปิดรับงาน เพราะงานที่รับไว้ล้นมือจนต้องทำกันทั้งกลางวันกลางคืน และยังมีคนต่างอำเภอรวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมรับเสด็จด้วยเป็นจำนวนมาก ทำให้ในเย็นและค่ำวันเสด็จมาถึงนั้น การจราจรในภูเก็ตหลายสายต้องติดขัด
           
           เช้าวันที่ ๙ มีนาคม สนามหน้าศาลากลางจังหวัดคับคั่งไปด้วยผู้คนตั้งแต่เช้าตรู่ บางรายมาจองที่ตั้งแต่ตี ๔ ในเวลา ๐๘.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนา เสด็จขึ้นประทับบนศาลากลางจังหวัด นายอ้วน สุรกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด กราบบังคมทูลในนามราษฎรว่า ชาวภูเก็ตรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเป็นอันมาก เพราะได้เฝ้าคอยวันคอยคืนมานานแล้ว
           
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจชาวภูเก็ตในการต้อนรับ และรับสั่งว่าทรงพอพระราชหฤทัยในภูมิประเทศอันสวยงามของภูเก็ตมาก “เราก็รอคอยมานานแล้วเหมือนกันที่จะมาเยี่ยมเมืองนี้ และอยากจะมาเที่ยวอีก”
           ในคืนนั้น หลังจากเสร็จงานตามหมายกำหนดการแล้ว ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรในเมืองภูเก็ต
           
           ในคืนวันที่ ๙ ฝนซึ่งไม่เคยตกในภูเก็ตมา ๓-๔ เดือนแล้ว ได้เกิดตกมาอย่างหนักเป็นเวลาถึง ๔๕ นาที ชาวภูเก็ตถือกันว่าเป็นอภินิหาร แต่ทำให้สมเด็จพระราชินีมีพระอาการประชวรเป็นหวัดเล็กน้อย
           
           ในวันที่ ๑๐ ซึ่งตามหมายกำหนดการเป็นการพักผ่อนพระราชอิริยาบถตามพระราชอัธยาศัย พระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ มีเพียงราชองค์รักษ์ติดตาม และไม่มีเจ้าหน้าที่อารักขารายใดทราบเลย ทรงถ่ายรูปซุ้มรับเสด็จต่างๆที่สร้างกันอย่างสวยงาม และเสด็จไปท่าเรือใหม่ที่ตำบลบางรั่ว อ่าวมะขาม และหาดราไวย์ ราษฎรที่พบเห็นต่างตกใจและพากันมาเฝ้า ทรงทักทายไต่ถามสารทุกข์สุขดิบและการทำมาหากินของราษฎรอย่างไม่ถือพระองค์ ทำให้ผู้ที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าต่างปลาบปลื้มไปตามกัน
           
           ในเช้าวันที่ ๑๑ มีนาคม พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปรเวทออกชมเกาะภูเก็ตพระองค์เดียวอีก ไปประทับที่หาดป่าตอง ตอนบ่ายได้เสด็จไปวัดมงคลนิมิต นมัสการพระพุทธรูปทองคำที่เพิ่งพบใหม่ ที่วัดนี้ก็มีประชาชนมาเฝ้าเป็นจำนวนมาก ในจำนวนราษฎรที่มาเฝ้านั้น มีชายหนุ่มคนหนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงจำได้ว่าเคยเฝ้ามาแล้ว จึงรับสั่งถามว่าบ้านอยู่ไหน ชายคนนั้นกราบบังคมทูลว่าอยู่ที่ท้ายเหมือง พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า “อ้าว ฉันผ่านมาแล้วนี่ ไม่เห็นหรือ” ชายคนนั้นทูลว่า “เห็นครับ แต่เห็นไม่ถนัดจึงตามมาอีก” รับสั่งถามอีกว่า “ครั้งนี้เห็นถนัดแล้วหรือยัง” ชายคนนั้นทูลว่า “เห็นถนัดแล้วครับ” ทรงถามอีกว่า “แล้วจะตามไปพังงาอีกไม๊” หนุ่มคนนั้นก็ทูลว่า “ไปครับ แต่เกรงตำรวจจะปิดถนนเสียก่อน” พระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล และรับสั่งว่า “ก็รีบไปก่อนเขาจะปิดซี” จากนั้นทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมข้าราชการและราษฎรที่ศาลากลางจังหวัดพังงา และเสด็จไปเยี่ยมราษฎรที่อำเภอทับปุด จากนั้นจึงเสด็จไปยังจังหวัดกระบี่และนครศรีธรรมราช
           
