ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Dolphin 's sight

    ลำดับตอนที่ #1 : เรื่องเล่าจากข่าวไทยรัฐและช่อง 3 วันที่ 26 กค 2551

    • อัปเดตล่าสุด 26 ก.ค. 51


    ก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่เมื่อเช้าดอลฟินไปเรียนธรรมะจากหลวงปู่ที่วัดตามปกติ  แวะผ่านแผง นสพ ก็ปรายตามองตามวิสัยปุถุชนคนเดินดินทั่วๆไป  ก็เจอข่าวแปลกประหลาดว่าวัดแห่งหนึ่งในเพชรบูรณ์  มีป้ายประกาศว่า  รูปทองเหลืองหล่อนี่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแน่ๆ ไม่ต้องกราบมัน  และรายละเอียดของข่าวข้างต้นก็กล่าวว่าเจ้าอาวาสทำเช่นนั้นเพื่อไม่ให้คนยึดติดวัตถุ

    ก็สะกิดใจเล็กๆ แต่หลวงพ่อและหลวงปู่สอนว่ามนุษย์ผู้หวังทางพ้นทุกข์ต้องรักษาอารมณ์ตัวเอง  ก็ระลึกได้ว่าเรากำลังจะไปเรียนธรรมะ  จึงวางเรื่องนั้นเสียที่แผงหนังสือ  และไปเรียนธรรมะกับหลวงปู่จนได้เวลาที่จะต้องไปช่วยงานหลวงพ่อที่วัดอีกแห่ง  ก็เลยกราบลาพระอาจารย์และออกจากวัดหลวงปู่มาเพื่อเดินทางไปวัดหลวงพ่อ

    ระหว่างทางในรถ ก็คิดถึงธรรมะที่หลวงปู่สอนว่า  ธรรมะสายวิปัสสนาที่ง่ายที่สุดที่อยากให้จำไว้ คือ เหตุปัจจโย หมายถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุเป็นปัจจัย  ดอลฟินก็เลยนำคำสอนนั้นมาทบทวนพิจารณาร่วมกับความรู้ที่เคยอยู่วัดมาตั้งแต่เล็กๆ  ก็หวนนึกไปถึงเรื่องมารพันธะในปฐมสมโพธิกถา  ถึงเรื่องที่พระมหาเถรอุปคุตกำราบพญามารวสวตีลงได้  และตรึงไว้ด้วยพันธนาการหมาเน่าจนพญามารทนไม่ไหวขอให้ปล่อยตนไป พระอุปคุตเถระก็บอกว่าจะปล่อย  แต่พญามารจะต้องทำตามข้อแลกเปลี่ยนก่อน คือแปลงเป็นพระพุทธองค์ให้ท่านเห็นหน่อย  เนื่องจากพระอุปคุตเกิดไม่ทันเห็นหน้าพระศาสดา  พญามารวสวตีจึงยอมแปลงกายเป็นพระพุทธองค์ให้พระอุปคุตเห็น  จากนั้นพุทธศาสนิกชนก็ถือเอาร่างแปลงของพญามารเป็นต้นแบบการทำพุทธรูปเพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์และใช้เป็นที่พึ่งทางใจ

    ดอลฟินก็เลยอนุมานเอาเองตามภูมิปัญญาอันน้อยนิดด้วยความเยาว์วัยของตนเองว่า  พระเถระผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดที่เพชรบูรณ์นั่น  คงจะเข้าใจไปว่าพญามารอาจจะไม่ได้แปลงร่างเป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ  เพียงแต่แสร้งสักแต่ว่าแปลงๆไปให้พระอุปคุตปล่อยตนไปก็เท่านั้น  และพระเจ้าอาวาสวัดดังกล่าวจึงกลัวว่าพุทธศาสนิกชนนไทยทั้งปวงจะหลงไปกราบไหว้บูชาร่างแปลงของพญามารแทนกระมัง  จึงได้ตั้งป้ายแบบนั้นไว้ในวัด

