คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #29 : ศีลศักดิ์สิทธิ์ || ตอบคุณ "45296"
ศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) เป็นเครื่องหมาย และเครื่องมือนำความรอด เป็นพระคุณ หรือของประทานจากพระเจ้า เพื่อให้เราได้รับความรอดปลอดภัย อาศัยเครื่องหมาย และสัญลัษณ์ภายนอกแบบมนุษย์ เพื่อเป็นสื่อนำความหมายสร้างความสัมพันธ์กับพระ โดยทางความเชื่อภายใน เป็นความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างพระกับเรามนุษย์ เพื่อช่วยให้เราได้มีส่วนในความศักดิ์สิทธิ์ และสัมผัสกับความรักของพระองค์ในชีวิตของเรา
ดังนั้น ศีลศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นเครื่องหมายภายนอกที่พระเยซูเจ้า ทรงตั้งขึ้นโดยผ่านทางพระศาสนจักร ที่ประทานให้แก่เรามนุษย์ เพื่อเป็นอุปกรณ์เครื่องมือของพระ นำมาซึ่งพระคุณ พระหรรษทานแห่งความรอด และความศักดิ์สิทธิ์เพื่อเรา นั่นคือ เป็นเครื่องหมายภายนอกที่มาจากความเชื่อภายใน เพื่อทำให้เราผู้รับได้รับพระหรรษทานจากองค์พระเจ้า
ศีลศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชนคาทอลิก มี 7 ประการ คือ
1.ศีลล้างบาป (Baptism) หรือศีลจุ่ม
เป็นเครื่องหมายภายนอกที่มาจากความเชื่อภายใน เพื่อเป็นการชำระ หรือลบล้างบาปกำเนิด อาศัยการช่วยให้รอดขององค์พระเยซูคริสตเจ้า
เครื่องหมายที่สำคัญคือ น้ำ และการชำระล้าง พร้อมกับคำกล่าวว่า "ข้าพเจ้าล้างท่าน เดชะพระนาม พระบิดา และพระบุตร และพระจิต"
ผลของศีลล้างบาป ทำให้เราได้รับพระหรรษทานแห่งความรอด ได้กลับเป็นลูกของพระ มีเกียรติ ศักดิ์ศรีสมบูรณ์แบบ และสามารถรับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ เพื่อดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายของความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตนิรันดรในสวรรค์
.
.
2. ศีลกำลัง (Confirmation) หรือการยืนยัน
การรับศีลกำลัง เป็นการยืนยัน เป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึง "การบรรลุนิติภาวะทางความเชื่อ" หรือความศรัทธา คือการพัฒนาเติบโต มีกำลังเข้มแข็งในความเชื่อ สามารถเป็นพยานถึงความเชื่อ ทั้งด้วยความคิด คำพูด และการปฏิบัติ
เครื่องหมายสำคัญของศีลกำลัง คือการปกมือ และการเจิมน้ำมันคริสมาที่หน้าผาก ผลของศีลกำลังคือ การได้รับพระคุณ (Gifts) ของพระจิต 7 ประการ
.
.
3. ศีลอภัยบาป (Penance) หรือการคืนดี
เป็นการคืนดีกับพระและเพื่อนพี่น้อง มีความเสียใจ และตั้งใจที่จะกลับคืนดี เริ่มต้นชีวิตใหม่ในพระหรรษทานของพระต่อไป
เครื่องหมายสำคัญคือ การเป็นทุกข์เสียใจ และตั้งใจจะกลับคืนดีกับพระ และเพื่อนพี่น้อง เพื่อเป็นเครื่องหมายภายนอกที่เห็นได้ โดยการไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์ ผู้เป็นคนคนกลางของพระ และตัวแทนของพระศาสนจักร
ผลของศีลอภัยบาปคือ ทำให้ผู้รับได้กลับคืนดีกับพระ และอยู่ในชีวิตพระหรรษทาน สำนึกถึงความรักของพระ และตั้งใจที่จะปรับปรุง แก้ไข เริ่มต้นใหม่ ให้สมกับความเป็นลูกของพระในความครบครัน
.
.
4. ศีลมหาสนิท (Eucharistic; Communion) หรือพิธีขอบพระคุณ
เป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชน เป็นศีลที่สำคัญที่สุด เป็นองค์พระเยซูเจ้าเอง ที่ประทับอยู่ในศีลมหาสนิท เราทุกคนจึงเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัวเป็นสมาชิก หรือส่วนต่าง ๆ ในพระกายทิพย์ของพระองค์
เครื่องหมายที่สำคัญคือ แผ่นปัง และเหล้าองุ่น ที่เป็นพระกาย และพระโลหิตของพระคริสตเจ้า เราได้รับจากพระสงฆ์ หรือผู้แทนของพระศาสนจักร ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณพระเจ้า
ผลของศีลมหาสนิท ทำให้เราได้รับพระหรรษทานดำรงอยู่ในชีวิตพระเสมอไป
.
