คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย
— — — — — — — — — — — — — —
กฎหมายคืออะไร
กฎหมาย(LAW) คือ กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐหรือมีอำนาจสูงสุดเพื่อใช้เป็นเครื่อง มือสำหรับดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของสังคม และมีสภาพบังคับเป็นเครื่องมือในการทำให้บุคคลในสังคมต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับนั้น
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่คนเดียวได้ จึงต้องรวมกันอยู่เป็นหมู่เป็นพวก เป็นกลุ่มเป็นก้อน เริ่มจากสังคมเล็ก ๆ ระดับครอบครัว ต่อมาเมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้นก็รวมกันเป็นเผ่าเป็นกลุ่มชนและสุดท้ายเผ่า ที่มีสายพันธุ์เดียวกันก็รวมเข้าด้วยกันกลายเป็นกลุ่มชนใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นรัฐ เป็นประเทศ
การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่ต้องมีการติดต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนปัจจัยในการดำรงชีวิต บางครั้งมนุษย์ก็มีความต้องการที่จะทำอะไร ๆ ตามใจตนเองบ้าง ซึ่งการกระทำนั้นอาจเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ จนเกิดความขัดแย้งวุ่นวายขึ้นมาได้ มนุษย์จึงต้องสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของสมาชิกในสังคมให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อยสงบสุข กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เรียกว่า บรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ประกอบด้วย
1. วิถีชาวบ้าน (Folkways) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่อยู่ในรูปของประเพณีนิยม ที่สมาชิกในสังคมปฏิบัติสืบต่อกันมา ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกติฉินนินทาว่าร้าย เช่น การแต่งกาย กิริยามารยาททางสังคมในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น
2. จารีต (Mores) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่ยึดหลักความดีความชั่ว กฎเกณฑ์ทางศาสนา เป็นเรื่องของความรู้สึกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก หากใครละเมิดฝ่าฝืนจะได้รับการต่อต้านจากสมาชิกในสังคมอย่างจริงจัง อาจถูกกีดกันออกจากสังคม หรือไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย เช่น การลักเล็กขโมยน้อย การเนรคุณบิดามารดา หรือผู้มีพระคุณ เป็นต้น
3. กฎหมาย (Laws) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน แน่นอน ว่ากระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานใด จะได้รับอย่างไร เช่น ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต เป็นต้น
กฎเกณฑ์ของความประพฤติทั้งสามประการดังกล่าว สองประการแรกไม่ได้มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน การลงโทษผู้ละเมิดฝ่าฝืนก็ไม่รุนแรง ประการที่สาม กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ใช้ได้ผลมากที่สุด ในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ดังนั้นสังคมมนุษย์ทุกสังคมจึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย เป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันดังคำกล่าวที่ว่า “ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย”
ความหมายของกฎหมาย
กฎหมาย หมายถึง คำสิ่งหรือข้อบังคับของรัฐ ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของบุคคลซึ่งอยู่ในรัฐหรือในประเทศของตน หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะมีความผิดและถูกลงโทษ หรือได้รับผลเสียหายนั้นด้วย
ลักษณะของกฎหมาย
การปกครองประเทศให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยสงบสุขนั้น รัฐจำเป็นจะต้องออกคำสั่ง ข้อบังคับต่าง ๆ มากมาย คำสั่ง ข้อบังคับเหล่านั้นมิได้เป็นกฎหมายทุกฉบับ คำสั่ง ข้อบังคับของรัฐที่จะถือว่าเป็นกฎหมายได้นั้น
ความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องรู้กฎหมาย
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า กฎหมายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับความประพฤติของสมาชิกในสังคมให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน ทำให้สังคมมีระเบียบ วินัย และสงบเรียบร้อย หากไม่มีกฎหมาย มนุษย์ซึ่งมักจะชอบทำอะไรตามใจตนเอง ถ้าต่างตนต่างทำตามใจและการกระทำนั้นทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ก็จะเกิดปัญหา ความขัดแย้ง มีการล้างแค้นได้โต้ตอบกันไปโต้ตอบกันมาไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่มีกฎหมายเข้าไปจัดการให้ความเป็นธรรม ในที่สุดสังคมนั้นประเทศนั้นก็จะล่มสลายไม่สามารถดำรงอยู่ได้
