ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    -ночь- NighTime' รับวิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #11 : SENT :: Music band of love ดนตรีคือชีวิตของเรา [คุณเพลง]

    • อัปเดตล่าสุด 16 ม.ค. 58


    Music band of love ดนตรีคือชีวิตของเรา
     

    ก่อนอื่นเลยต้องขอบคุณที่ไว้ใจให้ผมวิจารณ์นะครับ แต่ผมต้องขอนอกเรื่องสักหน่อยนะครับ บางครั้งตอนที่คุณเพลงถามว่า รู้จักเพลงไทยเดิมบ้างไหม? ฯ มันให้ความรู้สึกเหมือนคุณคาดหวังไว้ก่อนแล้วว่าเขาไม่รู้จักน่ะครับ อ่านแล้วให้อารมณ์ตัดพ้อ ซึ่งบางคนไม่ค่อยชอบ ตรงนี้ก็ระวังนิดนึงนะครับ ส่วนที่ถามไว้ตรงเพิ่มเติม ผมขอตอบไว้ตรงนี้เลยแล้วกันครับ ในบทวิจารณ์จะได้ไม่ออกนอกเรื่อง 555 แต่คำถามแรกที่ถามว่าอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร ตรงนั้นขอยกไปไว้ให้ส่วนของเนื้อเรื่องครับ โดยส่วนตัวผมค่อนข้างชอบดนตรีไทย เพียงแต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสมันโดยตรง เพราะผมชอบมันผ่าน“การรำ” ซึ่งแน่นอนว่าถ้าผมไม่ได้ขึ้นแสดงรำผมก็ไม่ค่อยได้ฟังมันเท่าไหร่ แหะๆ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องความชอบส่วนบุคคล จะว่ากันก็ไม่ได้ แล้วการที่ไม่ได้ฟังดนตรีไทยจะสรุปว่าไม่ชอบก็ไม่ถูกอีกเหมือนกันครับ เขาอาจจะมีความชอบด้านอื่นมากกว่าก็ได้ ส่วนเรื่องที่ว่าลืมรากเหง้าของตัวเองรึเปล่า ตรงนี้อยากถามนิดนึงครับว่า ทำไมคุณเพลงถึงนำ“ดนตรีไทย”เปรียบเสมือนรากเหง้า? ผมเข้าใจครับว่าอารยธรรมหลายอย่างของไทยเกิดจากดนตรีไทย แต่ถ้าให้นับจริงๆ แล้วก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมความเป็นไทยครับ ผมไม่ได้ต้องการจะทำให้รู้สึกไม่ดีนะ ผมรู้ว่าประเด็นนี้ละเอียดอ่อนและคุณเพลงก็ใส่ใจและรักดนตรีไทย แต่ผมแค่สงสัยเฉยๆ บางครั้งการที่เราเปรียบบางสิ่งกับอีกสิ่งไม่ได้ผิด แต่มันก็ไม่ได้ถูกครับ เพราะสำหรับทุกคน คำว่า“รากเหง้า”อาจจะมีความหมายที่เหมือนกัน แต่ตีความ ขยายความออกไปอย่างแตกต่าง เพราะถ้าถามผมว่าผมลืมรากเหง้าตัวเองไปรึยัง? ผมตอบว่าไม่ ในฐานะคนคนหนึ่ง ผมก็รำลึกเสมอว่าผมมีวันนี้เพราะบรรพบุรุษมากมายที่ทำคุณต่างๆ ไว้ มีประเพณีต่างๆ ที่ทำให้ผมเติบโตขึ้นมาเป็นผมในปัจจุบัน มีพ่อแม่และญาติพี่น้องที่เลี้ยงดูสั่งสอน อันนี้คือความหมายของคำว่า“รากเหง้า”ของผม ดนตรีไทยก็เป็นรากเหง้าของดนตรีในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในรากเหง้าของความงดงามของไทยครับ แต่ผมว่ามันไม่ใช่รากเหง้าของผมน่ะ ออกนอกเรื่องมานาน ต้องขอโทษที่ทำให้คุณเพลงเสียเวลาอ่านพล่ามไร้สาระของผมนะ ถ้าคำวิจารณ์หรือคำตอบข้างต้นทำให้รู้สึกไม่ดี ผมขออภัยไว้ล่วงหน้าเลยนะครับ ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีอะไรทั้งนั้น หากไม่พอใจอะไรสามารถติชมได้ตามสะดวกและความพอใจครับ ขอบคุณอีกครั้งนะครับ ^ ^

