ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    กฎหมายที่ควรรู้รอบตัวเรา

    ลำดับตอนที่ #4 : ผู้เยาว์

    • อัปเดตล่าสุด 22 ก.ย. 65


    ผู้เยาว์

    — — — — — — — — — — — — — —

     

    ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่ยังอ่อนในด้านสติปัญญา ความคิด และร่างกาย ผู้เยาว์ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ตามลำพังตนเอง เพราะขาดความรู้ ความชำนาญ ถ้าปล่อยให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมได้ตามลำพังตนเองแล้ว อาจจะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความรู้ ความสามารถดีกว่าทำการเอาเปรียบได้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์

    การบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์

    1. บรรลุนิติภาวะโดยอายุ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 บริบูรณ์ (มาตรา 19)

    2. บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว (มาตรา 20 และ 1448)

    ผู้เยาว์ทำนิติกรรม

    มาตรา 21 บัญญัติว่า “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” จะเห็นได้ว่าผู้เยาว์จะทำนิติกรรม จะต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน เช่น ผู้เยาว์ต้องการเช่าบ้าน 1 หลัง ต้องการกู้เงินจากบุคคลอื่น หรือต้องการซื้อรถยนต์ 1 คัน ผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน

    ใครเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม

    1. ผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร (มาตรา 1569) ผู้ใช้อำนาจปกครอง ได้แก่บิดามารดาของบุตร (มาตรา 1566)
     

    2. ผู้ปกครอง ถ้าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง ก็อาจมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองได้ (มาตรา 1585) ผู้ปกครองนั้นให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง (มาตรา 1586)

    การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

    การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมจะทำอย่างไรก็ได้ เช่น ให้ความยินยอมเป็น ลายลักษณ์อักษร ด้วยวาจา หรือให้ความยินยอมโดยปริยายก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของนิติกรรมนั้น ๆ เช่น ผู้เยาว์ต้องการทำนิติกรรมซื้อรถยนต์ 1 คัน ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจจะเขียนหนังสืออนุญาตให้ผู้เยาว์ซื้อได้ หรืออนุญาตด้วยวาจาให้ซื้อได้ หรือเมื่อผู้เยาว์จะไปซื้อรถยนต์ผู้แทนโดย ชอบธรรมรู้เรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ห้ามปรามหรือขัดขวางแต่ประการใด จึงถือว่าเป็นการให้ความยินยอมโดยปริยาย

    ผู้แทนโดยชอบธรรมต้องให้ความยินยอมเมื่อใด

    การให้ความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมนั้น ต้องให้ก่อนที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรม หรืออย่างช้าขณะที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรม ถ้าให้ความยินยอมภายหลังถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน เช่นผู้เยาว์ต้องการทำนิติกรรมซื้อรถยนต์ 1 คัน ผู้แทนโดยชอบธรรมต้องให้ความยินยอมก่อนที่ผู้เยาว์จะซื้อรถยนต์ หรือขณะกำลังซื้อรถยนต์

    ผลของการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

    เมื่อผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว นิติกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆียะ (มาตรา 21) นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น มิใช่ว่าเป็นนิติกรรมที่สูญเปล่าไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นยังใช้ได้อยู่จนกว่าจะถูกบอกล้าง เมื่อบอกล้างแล้วจะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะคือ ตัวผู้เยาว์เอง และผู้แทนโดยชอบธรรม ถ้าผู้เยาว์ต้องการบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ ผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน หรือเมื่อตัวผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ก็สามารถบอกล้างนิติกรรมนั้นได้โดยลำพังตนเองเช่น ผู้เยาว์ไปซื้อรถยนต์ 1 คันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมซื้อขายรถยนต์ที่ผู้เยาว์ทำกับผู้ขายนั้นย่อมเป็นโมฆียะ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน เมื่อเป็นโมฆียะแล้วผู้มีสิทธิบอกล้าง คือ ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ เมื่อบอกล้างแล้วทำให้โมฆียะกรรมนั้นกลายเป็นโมฆะ คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้เยาว์ต้องคืน รถยนต์ให้กับผู้ขาย และผู้ขายต้องคืนเงินให้แก่ผู้เยาว์