ปัจจุบันนี้ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็จะต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตลอดเวลา เช่น เมื่อมีคนเกิดก็ต้องแจ้งเกิด ต้องตั้งชื่อ ต้องเข้าโรงเรียน อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ก็ต้องไปทำบัตรประจำตัวประชาชน นักเรียนที่อายุย่างเข้าปีที่ 18 ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกิน การสมรสอยู่กินเป็นครอบครัว การกู้ยืมเงิน ซื้อขาย การทำสัญญาต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทั้งสิ้น
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย การรู้กฎหมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกคน ที่จะได้ทราบถึงของเขตของสิทธิ และหน้าที่ของตน ตลอดจนข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อรู้กฎหมายก็จะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย และไม่ถูกผู้อื่นเอารัดเอาเปรียบโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ
การทำผิดกฎหมาย หรือปัญหาข้อขัดแย้ง ข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หรือประชาชนกับข้าราชการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามเป็นข่าวฟ้องร้องกันไม่เว้นแต่ละวันนั้น มีสาเหตุมาจากความไม่รู้กฎมายทั้งสิน และเมื่อกระทำความผิดแล้วจะกล่าวอ้างแก้ตัวว่าที่กระทำลงไปนั้นเป็นเพราะไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้คนหลุดพ้นจากความรับผิดก็ไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่รู้กฎหมายจริง ๆ ก็ตาม
เนื่องจากในทางกฎหมายมีหลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งว่า “ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว” เพราะถ้าหากว่าให้มีการกล่าวอ้างแก้ตัวได้ ทุกคนก็จะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายกันหมด เพื่อให้คนหลุดพ้นจากความรับผิด ในที่สุดกฎหมายก็จะขาดความศักดิ์สิทธิ์ และบังคับใช้กับใครไม่ได้อีกต่อไป
ระบบของกฎหมาย (Legal System)
ระบบของกฎหมาย หรือตำราบางเล่มเรียกว่า สกุลของกฎหมาย (Legal Famly) เป็นความพยายามของนักกฎหมาย ที่จะจับกลุ่มของกฎหมายที่มีใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ ในโลก ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ระบบกฎหมายอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ระบบ คือ
1. ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) นักกฎหมายบางท่านเรียกว่า ระบบประมวลกฎหมาย (Code Law) หรือสกุลโรมาโน เยอรมานิค ( Romano Germanic) กฎหมายระบบนี้กำเนิดขึ้นในทวีปยุโรป จากการศึกษาค้นคว้ากฎหมายโรมัน โดยเฉพาะอิตาลีกับเยอรมันซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมโรมัน ถือว่าเป็นประเทศที่พัฒนากฎหมายระบบนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การศึกษากฎหมายต้องเริ่มจากตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ คำพิพากษาของศาลไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นบรรทัดฐาน แบบอย่างในการตีความกฎหมาย ปัจจุบันประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ได้แก่ อิตาลี เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย
2. ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Common Law) ตำราบางเล่มเรียกว่า กฎหมายจารีตประเพณี กำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษ กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับจารีตประเพณี โดยใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อตัดสินชี้ขาดแล้วก็กลายเป็นหลักการ เมื่อมีคดีความที่มีลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้นก็ต้องใช้หลักของคดีแรกเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินชี้ขาด ปัจจุบันประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในเครือจักรภพ
3. ระบบกฎหมายประเทศสังคมนิยม (Socialist Law) เกิดขึ้นและใช้อยู่ในสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศบริวาร เกิดจากความต้องการของนักกฎหมายของประเทศสังคมนิยม ตามปรัชญาของลักทธิมาร์กซ์ ซึ่งความจริงก็คือกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันก็คือ กฎหมายระบบนี้ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในสังคม ให้ความสำคัญเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน โดยรัฐมีอำนาจเข้าไปจัดการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของประชาชนได้ และรัฐเป็นผู้จัดสวัสดิการให้ ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น
