ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ศาสนาคริสต์ ,, (- Catholic -)

    ลำดับตอนที่ #41 : • ประวัติอัครสาวก (3) •

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.88K
      1
      31 ธ.ค. 49


    นักบุญมัทธิว ,, องค์อุปถัมภ์นักบัญชี นายธนาคาร ผู้รักษาความปลอดภัย

    นักบุญมัทธิวเป็น 1 ในอัครสาวก 12 องค์ และประพันธ์พระวรสารเล่มแรกเขียนเป็นภาษาฮีบรู เขาเป็นบุตรชายของแอลฟีอุส

    มัทธิวคนเก็บภาษีอาศัยอยู่ในเมืองคาเปอร์นาอูม เมืองเดียวกับที่พระเยซูเจ้าอยู่ เขาเป็นชาวยิวแต่ทำงานให้กับชาวโรมัน ผู้ซึ่งกดขี่ข่มเหงชาวยิว ด้วยเหตุนี้ ประชาชนชาวยิวจึงเกลียดเขา และไม่ต้องการทำกิจการอะไรกับเขา( คนเก็บภาษี หรือ คนที่นำความอัปยศอดสู มาสู่สาธารณชน)
    แต่พระเยซูเจ้าไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นต่อมัทธิว วันหนึ่งพระองค์เห็นเขากำลังนั่งทำงานอยู่ และตรัสว่า:
    “จงตามเรามาเถิด” (มธ 9:9-9)

    ทันทีเขาทิ้งเงินและตำแหน่งของเขาเพื่อติดตามพระองค์ มัทธิวมองเห็นความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นจอมกษัตริย์ในพระเยซูเจ้า เขาได้เลี้ยงอาหารค่ำพระองค์ และเชื้อเชิญเพื่อนๆที่ทำงานอาชีพเดียวกันมาพบพระองค์ และฟังคำสั่งสอนของพระองค์ บางคนต้องการจับผิดพระเยซูเจ้าที่รับประทานอาหารกับกลุ่มชนที่ชาวยิวถือว่าเป็นคนบาป อย่างไรก็ตาม พระเยซูมีคำตอบพร้อมแล้ว: “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ จงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ เพราะเราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป” (มธ 9:12-13)

    นักบุญ มัทธิว ต้องเป็นผู้ที่รู้จักพระคัมภีร์ ( พระธรรมเก่า ) เป็นอย่างดี และคงได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่เกี่ยวกับ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” เพราะท่าน ได้สรุปว่า อาณาจักรสวรรค์ “เป็นเหมือนเจ้าของบ้านที่นำเอาของต่างๆ ทั้งใหม่และเก่าออกมา” (มธ 13:52 )

    หน้าที่สำคัญของสานุศิษย์ของพระเยซูเจ้าผู้นี้ก็คือ “การถ่ายทอดข่าวดีหรือพระวรสาร” หลังจากการเสด็จกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าแล้ว ท่านก็คงได้ทำการรวบรวมเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตของพระเยซูเจ้าและได้พยายามจัด “สุนทรพจน์” ต่างๆ (คำพูดของพระเยซู เจ้า) ของพระองค์เข้าไว้ด้วยกัน โดยอาศัย “คำที่เป็นกุญแจสำคัญ” สำหรับสุนทรพจน์แต่ละเรื่อง ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้ “ข่าวดี - พระวรสาร” ได้ช่วยทำให้บรรดาคริสตชนรุ่นแรกๆ ได้มีความเข้าใจในพระธรรมเก่าได้ดี และถูกต้องยิ่งขึ้น ซึ่งในเวลานั้นก็ยังคงฟังพระธรรมเก่ากันอยู่ในศาลาธรรม