    ทว่าเมื่อได้แวะพักรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านข้าวผัดปูแห่งหนึ่งในแถบลำสาลี  ก็เผอิญร้านนั้นเปิดรายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ทางช่อง ๓ อยู่พอดี  และในรายการก็ได้มีการหยิบข่าวดังกล่าวมาอภิปรายกันด้วย  โดยมีรายละเอียดว่านอกจากจะมีการตั้งป้ายดังกล่าวไว้หน้าพระพุทธรูปในวัดแล้ว  เจ้าอาวาสวัดยังสั่งสอนให้ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาตนนำพุทธรูปและรูปเคารพต่างๆไปทิ้งให้หมดด้วย  นอกจากนั้นหากมีญาติโยมผู้ใดนำพุทธรูปหรือรูปเคารพมาถวาย  เจ้าอาวาสผู้นี้ก็จะไปขุดหลุมและทิ้งพุทธรูปกับรูปเคารพเหล่านั้นลงไป จากนั้นจึงราดน้ำกรดลงไปเพื่อทำลายรูปเคารพเหล่านั้น และยังเอาเกลือสาดตามลงไปอีก  ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวก็ทำให้ชาวบ้านบางคนไม่ชอบ  แต่สมภารผู้นี้ก็จะติดป้ายไว้ตามวัดว่า  หากไม่เชื่อข้าก็ไม่ต้องมาฟังข้าเทศน์  หรือหากไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องมาฟังข้าเทศน์  อีกทั้งอ้างว่าตนทำตามพระไตรปิฏก  เพราะพระไตรปิฏกไม่ได้สอนให้คนศรัทธารูปเคารพพวกนี้  แต่ให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย  แต่หากใครไม่เชื่อก็ไม่ต้องมาฟังตนเทศน์

    มาถึงตรงนี้ดอลฟินก็สลดใจพอควร แต่ระลึกได้ว่าหลวงปู่สอนให้รักษาอารมณ์  จึงปฏิบัติตามและลองพิจารณาด้วยธรรมะที่หลวงปู่สอนมาว่า เหตุปัจจโย  อืม...ถึงตอนนั้นดอลฟินรู้สึกเหมือนเณรข้าวปั้นในเรื่องอรหันต์ซัมเมอร์เลยแฮะ  นั่งทบทวนเหตุแห่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วยคำว่าเหตุปัจจโยๆๆๆๆๆ  คล้ายกับที่เณรข้าวปั้นนั่งหลับตาแล้ว โป๊กๆๆๆ (เสียงเคาะกังสดาลญี่ปุ่น) ปิ๊ง

    แต่ว่าในกรณีของดอลฟินน่ะไม่มีคำว่าปิ๊งหรอกนะ  เพียงแค่ระลึกได้ถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบว่าการกระทำทุกรกิริยาไม่ใช่ทางพ้นทุกข์  โดยอุปมาดังการดีดพิณว่า  ตึงนักสายพิณก็ขาด  ก็ไม่อาจดีดพิณได้  หย่อนไปเสียงก็ไม่เพราะ  หากขึงได้ตึงพอดีจึงได้เสียงที่ไพเราะ  และนั่นคือทางสายกลางอันนำพระองค์ไปสู่มรรคผลแห่งการหลุดพ้น  จึงสรุปได้ประการแรกว่า  ความคิดของสมภารผู้นั้นว่ารูปเคารพไม่ใช่สิ่งที่พระไตรปิฏกสอน ก็คงจะจริงดังท่านว่า  แต่การปฏิบัติที่ท่านกระทำมันเป็นทางที่ตึงเกินไป  อันไม่ใช่มรรคซึ่งพระพุทธองค์หรือพระไตรปิฏกสอนไว้   และการทำลายรูปเคารพต่างๆด้วยตัวเองเช่นนั้น  หากผู้ใดเคยบวชเป็นพระมาน่าจะจำได้ว่า  พอเราได้เป็นพระแล้ว  พระอุปัชฌาย์จะสอนเราก่อนเลยถึงกรณียกิจ และอกรณียกิจของสงฆ์   ซึ่งกรณียกิจคือ กิจอันสงฆ์ควรทำ ได้แก่ การทำวัตรเช้า นั่งกรรมฐาน  บิณฑบาต  โปรดสัตว์  ศึกษาพระธรรม  ฯลฯ  ส่วนอกรณียกิจ คือกิจอันไม่ควรทำ ได้แก่ ลักของชาวบ้าน เสพเมถุน  ฆ่าคน  ฆ่าสัตว์  อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน  ทำให้เกิดสังฆเภท  คั้นให้น้ำอสุจิหลั่งออกมาโดยเจตนา ฯลฯ  ซึ่งในกรณียกิจของสงฆ์  มิได้สอนให้ทำลายข้าวของทั้งของตนเองและผู้อื่นเลย  และยังเข้มงวดขนาดแม้แต่จะตัดหญ้าหรือต้นไม้ที่มีใบหรือกิ่งก้านสีเขียวแซมก็ยังทำไม่ได้  เพราะไม่ใช่สิ่งที่สงฆ์ควรกระทำ

