ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ศาสนาคริสต์ ,, (- Catholic -)

    ลำดับตอนที่ #28 : • เกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาส (2) •

    • อัปเดตล่าสุด 18 ธ.ค. 49



    การทำถ้ำพระกุมาร

    ตามความในพระคัมภีร์ พระเยซูเกิดในรางหญ้า (ลก. 2:7) ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงไหน แต่เนื่องจากในแถบเบธเลเฮมมีถ้ำอยู่มากมาย ที่พวกดูแลฝูงแกะใช้เป็นที่พักของสัตว์(รางหญ้า)และตัวเอง เป็นความคิดของชาวคริสต์ธรรมดาว่า รางหญ้าที่พระวรสารอ้างถึงนั้น คงอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งในเบธเลเฮม

    ประเพณีการทำถ้ำนั้นมาจากอิตาลีโดยนักบุญฟรังซีส อัสซีซีเป็นผู้เริ่ม โดยในวันคริสต์มาสปีค.ศ. 1223 นักบุญฟรังซีสชวนชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้าน Greccio ที่ท่านอยู่ ร่วมแสดงละคร มีการเตรียมถ้ำพระกุมารและใช้สัตว์จริงๆเช่น วัวและลา อยู่ในถ้ำด้วย (การที่ใช้วัวและลา เพราะเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านใช้ประจำ) จากนั้นก็จุดเทียนยืนรอบๆถ้ำที่ทำขึ้น ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าจนถึงสว่าง และฟังมิสซาด้วยกัน ตั้งแต่นั้นมาประเพณีทำถ้าพระกุมารทั้งในวันและในบ้านก็แพร่หลายไปทั่วทุกแห่ง

    ต้นคริสต์มาส

    ในสมัยโบราณต้นคริสต์มาสหมายถึงต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน และทำบาปไม่เชื่อฟังพระเจ้า(ปฐก.3,1-6) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ชาวคริสต์แสดงละครที่หน้าวัดถึงความหมายของคริสต์มาส และเอาต้นไม้ต้นหนึ่งมาไว้ตรงกลางเพื่อประดับฉาก แสดงถึงบาปกำเนิดของอาดัมและเอวา ต้นไม้ที่ใช้เป็นต้นสนเนื่องจากเป็นต้นไม้ที่หาง่ายที่สุดในประเทศเหล่านั้น การแสดงละครคริสต์มาสแบบนี้มีมาเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี จนถึงศตวรรษที่ 15 พระสังฆราชหลายแห่งได้ห้ามการแสดง เนื่องจากการแสดงนั้นกลายเป็นการเล่นเหมือนลิเกล้อชาวบ้าน, ผู้ปกครองบ้านเมือง และศาสนา ซึ่งไม่ตรงกับบรรยากาศของการฉลอง ชาวบ้านรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสดูละครสนุกๆแบบนั้นอีก จึงไปสนุกกันที่บ้านของตน โดยเอาต้นไม้มาไว้ที่บ้าน เพราะต้นไม้เป็นจุดเด่นในลานวัดที่เขาเคยร่วมสนุกสนานกัน หลังจากนั้นก็เริ่มมีการแขวนลูกแอปเปิล และแขวนแผ่นขนมปัง เพื่อระลึกถึงศีลมหาสนิท ซึ่งมีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นขนมและของขวัญอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

    นอกจากนั้น ชาวเยอรมันยังมีประเพณีอย่างหนึ่งคือ มีการจุดเทียนหลายเล่มเป็นรูปปิรามิดไว้ตลอดคืนคริสต์มาสโดยมีดาวของดาวิดอยู่ที่ยอดของปิรามิด ซึ่งประเพณีที่จะแขวนของขวัญและขนมก็ได้รวมกับประเพณีของชาวเยอรมันนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยเอาเทียนมาไว้ที่ต้นไม้เป็นรูปทรงปิรามิด นี่เป็นที่มาของประเพณีปัจจุบันที่มีการแขวนของขวัญและไฟกระพริบไว้ที่ต้นคริสต์มาส และมีดาวดาวิดไว้ยอดสุด

