คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #21 : อรรถกถา กุรุงคมิคชาดก ว่าด้วย กวางกุรุงคะ | ดูกรไม้มะรื่น การที่ท่านปล่อยผลให้ตกกลิ้งมานั้น เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว เราจะไปสู่ไม้มะรื่นต้นอื่น เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน.
“ ดูกรไม้มะลื่น การที่ท่านปล่อยผลให้ตกกลิ้งมานั้น เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว เราจะไปสู่ไม้มะลื่นต้นอื่น เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน.”
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน ทรงปรารภพระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ คำเริ่มต้นว่า ญาตเมตํ กุรุงฺคสฺส ดังนี้
ความพิศดารว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมกันในโรงธรรมสภา นั่งกล่าวโทษของพระเทวทัตว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตประกอบนายขมังธนู เพื่อต้องการปลงพระชนม์พระตถาคต กลิ้งศิลา ปล่อยช้างธนปาลกะ ตะเกียกตะกายเพื่อจะปลงพระชนม์ของพระทศพล แม้ในกาลทั้งปวง.
พระศาสดาเสด็จมา แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ตกแต่งไว้ แล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วย เรื่องการกล่าวโทษของพระเทวทัตว่า พระเทวทัตตะเกียกตะกาย เพื่อปลงพระชนม์ของพระองค์.
พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อจะฆ่าเรา ในบัดนี้เท่านั้น หามิได้. แม้ในกาลก่อน ก็ตะเกียกตะกายเหมือนกัน ก็แต่ว่า ไม่สามารถจะฆ่าเราได้ แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ในพระนครพาราณสี
โพธิสตฺโต กุรุงฺคมิโค หุตฺวา เอกสฺมึ อรญฺญายตเน ผลาผลานิ ขาทนฺโต วสติ ฯ
พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นกวางเคี้ยวกินผลาผลทั้งหลายในราวป่าแห่งหนึ่ง. ในคราวหนึ่ง กวางนั้นกินผลมะลื่นที่ต้นมะลื่น อันมีผลสะพรั่ง.
ลำดับนั้น มีพรานนั่งห้างชาวบ้านคนหนึ่ง พิจารณารอยเท้าเนื้อทั้งหลายแล้ว จึงผูกห้างบนต้นไม้แล้วนั่งบนห้างนั้น เอาหอกแทงพวกเนื้อที่มากินผลไม้ แล้วขายเนื้อของเนื้อเหล่านั้นเลี้ยงชีวิต.
วันหนึ่ง พรานนั้นเห็นรอยเท้าของพระโพธิสัตว์ที่โคนต้นไม้นั้น จึงผูกห้างบนต้นมะลื่นนั้น แล้วบริโภคอาหารแต่เช้าตรู่ แล้วถือหอกเข้าป่า ขึ้นไปยังต้นไม้นั้นแล้วนั่งห้าง.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ออกจากที่อยู่แต่เช้าตรู่มา ด้วยหวังว่า จักกินผลมะลื่น แต่ไม่ได้ผลุนผลัน เข้าไปที่โคนต้นไม้นั้น คิดว่า บางคราว พวกพรานนั่งห้างจะผูกห้างบนต้นไม้ อันตรายเห็นปานนี้ มีไหมหนอ จึงได้ยืนพิจารณาอยู่แต่ภายนอก. ฝ่ายนายพรานรู้ว่า พระโพธิสัตว์ไม่มา นั่งอยู่บนห้างนั่นแหละ โยนผลมะลื่นให้ตกลงข้างหน้าพระโพธิสัตว์นั้น.
พระโพธิสัตว์คิดว่า ผลเหล่านี้มาตกลงข้างหน้าเรา เบื้องบนต้นไม้นั้น มีนายพรานหรือหนอ เมื่อแลดูบ่อยๆ ก็เห็นนายพราน แต่ทำเป็นไม่เห็น พูดว่า ต้นไม้ผู้เจริญ เมื่อก่อน ท่านให้ผลไม้ทั้งหลายตกลงตรงๆ เหมือนเขย่าผลที่ห้อยอยู่ ฉะนั้น บัดนี้ ท่านละทิ้งรุกขธรรมเสียแล้ว เมื่อท่านละทิ้งรุกขธรรมเสียอย่างนี้ เราจักเข้าไปยังโคนต้นไม้แม้ต้นอื่น แสวงหาอาหารของเรา แล้วจึงกล่าวคาถานี้ว่า
แน่ะไม้มะลื่น การที่ท่านปล่อยผลไม้ให้กลิ้งมานั้น เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว เราจะไปสู่ไม้มะลื่นต้นอื่น เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ญาตํ ได้แก่ ปรากฏ คือเกิดแล้ว.
บทว่า เอตํ โยคว่า กรรมนี้.
บทว่า กุรุงฺคสฺส แปลว่า เนื้อชนิดกวาง.
บทว่า ยํ ตฺวํ เสปณฺณิ เสยฺยสิ ความว่า ดูก่อนต้นไม้มะลื่นผู้เจริญ การที่ท่านปล่อยให้ผลกลิ้งตกลงข้างหน้า คือได้เป็นผู้มีผลกระจายมานั้น ทั้งหมดเกิดเป็นสิ่งลามกสำหรับเนื้อกวาง.
ด้วยบทว่า น เม เต รุจฺจเต นี้ กวางกล่าวว่า เราไม่ชอบใจผลของท่านผู้ให้ผลอยู่อย่างนี้ ท่านจงหยุดเถิด เราจักไปที่อื่น ดังนี้ ได้ไปแล้ว.