    เราเชื่อกันว่า นักบุญมัทธิว คงจะได้เขียนพระวรสารของท่านเป็นภาษาอาราเมอิก (ภาษาที่พระเยซูเจ้าและชาวฮีบรูทั่วๆไปพูดกันในสมัยนั้น) และโดยอาศัยพระวรสารนี้เองที่ท่านได้พยายามชี้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้า คือพระแมสซีอาห์ ที่บรรดาผู้ชอบธรรมในพระธรรมเก่าตั้งหน้าตั้งตาคอยกัน นอกนั้นท่านยังชี้แสดงให้เห็นถึงฐานะของพวกคริสตชนอีกด้วย คือพระศาสนจักรต่อบทบัญญัติและจารีตของพระธรรมเก่า พระวรสารของนักบุญมัทธิวที่เรามีอยู่ในมือในเวลานี้ แปลมาจากภาษากรีก (ซึ่งแปลมาจากพระวรสารของนักบุญมาระโกและของนักบุญลูกาไม่มากก็น้อย) พระวรสารของท่านเป็นพระวรสารแห่ง “พระอาณาจักรของพระเจ้า” เป็นพระวรสารที่ทำให้พระธรรมเก่าสำเร็จบริบูรณ์ในองค์พระคริสตเจ้า เป็นพระวรสาร แห่ง “มหาบุญลาภ 8 ประการ” และสุนทรพจน์ที่พระเยซูเจ้าได้ทรงปราศรัยกับมหาชนบนภูเขา เป็นพระวรสารแห่ง “นิทานเปรียบเทียบเรื่องเมืองสวรรค์” และ “การพิพากษาสุดท้าย” เป็นพระวรสารของพระศาสนจักร ซึ่งตั้งอยู่บนฐานศิลาหรือนักบุญเปโตร และสุดท้ายเป็นพระวรสารแห่ง “ธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักร”

    ท่านได้เป็นมรณสักขีโดยสิ้นใจด้วยการถูกตัดศีรษะด้วยขวาน หลังเทศนาสั่งสอนท่ามกลางชาวยิวในประเทศเอธิโอเปียเป็นเวลา 15 ปี

    .
    .

    นักบุญเจมส์ หรือ ยาโกเบ หรือ ยากอบ 

    นักบุญ เจมส์ หรือ ยาโกเบ หรือ ยากอบ ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่า “องค์เล็ก” เป็นคนหนึ่งแต่ในบรรดาอัครธรรมทูต 12 องค์ของพระคริสตเจ้า เป็นบุตรของอัลเฟอัส ( มธ.10:3; มก. 3:18 ; ลก. 6:15 ) และตามธรรมประเพณีที่เราได้รับสืบทอดต่อกันมานั้นเป็นองค์เดียวกันกับที่เรามักจะเรียกว่า “ญาติของพระเยซูเจ้า” ( มก. 6:3; มธ.13:55 ) และดูเหมือนท่านเองที่เป็นเจ้าของ “จดหมายของนักบุญ ยากอบ” โดยใช้ชื่อผู้เขียนว่า “ผู้รับใช้ของพระเจ้าและของพระคริสตเยซู”ท่านได้เป็นองค์พยานของพระผู้ได้ทรงกลับคืนชีพ (1คร.15:7) และเป็นท่านเองที่นักบุญ เปโตร ได้มาบอกข่าวเรื่องการหนีออกจากที่คุมขังมาได้ ( กจ. 12:17 ) และเป็นท่านเองที่นักบุญเปาโล ซึ่งเพิ่งกลับใจได้มาทำการติดต่อกับท่าน (กท.1:18 ) และที่สุดเป็นท่านเองที่ได้มีบทบาทสำคัญในสภาสังคายนาที่กรุงเยรูซาเลม ( กจ.15: 13-29 )

    ในปี 36-37 เมื่อบรรดาอัครสาวกได้แยกย้ายกันไปประกาศพระวรสารแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าของพระศาสนจักรมารดาที่กรุงเยรูซาเลม ( กจ. 21:18-26 ) ที่สุด ท่านได้เป็นมรณสักขีในประมาณปี 62

    ประวัติชีวิตหรือเรื่องราวต่างๆ ของบรรดาอัครธรรมทูต เราต้องให้ความสำคัญน้อยกว่าข้อเท็จจริงของวันฉลองของท่านในใจความที่ว่า “พระวาจาของพระเจ้าที่ท่านได้ประกาศเพื่อรวมมนุษย์ให้เข้ามาอยู่ในพระอาณาจักร และทุกวันนี้ได้ทรงเรียกเราให้มาชุมนุมกันที่โต๊ะศักดิ์สิทธิ์ ได้ช่วยสร้างสรรค์เราบนรากฐานของบรรดาอัครธรรมทูต และของผู้แทนของท่านท่ามกลางพวกเรา”

    สารที่มีชีวิตชีวาและที่ยังใช้ได้เสมอกับเราในทุกวันนี้ของ นักบุญยากอบ คือท่านได้ให้ความเคารพยกย่องพวกคนจน และในเวลาเดียวกันก็ได้เตือนสติพวกคนรวย ท่านได้กล่าวย้ำอีกว่าความเชื่อจะไร้ผล ถ้าหากไม่มีกิจการของความยุติธรรม

    .
    .