    ก็สรุปได้ประการที่สองว่า  พฤติกรรมของสมภารผู้นั้นเองก็ไม่ได้อยู่ในคำสอนของพระพุทธองค์หรือพระไตรปิฏกเลย  และเหมือนจะผิดคำสอนแรกๆที่พระนวกะจะต้องรับรู้เสียด้วยซ้ำ  และพฤติกรรมการเอาเกลือราดลงไปในรูปเคารพที่ตนทำลายด้วยกรดไปแล้วนั้น  หากใช้หลักวรรณคดีเปรียบเทียบแล้ว  พบว่าไปตรงกับ Folklore (คติชน) ของญี่ปุ่นและยิปซี  กล่าวคือ  ชาวญี่ปุ่นโบราณนิยมใช้เกลือสาดขับไล่วิญญาณร้าย  หรือสาดไปปังรังควาญในจุดหรืออาณาบริเวณซึ่งตนคิดว่ามีสิ่งอุบาทว์หรือเสนียดจัญไรมาสิงสู่อยู่  ในขณะที่ทางยิปซีเชื่อกันว่าเกลือหรือที่เรียกกันตามภาษาวิทยาศาสตร์ตะวันตกว่า เฮไลท์ มีสรรพคุณในการขจัดสิ่งชั่วร้าย อัปรีย์ จัญไร ทั้งปวง  จึงมักสาดของที่ตนเชื่อว่าต้องคำสาป หรือมีมลทินด้วยเกลือ  หรือนำของเหล่านั้นไปหมักเกลือ เป็นต้น  ซึ่งใดๆก็ตามคติความเชื่อทั้ง ๒ ประการนั้น  มิได้อยู่ในพระไตรปิฏกหรือคำสอนข้อใดๆที่องค์พระศาสดาบัญญัติไว้เลย  ดังนั้นดอลฟินจึงสงสัยมากว่าท่านสมภารผู้นี้กล่าวอ้างคล้ายว่าตนแตกฉานในพระไตรปิฏกมาก  แต่ทำไมเอาวิธีการทางไสยศาสตร์ของญี่ปุ่นและยิปซีมาใช้

    แต่พอนึกไปถึงคำสอนของหลวงปู่ ก็จำได้ว่า  หลวงปู่ย้ำหนักหนากับศิษย์ที่เก่งในทางปฏิบัติว่า หากจะนั่งกรรมฐานด้วยตัวเองแล้วเกิดเข้าถึงอัปมาณสมาธิอันเป็นสมาธิลึกได้  ให้พยายามหยุดตัวเองไว้แค่ที่ฌาน ๔  อย่าปล่อยตัวเองให้ลงไปลึกกว่านั้น  เพราะฌาน ๕ ๘ เป็นของล้ำเลิศและให้คุณคือความสุขทางธรรมอย่างสุดยอดจริง  แต่หากฝึกเองโดยปราศจากอาจารย์ควบคุม ก็อาจจะหลงทางได้ง่ายๆ  และผู้ที่หลงทางในฌาน ๕-๘ จะมีความรู้และความเข้าใจที่เฉหรือหลงไปจากความจริงที่ควรจะเป็น  แต่ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือ  ผู้ที่หลงทางด้วยฌาน ๕ ๘ นี้มักจะมีมานะว่าตนเข้าฌานได้ลึกมาก  เวลาใครเตือนสติว่าหลงแล้ว  ให้กลับมาสู่ทางที่ถูกต้องก็มักจะไม่เชื่อ  ประดุจอุฬุเวลกัสปะในตอนพบพระพุทธเจ้าใหม่ๆ  ซึ่งเข้าใจมาตลอดว่าตนสำเร็จอรหันต์แล้ว  ครั้นพระพุทธเจ้าสำแดงความจริงให้เห็นด้วยวิธีการต่างๆนานา  ก็ยังคงพยศและดื้อรั้นไม่ยอมเชื่อว่าตนยังไม่บรรลุอรหันต์  ยังคงถือดีตามความเข้าใจจากจิตปรุงแต่งของตนเองว่า ตนคือพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าเทียบตนไม่ได้  