    การให้สัตยาบนแ่โมฆียะกรรม

    นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนี้อาจสมบูรณ์ได้ด้วยการให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันคือการรับรองว่านิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เช่น ผู้เยาว์ซื้อรถยนต์ 1 คันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมเป็นโมฆียะ ต่อมาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ให้สัตยาบัน ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นกลายเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์

    นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ อาจจะสมบูรณ์ได้อีกทางหนึ่งคือโดยอายุความ ในกรณีดังนี้ (มาตรา 181)

    1. ไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรมนี้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้

    2. ไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรมนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่เวลาที่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ

    นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้ตามลำพังตนเอง

    ตามปกติแล้วผู้เยาว์จะทำนิติกรรมต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว จะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ แต่มีนิติกรรมบางประเภทที่ผู้เยาว์สามารถทำได้ตามลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมเหล่านี้มีดังนี้คือ

    1. นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง (มาตรา 22)

    1.1 นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง เช่น นาย ก. มอบเงินให้เด็กชาย ข. ผู้เยาว์ 20,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน เด็กชาย ข. สามารถทำสัญญารับเงินจำนวนนี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม เพราะสัญญาให้เงินนี้ผู้เยาว์เป็นผู้ได้รับประโยชน์ฝ่ายเดียว ผู้เยาว์ไม่เสียประโยชน์เลย แต่ถ้าสัญญานี้มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันแล้ว ผู้เยาว์ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน เช่น นาย ก. ให้เงินเด็กชาย ข. โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อนาย ก. แก่ชรา เด็กชาย ข. ต้องมาเลี้ยงดูนาย ก. เช่นนี้ถ้าเด็กชาย ข. ต้องการรับเงินนั้น จะต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน

    1.2 นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง เช่น เด็กชาย  ข. ผู้เยาว์เป็นหนี้นาย ก. อยู่ 10,000 บาท ต่อมานาย ก. ต้องการจะปลดหนี้รายนี้ให้เด็กชายข. ซึ่งจะทำให้หนี้รายนี้ระงับสิ้นไป สัญญาปลดหนี้รายนี้เด็กชาย ข.ไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม เพราะเป็นสัญญาที่ทำให้เด็กชาย ข. หลุดพ้นจากการที่จะต้องชำระหนี้ให้กับนาย ก.

    2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว (มาตรา 23) นิติกรรมเช่นนี้ผู้เยาว์ทำได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม เช่น การรับรองบุตร

    ตัวอย่าง ผู้เยาว์อายุ 19 ปีมีบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน ผู้เยาว์จดทะเบียนรับรองบุตรคนนี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม

    3. นิติกรรมซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูป และจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควรของผู้เยาว์

    ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร (มาตรา 24) เช่น ผู้เยาว์เป็นนักเรียนต้องซื้อเครื่องเขียนแบบเรียน ต้องซื้อเสื้อผ้า รองเท้าเพื่อใส่ไปโรงเรียน การซื้อเช่นนี้เป็นการสมแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์ และเป็นการจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร แต่ถ้าผู้เยาว์ต้องการซื้อรถยนต์เพื่อขับไปโรงเรียน ถ้าเป็นสิ่งที่เกินฐานะและเกินความ จำเป็นแล้ว ผู้เยาว์จะต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน

    4. ผู้เยาว์ทำพินัยกรรม
            ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม (มาตรา 25) ถ้าผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยมีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ พินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ (มาตรา 1703)

    5. ผู้เยาว์ประกอบธรุกิจการค้าหรือทำสัญญาเป็นลูกจ้าง
            ในกรณีผู้เยาว์ประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานนั้นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (มาตรา 27)


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×