ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    The Traitor's Theory : ทฤษฎีว่าด้วยการเป็นทรราช

    ลำดับตอนที่ #1 : Theory I : ว่าด้วยจุดวุ่นวายของเรื่อง

    • อัปเดตล่าสุด 22 มี.ค. 52



                    ที่เมืองยาเวมีโรงเรียนพระราชาแห่งหนึ่งตั้งอยู่    อันที่จริงโรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้ชื่อ โรงเรียนพระราชา จริง ๆ หรอก   แต่มันถูกเรียกตามประวัติของผู้ที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้   ซึ่งเมื่อส่วนใหญ่จบไปก็ล้วนแล้วแต่ได้เป็นใหญ่ทั้งสิ้น   ไม่ว่าจะตำแหน่งขุนนาง   ยอดขุนศึก   ผู้ปกครองหัวเมือง    หรือแม้กระทั่งพระราชา
     
                    สาเหตุอีกประการหนึ่งเป็นเพราะชื่อของสถานศึกษาแห่งนี้มีความยาวเหยียดเหลือหลายเกินกว่าที่ผู้คนจะจดจำ   จึงเรียกกันอย่างง่าย ๆ และสั้น ๆ ว่า “โรงเรียนพระราชา”
     
                    ละม้ายคล้ายกับว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไรไม่ทราบ   เมื่อโรงเรียนแห่งนี้มีชื่อเสียงขจรขจายมากขึ้นเรื่อย ๆ อาณาจักรแต่ละแห่งจึงมีการส่งรัชทายาทจริง ๆ ของตนเองเข้ามาศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้เป็นการลับ และเมื่อองค์รัชทายาทต้องเดินทางห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน   แต่ละอาณาจักรก็ย่อมต้องส่งผู้อารักขาติดตามมาด้วย
     
                    ผู้อารักขาที่ว่านี้ก็เหมือนกับในนิยายทั่ว ๆ ไปที่มีอยู่เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง   คือต้องมีอายุไล่เลี่ยกับท่านองค์รัชทายาท   มีความสามารถหรือฝีมือสูงส่งพอควร   แต่โดยมากแล้วก็เทพเทียบไม่ได้กับผู้ถูกอารักขาอยู่ดี   จึงไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรนอกจากเอาไว้เป็นตัวล่อ
     
                    ดังนั้นเพื่อให้เป็นการรอบคอบ แต่ละอาณาจักรจึงส่งคนของตัวเองมาอาศัยอยู่ในเมืองนี้อีกเสียด้วย   มีนับตั้งแต่อัศวินผู้เก่งกล้ายันบาทหลวงผู้รับใช้ทวยเทพ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนปลอมตัวเข้ามาทำอาชีพหลอก ๆ ทั้งสิ้น  พอหลาย ๆ คนจากหลาย ๆ อาณาจักรต่างใช้วิธีการเดียวกันจนเป็นมหกรรมสิ้นคิด   ผู้ปกครองเมืองเล็งเห็นปัญหาใหญ่ที่จะตามมาในไม่ช้า จึงแบ่งแยกที่อยู่อาศัยของชาวเมืองกับผู้ที่ปลอมปนเข้ามาในทันที
     
    ไม่นานนัก เมืองยาเวจึงมีเรื่องเล่าแปลก ๆ เกี่ยวกับประชากรที่อยู่รอบนอกเมือง อาทิ ชาวนาผู้ปราบมังกร พ่อครัวผู้ปราบปีศาจ บลา ๆ ไปถึงเรื่องแปลกประหลาดชนิดชาวสวนผู้สวดมนต์ไล่วิญญาณออกจากหุบเขาเงา
     
    เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่โจกขานและเล่าลือกันจนกู่ไม่กลับในที่สุด
     
    เหล่านักฆ่าเองก็ไม่ยอมน้อยหน้าเช่นกัน   ที่ ๆ รวมบุคคลสำคัญไว้มากถึงเพียงนี่ย่อมเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่า   เป็นธรรมดาสามัญที่พวกนักฆ่าเหล่านี้จะต้องเก่งเทพทัดเทียมองค์รัชทายาทหรือเหนือกว่า    จะโง่ บ้า ใจร้อน หรือติ๊งต๊องไม่ว่ากัน   ความสามารถพิเศษของคนพวกนี้คือแฝงตัวได้อย่างแนบเนียน จนสามารถเข้าไปอยู่ในโรงเรียนพระราชาได้อย่างไม่ผิดสังเกต    และด้วยความสามารถที่ล้นเหลือ (หากความไม่แตกก่อนว่าตัวเองเป็นนักฆ่า)   การจะสังหารเป้าหมายนั้นมิใช่เรื่องยากเลย
     
    แต่น่าเสียดาย นักฆ่าเหล่านั้นมักจะตกหลุมรักกับเป้าหมายทุกทีไป...
     
