1. สภาพสังคม สังคมอียิปต์โบราณเปรียบได้กับรูปสามเหลี่ยมจัดแบ่งออกได้เป็น 5 ระดับ
1.1. กษัตริย์และราชวงศ์ถูกกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งสูงสุด กษัตริย์สามารถมีมเหสีและสนมได้มากมาย ตลอดจนสนมอาจเป็นพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกับมนุษย์
1.2. พระและขุนนาง มีบทบาททางด้านศาสนาและการปกครอง ชนทั้งสองกลุ่มนี้จัดเป็นชนชั้นสูงรองจากกษัตริย์
1.3. ชนชั้นกลาง ได้แก่ พ่อค้า ช่างฝีมือและศิลปิน
1.4. ชนชั้นต่ำ ได้แก่ ชาวนาซึ่งจัดเป็นชนชั้นส่วนใหญ่ของดินแดนสภาพของชาวนาอยู่ในรูปข้าติดที่ดิน ชาวนาเป็นกำลังสำคัญในกองทัพและเป็นแรงงานหลักในการสาธารณะประโยชน์
1.5. ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดถูกกวาดต้อนมาภายหลังพ่ายแพ้สงคราม
2. การประกอบอาชีพ แบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ
2.1. การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์จัดเป็นอาชีพหลัก เริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณ 4000 B.C. อาชีพดังกล่าวนิยมทำแถบลุ่มน้ำไนล์ พืชที่นิยมปลูกคือข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ต้นแฟล็กซ์ตลอดจนผลไม้ต่างๆ เป็นต้น
2.2. การค้า เริ่มปรากฎเมื่อประมาณ 4000 B.C. โดยนิยมทำการค้ากับคนในแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมโสโปเตเมีย และอาระเบีย เป็นต้น
2.3. การทำเหมืองแร่ ทองแดงเป็นแร่ธาตุที่ชาวอียิปต์เริ่มขุดมาเมื่อประมาณ 4000 B.C. โดยทำกันในแถบไซนาย พลอยและทองคำขุดบริเวณเทือกเขาตะวันออก
2.4. งานฝีมือ ได้แก่งาน ปั้น งานหล่อ งานทอผ้า เป็นต้น
3. การปกครอง ลักษณะการปกครองเป็นแบบเทวธิปไตย (Theocracy) กล่าวคือ ผู้ปกครองอ้างดำเนินการปกครองในนามหรืออาศัยอำนาจของเทพเจ้าเพื่อใช้ในการปกครองกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการปกครองได้แก่
3.1. กษัตริย์หรือฟาโรห์ (Pharaoh) ฟาโรห์ เป็นผู้ที่ชาวอียิปต์โบราณยอมรับว่าเป็นเทพเจ้าและเป็นกษัตริย์ในเวลาเดียวกัน หน้าที่ของฟาโรห์คือเป็นผู้นำทางการปกครองและศาสนา กฎ ระเบียบ ข้อบังคับในการปกครองเกิดจากการกำหนดขึ้นของกษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ
3.2. ขุนนางชั้นผู้ใหญ่หรือวิเชียร (Vizier) เป็นตำแหน่งใช้เรียกผู้บริหารที่สำคัญรองจากกษัตริย์ ตำแหน่งนี้ในสมัยราชวงศ์ต้นสงวนเฉพาะสำหรับราชโอรส แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงตกทอดแก่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่และมีการสืบทอดแก่คนในตระกูลเดียวกัน
3.3. ขุนนาง (Noble) ทำหน้าที่รับผิดชอบหน่วยงานที่สำคัญ เช่น ในการเก็บภาษีและการชลประทาน เป็นต้น
