รวมคำถามยอดฮิตติดชาร์ตคนอยากเขียน
รวมเอาบรรดาคำถามทั้งหลายที่คนอยากเขียนเขาเอามาถามกันเอาไว้ เลยขอรวบรวมเอาไว้ที่นี่ค่ะ
ผู้เข้าชมรวม
625
ผู้เข้าชมเดือนนี้
0
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
สวัสดีเจ้าค่ะ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชาว G-Gals ทุกท่าน
วันนี้ว่าที่นักเขียนคนใหม่ของสนพ. G-Gals เกิดอารมณ์ดี(หรือเปล่า!?) เลยลองรวบรวมคำถามที่มีน้องๆ เคยถามกันเอาไว้มาลองตอบให้ชาว G-Gals ได้ลองเอาไปศึกษากัน โดยเฉพาะน้องๆ ที่ต้องจะเขียนงานของตัวเองแต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทางไหน ทำยังไง แล้วต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ลองมาดูคำถามที่รวบรวมมานี้ดูว่า จะมีข้อไหนที่ตรงใจทุกคนกันบ้าง
Q.เริ่มต้นเขียนนิยายยังไงเหรอ?
A.อันนี้แนะนำเป็นแนวทางได้เฉพาะแฟนตาซีแฮะ เพราะเขียนเป็นแต่แนวนี้ = =
ในเรื่องการเขียนแฟนตาซีนั้น...เป็นที่รู้ๆ อยู่แล้วว่าตัวเนื้อเรื่องมันต้องมีอะไรที่เหนือธรรมชาติ อย่างเช่นเวทมนต์ สัตว์ประหลาด มังกร อะไรเถือกนั้น
แต่การมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้มันจะต้องรองเอาไว้ด้วยเหตุผล...เหตุผลที่ว่าก็คือ เหตุผลของการมีอยู่ ทำไมพลังเวทมนต์จึงมีในโลกนี้ จำเป็นหรือเปล่าที่ทุกคนต้องมีเวทมนต์ และทุกคนมีเงื้อนไขในการคงอยู่อย่างไร
ในการเขียนนิยายทุกประเภททุกรูปแบบ ถ้าหากว่าขาดเหตุผลรองรับไปแล้วมันจะเป็นนิยายที่ลอยคว้างหาแก่นสาร หาความสมเหตุสมเหตุให้แก่มันไม่ได้ แต่ให้เขียนออกมาอย่างเบาสมองหรือพิศดารมากเพียงไหนก็ต้องมีเหตุผลที่มันเกิดขึ้น
ลำดับต่อมา...การดำเนินเรื่องที่ต้องมีเอกลักษณ์ของความเหนือธรรมดา ไม่ใช่ทุกอย่างมาราบเรียบเรื่อยๆ เฉื่อยๆ เวทมนต์ไม่เป็นเวทมนต์ แบบนั้นมันจะกลายเป็นเรื่องคลาสสิคธรรมดา เวทมนต์จะกลายเป็นไสยศาสตร์ธรรมดาไป
แฟนตาซีตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเว่อร์แต่เสริมสร้างจิตนาการของผู้อ่าน เราจะเขียนออกมายังไงให้คนอ่านจินตนาการเข้าถึงเรื่องของเรา เขียนยังไงให้คนอ่านเห็นภาพอย่างที่เราเห็น นี่คือ ความยากของแฟนตาซี
อุปสรรคที่น้องต้องผ่านไปให้ได้นั้นก็มี....(คิดเองนะอันนี้)
1.ความแหวกแนวของเนื้อเรื่อง ปัจจุบัน(อดีตก็ด้วยแหละ)นิยายเรื่องไหนดังๆ มันจะมีแฟนฟิค โดจิน นิยายที่มีโครงเรื่องคล้ายกับนิยายดังๆ เหล่าๆ นั้น ถ้าสามารถแยกตัวเองออกมาจากตรงนั้นได้สักหน่อยก็จะดีมาก วางโครงเรื่องให้สนุกเข้าไว้แล้วจะดี
2.เหตุผลที่รองรับความเว่อร์ในจินตนาการของแฟนตาซี อย่างที่บอกไปแล้วว่าแฟนตาซีมันเป็นนิยายที่ค่อนข้างเน้นความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา หรือเว่อร์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเรื่องจริง เราต้องหาเหตุผลมารองรับในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องปกติที่นิยายแนวแฟนตาซีจะมีพลังเวทมนต์ สัตว์ประหลาดที่น่ากลัว เราจะถ่ายทอดเหตุผลและบรรยายสร้างอารมณ์อย่างไรให้เวทมนต์ไม่กลายเป็ยไสยศาสตร์ หรือสัตว์ประหลาดน่ากลัวเป็นตัวพิลึกกึกกือน่าขยะแขยง
