ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องราวตำนานอียิปต์โบราณ

    ลำดับตอนที่ #19 : พระพักตร์ที่แท้จริง

    • อัปเดตล่าสุด 29 มิ.ย. 53



           กว่า 3,000 ปี ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์ตุตันคาเมน ยุวกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอียิปต์โบราณ โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษก็สืบเสาะค้นหาจนพบสุสานและมัมมี่ของพระองค์เข้าเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2465 หรือเมื่อ 85 ปีก่อน ทำให้การบรรทมอันสงบสุขเพื่อรอการคืนชีพของพระองค์ที่หุบเขาแห่งกษัตริย์ ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณก็ถึงกาลสิ้นสุดลง และท้ายที่สุดโลกก็ได้เห็นพระพักตร์อันเก่าแก่ที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากทองคำอันสง่างามมาเนิ่นนานหลายพันปีอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุมแล้วอีกด้วย ภาพวิดีโอบันทึกการนำพระศพที่เป็นมัมมี่ขึ้นจากใต้ฝาหีบทองคำ ในสุสานของพระองค์ ที่ซีเอ็นเอ็นนำภาพมาเผยแพร่ทางเวบไซต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้เราได้เห็นภาพพระพักตร์อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ภายหลังจากที่คณะทำงานที่ค่อยๆ บรรจงยกฝาหีบทองคำแกะสลักและระบายสีเป็นภาพเหมือนของพระองค์ที่ครอบอยู่ออกไป เพื่อจะได้ยกพระศพออกมาจากโลงหินที่อยู่ภายใต้ แม้ว่าพระศพจะกลายเป็นสีดำคล้ำตามกาลเวลา แต่อวัยวะทุกส่วนยังอยู่ครบ แม้แต่ผิวหนังชั้นนอกยังดูมีสภาพที่ดีอยู่มาก แม้จะแห้งจนหมือนหนังสีดำยับย่น ทีมงานจะนำมัมมี่สำคัญองค์นี้ไปเอกซเรย์ที่เครื่อง ซีที สแกน อีกครั้งหนึ่งเพื่อเก็บข้อมูลไว้ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์โดยละเอียดต่อไป หลังจากนั้นก็จะผนึกพระองค์ไว้ในโลงแก้วที่มีการรักษาอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี ในห้องเก็บพระศพเดิม เปิดให้เห็นพระพักตร์และปลายพระบาทได้

           ดร.ซาฮี ฮาวาส ประธานสภาสูงสุดด้านวัฒนธรรมของอียิปต์ กล่าวว่าก่อน 2 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พยายามฟื้นฟูความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับมัมมี่พระศพ "คิงทัต" อย่างเต็มที่ "โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์ ที่เคยแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยถึง 18 ชิ้นทีเดียว ไม่ต่างจากหินที่แตกเป็นเสี่ยงๆ " ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นเพราะ โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษผู้ค้นพบสุสานของคิงทัต คนแรก ที่ต้องการจะถอดหน้ากากทองคำของพระองค์ออกและย้ายมัมมี่ออกจากสุสาน ทำให้พระองค์เสียหายอย่างร้ายแรงดังกล่าว

           ดร.ฮาวาส กล่าวว่า "สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้ คือ ความชื้นและความร้อนจากลมหายใจและร่างกายของคนที่จะทำให้มัมมี่สลายกลายเป็นฝุ่นเร็วขึ้น" เนื่องจากในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวที่เข้าไปชมสุสานใต้ดินแห่งนี้กันเดือนละหลายพันคน "ตอนนี้พระพักตร์ยังมีสภาพดีอยู่ เราต้องเร่งรักษาสภาพของพระพักตร์เอาไว้โดยเร็วก่อน” ฮาวาส กล่าว และเขายังบอกด้วยว่า "เมื่อพระองค์ประทับในโลงแก้วนี้ ก็จะทรงอยู่ต่อไปได้ชั่วนิรันดร์"