3.4. ขุนนางมณฑลหรือผู้ว่าการมณฑลหรือโนมาร์ซ (Nomarch) เป็นตำแหน่งข้าหลวงประจำตามมณฑลหรือเมืองที่ห่างไกลจากเมืองหลวง มณฑลหรือเขตนั้นเรียกว่านอม (Nome)ขุนนางประเภทนี้มักก่อกบฎว่าวุ่นวายและเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อาณาจักรสมัยต่างๆ ในอดีตต้องเสื่อมลง
4. ศาสนา เรื่องของศาสนาอียิปต์โบราณนั้นควรกล่าวในลักษณะ 3 ประเด็น
4.1. ชาวอียิปต์โบราณเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ เพราะความหวาดกลัวเชื่อและบูชาในปรากฎการณ์ธรรมชาติทำให้ชาวอียิปต์โบราณกำหนดเทพเจ้าขึ้นมากมาย ลักษณะเทพเจ้าในช่วงแรกนั้นมีรูปร่างเป็นสัตว์มากกว่ามนุษย์ ต่อมาได้มีการพัฒนารูปร่างเทพเจ้าให้ดีขึ้น แต่เพราะชาติอียิปต์โบราณเกิดจาการรวมตัวของหลายชุมชน ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้เทพเจ้าของอียิปต์โบราณมีมากมายหลายองค์เทพเจ้าที่สำคัญคือ เทพเจ้าอะมอน-เร (Amon-Re) เป็นเทพเจ้าที่สูงสุดในมวลเทพเจ้าทั้งหลาย ของอียิปต์โบราณ เป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่างและชีวิต ชื่อเทพเจ้าองค์นี้เกิดจากการนำเทพเจ้าอะมอนซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งอากาศและความอุดมสมบูรณ์ของเมืองธีปส์ มารวมกับเทพเจ้าเรซึ่งเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ของเมืองเฮลิโอโปลิส ได้เป็นเทพเจ้าอะมอน-เร ผู้ทรงพลังและอิทธิฤทธิ์ เทพเจ้าโอซิริส (Osiris) เป็นเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำไนล์ เทพเจ้าแห่งความตาย และเทพเจ้าแห่งการตัดสินภายการตายเพื่อการเข้าสู่ภายหน้า เทพเจ้าไอริส (Isis) คือ เทพีผู้เป็นมเหสีของเทพเจ้าโอซิริส เป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เทพเจ้าโฮรัส (Horus) เป็นเทพเจ้าแห่งสวรรค์ของชาวอียิปต์โบราณแถบดินแดนสามเหลี่ยม ชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อว่าเทพเจ้าแต่ละองค์ควรมีสัตว์ไว้คอยรับใช้ดังนั้นจึงมีการสมมติสัตว์รับใช้ดังกล่าวให้เทพเจ้า เช่น แกะตัวผู้เป็นสัตว์รับใช้ของเทพเจ้าอะมอน-เร เป็นต้น สำหรับเรื่องการบวงสรวงนั้นพระเป็นผู้ประกอบพิธี และได้รับค่าจ้างตอบแทน
4.2. ชาวอียิปต์โบราณเชื่อในความเป็นอมตะของวิญญาณ คำตัดสินครั้งสุดท้ายและโลกหน้า ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าภายหลังความตายที่ทำความดีจะฟื้นขึ้นมาและเข้าพำนักในโลกหน้าซึ่งน่าอยู่และอุดมสมบูรณ์เช่นอียิปต์ จากความเชื่อนี้ทำให้เกิดการเก็บรักษาไว้เรียกว่า มัมมี่ (Mummy) มัมมี่นิยมทำเฉพาะกับกษัตริย์ คนธรรมดาจะฝังเท่านั้น มัมมี่จะถูกนำไปวางลงในหีบศพพร้อมม้วนกระดาษรู้จักในนามคัมภีร์ผู้ตาย (Book of the Dead)(1) คัมภีร์ผู้ตายที่ถูกต้องนั้นต้องเขียนโดยพระ ข้อความในคัมภีร์นั้นล้วนชี้แจงว่าผู้ตายกระทำดีเป็นหลักในโลกมนุษย์ทำชั่วบ้างเล็กน้อย เทพเจ้าโอซิริสเป็นผู้พิจารณาและดำเนินการตัดสินครั้งสุดท้ายถึงการให้วิญฟญาณดังกล่าวเข้าสู่โลกหน้าที่สมบูรณ์ได้หรือไม่ หีบศพและสมบัติของผู้ตายจะถูกนำวางไว้สุสานหินเรียก ปิรามิด (Pyramid) สฟิงค์ (Sphinx) เป็นสัตว์ประหลาดที่แกะสลักจากหินนำวางไว้หน้าปิรามิดเพื่อทำหน้าที่เฝ้าศพและสมบัติของผู้ตายที่บรรจุไว้ในปิรามิด