    นักบุญมัสธีอัส

     

    พระเจ้าทรงสถาปนาพระศาสนจักรของพระองค์บนรากฐานของ อัครธรรมทูตองค์ที่ 12 นี้ด้วย เพื่อเข้าแทนยูดาสผู้ทรยศ อัครธรรมทูตทั้ง 11 องค์ได้พร้อมใจกันเลือกนักบุญ มัทธีอัส เนื่องจากว่าท่านได้ติดตามพระเยซูคริสตเจ้าระหว่างที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระภารกิจของพระองค์กับประชากรพระเจ้า โดยเริ่มตั้งแต่พิธีล้างของท่านยอห์น แบปติสต์ จนกระทั่งถึงวันที่พระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์ ( กจ.1:15-26 ) เพราะได้รับการรับรองเช่นนี้ท่านจึงสามารถกลายเป็นคนหนึ่งในพวกอัครธรรมทูตที่ได้เป็นพยานยืนยันถึงการเสด็จกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้าตามที่นักประวัติศาสตร์ เอวเซบีโอ แห่งเซซาเรีย ได้บันทึกไว้ นักบุญ มัทธีอัส คงจะเป็นสาวกองค์หนึ่งในจำนวน 72 องค์ของพระเยซูเจ้า

    พระศาสนจักรได้เลื่อนวันฉลองของท่านจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มาเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งอยู่ในเทศกาลปัสกา ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าจะได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น กับการที่ท่านได้รับเลือกให้เป็นอัครธรรมทูตและเป็น “องค์พยานของพระผู้ได้เสด็จกลับคืนชีพ”

    หมายเหตุ การเลือกมัทธีอัสเป็นอัครสาวกแทนยูดาส จากหนังสือกิจการอัครสาวก บทที่1 ข้อ 12-26

    คราวนั้น เปโตรได้ยืนขึ้นท่ามกลางพี่น้องที่ประชุมกันอยู่ มีรวมทั้งสิ้นประมาณ 120 คน  และกล่าวว่า ”พี่น้องทั้งหลาย จำเป็นที่พระคัมภีร์จะต้องเป็นจริงตามที่พระจิตเจ้าทรงใช้พระโอษฐ์ของกษัตริย์ดาวิดตรัสล่วงหน้าถึงยูดาส ผู้นำคนมาจับกุมพระเยซูเจ้า ยูดาสผู้นี้เคยเป็นคนหนึ่งในคณะของเราและร่วมภารกิจกับเรา ยูดาสผู้นี้นำเงินที่ได้มาจากการประกอบอาชญากรรมไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง เขาล้มคว่ำลงที่นั่น ท้องแตกไส้ทะลัก ผู้อาศัยในกรุงเยรูซาเล็มทุกคนรู้เรื่องนี้ดี จึงเรียกที่ดินแปลงนั้นตามภาษาของเขาว่า “ฮาเคลดามา” แปลว่า “นาเลือด” เพราะมีเขียนไว้ในหนังสือเพลงสดุดีว่า “ขอให้ที่อยู่ของเขาถูกทิ้งร้าง อย่าให้มีผู้ใดอาศัยอยู่เลย” และอีกตอนหนึ่งว่า “ขอให้ผู้อื่นรับหน้าที่แทนเขา”
    ดังนั้น ในบรรดาคนทั้งหลายซึ่งอยู่กับเราตลอดเวลาที่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงดำเนินชีวิตอยู่กับเรา เริ่มตั้งแต่พิธีล้างของยอห์นจนถึงวันที่พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์นั้น จำเป็นที่คนหนึ่งจะต้องเป็นพยานร่วมกับเราถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์”

    ผู้ที่มาชุมนุมกันเสนอชื่อชายสองคน คือโยเซฟที่เรียกว่าบาร์ซับบัสหรือยุสทัส และอีกคนหนึ่งชื่อมัทธีอัส เขาทั้งหลายอธิษฐานภาวนาว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงทราบจิตใจของมนุษย์ทุกคน ขอทรงแสดงให้ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้ว่า พระองค์ทรงเลือกคนใดในสองคนนี้ ให้รับหน้าที่รับใช้เป็นอัครสาวกแทนยูดาสที่ละทิ้งหน้าที่นี้เพื่อไปตามวิถีทางของตน” เขาจึงจับสลากระหว่างสองคนนี้ และจับสลากได้มัทธีอัส มัทธีอัสจึงได้เข้าร่วมคณะกับอัครสาวกสิบเอ็ดคน
    ------------------------------------------------------------------------------------------------------
    Credit บทที่ 38-41 :: http://catholic.egat.co.th/people/apostle.htm

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×