           หลายสิบปีที่ผ่านมานี้ เรื่องราวของพระองค์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นักโบราณคดีพยายามศึกษาเรื่องราวของพระองค์ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะพระองค์สิ้นพระชนม์เพราะอะไร และมีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้มากมาย ส่วนใหญ่เชื่อว่าทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์ที่ 18 ของอาณาจักรอียิปต์โบราณ ขึ้นครองราชย์ขณะทรงมีพระชนมายุ 8 พรรษา และสิ้นพระชนม์เมื่อ 19 พรรษา เนื่องจากถูกลอบปลงพระชนม์ ความพยายามที่จะไขปริศนาลี้ลับเกี่ยวกับพระองค์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ถึงขนาดเคยนำมัมมี่ออกจากสุสานไปเอกซเรย์ ด้วยเครื่อง ซีที สแกน มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2548 โดยใช้เวลา 15 นาที จนสามารถได้ภาพสามมิติของพระองค์ขึ้นมาได้สำเร็จ นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเครื่องสแกนมาใช้เอกซเรย์มัมมี่ในอียิปต์ ผลจากการเอกซเรย์ สามารถลบล้างความเชื่อที่ว่าพระองค์ถูกลอบปลงประชนม์ด้วยวิธีรุนแรง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเมื่อประมาณ 1323 ปีก่อนคริสตกาลนั้นพระองค์สิ้นพระชนม์อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญในขณะนั้นเชื่อว่าก่อนสิ้นพระชนม์ไม่กี่วัน กระดูกพระชงฆ์ซ้ายของพระองค์อาจจะหัก เพราะอุบัติเหตุ แต่ต่อมาแผลติดเชื้อขั้นรุนแรง จนเป็นสาเหตุทำให้พระองค์สิ้นพระชนม์ นอกจากนั้น เครื่องซีที สแกน ยังทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พระองค์เสวยพระกระยาหารที่มีคุณภาพ มีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ขณะที่สิ้นพระชนม์มีพระวรกายสูง 5 ฟุต 6 นิ้ว (165 ซม.) พระทนต์หน้าด้านบนไม่ได้สบกับด้านล่างพอดี ซึ่งก็เหมือนกับฟาโรห์พระองค์อื่นในราชวงศ์ของพระองค์ ซึ่งนักโบราณคดีบอกว่าทำให้หลายคนมองว่าดูเหมือนพระองค์กำลังแย้มพระสรวลเสมอ

           คาร์เตอร์ เขียนหนังสือขายดีหลายเล่มเกี่ยวกับการค้นพบครั้งสำคัญระดับโลกของเขา แต่ตำนานและเรื่องราวอันลี้ลับเกี่ยวกับคิงทัตเป็นที่รู้จักและสนใจไปทั่วโลกอย่างมากในช่วงต้นทศวรรษ 1970 นี่เอง เพราะการประดิษฐ์ของเลียนแบบข้าวของเครื่องใช้และเครื่องประดับอันงดงามที่ค้นพบในสุสานของพระองค์และเผยแพร่ไปทั่วโลก เห็นได้ว่างานแสดงนิทรรศการสมบัติจากสุสานของคิงทัต ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอังกฤษกรุงลอนดอน ในปี 2515 มีผู้เข้าชมมากถึง 1,694,117 คน จากการเปิดแสดงทั้งหมด 6 เดือน ถือว่าเป็นนิทรรศการที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของลอนดอนครั้งหนึ่งทีเดียว ปลายเดือนพฤศจิกายนศกนี้ ก็จะมีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับของคิงทัตที่กรุงลอนดอนอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งจะมีการนำผลงานศิลปะจำนวนมากจากห้องฝังพระศพของคิงทัตมาแสดงด้วย

           ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวอียิปต์ก็หวังว่าต่อไปจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ไปยังเมืองลักซอร์ ที่ตั้งของหุบเขาแห่งกษัตริย์ได้มากขึ้น เพื่อชมสิ่งที่พิพิธภัณฑ์ทั่วไปไม่มีด้วยตาตนเอง นั่นคือมัมมี่นั่นเอง มุสตาฟา วาเซรี หัวหน้าทีมผู้ดูแลหุบเขาแห่งกษัตริย์ของสภาสูงสุดด้านวัฒนธรรมของอียิปต์กล่าว นอกจากนี้เขายังกล่าวด้วยว่ามัมมี่ส่วนใหญ่ที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ใดนั้นส่วนใหญ่จะแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ลักซอร์หรือไคโร เท่านั้น อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งก็ไม่ได้อยากเห็นมัมมี่ของคิงทัตในโลงแก้วทันสมัยที่มองเห็นข้างในได้เช่นนี้ "ผมคิดว่าน่าจะให้พระองค์ได้ประทับอย่างสงบอยู่ที่เดิมของพระองค์มากกว่า" บ็อบ ฟิลพอตต์ นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่มีโอกาสได้ไปชมมัมมี่ก่อนการเคลื่อนย้ายพระศพ ให้ความเห็น หลังจากนี้ ฮาวาส ก็จะได้ศึกษาต่อไปว่าพระองค์สืบสันตติวงศ์มาอย่างไร เนื่องจากยังไม่มีใครรู้แน่ว่าพระองค์เป็นพระโอรสหรือพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) ของฟาโรห์อาเคนาเต็น ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้นำการปฏิวัติจนเปลี่ยนความเชื่อของสังคมจากเรื่องพระเจ้าพระองค์เดียวมาเป็นระบบฟาโรห์ และสร้างราชอาณาจักรอียิปต์โบราณขึ้น ซึ่งพระองค์เป็นพระโอรสของฟาโรห์เอเมนโฮเทปที่ 3

    เครดิต :: Amulet

    -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    อ่านแล้วก็อย่าลืม Comment ให้กันบ้างนะค่ะ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×