4.3 ศาสนาของกษัตริย์อเมนโฮเต็ปที่ 4 จุดประสงค์ในการปฏิรูปศาสนาของอะเมนโฮเต็ปที่ 4 คือ การมุ่งนำชาวอียิปต์โบราณให้พ้นจากความเชื่อในศาสนาอียิปต์โบราณที่บูชาในเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheism) และมุ่งนำชาวอียิปต์โบราณให้พ้นจากอำนาจของพระ ศาสนาใหม่ของอะเมนโฮเต็ปกำหนดให้บูชาเฉพาะเทพเจ้าอะตัน (Aton) เพียงองค์เดียว ทรงสอนว่าเทพเจ้าอะตันเป็นเทพเจ้าสูงสุด ไม่มีตัวตนเป็นบิดาของมนุษย์ การเข้าถึงเทพเจ้าอะตันทำได้โดยสักการะด้วยดอกไม้ของหอมมิใช่ทำสงครามหรือทำพิธีบวงสรวงด้วยชีวิตสัตว์ ทรงสั่งปิดวิหารของเทพเจ้าทั้งหลายทรงปฎิเสธความเชื่อเรื่องการฟื้นจากความตายและโลกหน้า ทรงปฏิเสธการทำสงครามกับศัตรู เพราะทรงเชื่อว่าเทพเจ้าอะตันคือบิดาของมวลมนุษย์และการทำสงครามจะทำให้เทพเจ้าอะตันไม่พอใจ เพื่อแสดงความศรัทธาในเทพเจ้าอะตันทรงเปลี่ยนพระนามพระองค์เป็น อัคนาตัน (Akhanaton) ทรงย้ายเมืองหลวงจากธีปส์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองและศาสนาของเทพเจ้าอะมอน-เร มาอยู่ที่เมืองอัคตาตัน (Akhatatton or Amarna) ห่างจากธีปส์ขึ้นไปทางเหนือประมาณร้อยไมล์ การปฏิรูปศาสนาของพระองค์ทำให้เกิดผลเสียทั้งภายในจักรวรรดิ์และภายนอกจักรวรรดิ์กล่าวคือพระในเทพเจ้าอะมอน-เร โดยเฉพาะที่เมืองธีปส์ตั้งตนเป็นศัตรูเพราะพระพวกนี้ขาดรายได้ และสถานภาพของพระที่เคยได้รับจากสังคมอียิปต์โบราณต้องลดน้อยลง และอียิปต์เองต้องเสียดินแดนซีเรียกับปาเลสไตน์ให้แก่ฮิตไตท์
5. ศิลปการเขียนศิลปการเขียนของอียิปต์โบราณเริ่มเมื่อประมาณ 300 B.C. การบันทึกทำเป็นอักษรภาพ รู้จักในนามอักษรภาพเฮียโรกลิฟิค (Hieroglyphic) ต่อมาเพื่อให้การเขียนง่ายขึ้นไม่สลับซับซ้อน ได้พัฒนาการเขียนให้มีตัวอักษรภาพน้อยลงเรียกอักษรเฮราติค (Hieratic) ภารเขียนทั้งสองแบบนี้เขียนได้ในหมู่พระเท่านั้น ในประมาณศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาลได้มีการพัฒนาการเขียนให้ดีขึ้นกว่าเดิมมุ่งให้เขียนง่ายขึ้น ตัวอักษรภาพลดจำนวนน้อยลงและจำนวนผู้ที่สามารถเขียนได้มากขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวทำให้อักษรภาพลดเหลือเพียง 24 ตัว เรียกตัวอักษรเดโมติค (Demotic) นอกเหนือจากการจารึกบนแผ่นหินแล้วชาวอียิปต์โบราณเป็นพวกที่คิดทำกระดาษขึ้นโดยทำจากเยื่อต้นอ้อ (Papyrus) โดยนำต้นอ้อที่มีขึ้นแถบลุ่มแม่น้ำไนล์มาลอกเอาเยื่อออกวางซ้อนกันตากให้แห้งกลายเป็นกระดาษ ก้านอ้อแข็งคืออุปกรณ์ที่ใช้เขียน ยางไม้ผสมสีใช้เป็นหมึก จากชัยชนะในการเขียนและการค้า ทำให้ศิลปการเขียนของอียิปต์แพร่หลายออกไป