    ปล.ผมวิจารณ์เรื่องนี้ในฐานะนิยายเรื่องหนึ่งครับ ไม่มีความข้องเกี่ยวกับความชอบไม่ชอบดนตรีไทยแต่ประการใด



    1.ชื่่อเรื่อง (5 คะแนน/10 คะแนน) สำหรับชื่อเรื่อง สื่อความหมายลึกซึ้งของเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดีครับ แต่ถ้าถามผมว่ามันดึงดูดใจมั้ย? ผมว่ามันดูธรรมดามาก แม้จะตรงกับเนื้อเรื่องส่วนมาก(ซึ่งผมว่ามันไม่สื่อว่าเป็นดนตรีไทย ผมอ่านแล้วให้ความรู้สึกเป็นแนววงดนตรีทั่วไปในปัจจุบันมากกว่า) แต่ความลึกซึ้งของเนื้อเรื่องอาจจะสื่อไปไม่ถึงผู้อ่านให้อยากคลิกเข้ามาอ่านนิยายเรื่องนี้ครับ อีกเรื่อง คือ ชื่อเรื่องครับ Musicband ควรจะเว้นวรรคครับตามหลักภาษาแล้ว เป็น  Music band ครับ

     

    2.เนื้อเรื่อง (15 คะแนน/30 คะแนน) เท่าที่อ่านถึงตอนล่าสุดนะครับ เนื้อเรื่องมีการลำดับที่ดี ดำเนินไปตามตารางเวลาได้ดี เรื่องความน่าติดตามเองก็มีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ดึงดูดขนาดนั้น เนื่องจากเป็นชีวิตของเด็กประถมที่เทียวไปเทียวมาระหว่างห้องเรียนและห้องดนตรี คงจะดึงอะไรออกมาได้ยากครับ ถ้าให้พูดกับตามตรง ที่ทำได้ก็คือดึงปมประเด็นปัญหาเข้ามาทำให้เรื่องธรรมดาไม่ธรรมดาขึ้นมา ซึ่งตรงนี้ผมยังเฉยๆ อยู่ครับ แล้วในเรื่องก็ยังมีจุดขัดแย้งอะไรอยู่หลายอย่าง หากจะให้พูดก็เรื่องความไม่สมเหตุสมผลของบางเหตุการณ์ สุดท้ายคือคุณเพลงยังดึงความเป็น “นิยาย” ออกมาได้ไม่เต็มที่ครับ ผมอ่านแล้วมันไม่ค่อยเหมือนนิยาย ออกไปทางเรื่องเล่าชีวิตมากกว่าครับ ตรงส่วนนี้ก็ลองพิจารณาดูนะครับ

    บทนำ

    เนื้อเรื่องในบทนำนั้นมีจุดที่ผมสะกิดใจครับ ในส่วนตรงที่บอกว่า “นี่ล่ะ คือความเคารพในตัวครู แบบฉบับเด็กดนตรี” ตรงนี้ผมว่าไม่ใช่แค่เด็กดนตรีหรอกครับ ผมว่าไม่ว่าจะเด็กภาษา เด็กศิลปะ เด็กคณิต ฯ ก็เป็นเหมือนกันหมดครับ แค่อาจจะไม่ใช่ทุกคนเท่านั้นเอง ^ ^

     แล้วก็ในย่อหน้า“ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดขึ้นทุกปี...”ตรงนี้ ที่คุณครูกมลพูดถึงการคัดเด็กใหม่ แต่ช่วงแรกได้บอกว่า “ปีนี้จะแปลกหน่อย” แต่พออ่านหลังจากนั้นไปมันบอกว่า “เป็นสิ่งที่เขาทำมาทุกปี” ในการคัดป.5เข้ามาร่วมในวง ซึ่งอ่านแล้วมันขัดแย้งกันเองครับ รบกวนแก้ไขด้วยนะครับ