    แม้ว่าประเพณีการตั้งต้นคริสต์มาสมีความเป็นมาดังกล่าว ชาวคริสต์ในสมัยนี้ก็ยังนิยมทำกันอยู่ เพราะเห็นว่ามีความหมายถึงพระเยซูผู้เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งชีวิต (ปฐก 2,9) ที่เขียวสดเสมอในทุกฤดู ซึ่งหมายถึงนิรันดรภาพของพระเยซู และนอกจากนั้นยังหมายถึงความสว่างของพระองค์ เสมือนแสงเทียนที่ส่องในความมืด ทั้งยังหมายถึงความชื่นชมยินดีและความสามัคคีที่พระเยซูประทานให้ เพราะต้นไม้นั้นเป็นจุดรวมของครอบครัวในเทศกาลนั้น

     

    ซานตาครอส

    ซานตาครอสเป็นจุดเด่น หรือสัญลักษณ์ที่เด็กและผู้คนนิยมมากที่สุดในเทศกาลคริสต์มาส แต่แท้ที่จริงแล้วซานตาครอสแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้เลย

    นักบุญนิโคลาส

    ชื่อซานตาครอส มาจากนักบุญนิโคลาส ซึ่งเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือ เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเด็กๆ นักบุญองค์นี้เป็นสังฆราชของ"ไมรา" (อยู่ในประเทศตุรกีปัจจุบัน) มีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษที่ 4 เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ที่สหรัฐฯก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ คือการฉลองนักบุญนิโคลัสในวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆ และเอาของขวัญมาให้ เด็กอื่นๆที่ไม่ใช้ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมาก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในประเพณีแบบนี้บ้างเพื่อรับของขวัญ

    ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปในอมเริกา โดยมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างคือ ชื่อนักบุญนิโคลัสก็เปลี่ยนมาเป็นซานตาครอส และแทนที่จะเป็นสังฆราชซึ่งเป็นนักบุญองค์นั้น ก็กลายเป็นชายแก่ที่อ้วน ใส่ชุดแดง อาศัยที่ขั้วโลกเหนือ มีเลื่อนเป็นพาหนะ มีกวางเรนเดียร์ลาก และจะมาเยี่ยมเด็กๆทุกคนในโลกนี้ในโอกาสคริสต์มาส โดยลงมาทางปล่องไฟของบ้านเพื่อเอาของขวัญมาให้เด็กเหล่านั้น ตามความประพฤติของเขาลักษณะภายนอกของซานตาครอสที่ถูกสมมุติขึ้นนี้ เหมือนกับจะลอกเลียนแบบมาจาก Thor ซึ่งเป็นเทพเจ้าในนิยายโบราณของเยอรมัน และลอกเลียนแบบนักบุญนิโคลาสที่นำของขวัญมาแจกเด็กๆ

     

    การร้องเพลงคริสต์มาส

    เพลงคริสต์มาสเริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 5 ซึ่งในสมัยนี้มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสเป็นผู้แต่ง ร้องเป็นภาษาลาติน ลักษณะของเพลงเป็นเพลงแบบสง่า เน้นถึงความหมายของการเสด็จมาของพระเยซู แต่ในศตวรรษที่ 12 ได้มีวิวัฒนาการใหม่ในด้านเพลงนี้ เริ่มในประเทศอิตาลี โดยนักบุญฟรังซีส อัสซีซี และนักบวชฟรังซีสกัน เป็นผู้มีส่วนในการสนับสนุนให้มีเพลงคริสต์มาสแบบใหม่ ซึ่งชาวบ้านชอบ คือมีท่วงทำนองที่ร่าเริงกว่า และเน้นถึงความชื่นชมยินดีในโอกาสคริสต์มาสนี้ เพลงเหล่านี้เป็นภาษาลาติน และภาษาพื้นเมือง เพลงหนึ่งที่แต่งในสมัยนั้น (แต่งคำร้องในปี ค.ศ. 1274) และยังใช้อยู่จนปัจจุบันคือเพลง "ขอเชิญท่านผู้วางใจ" O Come, all ye faithful หรือในภาษาลาตินว่า "Adeste Fideles"