           ที่อำเภอทุ่งสง ซึ่งทรงแวะเยี่ยมราษฎรหน้าที่ว่าการอำเภอ ราษฎรคนหนึ่งลุกขึ้นจับพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัวไว้ และทูลว่าคิดถึงพระเจ้าอยู่หัวมาหลายวันแล้ว วันนี้ได้เห็นและได้เฝ้า นับเป็นบุญของตนยิ่งนัก
           
           ในจำนวนผู้มาเฝ้านี้ มีนางปราง ลิ่มเลื่อง อายุ ๑๓๐ ปี ตามองเห็นลางๆ แต่หูยังได้ยิน ได้ให้เหลนอุ้มมาเฝ้าด้วย ทรงรับสั่งให้หลานเหลนดูแลให้ดี แม่เฒ่าและหลานเหลนต่างปลื้มปีติ ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทักทายมีรับสั่งกับแม่เฒ่า
           
           ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทันทีที่เข้าเขตซุ้มของจังหวัด ประชาชนที่คอยรับเสด็จต่างเปล่งเสียงไชโยถวายพระพรกึกก้อง ตลอดระยะทางประมาณ ๒ กม.เศษจนถึงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งจัดเป็นที่ประทับแรม มีประชาชนยืนเรียงรายแน่นขนัดจนเกือบปิดถนน รถพระที่นั่งต้องผ่านไปอย่างช้าๆ
           
           เมื่อสองพระองค์เสด็จขึ้นประทับบนจวนแล้ว ประชาชนก็ยังไม่ยอมกลับ ต่างเฮโลบุกเข้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดถึงกับปีนรั้วเข้าไป เหลือกำลังตำรวจทหารจะกันไว้ได้ ขณะนั้นทั้งสองพระองค์ประทับอยู่บนระเบียงจวน พระเจ้าอยู่หัวทรงกล้องภาพยนตร์ สมเด็จพระราชินีทรงโบกพระหัตถ์ให้ประชาชน แม้คนที่บุกเข้าไปถึงจวน ทุกคนต่างก็แสดงความเคารพและจงรักภักดี
           
           ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จในเมืองนครศรีธรรมราชนี้ มีจำนวนมากมายกว่าทุกจังหวัดที่ผ่านมา ปรากฏว่ามาจากทุกอำเภอ ทุกตำบล และจังหวัดใกล้เคียง ต่างมาค้างคืนถึง ๒ คืนก่อนเสด็จก็มี จับกลุ่มกันตามสี่แยกแน่น เมื่อนักข่าวสอบถาม ต่างบอกด้วยสำเนียงคนใต้ว่า “มาคอยแลเจ้า” กันทั้งนั้น
           
           ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ในการเสด็จลงให้ประชาชนเฝ้า ขณะนั้นนครศรีธรรมราชกำลังจะมีพิธีเก็บข้าว ที่ปฏิบัติกันมาจะใช้ “แกะ” เก็บข้าวทีละรวง เมื่อทรงไต่ถามราษฎรเรื่องการทำมาหากิน พบกับผู้มีอาชีพทำนา จึงทรงแนะนำให้ใช้เคียวเกี่ยวข้าวจะได้รวดเร็วกว่ามาก และทรงขอให้ พล.ท.หลวงกัมปนาทแสนยากร ที่ปรึกษากองทัพบก จัดแสดงตัวอย่างให้ดูทีหลัง
           
           เด็กคนหนึ่งที่แม่พามาเฝ้า มีแผลพุพองทั้งตัว ทรงถามแม่ของเด็กว่าลูกเป็นอะไร ไปหาหมอหรือยัง และรับสั่ง “เดี๋ยวพาไปหาเสียนะ” และเมื่อทรงพบราษฎรคนหนึ่งมาจากอำเภอปากพนัง ก็ทรงรับสั่งว่า “เสียใจด้วยนะที่ไม่ได้ไปเยี่ยมที่โน่น เพราะไม่มีเวลา”
           
           ในวันที่ ๑๕ มีนาคม ทั้งสองพระองค์เสด็จไปน้ำตกพรหมโลก อำเภอเมือง ซึ่งปัจจุบันขึ้นกับอำเภอพรหมคีรี ซึ่งราษฎรอำเภอเมือง อำเภอลานสกา อำเภอหัวไทร อำเภอท่าศาลา ทั้งไทยพุทธและอิสลาม โดยการนำของนายอำเภอท่าศาลา ร่วมกันตัดถนนมาเป็นเวลาแรมเดือน เพื่อให้เสด็จไปทอดพระเนตรน้ำตกที่ร่ำลือกันว่าสวยจนสุดพรรณนา
           
           ทรงหยุดรถที่ซุ้มรับเสด็จของชาวไทยอิสลาม ที่ตลาดแขก คณะกรรมการชาวไทยมุสลิมได้ทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินลงเหยียบมัสยิดซอลาฮุดดิน เพื่อเป็นศิริมงคล ทรงไต่ถามทุกข์สุขของชาวมุสลิมที่รอเฝ้า
           