ลำดับนั้น นายพรานทั้งที่นั่งอยู่บนห้างนั่นแล พุ่งหอกไปเพื่อพระโพธิสัตว์นั้น แล้วกล่าวว่า ท่านจงไปเถิด บัดนี้ เราเป็นคนผิดหวังท่าน. พระโพธิสัตว์หันกลับมา ยืนกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญ แม้บัดนี้ ท่านผิดหวังเราก็จริง แต่ถึงกระนั้น ท่านจะไม่ผิดหวังมหานรก ๘ ขุม อุสสทนรก ๑๖ ขุม และกรรมกรณ์ทั้งหลายมีการจองจำ ๕ ประการเป็นต้น ก็แหละครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ได้ไปตามชอบใจ ฝ่ายนายพรานลงมาแล้ว ไปตามความชอบใจ.
แม้พระศาสดาก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวทัตตะเกียกตะกายเพื่อจะฆ่าเรา ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็ตะเกียกตะกายแล้วเหมือนกัน.
ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาสืบอนุสนธิ แล้วทรงประชุมชาดกว่า
นายพรานนั่งห้างในครั้งนั้น ได้เป็น พระเทวทัต
ส่วนกวางในครั้งนั้น ได้เป็น เราผู้ตถาคต แล.
จบอรรถกถากุรุงคมิคชาดกที่ ๑
-----------------------------------------------------
ที่มา | อรรถกถา กุรุงคมิคชาดกว่าด้วย กวางกุรุงคะ 84000.org
อ่านต้นฉบับอรรถกถาชาดกทั้งหมด | หมวดแนะนำชาดก 84000.org
-----------------------------------------------------
ข้าพเจ้าขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระคุณของอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย
ด้วยกุศลผลบุญอันเกิดจากการเผยแพร่ชาดกเพื่อเป็นวิทยาทานนี้
ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งผู้มีพระคุณแก่ข้าพเจ้า พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ มิตรสหาย เจ้ากรรมนายเวร แลสรรพสัตว์ทั้งหลายมิมีที่สุดมิมีประมาณ ขอท่านทั้งหลายจงทราบถึงกุศลผลบุญนี้ หากผู้ใดไม่ทราบ ขอเทวดาทั้งหลายโปรดบอกกล่าวแก่เขาเหล่านั้น เมื่อทราบแล้ว ขอท่านทั้งหลายได้โปรดอนุโมทนากุศลผลบุญเหล่านี้เอาเองเถิด
สาธุ
-----------------------------------------------------
เพื่อนๆ ได้ความรู้ ข้อคิด คติธรรม อะไรจาก อรรถกถา กุรุงคมิคชาดกว่าด้วย กวางกุรุงคะ
ขอเชิญแบ่งปันเพื่อเป็นวิทยาทานแก่กันและกัน ในช่องความคิดเห็นได้นะคะ
เกร็ดความรู้จาก กุรุงคมมิคชาดก
ไม้มะลื่น อัลมอนด์เมืองไทย
“มะลื่น” ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Irvingia malayana มีเรียกชื่อตามท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นหลายชื่อ ได้แก่
ภาคเหนือเรียก มะมื่น/มะลื่น
ลาวอีสานเรียก หมากบก
ภาษาชองเรียก ชะอัง
สุโขทัยและโคราชเรียก มะลื่น
ภาษากูยสุรินทร์เรียก หลักกาย
เขมรสุรินทร์เรียก จะเมาะ เป็นต้น
มักพบได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าชาย หาด ป่าเบญจพรรณ ป่าหญ้า และป่าแดง โดยมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ใบเดี่ยวรูปไข่ ดอกเป็นช่อสีเขียวอ่อน ผลแบนกลมรีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมล็ดเดี่ยวเปลือกแข็ง เนื้อในสีขาว
มะลื่น ที่สุกมีสีเหลืองที่ร่วงหล่นลงมาจากต้น เป็นผลไม้ที่สัตว์ป่าชอบกิน รวมถึงฝูงวัว-ควาย ที่ชาวบ้านปล่อยเลี้ยง พอกลับกลับเข้าคอก วัว-ควายจะเคี้ยวเอื้องคายเม็ดมะลื่นออกมา ทางเจ้าของก็จะเก็บมารวมไว้ นำไปตากแห้งแล้วก็จะกระเทาะเปลือกเอาเนื้อข้างใน นำไปคั่วกินเป็นอาหารว่าง ซึ่งเปลือกเนื้อมีสีน้ำตาล เนื้อในสีขาวมีรสชาติมันติดขมเล็กน้อยพอๆกับเม็ดอัลมอนด์ของต่างประเทศ ทั้งยังมีน้ำมันมาก ใช้ทำสบู่และเทียนไขได้
และเมล็ดยังมีสรรพคุณทางยาช่วยบำรุงสมอง บำรุงหัว ใจ รักษาริดสีดวงจมูก บรรเทาอาการหอบหืด ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย บำรุงไต บำรุงเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงไขข้อกระดูก แก้ข้อขัด ฆ่าพยาธิในท้อง บำรุงระบบประสาทและสมอง ที่สำคัญป้องกันโรคความจำเสื่อม บำรุงหัวใจ และป้องกันมะเร็งเต้านม กินได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่แล้วจะพบเห็นเม็ดมะลื่นคั่วสุก แม่ค้าจะนำมาวางขายตามแผงขายของทั่วไป
เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง และเผาถ่านได้ดีมาก
อ้างอิงจาก
- รู้แล้วจะอึ้ง!! ตามหา “มะลื่น” อัลมอนด์เมืองไทย มีสรรพคุณทางยาที่มองข้าม - Chiang Mai News
- กระบก - วิกิพีเดีย
- ถ่านไม้กระบก ไฟแรงที่สุด
ความคิดเห็น