    หากอุฬุเวลกัสปะยังโชคดี  ที่ได้พบพระศาสดาผู้เมตตา  ไม่ถือโกรธในความอหังการนั้น  และช่วยเคาะอวิชชาออกให้ทีละนิดๆด้วยความเมตตาและจริงใจ  จนสามารถกลับมาสู่ทางที่ถูกที่ควรได้  แต่ในปัจจุบันนี้ล่ะ...?  ปัจจุบันซึ่งพระพุทธองค์ได้ปรินิพพานไปแล้วถึง ๒๕๕๑ ปี  ใครจะมาช่วยเคาะอวิชชาออกจากใจของผู้ปฏิบัติที่หลงทางและมีมานะแน่นหนาในใจได้  ผู้ปฏิบัติที่หลงผิดคิดว่าตนแตกฉานในพระไตรปิฏกดีแล้ว  ไม่มีใครเก่งกว่าตนหรือเข้าใจดีกว่าตน  ก็คงหลงทางไปเรื่อยๆ  และอาจเผลอนำวิธีการของลัทธิอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธมาผสมเติมกับการปฏิบัติของตัวเองต่อไปๆ  ซึ่งผลที่จะได้รับจากเหตุนั้นย่อมไม่ใช่พระนิพพานแน่ๆ  เพราะมิได้ก่อเหตุอันปูทางไปสู่พระนิพพานมาแต่ต้น

    นึกมาได้เท่านี้ก็ เหตุปัจจโย อีกแล้ว  เพราะในข่าวบอกว่าพระสมภารผู้นั้นติดป้ายประกาศตลอดทำนองว่า  หากไม่เชื่อข้าก็ไม่ต้องมาฟังเทศน์  อืม...เทศน์หรือ  เหตุปัจจโย  การเทศน์นี่มีเหตุเพื่อสั่งสอนธรรมะ  แต่...หากสิ่งที่เทศน์ไม่ใช่ธรรมะที่ถูกต้องมันจะเกิดอะไรขึ้นนะ  แล้วที่สำคัญเหตุแห่งการที่ทำให้สงฆ์เทศนาสั่งสอนฆราวาสผิดไปจากคำสอนแท้จริงมันมีอะไรบ้าง  เหตุปัจจโย  อ้อรู้แล้ว

    ข้อหนึ่ง  ไม่แตกฉานในพระไตรปิฏก แต่เข้าใจว่าแตกฉานดีกว่าคนอื่นแล้ว  ดังอดีตของอุฬุเวลกัสสปะที่เคยกล่าวไป

    ข้อสอง พอนึกขึ้นได้ก็สลดใจ  เพราะสติปัญญาอันน้อยนิดของดอลฟิน  ดึงดอลฟินให้นึกไปถึงเหตุแห่งการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๒ ซึ่งมีเหตุมาจากการเกิดพระอลัชชีขึ้นครั้งแรกในพระศาสนา  กล่าวคือ พระวัชชีบุตรแห่งเมืองปาฏลีบุตรได้สำแดงวัตถุอันเป็นอาบัติว่าไม่เป็นอาบัติ  โดยการเทศนาสั่งสอนให้ชาวบ้านนำเงินมาถวายพวกตนเพื่อทำบุญ  พระยสะทราบเรื่องจึงเดินทางไประงับโดยสันติวิธี  คือเมื่อชาวบ้านนำเงินมาถวายท่านก็ไม่รับ  พระวัชชีบุตรทราบเรื่องจึงร่วมกับพวกกล่าวหาว่าพระยสะทำร้ายอุบาสกอุบาสิกาที่นำเงินมาถวาย  และบังคับให้พระยสะทำปฏิสารณียกรรม คือเที่ยวขอขมาลาโทษชาวบ้านเหล่านั้น  พระยสะจึงถือโอกาสเทศนาสั่งสอนชาวบ้านทั้งหลายว่า  การนำเงินมาถวายพระเช่นนี้ไม่ถูกต้องและจะเป็นเหตุให้ศาสนามัวหมองและเสื่อมเสียลงไปเรื่อยๆ  ซึ่งเมื่อเหล่าชาวบ้านได้ทราบความจริงก็เกิดความเลื่อมใสและรักใคร่พระยสะแทนที่จะเกลียดชัง  จากนั้นเหล่าสงฆ์ก็ทำการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๒  เพื่อรักษาคำสอนให้กลับมาอยู่ในทางที่ถูกที่ควร