6. ด้านวิทยาศาสตร์ ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ของอียิปต์โบราณที่ควรกล่าวถึงคือ
6.1. การทำปฏิทิน อียิปต์โบราณรู้จักการทำปฏิทินโดยยึดหลักสุริยคติกล่าวคือ 1 ปีมี 12 เดือน 30 วัน อีก 5 วันสุดท้ายถูกกำหนดเพ่ือการเฉลิมฉลองการกำหนดฤดูถือตามหลักความเป็นไปของธรรมชาติและการเพาะปลูก 1 ปีมี 3ฤดูๆละ 4 เดือน เริ่มจากฤดูน้ำท่วมหรือน้ำหลาก (The Flood of River Nite) ฤดูที่สองคือ ฤดูเพาะปลูกหรือไถหว่าน (The Period of Cultivation) ฤดูที่สามคือ ฤดูเก็บเกี่ยวพืชผล (The Period of Havesting) การที่ชาวอียิปต์โบราณรู้จักการทำปฏิทินนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ชัดความเจริญและความสามารถโดยแท้จริง
6.2. การแพทย์ มัมมี่มีส่วนชี้ให้เห็นถึงความสวยงามทางการแพทย์ของอียิปต์โบราณซึ่งแอ็ดวินสมิธเป็นผู้พบข้อความทั้งหมดถูกบันทึกไว้เมื่อประมาณปี 1600 ระบุแสดงความสามารถของแพทย์อียิปต์โบราณด้านการผ่าตัดกระโหลก ผ่าตัดกระดูกสันหลัง การวิจัยและรักษาโรคต่างๆ
6.3 คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะด้านเลขาคณิตอียิปต์โบราณเจริญมาก กล่าวคือ สามารถคำนวณหาพื้นที่ของสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมคางหมูและวงกลมได้ ตลอดจนชำนาญในการวัดที่ดิน ความสามารถในด้านคณิตศาสตร์มีส่วนช่วยอย่างมากในงานสถาปัตยกรรม
7. ด้านสถาปัตยกรรม ชาวอียิปต์โบราณเป็นหนึ่งในกลุ่มนักสร้างถาวรวัตถุผู้ยิ่งใหญ่ของโลกโบราณ ผลงานเกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์แขนงเรขาคณิตและคณิตศาสตร์บวกกับความสามารถและความชำนาญ ความสามารถและความเด็ดขาดของผู้นำ ผลงานเด่นทางสถาปัตยกรรมที่ควรแก่การกล่าวถึงเช่น
7.1. ปิรามิดยักษ์ที่เมืองกิซา เป็นปิรามิคของพระเจ้าคูฟู (Khufu or Cheops) สร้างเมื่อประมาณปี 2600 B.C. ใช้ก้อนหินประมาณ 2300,000 ก้อน แต่ละก้อนหนักกว่า 2 ตัน ใช้แรงงานคนสกัดหินทุกก้อนด้วยสิ่วและค้อนอย่างยากลำบาก ประณีตและชำนาญ ปิรามิดนี้สร้างบนเนื้อที่ประมาณ 12 เอเคอร์ ฐานกว้าง 755 ฟุต สูง 481 ฟุต จัดเป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดของโลกโบราณ
7.2. วิหารคาร์นัคแห่งเมืองธีปส์วิหารนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นอาคารใหญ่สุดของอียิปต์โบราณ ยาว 338 ฟุต กว้าง 170 ฟุต ใช้เสาหินกลมสูง 79 ฟุต รองรับหลังคา
8. วรรณกรรม วรรณกรรมเด่นของอียิปต์โบราณแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
8.1. วรรณกรรมเกี่ยวเนื่องกับศาสนา ได้แก่คัมภีร์ผู้ตาย คัมภีร์นี้มุ่งแสดงต่อเทพเจ้าโอซิริส เพื่อการเข้าสู่โลกหน้าที่อุดมสมบูรณ์และสุขสบายเช่นอียิปต์โบราณ นอกจากนี้ยังมีบทสรรเสริญของพระเจ้าอเนโฮเต็ปที่ 4 ต่อเทพเจ้าอะตัน เป็นต้น
