ลำดับตอนที่ #6
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : ...ที่พักในญี่ปุ่น...
เช่าบ้าน - บ้านเช่า |
ว่ากันถึงเรื่องการหาบ้านเช่าในโตเกียวหรือเมืองรอบๆโตเกียวนี่ คงไม่ค่อยจะมีใครชอบ หรือว่ามีประสบการณ์ที่น่าพิศมัยซักเท่าไหร่หรอกค่ะ เหตุผลที่ไม่น่าพิศมัยที่สุด ก็เห็นจะเป็นเพราะเรื่องราคาค่าเช่าที่แพงแสนแพงขนาดที่ว่าขอยอมอยู่หอลำบากๆ ซะยังจะดีกว่า แต่เรื่องของเรื่องที่พวกเราจำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ อย่างน้อยๆ ก็คนละครั้งสองครั้งก็เพราะว่านักเรียนที่ต้องเรียนอยู่ญี่ปุ่นนานเป็นปีๆ มักจะได้รับอนุญาตให้อยู่หอได้ในเวลาจำกัดเท่านั้น ไม่มีหอพักที่ไหนยอมให้อยู่นานเกินหนึ่งปี หรือสองปีค่ะเพราะว่าหอพักจะต้องต้อนรับนักศึกษาที่เข้ามาใหม่ทุกๆปี นักเรียนที่อยู่มานานพอสมควรแล้ว ก็ต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่เองกันบ้าง ตัวผู้เขียนเองก็ได้สิทธิเป็นเด็กหอเพียงแค่หนึ่งปี ถึงแม้ว่าหอพักจะอยู่ไกลต้องเดินข้ามเขาเป็นลูกๆ มามหาลัยก็ตามแต่ค่าหอพักก็ถูกแบบน่าให้อภัย แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องระเห็จออกจากหอ ทีนี้ก็ตัวใครตัวมันแล้วล่ะค่ะ พวกเราจะต้องเริ่มออกหาที่อยู่ใหม่กันล่วงหน้าเป็นเดือนสองเดือน เพราะการหาบ้านเช่า (จะว่าไปก็ไม่ใช่บ้านหรอกค่ะ เรียกว่าเป็นห้องเช่าน่าจะเหมาะกว่า) นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด มีอะไรจุกจิกวุ่นวายเยอะแยะไปหมดเลยล่ะค่ะ |
จะให้เรียงลำดับว่าควรจะทำอย่างไรดี อย่างแรกเลยก็คงจะเป็นการเลือกสถานที่ หรือเขตที่เราอยากจะอยู่ บางคนก็ชอบใกล้ๆมหาลัย เอาแบบไม่ต้องขึ้นรถไฟเลยยิ่งดี เพราะเบื่อการต้องขึ้นไปเบียดกันบนรถไฟเต็มทีแล้ว ขอขี่จักรยานหรือเดินไปเรียนดีกว่า แถมนอนตื่นสายหรือกลับดึกๆได้ด้วย หรือบางคนก็ชอบใกล้ๆ มหาลัยหน่อย แต่ขอให้ได้ขึ้นรถไฟเปิดหูเปิดตาบ้างไม่งั้นอยู่แต่มหาลัยก็คงจะเบื่อแย่ อันนี้ก็นานาจิตตังล่ะค่ะ การเลือกที่อยู่ก็จะต้องดูจากสถานีรถไฟเป็นหลัก เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าอยากจะอยู่สถานีไหน ก็เดินตรงเข้าไปหานายหน้าที่สถานีนั้นๆ หรือสถานีใกล้ๆได้เลย ภาษาญี่ปุ่นเรียกนายหน้าเหล่านี้ว่าฟุโดซังค่ะ เค้าก็จะมีหน้าที่จัดการช่วยเราหาบ้าน