คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #9 : การชันสูตรพลิกศพ (3)
เหตุที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ
เหตุสำคัญที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ เพื่อค้นหาสาเหตุของผู้ตาย ได้แก่ผู้ตายตายโดยผิดธรรมชาติได้แก่ การฆ่าตัวตาย เช่น ผูกคอตาย, กระโดดตึกตาย, ยิงตัวตาย เป็นต้น หรือการที่ถูกผู้อื่นกระทำให้ตาย การตายโดยถูกสัตว์ทำร้ายตาย เช่น การตายโดยถูกเสือขบกัด, การตายโดยถูกช้างกระทืบตาย รวมทั้งการตายโดยอุบัติเหตุหรือตายโดยยังมิปรากฏเหตุ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ทั้งนี้เหตุที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย นอกเหนือจากการตายโดยผิดธรรมชาติแล้ว ผู้ตายที่ตายในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานเช่น ผู้ตายถูกควบคุมตัวในระหว่างการสืบสวนสอบสวน หรือกักขังโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนหรือสอบสวน ทั้งนี้ยกเว้นการตายโดยประหารชีวิตตามกฎหมาย ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพเพื่อค้นหาสาเหตุของการตาย
วัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ
วัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพกรณีตายโดยผิดธรรมชาติ เมื่อแพทย์นิติเวชได้รับแจ้งเหตุกรณีฆ่าตัวตาย การชันสูตรพลิกศพจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ตายตายเพราะฆ่าตัวเอง ไม่ใช่ถูกผู้อื่นฆ่า และแม้เป็นการฆ่าตัวตายจริง ผลการชันสูตรพลิกศพอาจแสดงให้เห็นพฤติการณ์ของการตายว่า มีความเกี่ยวข้องกับผู้อื่นและสามารถนำผู้ที่เกี่ยวข้องไปลงโทษทางอาญาได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 292 เอาผิดแก่ผู้ปฏิบัติทารุณแก่คนที่ต้องพึ่งอาศัยตนเพื่อให้บุคคลนั้นฆ่าตัวเอง หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 293 เอาผิดแก่คนที่ช่วยหรือยุยงเด็ก หรือคนที่จิตใจไม่ปกติให้ฆ่าตัวเอง
กรณีถูกผู้อื่นทำให้ตาย หมายถึงกรณีที่การตายเกิดจากการกระทำของผู้อื่น ไม่ว่ากระทำโดยเจตนาฆ่า หรือไม่มีเจตนาฆ่า หรือโดยประมาท หรือแม้มิได้กระทำโดยประมาทก็เข้ากรณีนี้ เช่น ผู้ตายวิ่งตัดหน้ารถยนต์ในระยะกระชั้นชิด โดยผู้ขับขี่มิได้ประมาท การชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบถึงสาเหตุการตายโดยแน่ชัดว่า เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดอาญาอย่างไร หรือไม่ กรณีถูกสัตว์ทำร้าย หมายถึงการตายที่เป็นผลโดยตรงจากการถูกสัตว์ทำร้าย เช่น ถูกงูกัด ถูกช้างเหยียบ การชันสูตรพลิกศพจะทำให้รู้ว่าการตายนั้นถูกสัตว์กระทำโดยตรง มิใช่เกิดจากคนปล่อยสัตว์ไปทำร้าย
การตายโดยอุบัติเหตุ หมายถึงการตายที่เกิดจากเหตุอันเกิดขึ้นอย่างไม่คาดหมาย เช่น ตกน้ำตาย ฟ้าผ่าตาย การชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบว่า การตายนั้นมิได้เกิดจากการกระทำผิดทางอาญา และการตายโดยยังมิปรากฏเหตุ หมายถึงการตายที่ยังไม่ทราบว่าเกิดจากสิ่งใด การชันสูตรพลิกศพจะทำให้ทราบว่า ตายเพราะเหตุใด และเหตุที่ทำให้ตายเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญา หรือไม่
สถานที่ชันสูตรพลิกศพ
สถานที่ชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย สามารถกระทำได้ทั้งในสถานที่ที่พบศพ และการนำศพไปชันสูตร ณ โรงพยาบาล การชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่พบศพ เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบศพ หากเป็นกรณีเสียชีวิตจากท้องที่อื่นแล้วนำศพมาทิ้งไว้ จะต้องร่วมมือกับพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุด้วย ส่วนแพทย์ผู้ร่วมชันสูตรศพนั้นได้แก่ แพทย์ผู้มีหน้าที่อยู่ในท้องที่ที่พบศพได้แก่แพทย์ของสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การชันสูตรพลิกศพ ณ โรงพยาบาล หลังจากได้มีการชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นแล้ว หากยังหาสาเหตุการตายไม่ได้ หรือไม่ชัดแจ้งจะส่งศพให้แพทย์ทำการผ่าศพ ณ สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชเช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น สำหรับต่างจังหวัดอาจส่งศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยาหรือโรงพยาบาลของคณะแพทย์ศาสตร์ในแต่ละภาค
พื้นที่การชันสูตรพลิกศพ
ในการชันสูตรพลิกศพในกรุงเทพมหานคร แพทย์ผู้ทำการตรวจและชันสูตรพลิกศพ ได้ประชุมและแบ่งเขตพื้นที่ในการชันสูตรพลิกศพในแต่ละพื้นที่ได้แก่ บก.น. 2, 3, 4, และ 6 แพทย์นิติเวชจะเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่การชันสูตรพลิกศพ สำหรับพื้นที่ บก.น. 1 แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลวชิรพยาบาลและแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นผู้รับผิดชอบ และพื้นที่ บก.น. 5 แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ และพื้นที่ บก.น. 7, 8, และ 9 แพทย์นิติเวชโรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้รับผิดชอบ
สำหรับพื้นที่ในต่างจังหวัด พื้นที่การชันสูตรพลิกศพจะถูกแบ่งเขตโดยการขึ้นทะเบียนเป็นตารางการปฏิบัติงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัด แพทย์นิติเวชที่จะทำการชันสูตรศพ จะต้องตรวจสอบเขตพื้นที่ในความรับผิดชอบของตนเองจากตารางการปฏิบัติงาน และในกรณีที่มีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองร่วมในการชันสูตรพลิกศพด้วยนั้น ตารางการปฏิบัติงานของอัยการในกรุงเทพมหานครอยู่ที่อัยการสูงสุด ส่วนตารางการปฏิบัติงานของพนักงานฝ่ายปกครอง อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเขตจังหวัด
ความคิดเห็น