ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ศาสนาคริสต์ ,, (- Catholic -)

    ลำดับตอนที่ #23 : • เครื่องแต่งกายของพระสงฆ์ •

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 6.05K
      0
      5 ธ.ค. 49




    อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ ( Sacred Vestments )
    เมื่อจัดพิธีกรรมเป็นทางการในพระนามของพระเจ้า
    ผู้ประกอบพิธีจะสวมอาภรณ์เฉพาะ

    ในช่วงแรก ๆ พิธีกรรมของคาทอลิกมีส่วนคล้ายคลึงกับละครโอเปร่า เช่นการเลือกใช้เสื้อผ้า เพราะผู้ประกอบพิธีต้องแต่งตัวด้วยอาภรณ์เฉพาะเมื่อประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์

    หนังสือวิวรณ์ได้กล่าวถึงพิธีกรรมในสวรรค์ประกอบด้วยเครื่องดนตรี บทเพลง ขบวนแห่และการเคลื่อนไหวหลากหลาย นักบุญยอห์นได้เห็น "ประชาชนมากมายเหลือคณา...กำลังยืนอยู่เฉพาะพระบัลลังก์และเฉพาะพระพักตร์ลูกแกะของพระเจ้า ทุกคนสวมเสื้อขาว ถือใบปาล์ม ร้องสรรเสริญเสียงดังว่า ความรอดพ้นเป็นของพระเจ้าของเรา ผู้ประทับอยู่บนพระบัลลังก์และเป็นของลูกแกะของพระเจ้า" (วว. 7.9:10)

    เสื้อขาวของผู้ได้รับเลือกสรรเป็นสัญลักษณ์ถึงการชำระให้บริสุทธิ์เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้า ยังเป็นเสื้อของทูตสวรรค์ที่มาประกาศการกลับคืนชีพของพระคริสต์แก่หญิงใจศรัทธา นอกจากนี้ ผู้รับศีลล้างบาปใหม่จะได้รับเสื้อขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบังเกิดใหม่ภายใน ระหว่างการรับศีลมหาสนิทอย่างสง่า ผู้รับศีลมหาสนิทจะสวมเสื้อขาวซึ่งเป็นอาภรณ์แรกของบรรดาศาสนบริกรที่ร่วมพิธีไม่ว่าจะทำหน้าที่ใดก็ตาม คนที่รับศีลบวชก็ได้สวมเสื้อขาวเช่นกัน โดยสมณศักดิ์ของพระในยุคกลางดูได้จากอาภรณ์ที่สวม

    พระที่สังกัดสังฆมณฑล (secular clergy)
    สวมเสื้อคลุมยาวถึงข้อเท้า แขนยาว เรียกว่าแคสซอก มักมีกระดุมสามสิบเม็ด เป็นสัญลักษณ์จำนวนปีที่พระคริสต์มีพระชนม์ชีพในโลก

    พระที่สังกัดคณะสงฆ์ (regular clergy)
    ต่างจากพระที่สังกัดสังฆมณฑลตรงที่สละโลกเข้าสู่คณะสงฆ์โดยยึดกฎระเบียบของคณะสงฆ์นั้นๆ คณะสงฆ์ที่พระสังกัดดูได้จากสีเสื้อผ้าที่สวม และรอยปลงผมกลางศีรษะ ในยุคเรอนาซองพระที่สังกัดคณะสงฆ์จะต้องปลงผมกลางศีรษะ

    เสื้อผ้าที่พระสังกัดคณะสงฆ์สวมใส่เรียกว่าแฮบบิต เป็นเสื้อหลวมๆยาวถึงข้อเท้า มีเข็มขัดหรือเชือกผูกเอว แขนกว้าง มีฮูดซึ่งเป็นหมวกหรือผ้าคลุมศีรษะเย็บติดกับคอเสื้อด้านหลัง แฮบบิทของสงฆ์บางคณะมีแถบผ้ายาวเรียกว่าสกาปูลาร์และแมนเทิลด้วย สีของแฮบบิทบอกให้รู้ว่าบาทหลวงท่านนั้นสังกัดคณะใด

    เสื้อที่ใช้ในศาสนพิธี (Liturgical Vestments)


    ในพิธีมิสซาพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีสวมแคสซอก หรือ แฮบบิตคลุมทับด้วยอามิเช อัลบ์ สโตลเชือก มานิเปิล และ กาซูลา
    ส่วนพระสังฆราช และบาทหลวงที่มีสมณศักดิ์สูงสวมโรเซตไว้ใต้อัลบ์ นอกจากนี้ยังสวมรองเท้าสานที่ใช้ในศาสนพิธี ถุงเท้ายาว ถุงมือ และ แหวนของพระสังฆราช (Pontifical Ring) หมวกมิตร์ มีไม้กางเขนที่หน้าอก และถือคฑาตามสมณศักด์


    อัลบ์ (Alb)
    (มาจากภาษาละติน "Alba" แปลว่า ขาว)
    เสื้ออัลบ์เป็นเสื้อขาวยาวพร้อมแขนเสื้อกว้าง ยาวถึงข้อเท้า มีเชือกผูกที่เอว เสื้อขาวยาวไม่มีผ้าคลุมไหล่หรือปลอกคอ แต่จะมีผ้าพันรอบคอแทน พระสังฆราชพระสงฆ์ สังฆานุกร ผู้ช่วยพิธี และผู้อ่านพระคัมภีร์จะใส่เสื้อขาวยาวเป็นอาภรณ์สำหรับร่วมพิธีกรรม ผู้ช่วยมิสซาสวมเสื้อขาวสั้น (surplices) ทับเสื้อสีดำและสีแดง อัลบ์มีที่มาจากเสื้อที่กษัตริย์เฮโรดให้พระเยซูสวมเพื่อล้อเลียนพระองค์ อัลบ์จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งพรหมจรรย์ ความบริสุทธิ์ และ ความสุขนิรันดร ของผู้ที่ได้รับการไถ่บาปด้วยพระโลหิต ในยุคกลางมีการปักลวดลายบนแขนเสื้อทั้งสองข้างที่หน้าอกและชายเสื้ออัลบ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบาดแผลทั้งห้าของพระเยซู

    ผ้าคล้องคอ สโคล (Stole)
    กลายเป็นอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ในพิธีกรรมระหว่างศตวรรษที่ 8) สวมทับเสื้อขาวยาว มีขนาดเล็กซึ่งผู้ได้รับศีลบวชจะสวมเป็นอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบด้วยผ้าแถบยาวทำด้วยแถบผ้า 2 ชิ้นขนาดเท่ากัน พระสังฆราชและพระสงฆ์สวมรอบคอและแถบผ้า 2 ข้าง ห้อยลงมาด้านหน้าแบบขนานกัน สังฆานุกรเป็นแบบผ้าสะพายไหล่ สวมแบบไขว้กันที่หน้าอก มาจากไหล่ด้านซ้าย มีตะเข็บหรือปุ่ม เล็กๆ ห้อยมาตอนท้ายแล้วผูกติดกัน ดังนั้น มีการตัดผ้าคล้องคอให้ไขว้กันรอบตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สีของสโตลเข้ากับคาซุเบิลและมานิเบิล และอาจมีไม้กางเขนสามอันประดับ โดยอันหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีกสองอันอยู่ที่ชายแต่ละข้าง สโตลเป็นเครื่องหมายของเกียรติภูมิและอำนาจของพระ เป็นสัญลักษณ์แห่งแอกของพระเยซูคริสต์ และหน้าที่ของคริสตชนที่ต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์ เพื่ออาณาจักรของพระเจ้า และ ความหวังในชีวิตนิรันดร