เลือกบ้าน ทำสัญญา ทำประกัน และอื่นๆ ให้เรียบร้อยแทนที่เราจะต้องไปเจรจากับเจ้าของโดยตรง ทีนี้เมื่อเราเข้าไปหาฟุโดซังแล้ว เค้าก็จะถามความต้องการของเราเช่น อยากได้บ้านอยู่ใกล้สถานีไหน อยากได้ห้องแบบไหน แบบฝรั่งหรือแบบญี่ปุ่น ขนาดกว้างเท่าไหร่ สำหรับอยู่กี่คน ใกล้สถานีแค่ไหน ราคาประมาณเท่าไหร่ อะไรประมาณนี้ เค้าจะมีรูปหรือแปลนมาให้เราเลือกดูด้วย ถ้าสนใจอยากจะดูสถานที่จริงเค้าก็อาจจะพาเราไปดูได้ |
|
นอกจากนี้ก็ยังมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่เราอาจจะต้องดูให้ละเอียดอย่างเช่น น้ำร้อนใช้แก๊สหรือใช้ไฟฟ้า ฮีตเตอร์หรือแอร์มีติดไว้แล้วรึเปล่า มีระเบียงตากผ้ามั๊ย แดดเข้าถึงรึเปล่า(คงดูไม่ได้ขนาดที่ว่าห้องข้างๆเป็นหนุ่มหล่อหรือสาวสวยรึเปล่าหรอกนะคะ) จากนั้นถ้าเราตกลง ฟุโดซังก็จะทำการติดต่อเจ้าของตึกหรือห้องนั้น เมื่อเจ้าของตกลง ก็เป็นอันว่านัดทำสัญญาได้เลย ในวันทำสัญญาเราก็มีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวนมหาศาลมาจ่ายให้ที่ฟุโดซัง เงินจำนวนมหาศาลที่ว่านั้นคืออะไรบ้าง ก็มีดังนี้ค่ะ |
|
เมื่อทำสัญญาเรียบร้อยก็จะมีการนัดวันมอบกุญแจ และเราก็สามารถเข้าไปอยู่ได้เลย นับตั้งแต่วันที่กำหนด ทีนี้ลองมาดูกันว่าลักษณะห้องเช่าในญี่ปุ่นนั้นเป็นยังไงบ้าง ที่เห็นกันทั่วๆไปนั้นอาจจะแบ่งได้เป็นอพาร์ตโตะ (มาจากคำว่า apartment นั่นแหละค่ะ) คือเป็นตึกที่ไม่สูงนัก อาจจะมีชั้นหรือสองชั้น ผนังมักจะทำด้วยไม้ ตึกแบบนี้ห้องมักจะกว้างและเป็นห้องแบบญี่ปุ่น ห้องแบบญี่ปุ่นก็คือพื้นเป็นเสื่อตาตามิ ประตูกั้นห้องเป็นไม้เลื่อนได้แบบที่มีกระดาษขึง ห้องน้ำก็มักจะแยกกับห้องส้วม เอาแบบแย่มากๆอาจจะไม่มีห้องอาบน้ำให้เราเลยก็ได้ ให้ไปอาบห้องน้ำสาธารณะเอา แต่ไม่ค่อยจะเห็นแล้วล่ะค่ะ นอกจากออกไปทางชานเมืองไกลๆ ตึกอีกแบบที่เห็นค่อนข้างเยอะจะเรียกว่าแมนช่ง (mansion ออกสำเนียงญี่ปุ๊นญี่ปุ่นหน่อยนะคะ) ส่วนใหญ่ก็คือจะเป็นตึกหลายๆชั้น ผนังปูนแบบตึกทั่วๆไป ห้องก็มักจะเป็นห้องแบบฝรั่ง ก็คือเป็นแบบบ้านเราเนี่ยแหละค่ะ พื้นมักจะเป็นไม้ปาเก้ หรือว่าปูกระเบื้องยาง ห้องน้ำก็มักจะรวมกับห้องส้วมแบบบ้านเรา แต่ห้องน้ำญี่ปุ่นจะเล็กกว่าห้องน้ำบ้านเราเยอะเลยนะคะ ถ้าเล็กกระทัดรัดมากๆก็อาจจะเรียกว่ายูนิตบาต มีอ่างล้างหน้า ส้วม แล้วก็อ่างอาบน้ำยัดเข้าไปในห้องเดียวเล็กๆ ประมาณว่าเอาแค่หมุนตัวได้รอบๆก็พอแล้ว ทำนองนี้ล่ะค่ะ |
