คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #37 : พิธีบูชามิสซา
พิธีมิสซาฯ คือ พิธีบูชาขอบพระคุณ ในความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสตชน โดยมีองค์พระเยซูเจ้าเอง เป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปแทนเรามนุษย์ อาศัยพระกาย และพระโลหิตที่ยอมสละ และพลีชีวิตเพื่อเรา ดังนั้น พิธีมิสซาฯ จึงควรเป็นพิธีของส่วนรวมในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่คริสตชนจะขอบพระคุณพระเจ้า ที่ได้ทรงประทานพระบุตรของพระองค์ลงมาไถ่บาปแทนเรามนุษย์ทุกคน
ในความเป็นจริง คำว่า "มิสซา" หมายถึง "การถูกส่งไป" เพื่อประกาศข่าวดี และเป็นแบบอย่าง รวมทั้งมอบตนเอง และชีวิตให้มีคุณค่าต่อคนอื่น ๆ เช่นเดียวกันกับที่เราได้รับจากพระเจ้า
ความหมายที่แท้จริงของคำว่ามิสซา จึงไม่ถูกต้องตรงกับที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เราจึงควรเรียกพิธีกรรมในปัจจุบันว่า "พิธีบูชาขอบพระคุณ (Eucharistic Celebration) โดยเน้นที่ความหมายของพิธีกรรมว่า เป็นการขอบพระคุณอย่างแท้จริง คือ พระเยซูเจ้า เป็นทั้งผู้ถวาย และเป็นเครื่องบูชาเอง โดยผ่านทางพิธีการหักปังบนพระแท่นเพื่อขอบพระคุณพระบิดา สำหรับการส่งพระบุตรให้มาไถ่กู้มนุษยชาติ จะเห็นได้ว่าคำว่ามิสซา จึงไม่ตรงกับคำศัพท์ และความหมายทางพิธีกรรม เพียงแต่มีความเข้าใจ และถือกันมาจากธรรมเนียมประเพณีเดิมมากกว่า
ในพิธีมิสซาฯ คริสตชนเชื่อว่า องค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่อย่างแท้จริงใน 3 วิธีการ คือ
1. จากพระวาจาของพระองค์ในบทอ่านจากพระคัมภีร์
2. กระหว่างการเสกปัง และเหล้าองุ่น เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการที่พระเยซูเจ้าจะสถิตอยู่ในพิธีมิสซาฯ เพราะเป็นการรื้อฟื้นการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า
3. การรับศีลมหาสนิท ซึ่งเป็น "ปังทรงชีวิต"
เมื่อพิธีมิสซาฯ สิ้นสุดแล้ว พระเยซูเจ้ายังคงประทับอยู่ในศีลมหาสนิท ธรรมเนียมการเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้หลังมิสซาจึงเกิดขึ้น เพราะความต้องการที่จะใช้เป็นศีลเสบียงสำหรับคนเจ็บป่วย และแจกศีลแก่ผู้ที่ไม่สามารถมาร่วมพิธีมิสซาฯ ได้ จึงเกิดธรรมเนียม "การเฝ้าศีล" เกิดขึ้นในภายหลังด้วย จะเห็นได้ว่ามิสซาเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตคริสตชน ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่พิธีกรรมภายนอกเท่านั้น หรือการบริจาคทาน คริสตชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นทุกขั้นตอน
พิธีการต่าง ๆ ของพิธีมิสซาฯ นั้น ประกอบด้วยภาคต่าง ๆ ดังนี้
1. ภาคเริ่มพิธี
ตั้งแต่เริ่มพิธี ไปจนถึงบทภาวนาของประธาน (Collecta)
2. ภาควจนพิธีกรรม
เริ่มจากบทอ่านแรกจากพันธสัญญาเดิม บทอ่านที่สองซึ่งเป็นบทจดหมายหรือหนังสืออื่น ๆ ในพันธสัญญาใหม่ และพระวรสารซึ่งถือเป็นพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสผ่านทางองค์พระบุตร คือ พระเยซูเจ้า การเทศน์เตือนใจของพระสงฆ์ การประกาศยืนยันความเชื่อ และบทภาวนาของมวลชน