    ย่อหน้าถัดมาที่ผมพบความขัดแย้ง(?) คือ ย่อหน้าที่เริ่มว่า “การทำวงดนตรีไทยส่งแข่งกับโรงเรียนอื่น...” ในย่อหน้านี้อ่านแล้วช่วงกลางๆ ย่อหน้ามันมั่วๆ ครับ คือ อ่านแล้วจับไม่ได้ว่าต้องการสื่ออะไร แต่ผมมาเข้าใจเมื่ออ่านตอนท้ายประโยค ตรงนี้ก็รบกวนแก้ไขช่วงกลางย่อหน้าด้วยนะครับ

    บทที่1

              ในช่วงที่คุณเพลงบรรยายว่า “นักอ่านอย่าเพิ่งปิดเพลงสิ...” ตรงนี้ทำวงเล็บไว้ดีกว่าครับ มันไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องน่ะครับ ^ ^ แล้วก็ในส่วนที่บอกว่า “คุณลองฟังและพิจารณาดูสิ” ตรงนี้ก็เหมือนกันครับ มันไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง หากต้องการจะบอกผู้อ่านควรวงเล็บไว้ครับ (แต่ที่ถูกต้องคือไม่ควรใส่ แต่จุดประสงค์เรื่องนี้ไม่เหมือนเรื่องอื่นผมจะไม่ติตรงที่ใส่เข้าไปครับ)

                ผมอ่านมาถึงตอนเกือบท้ายๆ ตอนที่คุณเพลงอธิบายว่าเรื่องนี้แต่งเพื่ออะไร ผมแนะนำให้เอาส่วนนี้ไปไว้ท้ายบทครับ ไม่ใช่คั่นกลางบทแบบนี้นะครับ ในส่วนนี้คุณเพลงต้องแยกแยะแล้วล่ะครับ ว่าคุณเพลงจะ “แต่งนิยาย” หรือจะเล่า “ชีวิตและความยากลำบากของสมาชิกวงดนตรีไทย” การที่คุณเพลงใส่ความคิดเห็นส่วนตัวคั่นกลางเรื่องนั้น ไม่ใช่สิ่งที่สมควรทำในนิยายครับ ผมเข้าใจถึงจุดประสงค์ที่แต่งเรื่อง เข้าใจว่าคุณเพลงอยากให้คนรู้จักและรักดนตรีไทยมากขึ้น อยากให้คนเข้าใจว่าดนตรีไทยไม่ได้ง่ายครับ แต่เรื่องนั้นคุณเพลงก็ต้องสื่อออกมาในฐานะของ “นิยาย” ที่คุณเพลงเลือกเป็นสื่ออนุรักษ์นะครับ

                สุดท้ายนี้ก็ขอตอบคำถามแรกที่คุณเพลงได้ถามไว้ครับ “อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรกับดนตรีไทย” พูดตรงๆ ความรู้สึกผมก็ยังคงเป็นเฉยๆ เพราะคุณเพลงพยายามยัดเยียดความรู้สึกของคุณเพลงให้ผู้อ่านมากเกินไปครับ จนสิ่งที่คุณเพลงต้องการจะสื่อมันดูจืดชืดไป ถ้าเทียบกับอารมณ์ความชอบในดนตรีไทยของคุณเพลง (ที่บางครั้งผู้อ่านบางท่านไม่ได้มีเท่า) แต่ละคนต่างความคิด ต่างความชอบ หากเขาเข้ามาอ่านเรื่องนี้ แสดงว่าเขาต้องมีความชอบดนตรีไทยในระดับหนึ่งอยู่แล้วครับ แต่จะมากจะน้อยขึ้นกับบุคคล ผู้อ่านบางท่านอาจจะเหมือนผม ที่อ่านแล้วรู้สึกว่า “อืม ก็ดนตรีไทยที่ฉันรู้จักล่ะนะ” หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่า “ยังมีเด็กที่สนใจดนตรีไทยอยู่ ดีใจจัง” ด้วยความที่ผมโตมากับดนตรีไทยในระดับหนึ่ง มีเพื่อนเรียนขิม ชอบรำ เล่นระนาด ตัวเองก็รำบ้างอยู่แล้ว พออ่านเรื่องนี้ก็รู้สึกเฉยๆ เพราะตอนเด็ก ผมก็เคยผ่านประสบการณ์มาบ้าง แม้จะไม่เท่าในเนื้อเรื่อง แต่ผมก็เข้าใจในความยากลำบาก(เห็นจากเพื่อนผม) รอบตัวผมมีคนสนใจในศาสตร์ของดนตรีไทยมากมาย ผมเลยรู้สึกเฉยๆ ครับ

