ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #100 : ร.๔ และ กวีเอกของโลก สร้างวัดไว้ลี้ภัยการเมืองในสวนลึก

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 131
      3
      28 ก.ย. 59

    พระอุโบสถวัดบรมนิวาส
            การเมืองไทยในสมัยช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับว่าอึมครึมพอควร นอกจากจะมีข่าวแพร่สะพัดว่าอังกฤษเตรียมจะบุกไทยแล้ว การเมืองภายในยังสับสน เนื่องจากการวางตัวรัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ไม่ลงตัว
           
           การเตรียมรับมือกับกองเรือรบของฝรั่ง ทำให้เมืองไทยตกอยู่ในบรรยากาศของสงคราม มีการสร้าง “ป้อมเสือซ่อนเล็บ” ขึ้นที่บางจะเกร็ง ปากน้ำเจ้าพระยา สั่งซื้อปืนใช้กระสุนขนาด ๑๐ นิ้วเข้ามาถึง ๑๐๐ กระบอก ส่วนในพระนครก็สร้างป้อมเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายป้อม ทั้งยังต่อกำปั่นรบและกำปั่นลาดตระเวนขึ้นอีก ๑๒ ลำ มีการเตรียมกระสุนไว้จำนวนมาก จับคนที่ไปทำงานเป็นคนใช้และสอนภาษาไทยให้ฝรั่ง ทำให้ชาวต่างประเทศในเมืองไทยตื่นตระหนก ขึ้นเรือหนีออกไปก็มาก ที่ยังอยู่ก็เตรียมพร้อมที่จะเผ่นทันทีเมื่อมีสงคราม
           
           ส่วนทางด้านการเมืองภายใน หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์สวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่อาจตัดสินพระทัยให้พระราชวงศ์องค์ใดขึ้นเป็นรัชทายาทได้ แม้กระทั่งตอนที่ประชวรหนัก ก็ยังรับสั่งถึงพระอนุชาทั้ง ๓ องค์ว่า
           
           กรมขุนพิชิตภูเบนทร์ ไม่รู้จักเรื่องการงาน คิดแต่จะเล่นอย่างเดียว
           
           เจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งทรงผนวชมาตลอดรัชกาล มีสติปัญญาพอจะรักษาบ้านเมืองไว้ได้ก็จริง แต่ทรงรังเกียจที่ผิดประเพณีสงฆ์เดิม สร้างนิกายสงฆ์ใหม่ครองผ้าแบบมอญ ถ้าขึ้นครองราชย์อาจจะให้สงฆ์ครองผ้าแบบมอญทั้งแผ่นดิน
           
           ส่วนเจ้าฟ้าน้อย กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระอนุชาร่วมครรภ์มารดากับเจ้าฟ้ามงกุฎ มีความรู้ทางช่างและการทหาร แต่ก็ไม่พอใจทำราชการ รักสนุกเอาแต่เล่น
           
           จึงไม่ทรงมอบความไว้วางพระราชหฤทัยให้องค์หนึ่งองค์ใดขึ้นเป็นรัชทายาท เกรงว่าจะไม่เป็นที่พอใจของขุนนางข้าราชการ ทรงอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแต่จะเห็นพ้องต้องกัน ขอให้ขุนนางทั้งหลายจงมีความสามัคคีสโมสรร่วมปรึกษาหารือกัน เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดมีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชนุวัตร ปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ รักษาแผ่นดินให้เป็นสุขได้ ก็ให้พร้อมใจกันยกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์นั้นขึ้นครองราชย์ อย่าได้เกรงพระราชอัธยาศัย ขอแต่ให้เป็นสุขกันทั่วหน้า อย่าได้เกิดรบราฆ่าฟันกันให้ราษฎรต้องเดือดร้อน
           