           วันที่ ๑๖ เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งจากที่ประทับไปจังหวัดตรัง ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนั้น ชายตาบอดทั้งสองข้างผู้หนึ่ง มาคอยอยู่หน้าพลับพลาตั้งแต่บ่ายแล้ว เมื่อเสด็จผ่าน ชายตาบอดจึงกราบทูลว่า ถึงแม้เขาไม่สามารถจะมองเห็นพระพักตร์ ก็ขอได้ยินพระสุรเสียงก็จะยังความปลาบปลื้มให้หาน้อยไม่ จึงทรงมีปฏิสันถารกับชายตาบอด
           
           ในเช้าวันที่ ๑๗ มีนาคม เสด็จออกจากจังหวัดตรังไปพัทลุง และทอดพระเนตรการแสดงมโนราห์โดย ขุนอุปถัมภ์นรากร หรือมโนราห์พุ่มเทวา ซึ่งเป็นครูของมโนราห์ชื่อดังในภาคใต้หลายคน ขณะนั้นอายุ ๗๐ ปีเศษแล้ว พอมโนราห์ไหว้ครูฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก จึงต้องรำในสายฝน ส่วนคนที่รับเสด็จ ก็เฝ้ากันอยู่เหมือนไม่มีฝนเกิดขึ้น
           
           ที่จังหวัดสงขลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปยังวัดมัชฌิมาวาส เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้าและสมเด็จพระราชบิดา กรมหลวงสงขลานครินทร์ มีประชาชนไปรอเฝ้ากันแน่นขนัดรอบบริเวณวัด ชายชราคนหนึ่งเดินน้ำตาไหล เมื่อนักข่าวถึงสาเหตุจึงบอกว่า ไม่เคยเห็นพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีมาก่อนเลย เมื่อได้เห็นจึงปลื้มปีติจนน้ำตาไหล
           
           ที่สงขลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า ทรงยินดีที่ได้มาเยี่ยมเมืองสงขลา ซึ่งนับเป็นจังหวัดที่มีความผูกพันเป็นการส่วนพระองค์ และทรงยินดีมากที่ราษฎรทั้งหลาย ทั้งที่นับถือศาสนาอิสลามและพุทธ ได้ให้การต้อนรับอย่างดีพร้อมเพรียงกัน แสดงถึงความสามัคคีของชาวจังหวัดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของส่วนรวม หมายถึงการไม่ทำให้การแตกต่างทางศาสนาทำให้เสียไป และทรงขอให้รักษาความสามัคคีอันดีนี้สืบต่อไปด้วย
           
           ในวันที่ ๑๙ มีนาคม เวลา ๐๙.๐๐ น. ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จทางชลมารคทอดพระเนตรการแข่งเรือในทะเลสาบสงขลา โดยมีเรือชื่อ “พัทลุง” เป็นเรือประทับ ออกจากท่าเรือตลาดสด อ้อมไปทางเกาะยอ มีประชาชนเฝ้าชมพระบารมีอยู่บนฝั่งและลอยเรืออยู่ในทะเลสาบกว่า ๑๐๐ ลำ รวมทั้งขับตามเรือพระที่นั่งเป็นทิวแถว กลางทะเลสาบมีซุ้มที่ชาวประมงตำบลบ้านหัวเขาแต่งถวาย มีพระปรมาภิไธยย่อของทั้งสองพระองค์และตัวอักษร “จงทรงพระเจริญ” ด้านล่างมีเครื่องหมายของ ๒ ศาสนา พุทธและอิสลาม เมื่อเรือพระที่นั่งผ่านซุ้ม พระสงฆ์สวดชยันโต ส่วนฝ่ายอิสลามก็สวดประสานเสียง นับได้ว่าเป็นเรื่องแปลกของโลก ที่ต่างศาสนาร่วมกันได้อย่างสนิทแนบในประเทศไทย
           
           วันต่อมา ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมมัสยิดกลางนราธิวาส และเสด็จเยี่ยมราษฎรที่อำเภอระแงะ มีราษฎรต่างอำเภอจากสุไหงปาดี สุไหงโกลก และจากที่อื่นอีกมาเฝ้ากันมาก บางคนเคยรับเสด็จจากที่จังหวัดภูเก็ตมาแล้ว และตามไปตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ก็ยังอุสาหะตามมาเฝ้าชมพระบารมีที่ระแงะอีก และบอกนักข่าวว่า “เฝ้ามาหลายที่แล้วค่ะ แต่ยังไม่จุใจ จึงตามมาอีก”
           