     

    3.การใช้ภาษา (20 คะแนน/35 คะแนน) ภาษายังไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ครับ ยิ่งที่คุณเพลงบอกว่าเน้นคำพูด ยิ่งยากเลยครับ เพราะการจะเน้นคำพูดให้น่าติดตามอ่านในเรื่องราวที่ดูเยอะแบบนี้ แล้วคุณเพลงยังติดเรื่องภาษาวิบัติด้วยแล้ว (ตรงนี้ขอนอกเรื่องนิดนึงครับ อยากอนุรักษ์ความเป็นไทย ก็ควรใช้ภาษาที่เหมาะสมด้วยนะครับ ^ ^) ส่วนการบรรยายเองก็ยังติดๆ ขัดๆ ไม่ค่อยลื่นไหลเท่าไหร่ แต่ตรงนี้ประสบการณ์จะช่วยพัฒนาฝีมือเองครับ หรือไม่ก็คืออ่านหนังสือเยอะๆ เราจะซึมซับรูปแบบการเขียนต่างๆ มาอัตโนมัติครับ มันอาจจะต้องใช้เวลามากน้อยตรงนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนครับ

    เรื่องแรกที่ผมเปิดมาเจอคือการใช้อีโมติค่อนครับ ( เช่น :) ) ผมไม่แนะนำให้ใช้อีโมติค่อนร่วมกับการบรรยายนะครับ ส่วนเรื่องที่สอง คือ การใช้ไม้ยมก ( ๆ ) ครับ ทุกครั้งหลังการพิมพ์ไม้ยมก ผมแนะนำให้เว้นวรรคด้วยนะครับผม ^ ^

                เรื่องถัดมาคือการใช้ภาษาพูดและคำวิบัติครับ ในการเขียนนิยายไม่ควรนำคำพวกนี้มาใช้ครับ เพราะจะทำให้เสียอรรถรสในการอ่าน นะครับ ตรงนี้ก็ขอฝากไว้ให้พิจารณาดูนะครับ

                อีกเรื่องคือการใช้ภาษาบรรยายครับ บางครั้งคุณเพลงจะติดใส่การบรรยายแบบบุคคลที่หนึ่งไป ซึ่งราวๆ 80% ของทั้งเรื่องเป็นแบบมุมมองบุคคลที่สาม ตรงนี้ต้องระวังครับ ใช้ภาษาให้สม่ำเสมอ การบรรยายในรูปแบบเดียวกันจะทำให้การอ่านไหลลื่นมากกว่า

    บทนำ คำผิด เข้าสู้ – เข้าสู่ , เห้อ – เฮ้อ , อาจาร – อาจารย์

    ในบทนี้มีเรื่องการใช้คำลากเสียงอย่าง “อาจารรรรรรรรย์!!!!!!!!!!!” หรือ “...เล่น ~” ซึ่งในการเขียนอนุโลมให้ซ้อนได้สามตัวอักษรครับ แต่อย่างคำว่า “อาจารย์” ถ้าเราเพิ่ม “ร” เข้าไป เราจะไม่สามารถอ่านออกเสียงว่า “อา – จาน” ได้นะครับ ผมว่าใช้แค่ “อาจารย์!!!” ก็พอแล้วล่ะครับ ส่วนตัวหนอนเนี่ย ผมไม่แนะนำให้ใช้ครับ มันทำให้เสียอรรถรสในการอ่านได้