    เหตุแห่งการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ ๒ คืออะไร  คือพระเทศนาสั่งสอนชาวบ้านผิดๆ ให้ชาวบ้านทำอะไรผิดๆ อันเป็นเหตุให้ศาสนามัวหมองและเสื่อมเสีย  แล้วเหตุอันเป็นปัจจัยที่ทำให้พระวัชชีบุตรเทศน์ชาวบ้านผิดไปจากพระไตรปิฏกคืออะไร...?  ก็คือเงินนั่นเอง...พระวัชชีบุตรปรารถนาทรัพย์สินเงินทอง  จึงเปลี่ยนแปลงคำสอนของพระศาสดาเองโดยพลการ  ด้วยการสำแดงสิ่งอันเป็นอาบัติว่าไม่เป็นอาบัติ  

    ในครั้งนั้นมีพระยสะซึ่งเป็น ๑ ในเอหิภิกขุมาแก้ไขเรื่องราวได้  แต่ปัจจุบันนี้ล่ะ  จะมีเอหิภิกขุองค์ใดมาแก้ไข  หากมีพระเทศน์ชาวบ้านผิดไปจากตัวคำสอนแท้จริงในพระไตรปิฏก  โดยอาศัยความไม่รู้ในพระไตรปิฏกของชาวบ้านเป็นเครื่องมือ  ด้วยสาเหตุจากสิ่งที่มีนามว่า เงิน

    พูดถึงการสังคายนาครั้งที่ ๒ ก็พาให้นึกมาถึงการสังคายนาครั้งที่ ๓ ด้วย  เพราะเหตุแห่งการสังคายนาครั้งที่ ๓ เกิดจากมีคนและนักบวชของลัทธิอื่นๆปลอมแปลงเข้ามาบวชในศาสนาและสำแดงสิ่งต่างๆอันมาจากลัทธิของพวกตน  ทำให้คำสอนจริงของพระพุทธองค์ถูกบิดเบือนผิดเพี้ยนไป  และเกิดการแตกแยกในหมู่สงฆ์   

    ทำไมดอลฟินถึงนึกหวลไปถึงการสังคายนาครั้งที่ ๓ เหรอครับ  ก็เพราะข่าวที่บอกว่าท่านสมภารท่านนำวิธีทางไสยศาสตร์ของญี่ปุ่นและยิปซีมาใช้นั่นอย่างไรล่ะครับ  เพราะการเอาเกลือสาดสิ่งอันเชื่อว่าเป็นอัปมงคลหรือเสนียดจัญไรไม่อยู่ในคำสอนของพระพุทธองค์ และไม่มีในพระไตรปิฏก แต่เป็นวิธีการทางไสยศาสตร์ของลัทธิอื่นคือเป็นของยิปซีและญี่ปุ่นโบราณดังกล่าวมาแล้ว  ซึ่งตอนนี้ก็ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้ว  พระเจ้าอโศกมหาราชสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว  ครั้งนั้นพระองค์ช่วยส่งเสริมให้มีการสังคายนาพระไตรปิฏก  จึงสามารถขับไล่พวกลัทธิอื่นที่ปลอมแปลงเข้ามาบวชในศาสนาและทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียไปได้  จึงสามารถชำระพระไตรปิฏกให้กลับมาถูกต้องดังเดิมได้   แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว  ใครจะมาช่วยเรา  หากมีนักบวชของลัทธิอื่นปลอมแปลงเข้ามาบวชในแล้วมาแกล้งบิดเบือนคำสอนแท้จริงของพระพุทธองค์ให้ผิดเพี้ยนไป...?

