ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ศาสนาคริสต์ ,, (- Catholic -)

    ลำดับตอนที่ #47 : • คริสต์ นิกายออร์ธอดอกซ์ •

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.08K
      3
      29 ม.ค. 50


    นิกาย  ออร์ธอดอกซ์  ( Orthodox )

                 ความเป็นมาของนิกายนี้สืบย้อนไปถึงศตวรรษแรกในคริสตศาสนา  อันเป็นช่วงระยะเวลาที่จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกออกเป็นสองอาณาจักร  คือ  โรมันตะวันตก  มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม  ใช้ภาษาลาตินเป็นภาษากลาง  ส่วนโรมันตะวันออก  ซึ่งนิยมเรียกกันว่า ไบแซนทีน ( Byzantine ) มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุง คอนสแตนติโนเปิล  ( Constantinople )  มีสหมิตรที่เป็นแนวร่วมเดียวกันคือเมือง อเล็กซานเดรีย ( Alexandria )  อันติอ็อค  ( Antioch )  และเยรูซาเล็ม ( Jerusalem ) ใช้ภาษากรีกเป็นภาษากลางสื่อสารทั่วไปอาณาจักรทั้งสองนี้  มีการแข่งขันกันมาตลอด  ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา  ศิลปและวัฒนธรรม  การเมือง  แม้นว่าจะนับถือศาสนาคริสต์เหมือนกัน  แต่มุมมองในด้านความเชื่อต่างกัน  เช่น  ฝ่ายนิกายออร์ธอดอกซ์  ไม่บังคับในเรื่องการถือโสดของนักบวช  ไม่บังคับในเรื่องการอดอาหาร  การไว้หนวดเครา  ปฏิเสธการไถ่บาปของบาทหลวงคาธอลิก  เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น  การไม่ยอมรับในอำนาจของพระสันตะปาปา  กลุ่มออร์ธอดอกซ์ได้ถือโอกาส ประกาศตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกรุงโรมแล้วเรียกกลุ่มของตนว่า ออร์ธอดอกซ์ “ ( Orthodox )  ซึ่งมีความหมายว่า หลักธรรมที่เที่ยงตรงหรือ หลักธรรมที่ถูกต้อง  ทั้งนี้เพราะพวกออร์ธอดอกซ์ เชื่อว่าหลักคำสอนที่พวกตนปฏิบัติอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  มีเหตุผลไม่งมงาย  พิธีกรรมความเชื่อต่างๆ  ล้วนได้รับอิทธิพลจากกรีก  อันเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อที่ถูกต้องเป็นเหตุเป็นผล

                 ศาสนจักรของโรมันตะวันออกเจริญรุ่งโรจน์อยู่นาน  จนกระทั่งอาณาจักรโรมันตะวันตกล่มสลายตกเป็นของพวกอนารยชนในระยะเวลาหนึ่ง  อาณาจักรโรมันตะวันออกก็สูญเสียให้กับพวกเตอร์ก  ในปี ค..  1453  นับแต่นั้นมาศาสนาอิสลามได้เข้าไปมีบทบาทแทน