    ผมเจอประโยคแปลกๆ ครับ

    - ไม่เป็นไรและนั่นไม่ใช่ปัญหา เดี๋ยวพวกเราจะพาคุณไปสัมผัสกับมันเอง

                ตรงส่วนนี้ เนื่องจากการบรรยายของคุณเพลงเป็นการบรรยายแบบผู้เขียน(หรือตัวเอก)คุยกับนักอ่าน เลยทำให้ประโยคมันแปลกไปครับ เวลาเราพูด เราจะไม่ค่อยมี(หรือไม่มี?)คำว่า“และ”ต่อท้ายคำว่า“ไม่เป็นไร”ครับ ตรงนี้แนะนำให้คุณเพลงลองอ่านออกเสียงดูนะครับ ผมว่าถ้าเป็น “ไม่เป็นไร นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะเดี๋ยวพวกเราจะพาคุณไปสัมผัสกับมันเอง” จะดูเป็นธรรมชาติและไหลลื่นมากกว่าครับ

    - อีกนิดเดียวก็จะถึงจุดที่มุ่งหมายไว้แล้ว!

                ตรงนี้ความแปลกอยู่ที่ลักษณะการใช้คำในการบรรยายครับ คุณเพลงใช้การบรรยายแบบบุคคลที่สาม ซึ่งในประโยคนี้ให้อารมณ์ของการบรรยายบุคคลที่หนึ่ง (มุมมองตัวเอก) มากกว่า ถ้าให้ผมลองแก้ดู ผมจะแก้เป็น “ซึ่งอีกนิดเดียวเธอก็จะถึงจุดที่มุ่งหมายไว้แล้ว!” ครับ แต่ก็สามารถแก้เป็นอย่างอื่นได้นะครับ เผื่อคุณเพลงจะมีประโยคที่สวยกว่าที่ผมเสริมให้ดูเป็นตัวอย่าง ^ ^

    - เสียงแหลมเอ่ยขึ้นเรียกผู้เป็นอาจารย์ของเธอดังก้องไปทั่วห้องดนตรี

                ตรงประโยคนี้ขาดคำเชื่อมครับ เพราะนามหนึ่งตัวกระทำสองอย่างซ้อนกันไม่ได้ ถ้าอ่านแล้ว มันจะได้ว่าประโยคข้างต้นนั้นมาจากสองประโยคนี้ครับ “เสียงแหลมเอ่ยขึ้นเรียกผู้เป็นอาจารย์ของเธอ / เสียงนั้นดังก้องไปทั่วห้องดนตรี” (ตรงนี้อธิบายไม่ค่อยถูกครับ ไม่รู้คุณเพลงจะเข้าใจมั้ย) ผมว่าควรจะแก้เป็น “เสียงแหลม ที่ เอ่ยขึ้นเรียกผู้เป็นอาจารย์ของเธอดังก้องไปทั่วห้องดนตรี” หรือ “เสียงแหลมเอ่ยขึ้นเรียกผู้เป็นอาจารย์ของเธอ เสียงนั้นดังก้องไปทั่วห้องดนตรี”

    - เพลงขึ้นไวจริง

                ตรงนี้เหมือนกันกับตรง “อีกนิดเดียวจะถึงจุดที่มุ่งหมายไว้แล้ว” ครับ คือให้อารมณ์ของบุคคลที่หนึ่งเข้ามา

                มีตรงที่ขึ้นย่อหน้าว่า “ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดขึ้นทุกปี...” ตรงนี้ควรหาประโยคมาเติมก่อนหน้าครับ เข้าใจครับว่าเป็นการบรรยายต่อจากย่อหน้าก่อนหน้า แต่ในการขึ้นย่อหน้าใหม่ ก็ควรจะทำให้ประโยคสมบูรณ์นะครับ ^^ ตรงนี้อาจจะเป็น “ซึ่งงานนี้เป็นงานใหญ่...” เพื่อเติมประโยคให้เต็มว่า อะไร คือ งานใหญ่ ที่ว่าครับ