           ความอึมครึมที่ยังไม่รู้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดจะขึ้นครองราชย์นี้ ทำให้เจ้านายหลายพระองค์หวั่นวิตกว่า ถ้าองค์ที่ไม่ต้องอัธยาศัยกันขึ้นเป็นใหญ่ ก็อาจจะมีภัยมาถึงตนได้ จึงคิดหาทางป้องกันพระองค์
           
           สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส หรือพระองค์เจ้าวาสุกรี ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงผนวชเป็นสามเณรมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ และผนวชเป็นพระภิกษุในรัชกาลที่ ๒ จำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนมาตลอด เป็นที่เคารพนับถือของเจ้านายหลายพระองค์และราษฎรทั่วไปก็จริง แต่ก็ทรงวิตกว่าจะมีภัยถ้าราชบัลลังก์ได้แก่เจ้านายบางพระองค์ จึงทรงปรึกษากับเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งผนวชมาตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ ๒ และจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ดำริที่จะสร้างวัดเล็กๆไว้ในสวนอีกองค์ละวัด ถ้ามีเหตุคับขันเกิดขึ้นจะได้เสด็จไปหลบอยู่ที่วัดนั้น ให้ห่างไกลจากเรื่องยุ่งเหยิงในพระนคร อย่าให้เป็นที่กีดขวางแก่ราชการบ้านเมือง
           
           เมื่อทรงดำริพร้อมกันเป็นความลับเช่นนี้แล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิต ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยศเป็น กรมหมื่นนุชิตชิโนรส จึงไปสร้าง “วัดชิโนรส” ไว้ในสวนที่ริมคลองมอญ
           
           ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎ ไปสร้าง “วัดบรมนิวาส” ไว้ในสวนลึกฝั่งพระนคร ไม่มีถนนเข้าไปถึงตอนนั้นเรียกกันว่า “วัดนอก”
           
           เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯประชวรหนักจนสวรรคตในวันที่ ๒ เมษายน ๒๓๙๔ สถานการณ์ที่อึมครึมก็ตรึงเครียดหนัก พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ต่างเกรงภัยในการเปลี่ยนราชบัลลังก์จะมาถึงตน บ้างก็มีการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันพระองค์ อย่างกรมขุนพิชิตภูเบนทร์ ที่ข้าในกรมเคยอวดอ้างเบ่งบารมีไว้มาก เกรงว่าเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) กับพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด บุนนาค) จะเอาผิดตอนเปลี่ยนรัชกาล จึงระดมข้าสวามิภักดิ์มารักษาพระองค์จนล้นวังที่สะพานหัวตะเข้ ริมคูเมืองไม่มีที่ให้อยู่ ต้องไปอาศัยพักตามศาลาวัดพระเชตุพน
           
           ครั้นความทราบถึงเจ้าพระยาพระคลังซึ่งว่าที่พระสมุหกลาโหมด้วย จึงส่งบุตรชาย ๒ คน คือพระยามนตรีสุรวงศ์ (ชุ่ม) ซึ่งตอนนั้นยังเป็น นายพลพัน หุ้มแพร กับเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ (ท้วม) ซึ่งตอนนั้นยังเป็นมหาดเล็ก ให้ไปสืบดูเหตุการณ์ว่าเท็จจริงเพียงใด ครั้นไปเห็นผู้คนชุมนุมอยู่ในวัดโพธิ์มากมาย ไต่ถามดูก็ทราบว่าเป็นข้าของกรมขุนพิชิตภูเบนทร์ทั้งสิ้น
           