4. ระบบกฎหมายศาสนา (Religon Law) เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่ใช้หลักทางศาสนาเป็นแม่บทในการปกครอง เช่น กฎหมายศาสนาอิสลามซึ่งใช้อยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ ข้อบัญญัติศาสนา การพิจารณาตัดสินคดีความก็จะใช้กฎแห่งศาสนาเป็นหลัก
ระบบกฎหมายของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ในระยะแรกกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์(พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) ทรงสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายจากประเทศอังกฤษ ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมาย และนำเอาหลักกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรมาใช้ ต่อมาได้มีการปรับปรุงการศาลยุติธรรมและเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมาย โดยมีการจัดทำประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 เป็นฉบับแรก จากนั้นก็มีการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายอื่น ๆ จึงถือได้ว่าประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือระบบประมวลกฎหมาย
ที่มาของกฎหมาย
คำว่า”ที่มาของกฎหมาย” นักกฎหมายหลายท่านให้ความหมายไว้แตกต่างกัน บางทานหมายถึงแหล่งที่มาหรือบ่อเกิดของกฎหมาย บางท่านหมายความถึงแหล่งที่จะค้นพบกฎหมาย หรือบางท่านอาจหมายความถึงศาลหรือผู้ที่จะนำกฎหมายไปปรับใช้กับคดีที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่านักกฎหมายจะมีความเห็นแตกต่างกันออกไป แต่ที่มาของกฎหมายโดยทั่วไปแล้วมีความใกล้เคียงกัน โดยพิจารณาถึงที่มาของกฎหมายหลักสองระบบคือ ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร และระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
ที่มาของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร
1. กฎหมายลายลักษณ์อักษร ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นระบบที่สืบทอดมาจากกฎหมายโรมัน ซึ่งให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยถูกต้องตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย ดังนั้นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ก็คือกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจมีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น
2. จารีตประเพณี ในบางครั้งการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร จะให้ครอบคลุมทุกเรื่องเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีการนำเอาจารีตประเพณี มาบัญญัติใช้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรด้วย เช่น การชกมวยบนเวที ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกติกา ถึงแม้ว่าคู่ต่อสู้จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ไม่มีความผิด หรือแพทย์ที่ตัดแขนตัดขาคนไข้โดยที่คนไข้ยินยอมก็ไม่มีความผิด เป็นต้น เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการฟ้องร้องคดีเรื่องเหล่านี้เลย ซึ่งคงจะเป็นเพราะจารีตประเพณีที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นเสมือนกฎหมาย
3. หลักกฎหมายทั่วไป ในบางครั้งถึงแม้จะมีกฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายจารีตประเพณี มาใช้พิจารณาตัดสินความแล้วก็ตาม แต่ก็อาจไม่เพียงพอครอบคลุมได้ทุกเรื่อง จึงต้องมีการนำเอาหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งประเทศอื่น ๆ ที่มีความก้าวหน้าทางกฎหมาย ได้ยอมรับกฎหมายนั้นแล้ว มาปรับใช้ในการพิจารณาตัดสินคดีความด้วย เช่น หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้รับโอน โจทย์พิสูจน์ไม่ได้ต้องปล่อยตัวจำเลย คดีอย่างเดียวกันต้องพิพากษาตัดสินเหมือนกัน ฯลฯ เป็นต้น
ที่มาของกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
1. จารีตประเพณี ถือว่าเป็นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากกฎหมายระบบนี้เกิดจากการนำเอาจารีตประเพณี ซึ่งคนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมานาน มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ
2. คำพิพากษาของศาล จารีตประเพณีใดที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความแล้ว ก็จะกลายเป็นคำพิพากษาของศาล ซึ่งคำพิพากษาบางเรื่องอาจถูกนำไปใช้เป็นหลัก หรือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาตัดสินคดีความต่อ ๆ ไป คำพิพากษาของศาลจึงเป็นที่มาอีกประการหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