3. ภาคศีลมหาสนิท
เริ่มจากภาคถวายเครื่องบูชา จนถึงบทภาวนาหลังรับศีล คือการเตรียมเครื่องบูชา - การเสกศีลฯ และการรับศีลฯ เป็นต้น
4. ภาคปิดพิธี
การอวยพรและการส่งไป ที่ให้เรากลับไปสู่ชีวิตกับเพื่อนพี่น้องในสังคมของเราต่อไป
1. ภาคเริ่มพิธี
เริ่มจากเพลงแห่เข้า (ในความเป็นจริงจะไม่มีเพลงก็ได้ แต่การที่มีเพลง เพื่อให้สัตบุรุษรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อสรรเสริญพระเจ้า และถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง เพลงในพิธีกรรมที่ดี ควรเป็นเพลงที่สื่อความหมายให้เข้าใจในพิธีกรรม และร่วมจิตใจได้)
- คำทักทาย - การสารภาพความผิด - บทกีรีเอ - (พัฒนามาจากบทลีตานีอาในยุคแรกเริ่ม) - บทกลอรีอา และจบที่บทภาวนาของประธานซึ่งเป็นช่วงเชื่อมต่อไปสู่ช่วงที่สอง ในภาควจนพิธีกรรม
สาระโดยรวมของภาคเริ่มพิธีนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเริ่มต้นนำ และเตรียมให้บรรดาสัตบุรุษที่ชุมนุมอยู่ด้วยกัน มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นการโน้มน้าวจิตใจให้พร้อมที่จะฟังพระวาจาของพระเจ้าอย่างถูกต้อง และให้เฉลิมฉลองศีลมหาสนิทอย่างสมควร
2. ภาควจนพิธีกรรม
ภาควจนพิธีกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีที่ชาวยิวปฏิบัติกันมาแต่เดิมก่อนยุคของพระเยซูคริสตเจ้า โดยในพิธีมิสซาฯ จะจัดให้มี "โต๊ะพระวาจา" หรือธรรมาสน์ เพื่อใช้อ่านพระวาจาของพระเป็นเจ้า แยกออกจาก "โต๊ะศีลมหาสนิท" หรือพระแท่นอันเป็นจุดสำคัญที่สุดของพิธีกรรม
การอ่านบทอ่าน ไม่ใช่หน้าที่ของประธาน แต่เป็นหน้าที่ของศาสนบริกร เช่น สังฆานุกร หรือผู้อ่านพระคัมภีร์ สำหรับการอ่านพระวรสารนั้น เป็นหน้าที่ของสังฆานุกร หรือประธานในพิธี จะต้องแสดงออกถึงการคารวะอย่างยิ่งต่อพระวรสารที่อ่าน โดยให้เกียรติอย่างพิเศษกว่าบทอ่านอื่น ๆ ไม่ว่าในการเลือกผู้อ่านระดับศาสนบริกร หรือพระสงฆ์เอง สัตบุรุษเอง ก็ต้องแสดงความคารวะอย่างพิเศษโดยการยืนฟัง และพนมมืออย่างสำรวม
ในระหว่างการอ่านบทอ่าน จะมีการร้องเพลงคั่น ในช่วงแรกจะเป็นเพลงสดุดี (Psalms) และส่วนที่สองจะเป็นเพลงสรรเสริญ (Acclamation) หรือเพลง Hymn บทอัลเลลูยา ซึ่งจะร้องก่อนการอ่านพระวรสาร
การเทศนาเตือนใจ (Homily) เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เป็นส่วนที่จำเป็นในการหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน และจะต้องอธิบายตามคำสอนในบทอ่านจากพระคัมภีร์ของมิสซาประจำวันนั้น ๆ การเทศนาเตือนใจ มีลักษณะพิเศษแตกต่างกว่าการเทศน์ในรูปอื่น เพราะการเทศน์แบบนี้ เป็นการเทศน์เพื่ออธิบาย หรือโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้ปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้า ที่ตรัสกับเราผ่านทางพระคัมภีร์มากกว่าจะมุ่งเน้นแบบการสอนศาสนาให้คนกลับใจ (Evangelization) หรือการเทศน์แบบสอนคำสอน (Catechesis)