3.แรงกดดัน...เมื่อเขียนไปได้ช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าเรื่องดังหรือว่างานยุ่งมันจะเริ่มมีแรงกดดันเกิดขึ้น เราจะสามารถทนต่อแรงกดดันที่เกิดขึ้นได้มั้ย
4.ความท้อแท้...หนึ่งในอารมณ์ที่นักเขียนทุกคนต้องเจอ ไม่มีใครไม่เคยท้อแท้ในงานของตัวเอง หรือเครียดในเวลาที่ไม่ทีใครสนใจงานของเรา เกิดอารมณ์อย่างแข่งขันกับนิยายเรื่องอื่นแต่เราไม่สามารถทำได้ดีอย่างเขา เราจะสามารถปรับเปลี่ยนความท้อแท้เหล่านี้ได้มั้ย ปรับเปลี่ยนให้มันเป็นแรงใจในการเขียนงานต่อไป
5.ลอก....อย่าลอกใครเลยนะคะ จะอิดีทนั่นนิดเอานี่มาวางหน่อยเป็นเรื่องที่ต่างออกไป แต่ก็ลบความเนียนความเหมือนไม่ได้หรอกค่ะ
6.สำนวน...สำนวนที่ดีต้องอ่านง่าย แม้จะเป็นสำนวนเก่าแต่ต้องสื่อความชัดเจน บรรยายมองเห็นภาพไม่ก่อความสงสัยในส่วนที่ไม่ใช่ปริศนาที่เราผูกปมเอาไว้
7.หัวใจ...ที่ตัดสินใจเอาข้อนี้มาไว้เป็นข้อสุดท้าย เพราะอยากให้ทบทวนว่าแท้จริงแล้วต้องการเขียนเพราะอะไร เพราะรักหรือเพราะนึกสนุกหรือเพื่อเงินตรา ลองถามตัวเองให้ดีๆ ถ้าถามตัวเองดีแล้วทำเพราะรักเพราะเงินตราเราจะต้องทำให้นิยายของเรามีคุณค่าสมกับที่ใจของเรารักหรือเหมาะสมกับจำนวนเงินที่คนอ่านต้องซื้อ ใครจะบอกว่านักเขียนเขียนเพราะรักนั้น...เคย์เซย์เห็นนักเขียนหลายคนที่เขียนงานเพื่อเงินตราเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่เริ่มต้นของพวกเขาไม่ใช่นักเขียนไม่ได้รักงานเขียน เพียงแต่อยากเผยแพร่อะไรบางอย่างเท่านั้น และสิ่งที่เขาถ่ายทอดออกมามันก็สมค่ากับราคาที่เราลงทุนไป
Q.จะต้องวางโครงเรื่องอย่างไร?
A.การเริ่มต้นเขียนนิยายทุกเรื่องมันต้องมาจากความคิดก่อนอยู่แล้วค่ะ แต่ปัญหาของเราอยู่ที่การจัดระเบียบความคิดของเรา เพราะยิ่งคิดมากเท่าไหร่ ความยุ่งเหยิ่งของเรื่องมันจะยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อถึงตอนนั้นปัญหาที่ตามมาก็คือ ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนที่ไหน ตอนนั้นล่ะค่ะที่โครงเรื่องจะเข้ามามีบทบาท
โครงเรื่อง คืออะไร
โครงเรื่องคือ แผนผังความคิดอย่างง่ายๆ ที่เราเขียนขึ้นเพื่อกำหนดการเริ่มต้นเรื่อง กำหนดตัวละคร และกำหนดปม โดยส่วนใหญ่แล้วนักเขียนมักวางเอาไว้ในรูปแบบของเรื่องย่ออย่างสั้นๆ เก็บรายละเอียดปมและแก่นเรื่องสำคัญเอาไว้มากกว่า เป็นการจำกัดกรอบอย่างง่ายๆ เพื่อมิให้เนื้อเรื่องออกทะเลมากจนเกินไป จากนั้นจึงค่อยไปเก็บรายละเอียดของแต่ละตอนว่า จะเอาปมใดเข้ามาเป็นแก่นของตอน ถึงตอนนั้นก็จะมีการกำหนดโครงเรื่องของตอนแยกย่อยออกไปอีก
หากจะอธิบายให้ง่ายกว่านี้สำหรับการวางโครงเรื่อง...วางโครงอย่างหยาบที่เราสามารถดิ้นในเนื้อเรื่องได้ และอย่ายึดติดกับของเก่าที่ร่างเอาไว้แต่เริ่มต้น หากของใหม่ดีกว่าให้นำมาปรับใช้ ก่อนจะสมองจะตันไปในที่สุด