                 แม้นกรุงคอนสแตนติโนเปิลโดยทั่วไปเป็นของพวกเตอร์ก  แต่ผู้นับถือนิกายออร์ธอดอกซ์ ยังคงมีอยู่บ้าง  ส่วนมากแพร่หลายในแถบยุโรปตะวันออกและรัสเซีย  ทำให้เกิดนิกายออร์ธอดอกซ์แบบสลาฟ  และนิกายออร์ธอดอกซ์แบบรัสเซีย  ซึ่งแต่เดิมมาทั้งหมดนี้เคยเป็นแบบกรีกออร์ธอดอกซ์โดยเฉพาะที่รัสเซียนั้น  ศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากอาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรโรมันแห่งที่สามเลยก็ว่าได้  มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงมองโคว์  อย่างไรก็ตาม พอสิ้นสุดระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช  เข้าสู่ยุคการปกครองแบบคอมมิวนิสต์  ความรุ่งเรืองของศาสนาได้ลดลงไป  แต่ยังไม่ถึงกับสูญสลาย  เพราะเหตุว่าศาสนจักรยังสามารถพิมพ์คัมภีร์ใบเบิลเผยแพร่ได้  และบางส่วนได้นำส่งออกขายต่างประเทศ  ประมาณกันว่าในรัสเซียขณะนั้นมีผู้นับถือ ประมาณ  50  ล้านคน  มีนักบวช  35,000  คน  ข้อมูลนี้เป็นสถิติที่บันทึกไว้ในหนังสือศาสนาโลก  ของนิตยสาร ไลฟ์  ( Life )  ตีพิมพ์  ..  1957  นับว่ามีจำนวนผู้นับถือศาสนานี้ไม่น้อยเลยสำหรับสมับนั้น  แต่สำหรับปัจจุบันนี้เราไม่สามารถทราบจำนวนผู้นับถือศาสนานิกายนี้ได้อย่างแน่นอน  เพราะเนื่องจากความแปรปรวนทางการเมือง

                 ปัจจุบันนี้นิกายออร์ธอดอกซ์  มีอิสรภาพในด้านความเชื่อและการปกครองตนเอง  โดยไม่ต้องขึ้นต่อสำนักวาติกันของโรม  มีปาตริอาร์คเป็นประมุข  แต่ก็มีออร์ธอดอกซ์บางกลุ่มที่ยังขึ้นต่อสำนักวาติกัน  เรียกว่า  ออร์ธอดอกซ์คาธอลิก  พวกนี้มีพิธีกรรมต่างๆ  เป็นแบบตะวันตกแต่ระบบการปกครองอยู่ภายใต้การชี้นำของสำนักวาติกัน  ประเทศที่นับถือนิกายออร์ธอดอกซ์  ส่วนมากเป็นยุโรปตะวันออก  เช่น  โรมาเนีย  ฮังการี  บัลแกเรีย  โปแลนด์  ยูโกสลาเวีย  และรัสเซีย ฯลฯ

                 อย่างไรก็ตามแม้นว่านิกายออร์ธอดอกซ์โดยทั่วไป  จะปฏิเสธระบบการปกครองและรูปแบบพิธีกรรมของศาสนจักรคาธอลิก  แต่ก็ยังคงยอมรับในศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้ง  7  ข้อ  เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย  ทั้งๆ ที่ระเบียบปฏิบัตินั้นอาจแตกต่างกันในส่วนปลีกย่อย  แต่ในด้านแก่นหรือเนื้อแท้ของพิธีกรรมยังคงเป็นแบบเดียวกัน

     

    พิธีกรรมและแนวความเชื่อของนิกายออร์ธอดอกซ์

                 นิกายออร์ธอดอกซ์  มีแนวความเชื่อที่แตกต่างจากนิกายโรมันคาธอลิกบางประการตามที่ฮอฟฟ์ได้จำแนกไว้ดังนี้  คือ

                 1.  การรับศีลล้างบาปของนิกายออร์ธอดอกซ์  ยังคงกระทำกับทารก  และใช้วิธีการดำน้ำ  ส่วนนิกายคาธอลิกนี้ใช้วิธีการปะพรมน้ำ  และอาจจะกระทำต่อเด็กซึ่งโตพอรู้หลักธรรม  ไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำต่อทารกเท่านั้น  ( เด็กที่โตพอรู้ความนั้นอาจจะมีอายุประมาณ  12-14  ปี )

                 2.  การรับศีลมหาสนิทของนิกายออร์ธอดอกซ์ใช้ขนมปังและเหล้าไวน์  ส่วนนิกายคาธอลิกใช้แต่ขนมปังอย่างเดียว  ส่วนเหล้าไวน์นั้นบาทหลวงผู้กระทำพิธีเท่านั้นที่ได้ดื่ม  และระยะเวลาของการกระทำพิธีศีลมหาสนิทของนิกายออร์ธอดอกซ์ก็ใช้เวลาที่ยาวนานกว่ากัน