            ก่อนขบวนรถพระที่นั่งจะเทียบชานชาลาสถานีสุราษฎร์ธานี ฝนได้กระหน่ำลงมาอย่างหนัก แต่ประชาชนที่รอเฝ้ารับเสด็จอย่างล้นหลามก็ไม่ยอมถอย กล่าวกันว่าฝนตกเพราะพระบารมี และซาลงเมื่อขบวนรถพระที่นั่งมาถึงสถานีสุราษฎร์ธานีในเวลา ๑๘.๓๕ น. ในคืนนั้น ปรากฏว่าโรงภาพยนตร์ในเมืองสุราษฎร์ฯเปิดฉายหนังตลอดทั้งคืน ทั้งนี้ก็เพราะประชาชนที่มาจากต่างอำเภอจำนวนมากไม่มีที่พักและไม่รู้จะไปไหน เลยอาศัยโรงภาพยนตร์เป็นที่ฆ่าเวลาและพักผ่อนหลับนอน
           
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จจากที่ประทับแรมไปยังสถานีรถไฟสุราษฎร์ เพื่อประทับรถไฟพระที่นั่งกลับสู่พระนคร ตลอดเส้นทางเสด็จฯมีประชานเรียงรายสองข้างทาง แม้ในเส้นทางรถไฟในเวลากลางคืน ก็ยังมีประชาชนมาเฝ้าส่งเสด็จแน่นทุกสถานี ที่สถานีหลังสวน นักเรียนได้ถือโคมไฟสีธงชาติมายืนเรียงรายส่งเสด็จ
           
           ขบวนรถไฟพระที่นั่งเทียบชานชาลาสถานีจิตรลดาเมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น.ของวันที่ ๒๘ มีนาคม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา ขณะพระชนมายุ ๗ พรรษา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงการณ์ ขณะพระชนมายุ ๖ พรรษา เสด็จขึ้นรับสองพระองค์บนรถไฟ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงทรงจูงพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเจ้าฟ้าชายทรงจูงพระหัตถ์สมเด็จพระราชินี ลงมาจากรถไฟพระที่นั่ง
           
           ในเช้าวันที่ ๓๐ มีนาคม พลตำรวจเอกหลวงชาติตระการโกศล ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมภาคใต้โดยตลอด ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า
           
           ตลอดทางเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีราษฎรทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยอิสลามเฝ้ารับเสด็จตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะชาวไทยอิสลามใน ๔ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะมารับเสด็จกันน้อย เนื่องจากเป็นเดือนถือบวช แต่ปรากฏว่ากลับมากันมากมายผิดคาด นอกจากนี้เมื่อสองพระองค์เสด็จไปจังหวัดใด ปรากฏว่ามีประชาชนมาคอยรับล่วงหน้าหมายกำหนดการเสด็จเป็นหลายๆชั่วโมง บางแห่งมาคอยกันถึง ๒๔ ชั่วโมงก็มี และมาชุมนุมกันเหมือนมีงานมหกรรมใหญ่
           
           สำหรับสิ่งของที่ราษฎรนำมาทูลเกล้าฯถวายทั้งสองพระองค์นั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยว่ามีจำนวนมากมาย มีทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ตลอดจนผลไม้ สำหรับผลไม้นั้นได้พระราชทานแก่โรงพยาบาล โรงเรียน และวัด ตามรายทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านทั้งหมด แม้ระหว่างทางเสด็จกลับพระนคร จะเป็นเวลาดึกดื่น ก็มีราษฎรคอยเฝ้าส่งเสด็จตามรายทางแน่นทุกสถานีรถไฟ
           
           นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่จะจารึกอยู่ในหัวใจคนไทยตลอดไป 

     
    เมื่อรถพระที่นั่งผ่านไปที่ใดไม่ว่าภาคไหน ก็จะมีราษฎรเฝ้ารับเสด็จตลอด
            
     
    ภาพที่ราษฎรคว้าพระหัตถ์ของพระเจ้าแผ่นดินแบบนี้ เพิ่งปรากฏในรัชกาลที่ ๙
            
     
    สมเด็จพระบรมราชินีก็ทรงยิ้มแจ่มใสต่อความจงรักภักดีของราษฎร
            
     
    พระอิริยาบถสบายๆของสองพระองค์ระหว่างเสด็จเยี่ยมราษฎร
            
     
    ทุกแห่งที่เสด็จจะทรงบันทึกสภาพต่างๆไว้ด้วยกล้องคู่พระหัตถ์
            
     
    รถพระที่นั่งลงแพขนานยนต์ข้ามไปภูเก็ต
            
     
    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนฯ ขณะพระชนมายุ ๗ พรรษา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ขณะพระชนมายุ ๖ พรรษา รับเสด็จที่สถานีรถไฟ

    Credit http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9590000104156


     

    Flag Counter
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×