การวางโครงเรื่องหรือ Plot ที่ดี อันดับแรกต้องวางพล็อตโดยรวมก่อนว่าทั้งเรื่องจะดำเนินไปยังไง นี่เป็นการช่วยกำหนดแนวทางการดำเนินเรื่องคร่าวๆ ของเรา
อันดับที่สอง มาวางเจาะว่าแต่ละตอนเราจะเขียนถึงอะไรบ้าง ฉากไหน อะไร อย่างไร เป็นการเจาะและวางกรอบในการเขียนของเราไปในตัว(กันออกทะเลว่างั้นเถอะ) ตรงนี้ไม่ต้องซีเรียสกับมันมากหรอก ไม่จำเป็นเสมอไปว่ามันจะต้องเปะๆ ตามที่วางไว้ ถ้าเราเห็นควรเอาตอนนั้นขึ้นก่อนก็เอาขึ้น อะไรน่าแทรก(แล้วไม่ออกทะเล)ก็จับแทรกเข้ามา ปรับอันนี้มาบน จับอันนั้นมาล่าง (วางแบบนี้แล้วสนุกมาก กลับมาดูพล็อตแต่ละตอนอีกทีหลังๆ สลับกันเยอะเลย แถมจำนวนตอนเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย 555)
พล็อตตัวที่สองนี่แล้วแต่ว่าจะเขียนสั้นเขียนยาวแต่ไหน ถือเป็นเพียงกรอบของเราเฉยๆ (แม้แต่คนเขียนสดมันยังต้องมีพล็อตนำทางเลยนะเออ)
อันดับที่สาม พล็อตตัวละคร ทำเป็นไฟล์เอาไว้สักนิดก็ดีค่ะ เพราะมันจะช่วยให้เราปิ๊งไอเดียได้อีกทางหนึ่ง (เป็นบ่อย ไม่มีไรทำเอาตัวละครมาย้ำยีในภาคพิเศษแบบสุขๆ โศกๆ ไปตามเรื่อง สนุกอีกครับท่าน) เขียนประวัติของมันเอาไว้คร่าวๆ ว่า เป็นใครมาจากไหน ชื่อเสียงเรียงใด ลูกของใคร มีเหตุอะไรให้มาเกี่ยวพันกับเนื้อเรื่องหลักของเรา
สามอันนี้ถือเป็นพื้นฐานที่ดีของนักเขียนค่ะ แต่ก็แล้วแต่ว่าใครจะปฏิบัติไม่ได้บังคับตายตัวอะไร บางคนก็เขียนสดตัวละครมาสดๆ ไม่เก็บข้อมูลตัวละครเอาไว้เลยก็มีค่ะ
Q.ถ้าสมองตันทำอย่างไร
A.ปัญหาโลกแตกของบรรดานักเขียน ไม่มีใครไม่เคยพบเจอแม้กระทั่งข้าพเจ้าเองก็ตาม - -
วิธีการแก้ปัญหานั้นง่ายมากๆ
อันดับแรกนำเนื้อเรื่องที่เขียนเอาไว้เก่าๆ มาอ่านทบทวนใหม่อีกครั้ง มองหาปมที่ทิ้งค้างแล้วลืมแก้เอาไว้ นำมันกลับมาปรับสานให้เข้ากับเรื่อง หรือผูกปมขึ้นใหม่ให้เข้ากับเนื้อเรื่องและแก่นสำคัญที่ร่างเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรก
อันดับสอง อ่านหนังสือเยอะๆ หรือ ดูหนัง ละคร เล่นเกมส์ สรรหาความรู้และวัตถุดิบมาเขียนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
Q.เขียนไปแล้วไม่มีคนมาคอมเม้นต์ ทำยังไงดี
A.ข้อนี้ขอยกตัวอย่างคำถามที่เขาเคยถามเอาไว้ในบอร์ดของสนพ.PC แล้วกัน ตอนนั้นตอบไปแบบโอยั่วะเล็กน้อย
คำถาม
คือ พี่ๆทีมงานคะคือ หนู...เขียนเรื่อง อิธิกอนตำนานพลังมนตร์ศักดิ๋สิทธิ์ คะแต่มาคิดดูแล้วเรื่องของหนูมันไม่น่าสนใจเอาซะเลยเพราะโครงเรื่องมันเกี่ยวกับพลังในตำนานซึ่งมันคล้ายๆกับของ pigky แต่หนูก็คิดออกมาในแบบหนูแล้วแถมยังเพิ่มอะไรอีกหลายๆอย่างแล้วด้วยซึ่งหนูก็เอามาลงใน web นี้ด้วยคะมีผู้ชมมากอยู่ก็จริงแต่ไม่มีซักคะแนนเลยแถมยังไม่มีคนมา comment ด้วยค่ะ
แต่หนูก็ตัดใจจากเรื่องนี้ไม่ได้...หนูจะทำยังไงดีคะ?หนูไม่มีทางเอาชนะหรือเท่าเทียมกับคนอื่นๆได้เลย...