สำหรับราคาค่าเช่าในเขตโตเกียวหรือรอบๆนั้น ห้องในตึกแมนชั่นมักจะราคาแพงกว่าอพาร์ตโตะ ตึกที่อยู่ใกล้สถานีมากกว่าก็จะราคาแพงกว่าตึกที่อยู่ไกล (ที่นี่เค้าวัดกันเป็นนาทีถ้าเดินจากสถานีไปจนถึงที่พักของเรา แต่ไม่รู้เค้าเอาใครมาเป็นมาตรฐานนะคะ รู้สึกว่าเดินเร็วเหลือเกิน เค้าบอกเดินสิบนาที พวกเราเดินซะสิบห้านาทีกว่าจะถึง) นอกจากนี้ ถ้าใกล้สถานีใหญ่ๆ บ้านก็มักจะแพงตามไปด้วย ยิ่งอยู่ใจกลางเมืองเข้าไปก็ยิ่งแพง บริเวณที่มีคนอยากไปอยู่กันเยอะๆ เช่นใกล้ๆมหาลัย หรือบ้านที่ค่อนข้างใหม่เพิ่งสร้างเสร็จก็จะแพงกว่าบ้านเก่าๆ รวมไปถึงสภาพทั่วไป และขนาดของบ้านด้วยค่ะ พูดถึงขนาด คนญี่ปุ่นเค้าวัดขนาดห้องกันเป็นเสื่อ เสื่อที่ว่านี้ก็คือขนาดมาตรฐานของเสื่อตาตามิที่ใช้ปูพื้นนั่นล่ะค่ะ ขนาดหนึ่งเสื่อ คือประมาณเกือบๆเมตรคูณเกือบๆสองเมตร ห้องๆหนึ่งก็อาจจะมีขนาดตั้งแต่สามเสื่อ สี่เสื่อครึ่ง หกเสื่อหรือจะมากกว่านั้นก็ว่ากันไป เท่าที่เห็นมายังไม่เคยเจอสามเสื่อนะคะ ไม่รู้ใครจะอยู่เข้าไปไหว |
|
ทั่วๆไปถ้าเป็นห้องเดี่ยว (เค้าเรียกว่า one room หรือย่อว่า 1R) ก็จะมีขนาดประมาณหกเสื่อ ห้องเดี่ยวก็จะมีทุกอย่างยัดเข้าไปในห้องเดียว ทั้งห้องน้ำซึ่งมักจะเป็นยูนิตบาต ที่ตั้งเครื่องซักผ้า และครัวเล็กๆที่มักจะไม่ได้ถูกกั้นเป็นส่วนเท่าไหร่ ทำกับข้าวเหม็นก็ต้องนอนเหม็นๆอย่างนั้นล่ะค่ะ ห้องเดี่ยวนี่สำหรับอยู่คนเดียวนะคะ เราไม่สามารถจะอยู่สองคนหรือมากกว่านั้นได้ คือต้องเป็นไปตามที่เค้ากำหนด ก็เล็กปานนั้นจะยัดกันเข้าไปได้ยังไงล่ะ ถ้าใครไม่ชอบห้องเดี่ยวที่อึดอัดคับแคบและไม่เป็นส่วน ก็มีทางเลือกอีกก็คือห้องแบบ 1K ที่อาจจะมีกั้นเขตห้องครัว เพิ่มพื้นที่ส่วนครัวให้อีกนิด หรือ 1DK หรือ 1LDK เลข 1 คือมีห้องนอนหนึ่งห้อง D คือ dining หรือห้องครัวกับที่ทานข้าว L ก็คือ living หรือห้องนั่งเล่น แล้วแต่จะชอบค่ะ ยิ่งห้องใหญ่ก็ยิ่งแพงว่างั้นเหอะ ทีนี้ถ้าอยากจะอยู่กันหลายคนก็มักจะมีแบบ 2DK, 2LDK หรือ 3LDK ให้เลือก ส่วนใหญ่แล้วถ้ามีหลายๆห้องนอนในห้องใหญ่ห้องเดียว ห้องนอนมักจะมีขนาดเล็กใหญ่ต่างกันและแบบต่างกัน เช่นถ้ามีสามห้องก็มักจะมีห้องเล็กสองห้องเป็นพื้นไม้แบบฝรั่ง และมีห้องใหญ่หนึ่งห้องพื้นเสื่อแบบญี่ปุ่นเป็นต้น พอจะนึกภาพออกรึยังคะว่าคนญี่ปุ่นเค้าอยู่กันยังไง |