8.2. วรรณกรรมไม่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ได้แก่งานสลักบันทึกเหตุการณ์ตามเสาหินหรือผนังปิรามิด เป็นต้น
9. ชลประทาน อียิปต์โบราณต้องพึ่งแม่น้ำไนล์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกประมาณเมื่อ 4200 B.C. อียิปต์โบราณค้นพบวิธีเก็บกักน้ำและส่งน้ำเข้าพื้นที่ตอนในด้วยการขุดคูคลองระบายน้ำต่างระดับและทำทำนบกั้นน้ำ วิธีการดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการริเริ่มการชลประทาน
10. ศิลปกรรม ศิลปกรรมแรกเริ่มมุ่งเพื่อรับใช้ศาสนาโดยการวาดหรือปั้นรูปเทพเจ้า นอกจากนี้ศิลปกรรมเด่นอื่นๆ ที่ควรกล่าวถึงได้แก่
10.1. ภาพแกะสลัก (Sculpture) ได้แก่สฟิงซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หน้าปิรามิคของกษัตริย์คูฟู ลำตัวเป็นสิงโตหมอบมีความยาว 13 ฟุต กว้าง 8 ฟุต แกะสลักมาจากหิน
10.2. รูปปั้นหรือรูปหล่อ (Statue) นิยมปั้นหรือหล่อเฉพาะครึ่งตัวบนของจักรพรรดิ์ เช่น รูปปั้นหรือรูปหล่อครึ่งตัวบนของพระนางฮัทเซฟซุทกษัตริย์ทัสโมสที่ 2 กษัตริย์อเมนโฮเต็ปที่ 4 และมเหสี กษัตริย์รามซีสที่ 2 เป็นต้น
10.3. ภาพแกะสลักฝาผนัง ภาพแกะสลักฝาผนังที่มีชื่อคือภาพการต่อสู้ของพระเจ้ารามซีสที่ 2 กับฮิตไตท์ที่วิหารคาร์นัค ภาพนี้ยาว 170 ฟุต
10.4. ภาพวาด ภาพวาดนี้นิยมวาดตามผนังและเพดานของวิหาร พระราชวัง และปิรามิค ภาพวาดจัดเป็นศิลปกรรมประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะทำให้ชนรุ่นหลังได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพสังคม การปกครอง การค้า การแต่งกาย และประเภทของเครื่องใช้เป็นต้น จากการค้นพบสุสานของกษัตริย์ตูเตงกามอนในปี 1992 ได้สร้างความประทับใจอย่างมากให้กับนักประวัติศาสตร์เพราะได้พบของมีค่ามากมายล้วนมีคุณค่าแสดงออกซึ่งความเจริญของอียิปต์โบราณอันมีส่วนช่วยให้นักประวัติศาสตร์สามารถกำหนดขีดแห่งอารยธรรมและสภาพสังคมของอียิปต์โบราณในช่วงนั้น
สรุปได้ว่าชาวอียิปต์โบราณเป็นผู้กำเนิดอารยธรรมอียิปต์โบราณที่เก่าแก่ขึ้นแถบลุ่มแม่น้ำไนล์อารยธรรมอียิปต์โบราณที่เกิดขึ้น ได้แก่ ด้านสังคม การประกอบอาชีพ การปกครองซึ่งประกอบเป็นชาติขึ้น ศาสนาซึ่งย้ำเรื่องวิญญาณเป็นอมตะ การพิพากษาระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า ศิลปการเขียน ความเจริญดังกล่าวมิใช่เฉพาะทำให้ชีวิตของชาวอียิปต์โบราณสุขสบายเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยทำให้มนุษย์ในแหล่งต่างๆ ของโลกได้ร่วมก้าวหน้าติดตามไปด้วยเพราะสืบทอดรับความเจริญ ดังที่อัธยา โกมลกาญจน และคณะกล่าวสรุปความเจริญของอียิปต์ในราชวงศ์ต่างๆ
เครดิต :: ThaiGoodView
ความคิดเห็น