3. กฎหมายลายลักษณ์อักษร ในสมัยต่อ ๆ มาบ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่จะรอให้จารีตประเพณีเกิดขึ้นย่อมไม่ทันกาล บางครั้งจึงจำเป็นต้องสร้างกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาใช้ด้วย
4. ความเห็นของนักนิติศาสตร์ ระบบกฎหายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ยังยอมรับความเห็นของนักนิติศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการตัดสินคดีความด้วย เพราะนักนิติศาสตร์เป็นผู้ที่ศึกษากฎหมายอยู่เสมอ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความคิด มีเหตุผล ความเห็นของนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสสียงและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ย่อมมีน้ำหนักพอที่จะนำไปใช้อ้างอิงในการพิจารณาตัดสินความได้
5 .หลักความยุติธรรมหรือมโนธรรมของผู้พิพากษา ในระยะหลังที่บ้านเมืองเจริญขึ้นสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป การใช้จารีตประเพณีและคำพิพากษาก่อน ๆ มาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความอาจไม่ยุติธรรม จึงเกิดศาลระบบใหม่ขึ้น ซึ่งศาลระบบนี้จะไม่ผูกมัดกับจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาของศาลเดิม แต่จะยึดหลักความยุติธรรมและให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี ซึ่งเรียกว่ามโนธรรมของผู้พิพากษา(Squity) ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
ประเภทของกฎหมาย
การแบ่งประเภทของกฎหมาย อาจแบ่งได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับผู้แบ่งว่าจะใช้อะไรเป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วเราจะแบ่งอย่างคร่าว ๆ ก่อนโดยแบ่งกฎหมายออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กฎหมายภายใน ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยองค์กรที่มีอำนาจภายในรัฐหรือประเทศ และกฎหมายภายนอก ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นจากสนธิสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ
กฎหมายภายใน และกฎหมายภายนอก ยังอาจแบ่งย่อยได้อีกหลายลักษณะ ตามหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
กฎหมายภายใน แบ่งได้หลายลักษณะตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ใช้เนื้อหาของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์การแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 กฎหมายลายลักษณ์อักษร ได้แก่ ตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยองค์กรที่มีอำนาจตามกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติต่าง ๆ ฯลฯ เป็นต้น
1.2 กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จารีตประเพณีต่าง ๆ ที่นำมาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องที่มาของกฎหมาย ซึ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยก็มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรค 2 ว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดที่จะยกมาปรับแก้คดีได้ ท่านให้วินิจฉัยคดีนั้นตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น”
2. ใช้สภาพบังคับกฎหมายเป็นหลักในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางอาญา ได้แก่ กฎหมายต่าง ๆ ที่มีโทษตามบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร ฯลฯ เป็นต้น
2.2 กฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง สภาพบังคับทางแพ่งมิได้มีบัญญัติไว้ชัดเจนเหมือนสภาพบังคับทางอาญา แต่ก็อาจสังเกตได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การบังคับชำระหนี้ การชดใช้ค่าเสียหาย หรืออาจสังเกตได้อย่างง่าย ๆ คือ กฎหมายใดที่ไม่มีบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญา ก็ย่อมเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางแพ่ง
3. ใช้บทบาทของกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
3.1 กฎหมายสารบัญญัติ ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของความผิดโดยทั่วไปแล้วกฎหมายส่วนใหญ่ จะเป็นกฎหมายสารบัญญัติ