เมื่อพระสงฆ์เตือนใจแล้ว จะเป็นการประกาศยืนยันความเชื่อ (Credo) เพื่อให้ประชากรเห็นพ้อง และสนองตอบพระวาจาของพระเจ้า ที่ได้ฟังในบทอ่าน และการเทศน์ และให้รื้อฟื้นข้อความเชื่อก่อนที่จะเริ่มพิธีศีลมหาสนิท และยังนับว่าเป็นบทสรุป "ประวัติศาสตร์แห่งความรอด" ซึ่งสัตบุรุษประกาศยืนยันความเชื่อของพระศาสนจักรที่มีมาแต่เดิม รวมทั้งแสดงความหวังที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตนิรันดร กับพระเจ้าในบั้นปลายด้วย บทภาวนาเพื่อมวลชน มีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงหน้าที่ของคริสตชนที่จะต้องภาวนาเพื่อมนุษยโลกในสังคม ในเรื่องต่าง ๆ ที่พระศาสนจักรได้กำหนดไว้
3. ภาคศีลมหาสนิท
เริ่มจากการเตรียมเครื่องบูชา โดยต้องเตรียมพระแท่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมศีลมหาสนิททั้งมวล โดยปูผ้ารองถ้วยกาลิกส์และจานศีล (Corporal) นำผ้าเช็ดถ้วยกาลิกส์ (Purificator) ถ้วยกาลิกส์และหนังสือมิสซาวางบนพระแท่น นำแผ่นปังและเหล้าองุ่นมาเตรียมไว้ รวมทั้งมีการบริจาคใส่ถุงทานสำหรับคนยากไร้ หรือทางวัดด้วย
คำภาวนาแห่งศีลมหาสนิท หรือการเสกปัง และเหล้าองุ่นให้เป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า ถือเป็นหัวใจสำคัญของพิธีมิสซาฯ ประกอบด้วยการเสกศีล เพื่อระลึกถึง และรื้อฟื้นถึงการตั้งศีลมหาสนิทของพระเยซูเจ้า ในอาหารค่ำมื้อสุดท้ายก่อนทรงรับทรมาน และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน การขับร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ บทข้าแต่พระบิดา การบิปัง และการรับศีลมหาสนิทของสัตบุรุษ ซึ่งการรับศีลมหาสนิท นับว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณพระเจ้า
การรับศีลมหาสนิทให้ความหมายหลายประการ เช่น
1.เป็นการร่วมสนิท เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า
2. เป็นการร่วมมีส่วนในงานกอบกู้ของพระเยซูเจ้า
3. เป็นการร่วมสนิทสัมพันธ์กับพี่น้องคริสตชนด้วยกัน
4. ภาคปิดพิธี
เมื่อสัตบุรุษรับศีลเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเข้าสู่ภาคปิดพิธี ในภาคนี้ ทางวัดสามารถประกาศข่าวต่าง ๆ ให้สัตบุรุษทราบ จากนั้นจะเป็นการอำลา และอวยพร
ข้อสังเกตุ ที่คริสตชนบางกลุ่ม อาจจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับพิธีมิสซาฯ คือ จริง ๆ แล้ว การแก้บาป (ศีลอภัยบาป) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีมิสซาฯ สัตบุรุษสามารถรับศีลอภัยบาปได้ตลอดเวลาแม้ไม่ใช่เวลามิสซา แต่การที่มีการแก้บาปก่อนพิธีมิสซาฯ นั้น ก็เพื่อประโยชน์ในด้านการอภิบาลสัตบุรุษ คืออำนวยความสะดวกแก่สัตบุรุษที่มาวัดอาทิตย์ละครั้ง รวมทั้งทำให้การร่วมพิธีมิสซาฯ ของสัตบุรุษที่รับศีลอภัยบาปแล้ว มีความหมายมากยิ่งขึ้น เป็นการเสริมสร้างจิตใจ แต่สิ่งที่ควรส่งเสริมคุณค่า และความหมายของศีลอภัยบาปนั้น สัตบุรุษควรรับศีลอภัยบาปอย่างสม่ำเสมอ ในเวลาใดก็ได้ที่เหมาะสม และมีความต้องการคืนดีกับพระซึ่งไม่เพียงก่อนพิธีมิสซาฯ เท่านั้น
ความคิดเห็น