    บทที่1 คำผิด ปลิ่ว – ปลิว , ท้าวคาง – เท้าคาง , สมามัคคี – สามัคคี , ท่า – ถ้า , คิดหนัด – คิดหนัก , จระเข้ – จะเข้ , จำทำ – จะทำ , สังเกตุ – สังเกต , ปฏิวัตร – ปฏิวัติ , แทง – แรง , เอ่า – เอ้า , เค้า – เขา , โคล่น – โค่น , คนนึง – คนหนึ่ง , แล็ว – แล้ว

    ในตอนนี้ผมเจอจุดขัดด้านภาษา คือ คำว่า“เพิ่ง” คำนี้จริงอยู่ว่าใช้คำว่า “พึ่ง” แทนได้ แต่จะสะกดแบบไหนผมแนะนำว่าให้ใช้ให้เหมือนกันครับ เพราะในบทนำคุณเพลงสะกดว่า “พึ่ง” แต่ในบทนี้กลับใช้คำว่า “เพิ่ง”

    เจอประโยคแปลกๆ ครับ

    - ไม่วาย เพื่อนตัวแสบคนเดิมจะเอ่ยล้อประชดประชันพลอยอีกครั้ง

                ในประโยคนี้ไม่ต้องมีคำว่า“จะ”นะครับ ถ้าจะใส่ควรจะใช้คำว่า“ก็”มากกว่า เป็น “ไม่วาย เพื่อนตัวแสบคนเดิม(ก็)เอ่ยล้อประชดประชันพลอยอีกครั้ง”

    - ดนตรีที่มีทักษะการเล่นและลูกเล่นที่ยากพอสมควรขนาดนี้?

                ตรงนี้รูปประโยคไม่ได้แปลกครับ แต่เป็นน้ำเสียงของประโยค ผมแนะนำว่าไม่ต้องใส่ “?” ข้างหลังครับ

    - ยังต้องทำให้วิชาการลดลงด้วย

                ในประโยคนี้ไม่ต้องมีคำว่า “ต้อง” ครับ เพราะการทำวง จริงอยู่ว่าเสียเวลาเรียน แต่มันสามารถควบคุมได้ ไม่ถึงขนาดที่ “ต้อง” ลดวิชาการลงทุกราย เหมือนเป็นกฎขนาดนั้น เป็น “ยังทำให้วิชาการลดลงด้วย”

    - อืม.... ซึ้งดีนี่

                มันโผล่มาจากไหนหรอครับ? ตรงนี้อาจจะเป็นความรู้สึกของคุณเพลง(รึเปล่า?) แต่ก็ไม่เข้ากับบทก่อนหน้าครับ เพราะอย่างที่แจงไปว่าการบรรยายเรื่องนี้เป็นมุมมองบุคคลที่สามครับผม

    - ครูสอนตรี

                พิมพ์ตกครับผม ต้องเป็น”ครูสอนดนตรี”

    - ทำไมเพลงเสียมันมารยาทแบบนี้วะ

                ทำไมเพลงมันเสียมารยาทแบบนี้วะ

    บทที่2 คำผิด เอ่า – เอ้า , ครูบาอาอาจารย์ – ครูบาอาจารย์ , แต่ะ – แต่ , ใช้ – ใช่ , อาจาร – อาจารย์ , ของะธอ – ของเธอ , กนะดาษ – กระดาษ , พิเลน – พิเรนทร์ , เคร่งดครียด – เคร่งเครียด , โอเคร – โอเค

    - ทุกคนก็จะประจักษ์!!!แจ้ง...