    เสื้อมิสซา กาซูลา (Casula)
    (กาซูลา มาจากภาษาละติน ว่า casula แปลว่า "บ้านเล็ก ๆ" )
    เป็นเสื้อชั้นนอกที่พระสงฆ์สวมทับเสื้ออัลบ์ สำหรับถวายบูชามิสซา กาซูลาเป็นอาภรณ์ที่สวมเต็มตัวด้านบน สวมทางศีรษะเหมือนเสื้อที่ทำจากผ้าขนาดใหญ่และเจาะรูไว้สวมศีรษะ เนื่องจากเสื้อหุ้มห่อผู้สวมใส่และป้องกันเขาไว้เหมือนบ้านเล็ก ๆ หรือเต็นท์ เป็นอาภรณ์ที่พระสังฆราชและพระสงฆ์สวมเวลาประกอบพิธีมิสซา เป็นเครื่องหมายแสดงว่าผู้ประกอบพิธีที่สวมกาซูลา ได้ "สวม" พระคริสต์เพื่อกระทำการแทนพระองค์ระหว่างถวายบูชา ได้มีการปรับปรุงความกว้างของกาซูลาในระยะแรก แต่เราก็ยังพบว่ากาซูลาเหมือน "กล่องเก็บไวโอลิน" ในยุคบาร็อค เพราะด้านหลังมีลักษณะเหมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขณะที่ด้านหน้าเหมือนกล่องเก็บไวโอลิน ทำให้แขนของพระสงฆ์มีอิสระที่จะทำสิ่งต่างๆ กาซูลาได้รับการประดับประดารวมทั้งการปักที่งดงามด้วย เสื้อชั้นนอกสำหรับสังฆานุกร Dalmatic มาจากคำว่า Dalmatia ปัจจุบันนี้เรียกว่า Croatia ใช้ในพิธีกรรม เป็นอาภรณ์สำหรับสังฆานุกร นั่นคือ "ผู้บริการผู้รับใช้" ซึ่งเป็นเครื่องหมายของพระคริสต์ผู้รับใช้จะสวมทับเสื้อคลุมแขนยาวสีขาวและผ้าคล้องคอ คริสตชนเกี่ยวข้องเพราะ "การรับใช้คือการครองราชย์" เป็นเสื้อคลุมมีแขนเสื้อกว้างซึ่งแยกส่วนกับใต้แขน ประดับลวดลายคล้าย กาซูลา และมีแขนเสื้อสั้น ต้นกำเนิดมาจากส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าของจักรพรรดิโรมันและของพระสันตะปาปาในยุคกลางตอนปลาย

    กัปปา (Cape)
    เสื้อคลุมยาวไว้คลุมร่างกายทั่วร่างกัปปาประกอบด้วยผ้าครึ่งวงกลมหนึ่งชิ้น พร้อมด้วยผ้าพับกัน 2 ชั้น ติดด้วยตะขอและห่วงที่ด้านหน้า มีการสวมกัปปา ระหว่างงานที่เป็นทางการนอกเวลามิสซา ประธานในพิธีสวมเสื้อขาวยาวและผ้าคล้องคอ ผู้ช่วยพิธีและนักขับจะสวมอาภรณ์นี้ก็ได้

    อามิเช (Amice)
    เป็นส่วนประกอบของเครื่องแต่งกายชิ้นแรกที่พระสวมในพิธีมิสซา ตัดเย็บด้วยผ้าลินินสีขาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีไม้กางเขนปักหรือเย็บติดไว้ อามิเชมีที่มาจากผ้าคลุมพระพักตร์พระเยซูระหว่างที่ทรงถูกทหารโรมันล้อเลียน

    บิเรตตา (Biretta)
    เป็นหมวกทรงแข็งรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีสันบนยอดสามเหลี่ยมหรือสี่สัน และอาจมีตุ้มติดที่ยอดหมวกด้วย บิเรตตาเป็นหมวกของบาทหลวงสังกัดสังฆมณฑลและบาทหลวงที่มีสมณศักดิ์ สีของบิเรตตาใช้ตามสมณศักดิ์ของผู้สวม โดยทั่วไปพระสงฆ์สวมบิเรตตาสีดำ พระสังฆราชสวมสีม่วง พระคาร์ดินัลสวมสีแดงสด นอกจากนี้พระคาร์ดินัลยังสวมหมวกอีกแบบหนึ่ง มีลักษณะเป็นหมวกปีกกว้างทรงเตี้ย มีเชือกสำหรับผูกสองเส้น แต่ละเส้นมีพู่ประดับ 14 พู่ สีมักเป็นสีแดง