ไม่มีใครสนใจเรื่องของหนูเลย
หนูชักเริ่มท้อแล้วละค่ะ หนูอยากจะเขียนผลงานที่ทำให้คนอื่นสนุกแต่ดูท่าทางความฝันอันเล็กน้อยของหนูจะไม่มีทางเป็นจริงแล้วละคะพี่ๆช่วยตอบหนูทีนะคะ
ขอความกรุณาด้วยค่ะ
นักเขียนที่ไม่ประสบความสำเร็จ
marine-z.
คำตอบ
อย่าเพิ่งท้อจ้า อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งใช้คำว่า ไม่ประสบความสำเร็จด้วย
เรามารู้จักกับคำว่า สัจธรรม กันดีกว่า คำว่า สัจธรรม ก็คือ ความจริงแท้ เป็นความจริงที่คนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล้วนแล้วก็ต้องพบเจอกันทุกคนไป
อย่างของพี่ในสมัยแรกที่เริ่มลงนิยายนั้นมีคนเข้าชมมากพอสมควร แต่แน่นอนไร้คอมเม้นต์ เหตุนั้นเพราะ
1. คนเพียงเข้ามาอ่านดูว่าสนุกหรือน่าสนใจหรือไม่ หรือ
2.สนุกน่าสนใจดีแต่ไม่รู้จะเม้นอะไร
3.อาจจะกดพลาดเข้ามาเลยคลิกๆ ดูสักหน่อยว่าเป็นยังไง
นี่คือ 3 เหตุที่พอจะวิเคราะห์ออกมาได้ ส่วนเรื่องของคะแนนนั้น โดยส่วนมากนักอ่านที่ไม่ค่อยเม้นไม่ค่อยวิจารณ์ก็จะไม่ค่อยใส่คะแนนอยู่แล้ว ขนาดนิยายของพี่ที่ลงไปจนจบใกล้ตีพิมพ์เป็นเล่ม มีคนอ่านคอมเม้นนิ่ง คะแนนนี่ไม่ต้องพูดถึง 0 ตลอดเดือน(อิงจากเด็กดี)
ดังนั้นน้องไม่ต้องกังวล คำว่าประสบความสำเร็จหรือไม่อยู่ที่การพิจารณาแล้วผ่านกับสำนักพิมพ์เป็นนักเขียนมืออาชีพได้แล้วหรือยัง (แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าไม่ได้ประกอบอาชีพนักเขียนอย่างเดียว ต้องเรียนต้องทำงานอื่นด้วย ก็เรียกว่านักเขียนอิสระ เท่านั้นค่ะ)
น้องไม่ต้องไปกังวลถึงคะแนนหรือคอมเม้นเลยนะคะ มันเป็นเรื่องธรรมดาของนักเขียนในเน็ตอยู่แล้ว
ในส่วนของโครงเรื่อง....เอากันตรงๆ โครงเรื่องหรือแนวลคิดในปัจจุบันนี้มันมีหลายแบบที่เกลื่อนกลาดอยู่ เช่น โรงเรียนเวทมนต์ เกมส์RPG หลงจากอีกโลกไปอีกโลก อื่นๆ อีกมากมาย โครงเรื่องสามารถเหมือนกันได้ แต่การดำเนินเรื่องต่างหาก จะดำเนินยังไงให้เป็นเอกลักษณ์ของเรา อย่ารีบร้อนตีตนว่าของเราเป็นเหมือนเขาจนกระทั่งวิตกจริต จงมั่นใจในงานเขียนของตัวเองและเขียนงานของตัวเองในเต็มที่ ถ้าหากว่าไม่มั่นใจในงานเขียนของตัวเองแล้ว มันจะเป็นผลงานที่ดีที่รักของเราได้อย่างไร
อีกอย่างพี่ไม่อยากให้หนูใช้คำว่า เอาชนะ หรือ เท่าเทียมคนอื่น เพราะเมื่อหนูคิดแบบนี้ก็เท่ากับว่าหนูเอาความทุกข์มาใส่ตัวเอง เขียนงานเพียงเพื่อจะเอาชนะคนอื่นเท่านั้น แล้วค่าของหนูจะอยู่ที่ไหน หรือหนูภูมิใจหนังสือของหนูเอาชนะอีกเรื่องได้ หนูพอใจที่จะเขียนงานเพียงเพื่อเอาชนะชาวบ้านอย่างนั้นรึ
ไม่หรอก...พี่ชื่อว่านักเขียนที่รักงานเขียนอย่างหนูจะไม่ทำแบบนั้น หนูอย่ากังวล...หนูอย่าท้อแท้...คนที่ชอบเรื่องของหนูแต่ไม่แสดงออกก็มี(อย่างของพี่พอหนังสือออกเงาโผล่ออกมาทวงกันใหญ่)