                 3.  นิกายออร์ธอดอกซ์ยอมให้นักบวชของตนสามารถแต่งงานได้ก่อนบวช  ส่วนนิกายคาธอลิกผู้ที่จะบวชได้จะต้องเป็นโสด  ไม่มีพันธะทางครอบครัวมาก่อน

                 4.  นักบวชและนักคิดของทางตะวันออกมีอิทธิพลต่อนิกายออร์ธอดอกซ์  ทำให้มีลักษณะเป็นเทววิทยาและลึกลับมากกว่า คาธอลิก  ฉะนั้นจึงเน้นในความศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสต์ทำให้ห่างจากความเป็นมนุษย์  และเชื่อในเรื่องตรีเอกานุภาพว่าไม่แยกบุคคล

                 5.  นิกายออร์ธอดอกซ์ ปฏิเสธการสลักรูปเคารพของพระเจ้าและพระแม่มารี  แต่ยินดีกราบไหว้รูปเคารพที่เป็นไม้กางเขนและรูปเคารพที่เป็นศิลปะประเภทจิตรกรรม  ดังนั้น  เราจะพบว่าโบสถ์ของนิกายออร์ธอดอกซ์  มีภาพเขียนฝาผนังรูปพระเจ้า  มีพระและนักบุญ  แต่ไม่มีการ

    สลักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เลย  และไม่เชื่อในเรื่องไฟชำระวิญญาณของผู้ตายจะรออยู่พร้อมกันจนถึงวันพิพากษาโลก

                 6.  นิกายออร์ธอดอกซ์  ส่งเสริมชีวิตประชาชนให้ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย  โดยเฉพาะนักบวชนั้นจะต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ  มีความอดทน  กล้าหาญ  ไม่อาลัยในความสุข  ละความรักแบบโลกๆ แต่เคร่งครัดศรัทธาในศาสนาอย่างจริงจัง  นักบวชออร์ธอดอกซ์ หลายคนสละชีวิตทางโลกไปเป็นนักพรตถือศีลภาวนาตามถ้ำและทะเลทรายไม่น้อย

                 7.  นิกายออร์ธอดอกซ์ใช้ภาษากรีก  และถือว่าเป็นภาษาที่ต้องให้ความเคารพคล้ายกับที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับภาษาบาลี

                 สรุปได้ว่า นิกายออร์ธอดอกซ์เป็นนิกายแรกที่แยกตัวออกมาเป็นอิสระจากสำนักวาติกันในกรุงโรม  โดยมีสาเหตุใหญ่ที่สำคัญที่สุดคือ  การปฏิเสธในอำนาจของพระสันตะปาปา  ประกอบมีพื้นภูมิประเทศที่ห่างไกลจากอำนาจของโรมันตะวันตก  จึงเป็นการง่ายที่จะตั้งตนเป็นอิสระ  และปฏิบัติพิธีกรรมความเชื่อไปตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนผสมผสานกับความเชื่อในคริสตศาสนา  ดังนั้น นิกายออร์ธอดอกซ์  จึงมีลักษณะที่ค่อนข้างแปลกแยกจากพวกคาธอลิกและพวกโปรเตสแตนต์

                 อย่างไรก็ตาม  ผู้นับถือนิกายออร์ธอดอกซ์นี้มีศรัทธาที่เหนียวแน่นในศาสนามาก  เราจะเห็นได้ว่าแม้ประเทศทางแถบยุโรปตะวันออกหลายประเทศ  ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์และประชาชนประเทศตุรกีเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม  ผู้นับถือนิกายออร์ธอดอกซ์หลายคนยังคงมีศรัทธาที่เหนียวแน่นและปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด  ไม่ถูกหลอมเหลาได้ง่ายจากสภาพแวดล้อมจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้  ยังคงมีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์  ในบริเวณที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นจำนวนไม่น้อย  ทั้งๆ ที่น่าจะถูกทำลายจนหมดสิ้นโดยผู้รุกราน


    --------------------------------------------------------------------------------------------------------
    Credit :: หนังสือ นิกายต่างๆในศาสนาคริสต์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×