    มานิเปิล (Maniple)
    เป็นแถบผ้าไหมผืนยาวใช้พาดบนแขนซ้ายของเสื้ออัลบ์ มานิเปิลทำจากวัสดุชนิดและสีเดียวกับคาซูเบิล และ สโตล มีที่มาจากเชือกที่ใช้มัดพระเยซูระหว่างนำพระองค์ไปเนินกัลวารีโอ มานิเปิลเป็นสัญลักษณ์ของความประพฤติชอบ ความไม่ประมาท และ ความสำนึกผิด

    มานเตลเลตตา (Mantelletta)
    เป็นเสื้อตัวนอกยาวถึงเข่า ไม่มีแขน ผ่าหน้า สวมโดยพระคาร์ดินัล พระอัครสังฆราช และ พระสังฆราช สีของมานเตลเลตตาขึ้นอยู่กับสมณศักดิ์ผู้สวม พระคาร์ดินัลสวมมานเตลเลตตาสีแดง พระสังฆราชสีม่วงแดง มานเตลเลตตายังบอกถึงขอบเขตแห่งอำนาจในการตัดสินความหรืออำนาจในเรื่องทั่วๆไปของผู้สวมด้วย

    สกาปูลาร์ (Scapular)
    มีความหมายว่าไหล่ เป็นผ้าแถบผืนยาวเจาะตรงคอเพื่อให้สวมทับลงไปบนไหล่สองข้างได้ ชายผ้าห้อยลงมาทั้งด้านหน้าและด้านหลังจนถึงชายเสื้อ สกาปูลาร์เป็นส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าที่พระสงฆ์เกือบทุกคณะสวม โดยอาจมีที่มาจากผ้ากันเปื้อนผืนใหญ่ที่ใช้สวมกันเสื้อผ้าสกปรก สกาปูลาร์ใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งแอกของพระเยซูคริสต์

    โรเชต (Rochet)
    เป็นเสื้ออัดจีบยาวถึงเข่า แขนลีบ ตัดเย็บจากผ้าลินินสีขาว ปลายแขน ไหล่ และ ชายเสื้อตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้ ซับในด้วยผ้าไหมสีตามสมณศักดิ์ของผู้สวม

    เซอร์พลิส (Surplice)
    เป็นเสื้อคลุมยาวถึงเข่าทำด้วยผ้าลินินสีขาวแขนกว้าง ชายเสื้อมักติดลูกไม้ ใช้สวมทับแคสซอกระหว่างประกอบพิธีโปรดศีล และ ศาสนพิธีอื่นๆ เซอร์พลิสเป็นสัญลักษณ์ของการที่มนุษย์ได้รับความยุติธรรม และ สัจธรรม อันศักดิ์สิทธิ์คืนมา

    มอสเซตตา (Mozzetta)
    เป็นเสื้อแขนปีกค้างคาวยาวแค่ข้อศอก มีฮูดที่ตกแต่งอย่างงดงาม พระสันตะปาปาทรงสวม มอสเซตตาเสมอ ส่วนพระคาร์ดินัลสวมเฉพาะเมื่อไม่ได้อยู่ในโรม ในขณะที่พระอัครสังฆราช พระสังฆราช และ พระอธิการโบสถ์สวมมอสเซตตาได้ในเขตปกครองของท่านเท่านั้น

    สกัลล์แคป หรือ ซุกเกตโต (Skull-Cap / Zucchetto)
    เป็นหมวกคับพอดีศีรษะ ไม่มีปีก ใช้ครอบกลางศีรษะ สีของสกัลล์แคปใช้ตามสมณศักดิ์ของผู้สวมเช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายทางศาสนาชิ้นอื่นๆ


    เครื่องหมายแสดงของพระสันตะปาปา ( Pontifical Insignia)

    มาลาสูงและไม้เท้า เครื่องประดับศีรษะของผู้อภิบาล
    รวมถึงผู้ร่วมงานเป็นเครื่องหมายของพระสังฆราช