           เจ้าพระยาพระคลังจึงเรียกบุตรชายคนโต คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ซึ่งตอนนั้นยังเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ ไปสร้างป้อมค่ายและต่อกำปั่นรบอยู่ที่ปากน้ำสมุทรปราการ มาปรึกษา พระยาศรีสุริยวงศ์ให้สงบเฉยไว้ แล้วกลับไปปากน้ำทันที จากนั้นก็ขนทหารติดอาวุธมาเต็มลำสำเภาเดินทางมาในคืนนั้น พอรุ่งเช้าก็เข้าจอดที่ท่าเตียน แล้วไปเข้าเฝ้ากรมขุนพิชิตฯด้วยตัวเอง ทูลว่าบิดาให้มาทูลถามเหตุที่ระดมผู้คนมามากมายเช่นนี้ มีวัตถุประสงค์อันใด กรมขุนพิชิตฯตอบว่าเกรงจะมีอันตราย จึงเรียกคนมาไว้ป้องกันพระองค์ พระยาศรีสุริยวงศ์จึงทูลว่า บิดาของท่านกับเสนาบดีทั้งหลายช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองเป็นปกติอยู่ ไม่มีเหตุอันใดที่จะหวาดหวั่นเช่นนั้น ขอให้ไล่คนเหล่านี้กลับไปเสียโดยเร็ว มิฉะนั้นจะให้ทหารมาจับคนเหล่านั้นไปลงโทษ กรมขุนพิชิตฯเลยจนพระทัย ต้องรับสั่งให้คนที่ระดมมากลับไปหมด
           
           เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของบิดามาตลอด และได้วางแผนร่วมกับน้องชายต่างมารดา คือ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ) เมื่อครั้งยังเป็นจมื่นราชามาตย์แล้วว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯสวรรคต ราชสมบัติจะต้องตกแก่เจ้าฟ้ามงกุฎ บ้านเมืองจึงสงบร่มเย็น จึงได้ไปทูลเชิญเจ้าฟ้ามงกุฏฯมาขึ้นครองราชย์ ทรงเกี่ยงว่า ถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ก็ขอให้ถวายแก่กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระอนุชาด้วย
           
           ด้วยเหตุนี้ รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีพระมหากษัตริย์ร่วมรัชกาลกัน ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
           
           เมื่อพระอนุชาทั้งสองพระองค์ขึ้นครองราชย์ ความอึมครึมทางการเมืองทั้งหลายก็หายไปทันที รวมทั้งอังกฤษที่เตรียมจะบุกไทย ก็เปลี่ยนเป็นส่งทูตเข้ามาเจรจาการค้า และบ่ายหัวกองเรือรบไปพม่าแทน
           
           เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงสร้างวัดนอกที่ทรงสร้างค้างไว้ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ พระราชทานนามว่า วัดบรมนิวาส
           
           ทรงสถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรสขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสในปี ๒๓๙๖
           
           ต่อมาในปี ๒๔๐๐ วัดชิโนรสารามชำรุดทรุดโทรมลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้โปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์และสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง เพื่อระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี ๒๓๙๖ นั้น
           
           สมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯทรงเป็นกวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนิพนธ์บทกวีไว้มากมายหลายเล่ม อาทิเช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย ซึ่งนิพนธ์ต่อจากที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงนิพนธ์ค้างไว้ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ลิลิตเตลงพ่าย โคลงยอพระเกียรติ ร.๓ ร่ายยาวมหาชาติ ๑๑ กัณฑ์ เพลงยาวเจ้าพระ เป็นต้น ทรงมีผลงานอมตะทั้งทางโลกและทางธรรม องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติจึงประกาศยกย่องพระองค์เป็นผู้มีผลงานเด่นทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งเท่ากับยกย่องเป็นกวีเอกของโลก เช่นเดียวกับที่สุนทรภู่ได้รับ
           
           วัดบรมนิวาสเมื่อแรกสร้าง อยู่ในสวนลึกไม่มีถนนเข้าไปนั้น ขณะนี้กลับอยู่ในย่านแออัดที่สุดของกรุงเทพฯ มีถนนตัดเข้าไปเข้าไปถึงวัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕
           
           เมื่อไปถามพระภิกษุสงฆ์อาวุโสรูปหนึ่งในวัดบรมนิวาสว่า สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ มีอะไรเหลืออยู่บ้างในขณะนี้ ท่านบอกว่า
           
