ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ศาสนาคริสต์ ,, (- Catholic -)

    ลำดับตอนที่ #27 : • เกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาส •

    • อัปเดตล่าสุด 18 ธ.ค. 49



    คริสต์มาส คือการฉลองการบังเกิดของพระเยซูที่เราเฉลิมฉลองกับในวันที่ 25 ธันวาคม คำว่า "คริสต์มาส" เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ Christmas ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า เพราะการร่วมพิธีมิสซา เป็นประเพณีสำคัญที่สุดที่ชาวคริสต์ถือปฏิบัติกันในวันคริสต์มาส คำว่า Christes Maesse พบครั้งแรกในเอกสารโบราณเป็นภาษาอังกฤษในปี1038 และคำนี้ก็ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas ในภาษาไทย "คริสต์มาส" ก็มีความหมายเช่นกัน คำว่า มาส แปลว่า เดือน เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นเดือนที่เราระลึกพระเยซูคริสตเจ้าเป็นพิเศษ อีกความหมายหนึ่งของคำว่า มาส คือ ดวงจันทร์ ฉะนั้นจึงตีความหมายเป็นภาษาไทยได้อีกอย่างหนึ่งคือ พระเยซูเจ้าทรงเป็นความสว่างของโลก เหมือนดวงจันทร์เป็นความสว่างในตอนกลางคืน คำทักทายที่เราได้ฟังกันบ่อยๆในเทศกาลนี้คือ Merry X'mas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณแปลว่า สันติสุข และความสงบทางใจ เพราะฉะนั้น คำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรคนอื่น ขอให้เขาได้รับสันติสุข และความสงบทางใจ เนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาส

    ความเป็นมาของเทศกาลคริสต์มาส

    ชาวไทยฉลอง "เฉลิมพระชนม์พรรษา" วันที่ 5 ธันวาคม เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกปี ในสมัยโบราณก็มีประเพณีเช่นเดียวกัน ชาวโรมันมีการระลึกถึงการสมภพของพระเจ้าจักรพรรดิ คนท้องถิ่นอื่นก็ระลึก และเฉลิมฉลองวันเกิดของกษัตริย์ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองของตนด้วยความยินดี แม้แต่ชาวยิวในสมัยพระเยซูเอง ก็ฉลองการเกิดของกษัตริย์เฮรอดเช่นเดียวกัน (มธ. 14:16) เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ชาวคริสต์สมัยโบราณถือเอาประเพณีของชนในท้องถิ่นนั้น มาประยุกต์เข้ากับศาสนา โดยจัดให้มีการฉลองเพื่อระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซู ที่เขายกย่องเหมือนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก ผู้ทรงเกียรติเลอเลิศ ประเพณีได้เริ่มมาจากกรุงโรมในศตวรรษที่ 4 และค่อยๆเผยแพร่ไปทุกทวีป


    ทำไมจึงฉลองวันคริสต์มาสในวันที่ 25 ธันวาคม
    ตามหลักฐานในพระวรสาร (ลก. 2:1-3) มีว่าพระเยซูบังเกิดในสมัยพระจักรพรรดิ ซีซาร์ ออกัสตัส ให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดินโดยมีคีรีนิอัส เป็นเจ้าเมืองซีเรีย ซึ่งพระวรสารไม่ได้บอกว่าเป็นวันหรือเดือนอะไร สมัยก่อนคริสตชนคิดเอาว่าที่มีการฉลองคริสต์มาสในวันที่ 25 ธันวาคมนั้น ก็เพราะเป็นวันเกิดตามทะเบียนเกิดซึ่งเป็นเอกสารที่คิรีอัสเก็บไว้ แต่ที่จริงแล้ว เอกสารนี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถค้นพบได้

    นักประวัติศาสตร์หาสาเหตุต่างๆว่า ทำไมคริสตชนจึงเลือกเอาวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันฉลองคริสต์มาสมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา และได้หาคำอธิบายต่างๆกัน แต่คำอธิบายหนึ่งที่สมเหตุสมผล หรือมีน้ำหนักมากที่สุดคือ ในปีค.ศ. 274 จักรพรรดิ AURELIAN ได้กำหนดให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยเทพผู้ทรงพลัง กล่าวตามความรู้ทางวิชาดาราศาสตร์สมัยนั้นเห็นว่า วันนั้นเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลที่สุดจากเส้นศูนย์สูตรของโลก และเริ่มหมุนไปทางด้านเหนือของทองฟ้า วันใหม่เริ่มยาวขึ้น ชาวโรมันฉลองวันนี้อย่างสง่า และถือเสมือนว่าเป็นวันฉลองของพระเจ้าจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะพระเจ้าจักรพรรดิเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้แสงสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ ชาวคริสต์ที่อยุ่ในจักรวรรดิโรมันรู้สึกอึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของดวงอาทิตย์ตามประเพณีของชาวโรมัน จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูแทน ในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 330 เริ่มมีการฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและอย่างเปิดเผย เนื่องจากก่อนนั้นมีการเบียดเบียนคริสตชนอย่างรุนแรง (ตั้งแต่ปีค.ศ. 64 - 313) ทำให้คริสตชนไม่มีโอกาสฉลองอะไรอย่างเปิดเผย