ค่อยๆ เขียนค่อยๆ เดินไปตามเส้นทางของหนู ค่อยๆ ก้าวอย่ารีบร้อน ค่อยแก้ปัญหาอุปสรรคของเราไป ไม่มีใครที่ได้ความฝันของตัวเองมาโดยไม่รู้สึกท้อแท้หรอกค่ะ แม้แต่ตัวของพี่เองเขียนนิยายสองเรื่องใหญ่กับอีกยิบย่อยอีกหลายเรื่อง มีประวัติเกือบวางปากกามาแล้วมากกว่าสิบครั้ง (รวมทั้งที่เคยประกาศทางเน็ตและที่ไม่เคยประกาศ)
แต่สุดท้ายพี่ก็กลับมาเดินตามเส้นทางนี้อีกครั้ง นั่นเพราะพี่ไม่เคยท้อแท้ยังไงล่ะคะ ถ้าน้องอย่างให้มีคนอ่านแล้วคอมเม้นต์ล่ะก็...ทำไมไม่เริ่มจากคนใกล้ตัวก่อนล่ะคะ จากอาจารย์สอนภาษาไทยของเรา จากเพื่อนของเรา จากพ่อแม่ของเรา โดยเฉพาะอาจารย์สอนภาษาไทยท่านจะช่วยเราได้มากทีเดียว ทั้งเรื่องภาษาเรื่องสำนวนเนื้อ ท่านจะช่วยติงจุดที่ต้องแก้ให้ได้เราได้อย่างกระจ่างชัดทีเดียวล่ะค่ะ
แล้วถ้ายังอยากให้มีคอมเม้นต์ในเน็ตด้วย พี่จะแวะเวียนไปอ่านแล้ววิจารณ์ให้ก็ได้(มีคิววิจารณ์อาทาเลียด้วยพอดี เพียงแต่ยังไม่มีเวลา) พี่เป็นหนึ่งในคนวิจารณ์งาน(แรง โดนแม่ยกเจ้าของนิยายด่ามาคนแระ)นะ เพื่อจะได้ดูออกว่าจุดด้อยอยู่ที่ไหนยังไง (เสียอย่างเดียวไม่ค่อยมีเวลา) หรือน้องคิดว่ายังไงคะ
จงจำเอาไว้...จงมั่นใจในงานเขียนของตัวเอง จงเขียนเพื่อความฝันมิใช่เพื่อเอาชนะ จงอย่าท้อแท้ ค่อยๆ เดินค่อยๆ ก้าว อีกไม่ช้าน้องก็จะประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้เองค่ะ ^ ^
Comment 2 Keisei From http://www.pc-bookclub.com/show.php?subject_id=0000788&page=1
สิ่งที่อยากจะบอกกับน้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ต้องการประสบความสำเร็จในด้านงานเขียนนี้คือ ไม่มีใครประสบความสำเร็จกันมาตั้งแต่เริ่มแรก งานของเราคนที่ตัดสินว่า ดีหรือไม่ดี ก็คือ คนอ่าน และในโลกไซเบอร์หรือแม้แต่ในตลาดหนังสือก็ไม่ได้มีนักเขียนแค่ไม่กี่คน มันมีนักเขียนเกิดขึ้นมาใหม่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะมีฝีมือมากไปพอยืนหยัดอยู่ในโลกน้ำหมึกนี้ได้นาน นักเขียนบางคนสามารถโด่งดังได้จากความสามารถของตัวเอง บางคนโด่งดังได้เพราะตีพิมพ์กับสนพ.ดัง บางคนดังเพราะการโฆษณาหรือมีเรื่องฉาวกับสนพ.หรือลอกงานของใครมา
จงอย่าคิดว่า ฉันจะต้องดีเด่นกว่าคนอื่น ฉันจะต้องเก่งกว่าคนอื่น ฉันต้องเอาชนะคนอื่นได้ ฉันจะต้องแข่งกับคนนั้นคนนี้เพื่อไปยืนในจุดเดียวกับเขา เพราะสิ่งที่จะได้รับกลับมาคือ ความกดดัน อันเป็นอุปสรรคต่อการเขียนงานของตัวเองเป็นที่สุด อย่าเอาความคิดเหล่านี้มาเป็นตัวขัดขวางงานของเรา เพราะเพียงปัญหาจิปาถะทั่วไปมันก็มากพอจะสร้างความท้อแท้ให้แก่พวกเราได้แล้วล่ะค่ะ
มีอย่างเดียวที่คนอยากเขียนต้องสู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเขียนทุกคนต้องสู้มาโดยตลอดนั้นคือ ตัวเอง ค่ะ
Q.มันคิดออกมาได้แล้วล่ะ แต่ตอนจะพิมพ์ดันพิมพ์ไม่ออก ทำยังไงดี?