    ...กรณีที่นักฆ่าโดนว่าจ้างให้เป็นคนอารักขาก็ไม่ต่างเช่นกัน
     
    กาลต่อมาเมื่อถึงจุดอิ่มตัวความหวาดระแวงของแต่ละอาณาจักร   พันธะสัญญาจึงถูกร่างขึ้นอย่างคร่าว ๆ เพื่อเป็นการสงบศึกสงครามเย็นที่ดำเนินมาเนิ่นนาน โดยในสัญญาฉบับนั้นระบุให้แต่ละอาณาจักรส่งรัชทายาทของตนเข้ามาศึกษาในโรงเรียนพระราชานั้นซะ   แม้ที่จริงจะไม่จำเป็นเพราะต่างก็ทำเป็นการลับกันอยู่แล้วก็ตามที    แต่พันธะสัญญาฉบับนั้นก็ช่วยลดความขัดแย้งลงไปได้มาก แน่นอนว่าใคร ๆ ต่างก็แฮปปี้กันถ้วนหน้า เรื่องราวทั้งมวลจึงทำท่าจะจบลงด้วยดี
     
    กระนั้นก็ตามเรื่องราวข้างต้นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเอกของเราแม้แต่น้อย
     
    พระเอกของเรา มีนามว่า เภเรชู เกิด ณ อาณาจักรทูราทอร์น   แต่ไม่ได้เป็นเจ้าชายรัชทายาท ไม่ได้เป็นลูกขุนนางศรีสง่ามั่งมี   เป็นแต่เพียงลูกต๊อกต๋อยของกระยาจกนาม เอชู ผู้ประกอบสัมมาอาชีพเป็นวนิพกร่อนเร่
     
    ชีวิตของเภเรชูตอนเป็นเด็กนั้นค่อนข้างลำบากเอาการมากทีเดียว เพราะตนเองมีพ่อผู้อาศัยอยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง กระนั้นก็ตามความทรงจำในวัยเด็กของเขาก็ยังคงบริสุทธิ์สดใส   สิ่งหนึ่งที่เขาพอจะจำความได้   คือทุกครั้งที่พ่อของตนจะต้องทำการโยกย้ายถิ่นฐาน   จะต้องมีกองกระดาษจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบแผ่นติดมาอยู่เรื่อยเสมอ   และเมื่อเขาถามว่าแผ่นกระดาษเหล่านั้นคืออะไร   บิดาของเขาก็จะตอบว่า
     
    “จดหมายเรียกตัว”
     
    ด้วยความที่เป็นเด็ก ประกอบมีจิตใจดี     เภเรชูจึงคิดฝันไปว่าพ่อของเขาเป็นนักดนตรีที่ยึดมั่นในอุดมการณ์   ออกเร่ร่อนเล่นดนตรีขับกวีเพื่อสานปณิธานของตน   ความคิดฝันของเด็กน้อยล่องลอยไปไกลและภูมิใจพ่อของตนมากขึ้นอีกทวีคูณ
     
    เมื่อเภเรชูได้เรียนหนังสือขึ้นมาเล็กน้อย   เขาจึงสังเกตเห็นว่าในบรรดาจดหมายเรียกตัวของพ่อนั้นประกอบด้วยลายมือตัวบรรจง   ลายมือหวัด ๆ และบางอันก็มีตราประทับของพระราชาเสียด้วย   ครั้นเมื่อเขาสามารถอ่านออกเขียนได้โดยสมบูรณ์   เด็กชายจึงได้รับรู้ว่าในบรรดาจดหมายเรียกตัวนั้น แท้จริงแล้วประกอบด้วย
     
    1.      ใบแจ้งหนี้จากร้านเงิน
    2.      จดหมายขู่ฆ่า
    3.      หมายจับประทับตราพระราชา
     
    ความจริงอันโหดร้ายทำให้เภเรชูต้องเปลี่ยนมุมมองพ่อของตนใหม่   หลังจากที่เขาเริ่มโตขึ้นจนพอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรจึงได้ข้อสรุปว่าพ่อของเขานั้นเป็นนักพนันตัวยง   ติดเหล้า และปากดีหาเรื่องอย่างไม่มีใครเทียบ   แถมด้วยอาการเจ้าชู้หัวงูด้วยอีกต่างหาก
     
    ไม่กี่เดือนถัดมา ระหว่างอยู่ในร้านเหล้าช่วงการเดินทางจากยาเวสู่โดลกูลดาน   เอชูก็เอ่ยปากพูดขึ้นมาว่า “ลูกโว้ย ข้าเบื่อว่ะ รีบไปให้ถึงที่กันเร็ว ๆ เถอะ” แล้วก็เร่งรีบลากเด็กชายตัดตรงไปยังกระท่อมที่อยู่ไม่ไกลมากนักจากตัวเมืองยาเว
     
    ที่แห่งนั้นเองที่เภเรชูได้พบกับ เธา เป็นครั้งแรก
     
    อีกไม่กี่วันถัดมา เขาก็ได้เป็นลูกศิษย์ของเธา



    -----------------------------------
    เฮ้อ...เป็นเรื่องที่ขุดขึ้นมาจากกรุด้วยอารมณ์ยิ้มแย้มกับเกรด  - w -"
    เกรดออกแล้ว  แฮปปี้บานเบอะ   น้องหมาผู้น่ารักของช้านนนน   แข็งแรงกันดีนะ  เอาปลาไปกินหน่อยดีมั้ยเนี่ย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×