ทีนี้เรามาดูกันว่าพวกเรานักเรียนเช่าห้องในลักษณะไหน อย่างไรกันบ้าง เนื่องจากเงินมหาศาลที่จะต้องจ่ายไปตอนที่เราเช่าบ้าน พวกเราก็ประหยัดกันสุดขีดล่ะค่ะ ห้องที่อยู่ได้สองหรือสามคน มักจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ถ้าเรามีเพื่อนที่มีแนวโน้มว่าจะเรียนจบพร้อมกัน เพราะว่าจะได้ย้ายออกจากบ้านพร้อมกัน ไม่เหลือใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องปวดหัว รับภาระจ่ายคนเดียวหรือว่าหาคนอื่นมาอยู่ด้วยแทน เฟอร์นิเจอร์เช่นเครื่องซักผ้า ตู้เย็น ไมโครเวฟ แม้กระทั่งหม้อหุงข้าวก็ใช้อันเดียว สามารถแชร์กันได้ รวมทั้งได้ห้องที่มีพื้นที่มากกว่า เพราะว่ามักจะมีตัว D กับ ตัว L แถมมาให้เราด้วย นอกเหนือไปจากห้องนอนส่วนตัวของแต่ละคน ราคาทั่วไปที่เช่ากันอยู่ก็จะประมาณหนึ่งแสนเยนกว่าๆ ต่อเดือน หารสองก็เหลือห้าหมื่น ในขณะที่ถ้าเราอยู่คนเดียว ห้องเดี่ยวทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณหกหมื่นเยนหรือมากกว่านั้นค่ะ |
ที่พูดถึงไปแล้วนั่นคือตึกแบบแมนชั่น แต่ถ้าพูดถึงอพาร์ตโตะ ก็เป็นอีกทางเลือกที่พวกเราพอใจค่ะ เพราะว่าได้ห้องที่กว้างกว่า ถึงแม้ว่าผนังที่เป็นไม้จะไม่ค่อยเก็บเสียง แต่ถ้าไม่คิดมากกับเสียงจากห้องข้างๆ หรือว่าขยันทำเสียงรบกวนชาวบ้านมากนัก ก็นับว่าน่าอยู่ทีเดียวล่ะค่ะ ถ้าหนาวก็เลือกห้องที่ติดฮีตเตอร์หรือแอร์ไว้แล้วก็ได้ ข้อดีอีกอย่างก็คืออพาร์ตโตะจะราคาถูกกว่าแมนชั่นค่ะ อยู่คนเดียว ขนาดห้องเท่ากับอยู่สองคนในแมนชั่น แต่ราคามักจะถูกกว่าห้องเดี่ยวซะอีก ส่วนใหญ่ห้องแบบนี้มักจะมีหนุ่มโสดเป็นเจ้าของ เพราะว่าค่อนข้างจะไม่ปลอดภัยสำหรับสาวๆ โดยเฉพาะห้องที่อยู่ชั้นล่างสุด ที่อยู่ของพวกเรานักเรียนยังมีอีกหลายแบบ อย่างเช่นหอพักเอกชน ที่มักจะมีไว้สำหรับคนทำงานบริษัท หอพักสำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะที่ไม่ใช่เป็นของมหาลัย หรือว่า homestay เอาไว้มาต่อกันตอนหน้า พร้อมกับเรื่องวุ่นวายที่จะต้องทำตอนย้ายบ้านก็แล้วกันนะคะ |
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น