A.ปัญหาโลกแตกกันอีกแล้วครับท่าน เอ้า! คำตอบจ้ะ
อันดับแรก....ทำใจให้สบายก่อน
หลังจากนั้นจึงกลับมาดูข้อมูลที่เราจัดเตรียมเอาไว้อีกครั้ง รวมทั้งศึกษาพล็อตเรื่องของเราให้ดีด้วย หากเป็นไปอย่างที่เราต้องการแล้วก็ปล่อยไป แต่ถ้ามันยังไม่ใช่ให้ดูก่อนว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ค่อยๆ แก้ปัญหาไปที่ละจุด อย่ารีบร้อนในเรื่องตอนเขียน
และหากว่าแก้ไขแล้วมันยังออกมาไม่รู้เรื่องอีก คราวนี้เรากลับไปหาข้อมูลใหม่ที่ดีพอจะสามารถปรับกับเรื่องเราได้ หรือกลับไปทำสมาธิใหม่ เพราะในหลายๆ ครั้งเราอาจจะหมกมุ่นกับมันมากจนเกินไปจนทำให้เราไม่รู้เรื่องเอง
ซึ่งเรื่องนี้เคย์เซย์ก็เป็น...ในตอนที่รีไรจ์ The Princess of The King ภาค 3 ต้องมีการเทียบเคียงเนื้อเรื่องของภาคสองกับภาคสี่เพื่อความเนียนของเนื้อเรื่อง และก่อนกลับมาแก้ไขก็ทำการมาร์คจุดสำคัญที่เราต้องการปรับแก้ไว้อย่างชัดเจนด้วย
ข้อสำคัญที่อยากให้ทุกคนที่เรียนลองหา...คือนักอ่านที่สามารถติงเรื่องของเราได้อย่างชัดเจน สามารถบอกได้ว่าเราผิดพลาดที่ตรงไหนอย่างไร ซึ่งต้องเป็นคนที่เราไว้ใจและให้ความเคารพความเห็นของเขาด้วย
ในกรณีที่เนื้อเรื่องดูเร่งเกินไปนั้น...ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าเรามีพล็อตที่เราอยากเขียนไปถึงมั้ย(เคย์เซย์ก็มี ฉากในดวงใจใช้เวลานานมากกว่าจะไปถึง ประมาณ 20 กว่านอนแนะกว่าจะได้เขียน) ถ้ามีฉากที่ว่านั้นก็อาจจะเป็นตัวบีบให้เราเขียนเรื่องเร่งเกินไป
สิ่งที่แนะนำได้คือในการเขียนขอให้ใจเย็นลงสักนิด อย่าคิดถึงฉากที่เราอยากให้ไปถึงมากจนเกินไป และลองวางพล็อตให้เป็นสเตปดู อย่างน้อยๆ แต่ละตอนน่าจะมีโจทย์สั้นๆ หนึ่งโจทย์เพื่อกำหนดจุดมุ่งหมายว่าเราจะเขียนอะไร ปูเนื้อเรื่องไปทางไหนอย่างไร
อย่าวางพล็อตรวมและไร้ทิศทางมันจะทำให้เราหลงทิศและออกนอกเส้น จนหลายๆ ครั้งอาจจะเร่งไปบ้างยืดไปบ้าง
หลักในการแก้ปัญหานั้นมีไม่มากหรอก(ของเคย์เซย์นะ)
1.ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบร้อน(ถึงในใจจะลุกไปไฟก็เถอะ)
2.ตรวจสอบว่าปัญหาที่เราเร่งไปไปมาจากไหน อะไรที่ทำให้เราเขียนไม่รู้เรื่อง ซึ่งอย่ามองเพียงด้านเดียวเท่านั้น ต้องมองหลายๆ ด้านถึงสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้
3.หาข้อมูลหรือลองเทียบเคียงเนื้อหาเพื่อปรับเรื่องของเราให้คลายความเร่งรีบหรือแก้ปมที่ไม่รู้เรื่องออก
4.หากเทียบเคียงแล้วยังไม่ได้ลองกลับไปที่เรื่องของพล็อตใหม่ พล็อตของเราวางกระชับเกินไปลองวางให้คลายลง หรือยืดไปลองตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก
5.ถ้ายังไม่ได้ไปนอนหลับสักตื่นแล้วลองกลับมาอ่านใหม่ด้วยใจเป็นกลาง อย่าอคติกับงานของเรา ไม่อย่างนั้นแล้วมันก็จะออกมาไม่ดีเหมือนอย่างที่เราคิด
คำแนะนำทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกข้อหรือเรียงลำดับตามนี้ก็ได้ ขอเพียงอย่างเดียว...สิ่งพูดมาตั้งแต่แรก...ใจเย็นๆ อย่ารีบร้อน ดำเนินเรื่องไปตามพล็อต
งานเขียนไม่ใช่สิ่งถาวรวัตถุ...มันสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างใจที่เราต้องการ อย่าคิดว่ามันจะต้องสำเร็จในครั้งแรกหรือครั้งต่อไปมันต้องสำเร็จ คิดแต่เพียงว่าเราเป็นเจ้าของเรื่องเจ้าของปากกาที่จรดสร้างตัวละครเหล่านี้ขึ้นมา เราสามารถเปลี่ยนมันให้เป็นไปอย่างที่ต้องการได้
อย่าท้อแท้ว่ามันจะไม่สำเร็จ....อย่ายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันสู้....อย่าท้อถอยถ้าไม่สามารถแก้ความผิดพลาดที่เราทำไว้...