    เพลงคริสต์มาสที่เรานิยมร้องมากที่สุดในสมัยปัจจุบันได้แต่งข้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศเยอรมันและประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่ชื่อเสียงมากได้แก่ Silent Night, Holy Night เป็นภาษาไทยว่า "ราตรีสวัสดิ์ ราตรีสงัด" ความเป็นมาของเพลงนี้คือ วันก่อนวันฉลองคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1818 คุณพ่อ Joseph Mohr เจ้าอาวาสวัดที่ Oberndorf ประเทศออสเตรีย ได้ข่าวว่าออร์แกนในวัดเสีย ทำให้วงขับไม่สามารถร้องเพลงตามที่ซ้อมไว้ได้ คุณพ่อเองตั้งใจจะแต่งเพลงคริสต์มาสใหม่ หลังจากแต่งเสร็จก็เอาไปให้เพื่อนคนหนึ่งชื่อ Franz Gruber ที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงใส่ทำนอง ในคืนวันที่ 24 นั้นเองสัตบุรุษวัดได้ฟังเพลง Silent Night เป็นครั้งแรก โดยการเล่นกีตาร์ประกอบการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก

    เทียน และพวงมาลัย

    ในสมัยก่อนมีกลุ่มคริสตชนกลุ่มหนึ่งในเยอรมัน ได้เอากิ่งไม้มาประกอบเป็นวงกลมคล้ายพวงมาลัย แล้วเอาเทียน 4 เล่ม วางไว้บนพวงมาลัยนั้น ในตอนกลางคืนของอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระเยซูเจ้า ทุกคนในครอบครัวจะมารวมกัน ดับไฟ แล้วจุดเทียนเล่มหนึ่ง สวดภาวนาและร้องเพลงคริสต์มาสร่วมกัน เขาจะทำดังนี้ทุกอาทิตย์จนครบ 4 อาทิตย์ก่อนคริสต์มาส ประเพณีนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในที่หลายแห่ง โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมามีการเพิ่มโดยเอาพวงมาลัยพร้อมกับเทียนที่จุดไว้ตรงกลาง 1 เล่ม ไปแขวนไว้ที่หน้าต่าง เพื่อช่วยให้คนผ่านไปมาได้ระลึกถึงการเตรียมตัวรับวันคริสต์มาสที่ใกล้เข้ามา และพวงมาลัยนั้นยังเป็นสัญลักษณ์ที่คนโบราณใช้หมายถึงชัยชนะ แต่ในที่นี้หมายถึงการที่พระองค์มาบังเกิดในโลก และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างครบบริบูรณ์ตามแผนการณ์ของพระเป็นเจ้า

    การทำมิสซาเที่ยงคืน

    เมื่อพระสันตะปาปาจูลีอัสที่ 1 ได้ประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันฉลองพระคริสตสมภพ(วันคริสต์มาส)แล้ว ในปีนั้นเองพระองค์และสัตบุรุษได้พากันเดินสวดภาวนา และขับร้องไปยังตำบลเบธเลเฮม ยังถ้ำที่พระเยซูเจ้าประสูติ พอไปถึงก็เป็นเวลาเที่ยงคืน พระสันตะปาปาก็ทรงถวายมิสซา ณ ที่นั้น

    เมื่อเสร็จแล้วก็กลับมาที่พักเป็นเวลาเช้ามืดราวๆตี 3 พระองค์ก็ถวายมิสซาอีกครั้งหนึ่ง และสัตบุรุษเหล่านั้นก็พากันกลับ แต่ยังมีสัตบุรุษหลายคนที่ไม่ได้ไป พระสันตะปาปาก็ทรงถวายมิสซาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 3 เพื่อสัตบุรุษเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้เองพระสันตะปาปาจึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ถวายบูชาได้ 3 ครั้งในวันคริสต์มาส เหมือนกับการปฏิบัติของพระองค์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีธรรมเนียมถวายมิสซาเที่ยงคืนในวันคริสต์มาส และพระสงฆ์ก็สามารถถวายมิสซาได้ 3 มิสซาในโอกาสวันคริสต์มาสเช่นเดียวกัน


    ------------------------------------------------------------------------------------

    Credit :: http://n.1asphost.com/holypicture/ 
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×