.
5.ศีลสมรส (Matrimony) หรือศีลกล่าว
เป็นความรักที่ชายและหญิงมีต่อกัน และรักกันด้วยความรัก สมัครใจโดยไม่ได้ถูกบังคับ และพร้อมที่จะร่วมชีวิตคู่เป็นหนึ่งเดียวในความรักที่หย่าร้างไม่ได้ และซื่อสัตย์ต่อกันจนตลอดชีวิต เพื่อเป็นพยานถึงความรักของพระ และพร้อมที่จะมอบครอบครัวใหม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระ
เครื่องหมายสำคัญคือ การสวมแหวน และคำกล่าวของคู่บ่าวสาวต่อหน้าพระสงฆ์ผู้แทนของพระศาสนจักร รวมทั้งบรรดาสักขีพยาน ว่าเขาทั้งสองรักกัน และจะซื่อสัตย์ต่อกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่
ผลของศีลสมรส ทำให้คู่บ่าวสาวเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้อง ต่อหน้าพระ และต่อพระศาสนจักร อยู่ในชีวิตพระหรรษทาน และเป็นครอบครัวคริสตชนใหม่ ที่พร้อมจะให้กำเนิดบุตร ช่วยกันและกันในความบกพร่องเสริมสร้างในสิ่งที่ขาดไปให้แก่กันและกัน ทั้งนี้คู่บ่าวสาวจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระศาสนจักร เพื่อความดี และความรอดของวิญญาณ
.
.
6. ศีลบวช (Holy Orders) หรือการถวายตัว
เป็นพระพรแห่งพระกระแสเรียก ที่พระทรงเรียกและเลือกบุคคลหนึ่งให้ดำเนินชีวิต และมีภารกิจในการเป็นศาสนบริการ พระสงฆ์ของพระคริสตเจ้า ในการประกาศสอนคำสอน การประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ และการบริการปกครองดูแลหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน
เครื่องหมายสำคัญคือ การปกมือของพระสังฆราชเหนือผู้รับศีลบวช ตลอดจนการเจิมน้ำมันคริสมา เพื่อเป็นเครื่องหมายถึงการประทานองค์พระจิตเจ้า เป็นการอภิเษก และมอบอำนาจของการเป็นสงฆ์แห่งศาสนบริการ เพื่อต่องานขององค์พระคริสตเจ้า และการถูกส่งไปเพื่อรับใช้ เป็นผู้ประกาศข่าวดีแห่งความรอด ศีลบวชมี 3 ลำดับขั้น คือ พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร
.
.
7. ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick) หรือสำหรับผู้ป่วย
มิใช่เป็นศีลทาสุดท้ายและจะต้องตาย แต่เป็นศีลที่โปรดให้สำหรับผู้ป่วยที่อ่อนกำลัง หรือกำลังจะสิ้นใจเพื่อเขาจะได้รับพระหรรษทานในยามเจ็บป่วย และเป็นการเตรียมจิตใจ ให้ยึดมั่นในความเชื่อ และเพื่อการฟื้นฟูสภาพทั้งกายและจิตใจ (เทียบ ยก 5: 14-15)
เครื่องหมายสำคัญคือ การเจิมน้ำมันที่หน้าผากและฝ่ามือทั้งสองข้าง เพื่อให้ผู้รับจะได้อยู่ในชีวิตพระหรรษทาน แะเข้มแข็งมั่นคงในความเชื่อ พร้อมที่จะยอมรับความเจ็บปวด และเห็นถึงพระพรในยามเจ็บป่วย มีส่วนร่วมในพระทรมาน และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า ดังนี้น ควรจะให้ผู้ป่วยได้รับในขณะที่รู้ตัว เพื่อการเตรียมจิตใจอย่างดี ทั้งนี้ ผู้รับก็จะสามารถรับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิท ซึ่งถือว่าเป็นศีลเสบียงที่ให้สำหรับผู้ป่วย เพื่อเป็นการเตรียมจิตใจกลับไปหาพระเจ้า ในสภาพของชีวิตพระหรรษทานในความพร้อมของผู้ป่วย
-----------------------------------------------------------------------------------
Credit :: http://www.mariarosa.org/sacraments.html
ความคิดเห็น