    พระสันตะปาปาเป็นบุคคลที่เป็นเสมือนสะพานระหว่างประชาชน (มาจากภาษาละติน Pons) พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระฉบับแบบที่ดีที่สุดของพระสันตะปาปา เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าและมนุษย์ พระองค์จึงทรงรวมพระเจ้ากับมนุษย์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันในพระสัญญาใหม่ อาศัยศีลบวช บรรดาพระสังฆราชผู้สืบทอดตำแหน่งจากอัครสาวกปฏิบัติหน้าที่แห่งการเป็นคนกลางในนามของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นสงฆ์สูงสุดในบรรดาพระสังฆราช พระสันตะปาปาเป็นผู้นำสูงสุดในฐานะที่ทรงเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งจากนักบุญเปโตรและเป็นผู้แทนของพระเยซู เครื่องหมายที่พระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราชใช้ คือ กางเขนที่หน้าอกและแหวน ระหว่างพิธีการอันสง่างาม พวกท่านใช้เครื่องหมายประจำตำแหน่ง คือ มาลาสูง และไม้เท้าที่ได้รับจากพิธีอภิเษกเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งพระสังฆราช

    หมวก มิตร์ (Mitre)
    มาลาสูงเป็น "เครื่องประดับศีรษะ" ต้นกำเนิด MITRE มาจากกรีก เป็นแถบผ้าปิดศีรษะเพื่อกันไม่ให้ผมมาปิดใบหน้าหรือมงกุฎ ในพันธสัญญาเดิม ปุโรหิตและสงฆ์จะสวมผ้าโพกศีรษะ ประดับด้วยดอกไม้สีทองซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการอภิเษก หมวกมิตร์อาจตกแต่งด้วยอัญมณีหรือปักดิ้นทอง หรือเป็นแบบเรียบๆทำด้วยผ้าลินินหรือผ้าไหมสีขาวไม่มีอะไรตกแต่ง
    มาลาสูงแบบคริสต์ กำเนิดมาจากแถบผ้าปิดศีรษะด้วยผ้าคลุมศีรษะ มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาหลายสมัย แต่จากสมัยเริ่มแรกใช้สำหรับพระสังฆราช มาลามีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมและมียอดแหลม มาลาในแรก ๆ ต่ำกว่าสมัยปัจจุบัน ระหว่างยุค
    บาร็อค นิยมทำมาลาให้สูงขึ้นและในปัจจุบันมีการลดและเพิ่มสัดส่วนตามความเหมาะสม




    เทียร่า (Tiara)
    เป็นมงกุฎทรงกลมประกอบด้วยมงกุฎสามอันซ้อนกัน มีไม้กางเขนประดับอยู่บนยอด ผู้ที่จะสวมเทียร่าได้มีเพียงองค์พระสันตะปาปาเท่านั้น เทียร่าเป็นสัญลักษณ์ของพระตรีเอกานุภาพ และ ฐานันดร สามลำดับของอาณาจักรของพระเจ้า ในงานศิลปะเทียร่าใช้เป็นเครื่องหมายของนักบุญเกรเกอรี่ และ นักบุญ ซิลเวสเตอร์


    ไม้เท้าเพื่อแสดงตำแหน่งผู้นำงานอภิบาล
    เป็นเครื่องหมายแสดงที่เฉพาะตัวที่สุดของการเป็นผู้แทนของพระศาสนจักรและชุมชนของท่าน แสดงถึงการประทับอยู่ของชุมพาบาลแสนดี คำไม้เท้า "Crook" มาจากคำว่า "Crochet" การใช้ขอเกี่ยว มีขอเกี่ยวตรงปลาย ในระยะแรก ๆ เป็นเหมือนไม้เท้าของคนเลี้ยงแกะ มีลักษณะงอตอนปลายเพื่อใช้เป็นตะขอเกี่ยวคอแกะได้ พร้อมกับมีร่องที่คนเลี้ยงแกะขว้างดินหรือหินไปที่แกะที่หลงทาง เช่นเดียวกับสัตว์ที่มาฆ่าแกะ ตั้งแต่พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงถือไม้เท้าซึ่งมียอดเป็นกางเขนโค้ง อันเป็นสัญลักษณ์ถึงพันธกิจที่รวบรวมแกะที่กระจัดกระจายของพระเจ้า ไม้เท้าและมาลาสูงสงวนไว้สำหรับพระสังฆราชเท่านั้น แต่มอบให้อธิการอาราม ระหว่างที่ทำพิธีอวยพร เพราะพวกท่านอยู่ในตำแหน่งของพระคริสต์ในหมู่คณะของพวกท่าน