           “ทั้งหมด โยม ยังเหลืออยู่ทั้งนั้น โดยเฉพาะโบสถ์และรอบโบสถ์ก็ยังสมบูรณ์”
           
           พระอุโบสถ รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างเมื่อปี ๒๓๗๗ หน้าบันมีลายปูนปั้นรูปมงกุฎ ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ ล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ บานประตูภายในเป็นภาพทหารจีนสอดสี บนหน้าต่างภายในเป็นภาพเครื่องบูชาแบบจีน กรอบหน้าต่างเป็นภาพเปรียบเทียบอุปมัยถึงวิธีการที่พระบรมศาสดาได้ทรงใช้ในการอบรมสั่งสอนบุคคลชั้นต่างๆ มีรูปชาวยุโรปเครื่องแต่งกายและบ้านเรือนเป็นฝรั่งหมด เขียนโดยช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ รูปตอนล่างช่างกรมศิลปากรซ่อมแซมและเขียนตามแบบยุโรป บรรยายวัฒนธรรมและประเพณีทำบุญต่างๆของชาวพุทธ
           
           พระเจดีย์ ทรงสร้างไว้เมื่อปี ๒๓๗๗ เช่นกัน ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานเหลี่ยม สูง ๑๕ วา ภายในทำเป็นห้อง มีประตูทางเข้าตรงกับโบสถ์ บานประตูด้านนอกลงรักประดับมุก เป็นรูปราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรทั้ง ๙ ชั้น และ ๕ ชั้น พระมหาพิชัยมงกุฎอุณหิส วาลวิชนี ฉลองพระบาท หีบพระโอสถ พระประธานในพระอุโบสถปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๔ นิ้ว สูงถึงยอดพระรัศมี ๑ วา ๕ นิ้ว พระอัครสาวกยืนซ้ายขวาข้างละองค์ หล่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สูง ๒ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้วทั้งสององค์
           
           ด้านหน้าพระอุโบสถมีพระเจดีย์ใหญ่ สร้างมาในสมัยเดียวกับพระอุโบสถ สูง ๑๔ วาองค์เจดีย์ย่อมุม ๕ เหลี่ยม ฐานล่างย่อ ๖ เหลี่ยม มีมารแบก ๖ ตน
           
           นี่ก็เป็นที่มาของวัดทั้ง ๒ ซึ่งเมื่อกว่า ๑๘๐ ปีมาแล้วอยู่ในสวนลึก สร้างไว้เพื่อให้เห็นว่าผู้สร้างไม่ปรารถนาจะเกี่ยวกับทางโลกอันยุ่งเหยิง หลบลี้มาอยู่ห่างไกลจากผู้คนทั้งหลาย ให้ขาดการติดต่อถึงกันได้สะดวก แม้ว่าในยุครัตนโกสินทร์จะไม่ปรากฏการช่วงชิงอำนาจเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีการฆ่าฟันกันอย่างไม่มีญาติ มีพี่มีน้อง บางครั้งก็ไม่มีแม้แต่พ่อกับลูก แต่ความหวาดระแวงจากภาพหลอนเก่าๆก็อาจมีอยู่ การป้องกันตัวด้วยความไม่ประมาท ประกาศให้รู้ว่าจะไม่ยุ่งทางโลกด้วย จึงเป็นวิธีการของผู้มุ่งแสวงธรรมทั้งสองพระองค์ทรงใช้ปฏิบัติ 

     
    จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
            
     
    จิตรกรรมฝาผนังแสดงแสดงให้เห็นเรือสำเภาและฝรั่งที่เริ่มเข้ามามากในสมัย ร.๔
            
     
    จิตรกรรมฝาผนังสมัยรับอารยธรรมตะวันตกสมัย ร.๔
            
     
    กรมพระปรมานุชิตฯ
            
     
    พระอุโบสถวัดชิโนรส

    Credit http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9580000134828


    Flag Counter
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×