                ตรงนี้ไม่ควรใส่อัศเจรีย์คั่นนะครับ คำว่า“ประจักษ์แจ้ง”มันเป็นคำติดกัน

    ความจริงในบทนี้ก็ยังเหลือประโยคแปลกๆ อยู่บ้าง แต่มันซ้ำกับบทที่แล้ว ผมเลยขอข้ามนะครับ

    บทที่3 คำผิด แต่งตาก – แตกต่าง , แก่ – แก , ความเข้ารพ – ความเคารพ , เอ่า – เอ้า , ขอม – ของ , มือซอง – มือซอของ , จระเข้ – จะเข้ , ปากกาก – ปากกา , เตือ – เตือน , ลึกซึก – ลึกซึ้ง , มิน – มิส , อัติโนมัติ – อัตโนมัติ , ว่ำ – ว่า

    - กมลเดินเข้ามาในห้องด้วยท่าทางค่อนข้างน่าจะอารมณ์ดี

                ตรงนี้เลือกได้เลยครับผม จะลบ”ค่อนข้าง” หรือจะลบ”น่าจะ” พอมารวมกันแล้วความหมายมันแปลกๆ ครับ ควรจะเป็น “กมลเดินเข้ามาในห้องด้วยท่าทางค่อนข้างอารมณ์ดี” หรือ “กมลเดินเข้ามาในห้องด้วยท่าทางน่าจะอารมณ์ดี” ครับผม

     

    4.ตัวละคร (6 คะแนน/15 คะแนน) ตรงนี้ยังทำได้ไม่ดีครับ ตัวละครแต่ละตัวไม่มีเอกลักษณ์ จะมีบ้างก็โจนัทที่ดูโดดเด่นขึ้นมาเพราะความแปลกของตัวเขาเอง แถมตัวละครเยอะมาก การบรรยายลักษณะนิสัยและรูปร่างคร่าวๆ ก็ไม่มี ทำให้ยากต่อการจดจำตัวละครครับ อีกเรื่องคือเรื่องนี้อิงตัวละครทุกตัวจากความจริง มันเป็นการยากที่เราจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของคนคนนั้น และการจะเข้าถึงอารมณ์ นิสัยของตัวละครเองก็ยาก ซึ่งตรงนี้ผมช่วยอะไรไม่ได้จริงๆ นอกจากให้คุณเพลงศึกษาเพื่อนๆ พี่ๆ ของคุณเพลงให้ละเอียด หาเอกลักษณ์ของคนคนนั้น และดึงมันออกมาให้เด่น และผู้อ่านสามารถจำตัวละครได้ แถมอีกอย่างหนึ่ง คือ ในการแต่งตัวเองลงไปในเรื่อง หรือคนที่รู้จักลงไป บางครั้งมันมีการอวยตัวละครได้ ตรงนี้ก็ระวังด้วยนะครับ ในฐานะนักเขียน เราต้องคงความเป็นกลางและแต่งทุกตัวละครตามความเป็นจริง เราอาจจะชอบคนนั้น ไม่ค่อยชอบคนนี้ ไม่ใช่สาเหตุที่เราจะแต่งบทนี้บทนั้นอย่างไร ตรงนี้ผมก็ให้เป็นข้อคิดไว้เฉยๆ ว่าให้ระวัง บางทีเราไม่รู้ตัวครับ ^ ^

     

    5.การจัดรูปแบบ (7 คะแนน/10 คะแนน) ตัวอักษรตัวใหญ่อ่านง่ายครับ ธีมก็อ่านสบายตา แต่การเว้นย่อหน้ายังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สม่ำเสมอ เวลาอ่านบางทีก็สะดุดครับ อีกเรื่องคือการจัดวางรูปแบบที่เดี๋ยวก็มีย่อหน้าที่คุณเพลงพิมพ์เปิดอกคั่นระหว่างเนื้อเรื่อง มันทำให้เสียอรรถรสในการอ่านและไม่ค่อยเหมาะสมครับ

     

    รวมคะแนน 53 คะแนน/100 คะแนน

     

     

    RECEIVE’

    ชื่อของท่าน :

    นามปากกา :

    วันที่รับงาน :

    ความรู้สึกต่องานวิจารณ์ :

    รบกวนแปะแบนเนอร์และโหวตให้ด้วยนะครับ :

    เพิ่มเติม (คำติชม ฯ) :

    ขอบคุณที่ไว้ใจผมให้ทำงานวิจารณ์ชิ้นนี้นะครับ หากมีผลงานชิ้นใหม่ ยินดีต้อนรับที่ NighTime’ รับวิจารณ์นิยายนะครับ  ^ ^


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×