    อีกนัยหนึ่งชาวคริสต์ได้เห็นว่า ในพระคัมภีร์ (มาลาคี 4:2) เรียกพระเจ้าว่า เป็นดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรม จึงเห็นว่ามีหลักฐานในพระคัมภีร์สนับสนุนให้ถือวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันเกิดของพระเยซู

    วิวัฒนาการแห่งการฉลองวันคริสต์มาส
    การฉลองคริสต์มาสแพร่มาจากกรุงโรม ไปยังทุกประเทศพร้อมกับศาสนาคริสต์ที่ค่อยๆแผ่ขยายไปในที่ต่างๆ จนปีค.ศ. 1100 ประชาชนก็เป็นคริสตชนทั้งหมดทั่งยุโรป และก็ได้พบว่า มีการฉลองวันคริสต์มาสพร้อมกันในยุโรป เพราะถือว่าเป็นวันสำคัญหนึ่งในศาสนา

    เราสามารถแบ่งวิวัฒนาการ ของการฉลองวันคริสต์มาสเป็น 4 ช่วงคือ

    1. ค.ศ. 330 - 1100 ช่วงนี่เป็นช่วงแห่งการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ทีละเล็กทีน้อย ก็มีการฉลองวันคริสต์มาส และก็มีการเริ่มเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระเยซูเป็นเวลา 4 สัปดาห์ก่อนคริสต์มาส เป็นเวลาเตรียมตัวโดยการใช้โทษบาป อดอาหาร และภาวนาพิเศษ

    2. ค.ศ. 1100 - ศตวรรษที่ 16 ช่วงนี้มีการพัฒนาประเพณีต่างๆที่เกี่ยวกับการฉลองคริสต์มาส เช่น การแต่งเพลงคริสต์มาส การทำถ้ำพระกุมาร ทำต้นคริสต์มาส

    3. ศตวรรษที่ 16 - 19 ระยะนี้มีการแตกแยกในคริสตศาสนา เกิดบางนิกายขึ้นมา ซึ่งบางนิกายไม่สนับสนุนให้มีการฉลองวันคริสต์มาส ด้วยเหตุผลที่ว่าคริสต์มาสเป็นวันที่มนุษย์เลือกเอาเอง โดยได้รับอิทธิพลจากชาวโรมัน ที่ฉลองดวงอาทิตย์คล้ายเป็นพระเจ้าของเขา และชาวบ้านก็ให้ความสำคัญแก่วันนี้มากกว่าวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้ากำหนดให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตามชาวคาทอลิกพร้อมกับคริสตศาสนาหลายๆนิกาย เช่น Lutheran เป็นต้น ยังรักษาการฉลองนี้ไว้ด้วยความอบอุ่น และศรัทธาจนถึงปัจจุบัน

    4. ศตวรรษที่ 19 - ปัจจุบัน เริ่มมีประเพณีอื่นทางโลกแทรกเข้ามา ซึ่งมีอิทธิพลต่อการฉลองนี้มาก เช่นเรื่อง ซานตาครอส ; การให้ของขวัญ ; การส่งบัตรอวยพรคริสต์มาส ซึ่งร้านต่างๆยินดีสนับสนุน เพราะเป็นโอกาสดีที่จะขายสินค้า ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นไปในตัว ด้วยเหตุผลนี้ชาวบ้านทั่วไปก็อาจลืมความสำคัญ หรือความหมายที่แท้จริงของคริสต์มาส โดยหันมาเพิ่มความสนใจในสิ่งภายนอกมากกว่า

      --------------------------------------------------------------------------------

    จากหนังสือ "คริสต์มาส ประวัติและประเพณี"
    Nihill obstat  : คุณพ่อชัชวาลย์ แสงแก้ว
    Imprimatur   : พระคาร์ดินัล ไมเกิล มีชัย กิจบุญชู
    จัดพิมพ์โดย : ศูนย์คำสอนอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×