ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ศาสนาคริสต์ ,, (- Catholic -)

    ลำดับตอนที่ #34 : • บุญลาภ 8 ประการ •

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1K
      0
      21 ธ.ค. 49


    "บุคคลใดรู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ ผู้นั้นก็เป็นสุข
    เพราะแผ่นดินสวรรค์เป็นของเขา"

    สมัยก่อนใช้คำว่า "จิตใจยาก" แทน "บกพร่องฝ่ายวิญญาณ" หมายถึง การที่บุคคลนั้น มีความสำนึกตนว่าเป็นคนบาป และทูลขอโทษพระเจ้า ผู้นั้นก็จะได้แผ่นดินสวรรค์ การมีจิตใจยากจน แสดงถึงความพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ไม่ยึดติดกับสิ่งของทางโลก สำนึกตนว่า ตนเองยังบกพร่องด้านจิตใจ มีใจสุภาพถ่อมตน ไม่อวดหยิ่ง จองหอง ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ มีความเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง มีสภาวะจิตใจที่เติบโต ผู้นั้นก็จะได้แผ่นดินสวรรค์ คือสภาวะแห่งความสุข ความเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงเป็นรางวัล

    "บุคคลใดโศกเศร้า ผู้นั้นก็เป็นสุข
    เพราะว่าเขาจะได้รับการปลอบประโลม"

    แม้ว่าเราจะพบกับความเศร้าโศกในบางครั้ง เราจะพบว่าพระเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งเราให้อยู่ตามลำพัง พระองค์จะประทับอยู่กับเรา และคอยปลอบประโลมใจเราเสมอ การที่เรามีความทุกข์ เราจะนึกถึงพระ และได้รับพระเมตตาจากพระองค์ในที่สุด จงยอมรับว่า เราเป็นทุกข์ และมันไม่ได้เป็นนายเหนือเรา การเป็นสุข เกิดจากการยอมรับว่าตนเองเป็นผู้มีทุกข์ และยอมรับสภาพแห่งทุกข์นั้น พร้อมที่จะเข้าพึ่งพาอาศัยพระเมตตาจากพระเจ้า การเป็นทุกข์เกิดจากความไม่เป็นอิสระของใจเรา การตกเป็นทาสของอารมณ์ การไม่ปล่อยวาง และเมื่อเรายอมรับได้ เมื่อนั้น เราจะพบว่า เราได้รับการปลอบโยนจากพระองค์ ผู้ไม่เคยทอดทิ้งเรา

    "บุคคลใดมีใจอ่อนโยน ผู้นั้นก็เป็นสุข
    เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก"

    ผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยน ก็ย่อมจะเป็นที่รักของทุกคนในโลกนี้ เปรียบเหมือนการได้แผ่นดินโลกไว้เป็นกรรมสิทธิ์ เพราะบุคคลอันเป็นที่รักของทุกคน ไปที่ไหนย่อมมีคนต้อนรับ อยากให้เข้าร่วมสังคมด้วยความอ่อนโยน ไม่ได้หมายถึงความอ่อนแอที่ยอมไปทุกเรื่อง การอ่อนโยน จะต้องมีพื้นฐานอยู่บนเหตุผล และความถูกต้องของสังคมศีลธรรมเสมอ

    "บุคคลใดมีความหิวกระหายความชอบธรรม ผู้นั้นก็เป็นสุข
    เพราะว่าพระเจ้าจะทรงให้อิ่มสมบูรณ์"

    ผู้ที่ยึดมั่นในความชอบธรรมด้วยการปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้า พระองค์จะทรงประทานบำเหน็จให้เขา ในวันที่เขาจะต้องได้รับการพิพากษา เพราะเมื่อเรารักความชอบธรรม หรือแสวงหาความชอบธรรม (อย่างมีสันติ) เราจะไม่รู้สึกว่าตนเองถูกข่มเหง เบียดเบียน ไม่แสวงหาความสุขใส่ตน แต่ทำเพื่อผู้อื่น เราก็จะเป็นคนดีพร้อมในสายพระเนตรของพระเจ้าเสมอ

    "บุคคลใดมีใจกรุณา ผู้นั้นก็เป็นสุข เพราะว่าเขาจะได้รับพระกรุณาตอบ"

    บุคคลใดที่มีจิตใจกรุณา พระเจ้าก็ทรงพอพระทัยเขายิ่งกว่าคนที่ทำบุญเสียอีก เพราะการให้ มีคุณค่ามากกว่าการรับ โดยเฉพาะการให้แก่คนที่มีความต้องการ หรือคนที่ด้อยโอกาส ในสังคมคริสตชนทุกคน จึงควรเป็นผู้มีจิตเมตตากรุณาต่อผู้อื่น โดยเฉพาะคนยากจน คนตกทุกข์ได้ยาก คนเจ็บป่วย คนชรา เด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาส เพราะเขาก็จะได้รับพระกรุณาจากพระเจ้า เป็นการตอบแทนเช่นกัน

    "บุคคลใดมีจิตใจบริสุทธิ์ เขาจะได้เห็นพระเจ้า"

    ผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ คือผู้ที่ไม่คิดร้ายต่อใคร ไม่ทำบาป หรือทำความผิดต่อพระเจ้าและคนอื่น มีมโนธรรมที่เที่ยงตรง ยำเกรงพระเจ้า ซื่อ ๆ สงบ มีสันติในจิตใจ เขาจะได้เห็นพระเจ้า เมื่อเขาจากโลกนี้ไปแล้ว เพราะพระเจ้า คือจิตที่บริสุทธิ์ คนที่จะพบพระเจ้าได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์เช่นเดียวกัน

    "บุคคลใดสร้างสันติ ผู้นั้นก็เป็นสุข
    เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาเป็นบุตร"

    ผู้ที่อยู่กับผู้อื่นอย่างสันติ ผู้นั้นก็จะได้เข้าใกล้ชิดพระเจ้า เพราะพระเจ้า เป็นองค์แห่งความสันติ ไม่ใช่องค์แห่งความวุ่นวาย ถ้าเราไม่มีสันติในจิตใจ คือ มีจิตใจที่อาฆาต พยาบาท เป็นจิตชั่วของผีปีศาจ ไม่ใช่จิตของพระเจ้า ดังนั้น ผู้ที่ดำรงตนอยู่ในสันติ จะต้องสร้างความปรองดองในหมู่ชน ไม่เว้นแม้แต่กับบุคคลที่เราไม่ชอบ หรือศัตรู เพราะพระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน ในฐานะที่เป็นพระบิดาของทุกคน เมื่อเราสร้างสันติเกิดขึ้น เท่ากับเราเป็นพี่น้องของเขา เราก็จะได้เป็นบุตรของพระเจ้าเช่นกัน

    "บุคคลผู้ใดถูกข่มเหง เพราะเหตุของความชอบธรรม ผู้นั้นก็เป็นสุข
    เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์ก็เป็นของเขา"

    ผู้ที่ถูกข่มเหง เพราะความเชื่อที่เขามีต่อพระเจ้า หรือเพราะการกระทำดีตามพระวาจาของพระเจ้า เขาก็จะได้รับบำเหน็จในสวรรค์ ในชีวิตเรามักจะถูกเบียดเบียนจากความอยุติธรรม เพราะเราจะหาความยุติธรรมบนโลกนี้ได้น้อยมาก แต่พระเจ้าจะประทานความยุติธรรมให้อย่างแน่นอน ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

    ---------------------------------------------------------------------------------------

    Credit :: www.mariarosa.org

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×