เราเป็นพระเจ้าในโลกนิยาย เมื่อปมหนึ่งแก้ไม่ได้วางพล็อตใหม่ที่สามารถแก้ได้
Q.จะหาไอเดียยังไงดี?
A.คำถามนี้ตอบง่ายสุดฤทธิ์
การจะหาไอเดียไม่อยากหรอกค่ะ เราสามารถเอาสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวันมาเขียนได้ค่ะ เรียบๆ ง่ายๆ กลับสามารถสร้างรสชาติต่างๆ ให้แก่เรื่องที่เราเขียนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
การอ่านหนังสือมากๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราคิดไอเดียดีๆ ออกมา และเมื่อคิดได้แล้วต้อง "จด" เป็นการกันลืม(นี่เดี๋ยวต้องไปจดเหมือนกัน ปิ๊งทีเดียว 2 เรื่อง - -* แถมต้องบันทึกพล็อตด้วยใกล้ลืมแล้ว[กะล้างสมองกันใหม่เลยหรือยังไง])
แม้แต่การดูภาพยนตร์หรือเล่นเกมส์ก็ช่วยให้เรามีไอเดียได้เหมือนกันนะคะ ขอเพียงให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาอีกนิด รู้จักวิธียำอีกหน่อย สมองน้อยๆ ของเราก็สามารถสร้างเรื่องสุดยอดออกมาได้เช่นกันค่ะ
Q.การจะเป็นนักเขียนที่ดีทำยังไง
A.ข้อยกตัวอย่างคำถามที่มีน้องคนหนึ่งมาถามเอาไว้ (อีกแล้ว)
- นักเขียนที่ดีควารจะเขียนนิยายอย่างช้าสุด ๆกี่เดือน/ปี ดีคะ (ข้าน้อยเขียนมาเกือบ ๆปีแล้วได้แค่ 7ตอนเองซิกๆ)
* เขียนตามสบายเถอะน้อง ต่อให้เป็นนักเขียนเลวร้ายแค่ไหนก็ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาการทำงานของตัวเองได้หรอกค่ะ อย่างพี่นี่ The Princess of The King กว่าจะจบนะ 8 ปีจ้ะ
- จะดีไหมถ้าเราส่งผลงานให้กับสำนักพิมพ์หนึ่งแล้วผลปรากฎออกมาว่าไม่ผ่าน ดังนั้นถ้าเราจะส่งให้สำนักพิมพ์อื่นพิจรณาทั้ง ๆที่ส่งไปอีกสำนักพิมพ์แล้ว จะเรียกว่าเป็นนักเขียนที่ดีไหม?????
* พี่เองกว่าจะออกเป็นเล่มก็ไม่ผ่านมาจากที่อื่นเหมือนกัน ดังนั้นไม่ต้องกังวลหรอก ไม่ผ่านกับที่หนึ่งแล้วส่งอีกทีหนึ่งได้ค่ะ
- คือ.. ข้าน้อยเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเวลาได้จับคอมเท่าไหร่ถ้าเราจะเขียนนิยายลงในสุมดแล้วส่งมาให้สำนักพิมพ์เลยได้ไหมคะ?????