    เสื้อคลุมของพระสันตะปาปา ปัลลิอุม (Pallium)
    สืบมรดกจากเสื้อของข้าราชการชั้นสูงของโรม เป็นแผ่นเหรียญของพระสันตะปาปาหรือพระอัครสังฆราช เป็นแถบผ้าขนสัตว์สีขาวที่สวมรอบคอ เหนือ กาซูลา คล้ายปลอกคอ ธง 2 อันที่ห้อยลงมาจากปลอกคอที่มีลักษณะกว้างนี้ ด้านหนึ่งอยู่ข้างหน้า อีกด้านหนึ่งอยู่ข้างหลัง ปักกางเขนสีดำ 6 อันที่ช่องว่างบนแถบผ้าขนสัตว์ ปัลลิอุมใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของพระสันตะปาปา แต่อาจทรงประทานปัลลิอุมให้กับพระอัครสังฆราชท่านหนึ่งท่านใดเพื่อแสดงถึงการยินยอมให้ใช้อำนาจร่วมกับพระองค์ ส่วนรูปทรงตัว Y ของปัลลิอุมใช้เป็นสัญลักษณ์ของการตรึงกางเขนของพระเยซูคริสต์



    การใช้สีในเทศกาลตามปีพิธีกรรม (หรือสิ่งประดับ)
    มีสีต่าง ๆ ตามระเบียบที่ตั้งไว้


    สีขาวหรือ สีทอง หมายถึงความยินดี ใช้สำหรับเทศกาลพระคริสตสมภพและเทศกาลปัสกา รวมทั้งวันฉลองนักบุญที่ไม่ได้เป็นมรณสักขี

    สีม่วง หมายถึงความเป็นทุกข์ถึงบาป สำหรับเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เทศกาลมหาพรตซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการถือศีลอดอาหารเพื่อใช้โทษบาป

    สีชมพู สำหรับวันอาทิตย์ ที่ 3 ของเทศกาลรับเสด็จพระคริสตเจ้าและวันอาทิตย์ที่ 4 ของเทศกาลมหาพรต

    สีแดง หมายถึงความรัก ความเสียสละชีพเพื่อศาสนาสำหรับวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ วันสมโภชพระจิตเจ้าและวันฉลองของนักบุญมรณสักขี

    สีเขียว หมายถึง ความสดชื่น การเจริญเติบโต สำหรับเทศกาลธรรมดา ในบางท้องที่ใช้สีทองสำหรับพิธีที่สง่า

    สีฟ้า สำหรับวันฉลองพระนางพรหมจารีมารีย์

    สีดำหมายถึง ความทุกข์โศก สำหรับมิสซาผู้ตาย

    อาภรณ์ที่มีสัญลักษณ์เหล่านี้ใช้สำหรับประธานในพิธีและผู้ช่วยพิธี เพราะพวกเขาเป็นผู้แทนหรือผู้รับใช้ของพระคริสตเจ้า สิ่งนี้ไม่ได้สร้างความประทับใจ ในแง่ที่ว่า การประกอบพิธีกรรมเป็นเพียงการแสดงบางสิ่งต่อหน้าผู้ชมที่เป็นประชาสัตบุรุษ แต่เป็นที่ประชุมที่แต่ละคนกระทำตามบทบาทของตน รวมทั้งผู้มีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกแห่งบูชามิสซาด้วย แต่ละคนกระทำหน้าที่อย่างประสานกลมกลืนอย่างสมบูรณ์ จากความร่วมมือกัน ประชาสัตบุรุษอาจสวมอาภรณ์ของพระคริสตเจ้าได้ด้วย เช่น สวมเสื้อขาวในโอกาสรับศีลล้างบาปและการปฏิญาณถวายตัวของนักบวช

    -----------------------------------------------------------------------------------------------

    Credit :: เหมือนบทที่ 22 ค่ะ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×