    พูดถึงพระไตรปิฏกมากๆเข้า ก็พาให้นึกไปถึงงานสัมมนาสาธยายพระไตรปิฏกที่สนามหลวงเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ๒๕๔๙ ว่า  ในครั้งนั้นทางมหาเถระสมาคมเชิญท่านสมภารผู้นี้มาร่วมงานหรือไม่  แต่ดอลฟินคิดว่างานสัมมนาพระไตรปิฏกเป็นงานใหญ่ เป็นงานสำคัญ  หากจัดขึ้นครั้งใด  ก็จะต้องเชิญพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฏกอย่างแท้จริงมาร่วมด้วยทุกครั้งไป  ซึ่งเท่าที่จำได้  ในข่าวเมื่อปี ๔๘ - ๔๙ ที่ผ่านมา  ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระเถระผู้ร่วมสัมมนาสาธยายพระไตรปิฏกผู้ใด  นำกรดไปราดหรือเอาเกลือไปสาดใส่พุทธรูปหรือรูปเคารพต่างๆในท้องสนามหลวงเลย   จึงคาดว่าท่านสมภารผู้นี้น่าจะไม่ได้รับเชิญไปในงานดังกล่าวอย่างแน่นอน

    มาถึงตรงนี้ก็ขอทิ้งท้ายเรื่องพระไตรปิฏก เนื่องจากดอลฟินจำได้ถึงเนื้อหาของพระปฐมสมโพธิกถา ปริเฉทที่ ๑๑ คือโพธิสัพพัฏฏปริวัตต์ ว่า   เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระสัทธรรม คือพระไตรปิฏกแล้ว พระองค์ก็บังเกิดพระกมลหทัยอันกว้างขวาง  จนในที่สุดฉัพพรรณรังสีก็เปล่งออกจากพระวรกาย  เพื่อสำแดงให้เห็นว่า  พระองค์ได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์แล้ว  ครับ...ดอลฟินแค่อยากบอกว่า  สิ่งที่ดอลฟินรู้มาคือ  ผู้ที่พิจารณาพระไตรปิฏกจนแตกฉานอย่างแท้จริง  ย่อมเป็นผู้มีจิตใจอันกว้างขวาง  และย่อมได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอย่างแน่นอน  แต่หากผู้ใดอ่านพระไตรปิฏกจนจำได้ครบทุกอักขระแล้ว  หากกลับมีจิตใจอันคับแคบ   นั่นหมายความว่าอย่างไร...? เขาหลงทาง...? หรือว่าพลาดตรงไหน...?

    ดอลฟินเองก็ไม่ได้บรรลุโสดาบัน  อายุก็ยังน้อย  สัมผัสพระไตรปิฏกก็เพียงผิวเผินแค่ครั้งเดียวในงานสัมมนาพระไตรปิฏกปี ๒๕๕๑ แต่ดอลฟินจำได้ถึงคำสอนเรื่องการทำปัจจเวกขณ์  คือการพิจารณาธรรมะบทต่างๆทั้งเพื่อศึกษาและเตือนใจไม่ให้หลงทาง  และจำได้อีกว่าการขวนขวายปัจจเวกขณ์ คือการพิจารณาอย่างรอบคอบในการบริโภคปัจจัยทั้งหลายอย่างมีสติที่สุดเพื่อจะได้ไม่รับและไม่บริโภคด้วยกิเลสตัณหา  และการเขียนเรื่องเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้  ดอลฟินก็ได้ใช้หลักการทำปัจจเวกขณ์ช่วยในการกลั่นกรองอารมณ์ของตัวเองให้เป็นกลางที่สุด  เพื่อจะได้มอบความรู้และความจริงแก่ท่านผู้อ่านอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด  โดยพยายามรักษาอารมณ์ตัวเองตลอดการเขียน  เพื่อไม่ให้กิเลสหรือนิวรณ์ใดๆมาเบียดปน  อันจะทำให้เรื่องเล่าเรื่องนี้ผิดแผกไปจากรสที่ควรจะเป็น คือ ศานตรส  ซึ่งหากจะมีรสอื่นใดมาเจือปนในจิตวิญญาณของงานเขียนชิ้นนี้  ดอลฟินก็ต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่รักไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

                                                                                  Forever with you

                                                                                                            ดอลฟิน  

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×