3.2 กฎหมายวิธีสบัญญัติ ได้แก่ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการที่จะนำกฎหมายสารบัญญัติไปใช้ว่าเมื่อมีการทำผิดบทบัญญัติกฎหมาย จะฟ้องร้องอย่างไร จะพิจารณาตัดสินอย่างไร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ กฎหมายวิธีสบัญญัติก็คือ กฎหมายที่กล่าวถึงวิธีการเอาตัวผู้กระทำผิดไปรับสภาพบังคับนั่นเอง เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความในศาลแขวง กฎหมายวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น
4. ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง แบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ
4.1 กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยที่รัฐไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด เป็นต้น
4.2 กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ในฐานะที่รัฐเป็นผู้ปกครอง จึงต้องมีอำนาจบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุข เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติป้องกัน การค้ากำไรเกินควร หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความต่าง ๆ เป็นต้น
กฎหมายภายนอก กฎหมายภายนอก หรือกฎหมายระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ได้แก่ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐที่จะปฏิบัติต่อกัน เมื่อมีความขัดแย้งหรือเกิดข้อพิพาทขึ้น เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ หรือได้แก่ สนธิสัญญา หรือเกิดจากข้อตกลงทั่วไป ระหว่างรัฐหนึ่งกับรัฐหนึ่งหรือหลายรัฐที่เป็นคู่ประเทศภาคี ซึ่งให้สัตยาบันร่วมกันแล้วก็ใช้บังคับได้ เช่น สนธิสัญญาไปรษณีย์สากล เป็นต้น
2. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ได้แก่ บทบัญญัติที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่ง เมื่อเกิดความขัดแย้ง ข้อพิพาทขึ้น จะมีหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาตัดสินคดีความอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เช่น ประเทศไทยเรามี พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกับแห่งกฎหมาย ซึ่งใช้บังคับกับบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยกับบุคคลที่อยู่ในประเทศอื่น ๆ
3. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ได้แก่ สนธิสัญญา หรือข้อตกลงเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งประเทศหนึ่งยินยอมหรือรับรองให้ศาลของอีกประเทศหนึ่ง มีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีและลงโทษบุคคลประเทศของตนที่ไปกระทำความผิดในประเทศนั้นได้ เช่น คนไทยไปเที่ยวสหรัฐอเมริกาแล้วกระทำความผิด ศาลสหรัฐอเมริกาก็พิจารณาตัดสินลงโทษได้ หรือบุคคลประเทศหนึ่งกระทำความผิดแล้วหนีไปอีกประเทศหนึ่ง เป็นการยากลำบากที่จะนำตัวมาลงโทษได้ จึงมีการทำสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อให้ประเทศที่ผู้กระทำความผิดหนีเข้าไปจับตัวส่งกลับมาลงโทษ ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรม ปัจจุบันนี้ประเทศไทยทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม และอิตาลี ฯลฯ เป็นต้น
ความสำคัญของกฎหมาย
1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบเรัยบร้อยแก่สังคมและประเทศชาติ เมื่อทุกคนรู้และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องแล้วย่อมไม่เกิดปัญหา และข้อพิพาทระหว่างกันสังคมยอมเป็นระเบียบและมีความสุขอันจะเป็นผลดีต่อประเทศสืบต่อไป
2. การบริหารราชการแผ่นดินและการปกครองบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประเทศใดประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดก็จะทำให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยดี และมีส่วนทำให้มีการพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วดังตัวอย่างเช่น เมื่อประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของตนที่มีต่อประเทศชาติก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างครบถ้วน เช่นหน้าที่ในการป้องกันประเทศ หน้าที่ในการเสียภาษี หน้าที่ในการเป็นทหารรับใช้ชาติ เป็นต้น
3. สังคมจะสงบสุขเมื่อทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย รู้ว่าตนมีสิทธิของตนอยู่เพียงไร ไม่ไปล่วงล้ำสิทธิของผู้อื่น ถ้าทุกคนปฏิบัติตามขอบเขตของกฎหมายก็จะไม่การทะเลาะวิวาทกันเช่น ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการพูด การเขียน แต่ต้องปฏิบัติตนอยู่ในขอบเขต ไม่ดูหมินเหยียดหยามผู้อื่นเพราะอาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้