* ตอนนี้พิมพ์คอมเอาดีกว่านะคะ เพราะลายมือมันไม่สามารถแก้ไขในส่วนที่จำเป็นได้ และในบางครั้งมันลายมือบางคนมันอ่านไม่ออกด้วยค่ะ
- อย่างต่ำเลยเราควรจะเขียนนิยายกี่หน้าดี U_U
* ตามแต่ใจน้องค่ะ แต่ตามปกตินิยายเรื่องยาวต้อง 100 หน้าขึ้นไปค่ะ
- พี่ๆนักเขียนใช้เวลานานไหมคะกว่าจะมีคนมาเม้ณ+คนอ่านเยอะๆ
* นานนะ สองถึงสามปีจนกว่าจะมีคนอ่านประจำ ซึ่งจะเอาเรื่องของเราไปบอกแบบปากต่อปาก หลังจากนั้นก็จะเริ่มมีคอเม้นต์เข้ามาเองล่ะค่ะ มือใหม่น่ะ ใช้เวลานานหน่อยล่ะนะ
จากคำถามของน้องมีคำว่า "นักเขียนที่ดี" มาสองสามข้อ น้องหาสามารถหาความหมายของคำว่า "นักเขียนที่ดี" ได้แล้วหรือยังคะ จึงมาถามหาแนวทางการเป็นนักเขียนจากคนที่ออกหนังสือแล้ว
สำหรับคนที่ออกหนังสือแล้ว บางคนยังไม่สามารถเป็นนักเขียนที่ดีได้เลยนะคะ
คำว่า "นักเขียนที่ดี" เคยมีนักเขียนชั้นครูผู้หนึ่งให้ความหมายเอาไว้ว่า "นักเขียนจะต้องรังสรรค์สิ่งที่ดีออกสู่สังคม" การบอกว่า ใครเป็นนักเขียนที่ดีในปัจจุบันนี้นับว่า ยากมาก
หากให้มองด้วยสายตาของพี่แล้ว ในสังคมนี้ยังไม่มีใครเป็นนักเขียนที่ดีนอกจากนักเขียนชั้นครู พวกมือสมัครเล่นที่มีหนังสือออกมาอย่างเราๆ นี้ยังไม่ถึงขั้นของความเป็น "นักเขียนที่ดี" ในระดับนั้น ระดับของพวกเราคือ "นักเขียน" ซึ่งมีความหมายที่กว้างมากกว่านัก
เราสามารถเป็นนักเขียนได้ด้วยตัวของเราเอง เดินไปข้างหน้าแบบไม่ต้องรีบร้อน การรีบเร่งจะทำให้งานของตัวเองออกมาไม่ดีพอ ค่อยๆ ถักสานเรื่องราวของตัวเองอย่างช้าๆ เป็นตัวของเราเองให้ได้มากที่สุด มีแรงบันดาลใจได้แต่ต้องไม่ลอกผลงานของใคร มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่องานของเรา ต่อคนอ่านที่ติดตามผลงานของเรา เขียนงานของเราด้วยความรัก ทุ่มเทด้วยความชื่นชม ไม่ใช่เขียนเพื่ออะไรสักอย่างที่ทำให้งานของเราดูด้อยค่าลง
น้องอย่าเพิ่งถามหาความเป็น "นักเขียนที่ดี" เลย พี่ว่าน้องพยายามทำตัวเองให้เป็น "นักเขียน" ก่อนดีกว่า แล้วที่น้องมาถามแบบนี้ พี่เชื่อว่า สักวันน้องจะเป็นนักเขียนที่ดีได้อย่างที่ต้องการ
Comment 2 Keisei From http://www.pc-bookclub.com/show.php?subject_id=0001414&v=1
Q.นักเขียนต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
A.ที่ตัดสินใจเอาข้อนี้มาตอบเป็นข้อสุดท้าย เพราะถึงบอกไปในข้อแรกๆ เลยก็คงลืมกันหมด เพราะเนื้อหาคำตอบแต่ละข้อที่ผ่านมามันยาวมากๆ
คุณสมบัติของนักเขียน
1.ใจรัก
2.อดทน
3.มีความรับผิดชอบมีความพยายาม
4.อ่านมาก
5.ไม่ลอกชาวบ้าน
6.มีความคิดแหวกแนวไปในทางสร้างสรรค์
7.ยอมรับความเห็นจากทุกคนที่ติติง
8.รับแล้วต้องรู้จักแก้สิ่งที่ผิดพลาด
ไม่จำเป็นต้องมีทุกข้อนี้ครบ ขอเพียงให้มีข้อ 1-5 มาก็เพียงพอแล้วค่ะ และไม่ต้องรีบร้อนก้าวเดินบนเส้นทางนี้หรอกค่ะ งานเขียนไม่ใช่สิ่งที่จะเร่งกันได้ง่ายๆ หากแต่เราต้องค่อยๆ กล่อมเกลาผลงานของเราไปเรื่อยๆ นักเขียนสมัยก่อนเขาเขียนกันเป็นปีๆ ส่งผลงานพิจารณากันเป็นปีๆ ต้องเขียนงานด้วยมือ ใช้เวลานานกว่าเรามากนัก แถม...นักเขียนชื่อดังทั้งหลายใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะได้ผลงานออกมาแต่ละเล่ม
ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป หาจุดเริ่มของเราให้เจอ เราอยากเริ่มที่ไหน อย่างไร แต่อย่าบีบบังคับตัวเอง พวกที่บีบตัวเองตกม้าตายมากันเยอะแล้ว ปล่อยตัวไปตามธรรมชาติ ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจะช่วยให้เราเขียนงานออกมาได้ดีเองค่ะ
ขอจบการตอบคำถามเอาแต่เพียงเท่านี้ หากมีน้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ คนใดต้องการถามอะไรก็ตามได้เลยนะคะ เดี๋ยวจะเข้ามาตอบเข้าที่ตอบได้ค่ะ
Keisei
ผลงานอื่นๆ ของ G-Gals ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ G-Gals
ความคิดเห็น