4. กฎหมายสร้างความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ กฎหมายจะมีข้อบังคับแก่ทุกคน ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่ประพฤติผิดกฎหมายหรือถูกผู้อื่นเอาเปรียบ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีฐานะร่ำรวย ฐานะยากจนหรือเป็นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูงเพียงใดก็ตามไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงกฎหมายได้และต้องรับโทษตามความผิด
5. กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่สำคัญเพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรม ในกรณีที่เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น มีการฟ้องร้องคดีกัน เพื่อขอความยุติธรรมจากศาล ศาลก็ต้องตัดสินโดยยึดตัวบทกฎหมายเป็นหลักในการพิจารณาคดีเพื่อให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกัน
ลักษณะของกฎหมาย
1. เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตามหรืองดเว้นการปฏิบัติ ที่มีผลบังคับครอบคลุมอย่างกว้างขวางภายในอาณาเขตของรัฐหนึ่ง ๆ
2. เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ตราขึ้นโดยรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลทั่วไปไม่สามารถตรากฎหมายออกมาบังคับใช้ได้
3. ต้องมีสภาพบังคับ กฎหมายเมื่อตราออกมาและเมื่อบังคับใช้แล้ว ย่อมมีสภาพบังคับให้พลเมืองปฏิบัติตาม ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะถือว่ามีความผิด ซึ่งความผิดที่ได้รับในทางอาญาคือ โทษ ส่วนความผิดที่ได้รับทางแพ่งคือ การชดใช้ค่าเสียหาย
4. มีผลบังคับใช้ตลอดไป กฎหมายเมื่อประกาศมีผลใช้บังคับแล้ว จะสามารถใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิกหรือถูกเปลี่ยนแปลง
5. มีความเสมอภาคและยุติธรรม กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้อย่างเท่าเทียม ไม่กำหนดให้บุคคลหนึ่งต้องปฏิบัติตามเท่านั้น นอกจากนี้กฎหมายต้องไม่กดขี่ข่มเหงใคร โดยเฉพาะคนที่สุจริตและไม่ระบุเฉพาะเจาะจงว่าออกมาเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม
ประเภทของกฎหมาย
กฎหมายแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. แบ่งตามความสัมพันธ์ ได้แก่
- กฎหมายเอกชน คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน หรือความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับรัฐ โดยรัฐมีสถานะเทียบเท่าเอกชน กฎหมายเอกชนที่สำคัญคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ในฐานะที่รัฐมีอำนาจมากกว่าประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา
- กฎหมายระหว่างประเทศ คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกัน เช่น สนธิสัญญา อนุสัญญา พิธีสาร
2. แบ่งตามลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
- พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสมาชิกผู้แทนราษฎร หรือคณะรัฐมนตรี หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสนอ
- พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร มีฐานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ การตราพระราชกำหนดกระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมรตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจหลักเลี่ยงได้เท่านั้น ได้แก่ การกระทำเพื่อประโยชน์ในอันที่จะ
- รักษาความปลอดภัยของปนะเทศ
- รักาความปลอดภัยสาธารณะ
- รักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
- ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
- จำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษารักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
- พระราชฎีกา คือ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดเพื่อใชในการบรนิหารราชการแผ่นดิน โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย และพระราชกำหนด
- กฎกระทรวง เป็นกฎที่ตราขึ้นโดยรัฐมนตรีผู้ที่ดูแลดระทรวงนั้นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ สำหรับการนำไปปฏิบัติ
- กฎอื่น ๆ เช่น ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ
3. แบ่งตามลักษณะของการนำการใช้
- กฎหมายสารบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลโดยจะกำหนดการกระทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิด อันจะก่อให้เกิดสภาพบังคับ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- กฎหมายวิธีสบัญญัติ เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการวางวิธีการปฏิบัติสำหรับบุคคลที่จะเรียกร้องขอความคุ้มครองของกฎหมาย เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่เกิดขึ้น เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ความคิดเห็น