ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Resident Life ศัลยแพทย์ฝึก (หัด) หนัก

    ลำดับตอนที่ #3 : บทที่ 2 เรสซิเดนต์หนึ่งแสนรู้

    • อัปเดตล่าสุด 13 มิ.ย. 67


    วันถัดมาชินที่ยังไม่ได้นอนทั้งคืนจากการอยู่เวรเดินทอดน่องขึ้นลิฟต์ไปยังวอร์ดผู้ป่วยศัลยกรรมเพื่อเริ่มราวน์เช้า

    การราวน์วอร์ด (Round) คือการเดินตรวจคนไข้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตามเตียงต่าง ๆ ทั้งในวอร์ดสามัญและห้องพิเศษ โดยวอร์ดที่ทีมศัลยกรรมต้องไปตามราวน์ประกอบด้วยศัลยกรรมชายและหญิงทั้งหมดหกวอร์ด ห้องผู้ป่วยพิเศษ วอร์ดไอซียู ตึกพระสงฆ์ และคนไข้ต่างวอร์ดที่มีอาการทางศัลยกรรม

    ทีมราวน์ในโรงเรียนแพทย์มักจะมีขนาดใหญ่ราว 5-10 คน เดินเกาะกลุ่มกันเป็นขบวน คล้ายขุนนางผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้ติดตาม

    ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในทีม คือพี่ชีฟหรือพี่รังสรรค์ ตามด้วยเรสซิเดนต์สาม คือพี่ต่อและพี่เจเจ ชายหนุ่มเอวบางร่างน้อยผู้อ่อนโยนและใจดีกับทุกคน เรสซิเดนต์สองมีชินเพียงคนเดียว เพราะอีกคนที่ต้องวนด้วยกันเพิ่งลาออกไปได้ราวสองเดือน ส่วนเรสซิเดนต์หนึ่งคือน้องตั้ม ผู้ทำการผ่าตัดไส้ติ่งกับชินเมื่อคืน และน้องปอนด์ รุ่นน้องช่างพูดที่ตัวผอมเก้งก้าง ปิดท้ายขบวนด้วยน้องเอ็กซ์เทิร์น อินเทิร์น และนักศึกษาแพทย์ปีสี่ปีห้าอีกประมาณ 4-5 คน

    นี่คือกิจกรรมยามเช้าที่นักศึกษาทุกคนจะต้องเข้าร่วม เพื่อรับฟังการสนทนาประสาหมอ ๆ ที่เต็มไปด้วยการพูดไทยคำอังกฤษคำ ทั้งยังคั่นด้วยศัพท์เฉพาะทางการแพทย์อันน่าปวดหัว

    และหากใครกำลังสงสัยว่าอาจารย์แพทย์ไปไหน คำตอบก็คือ บุคคลเหล่านั้นมักไม่ค่อยมาราวน์ด้วย ชนชั้นสูงทั้งหลายต่างมีภารกิจส่วนตัวต้องไปทำ จึงมีหน้าที่เพียงรับโทรศัพท์ที่พี่ชีฟโทรไปรายงานเท่านั้น

     

    ทีมราวน์เดินไปตามเตียงคนไข้ และทุกครั้งที่เปลี่ยนเตียงใหม่ก็จะเริ่มต้นด้วยคำถามวัดใจจากพี่ชีฟ

    “เคสนี้เป็นของน้องปีสี่คนไหนครับ” 

    “ผมครับ” น้องนักศึกษากาวน์ยาวสีขาวคนหนึ่งพูดขึ้น

    “คนไข้เป็นอะไรมาครับ”

    “เป็น Gall Stone มาผ่า LC ครับ” รุ่นน้องรายงานด้วยศัพท์แพทย์ที่แปลว่าคนไข้มาด้วยนิ่วในถุงน้ำดีและกำลังรอผ่าตัดส่องกล้อง

    พี่สรรค์พยักหน้าเล็กน้อย “แล้วรู้ว่าเป็น Gall Stone ได้ยังไง”

    “ดูจากอัลตราซาวน์ครับ” รุ่นน้องตอบฉับไว 

    แต่พี่ชีฟกลับส่ายหน้าเบา ๆ

    “พี่หมายความว่าคนไข้มีอาการแบบไหนมา เราถึงเลือกทำอัลตราซาวน์ครับ”

    น้องนักศึกษาปีสี่ยืนนิ่ง กะพริบตาน้อย ๆ แสดงออกชัดเจนว่าไม่สามารถตอบคำถามได้

    “พี่เอ็กซ์เทิร์นว่ายังไงครับ” พี่ชีฟหันไปทางน้องผู้หญิงเสื้อกาวน์สั้นอีกคนหนึ่ง

    “คนนี้มีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ มาสามเดือนค่ะ ก็เลยได้อัลตราซาวน์”

    แล้วพี่สรรค์ก็พยักหน้า

    “น้องปีสี่เพิ่งขึ้นมาชั้นคลินิกคงยังไม่เข้าใจ คนไข้โรงเรียนแพทย์มักได้รับการวินิจฉัยมาเรียบร้อยแล้วว่าเป็นโรคอะไร แต่ความจริงการดูเคสเราควรใส่ใจอาการแสดงที่คนไข้มาโรงพยาบาล เพราะในชีวิตจริงเราคือคนที่ต้องเจออาการเหล่านั้นด้วยตัวเอง”

    ตอนนี้น้อง ๆ ทุกคนต่างพยักหน้า ชื่นชมรุ่นพี่คนนี้ที่ยอมเสียสละเวลาสั่งสอนวิชาอย่างตั้งใจ ผิดกับพี่ต่อที่หันมาสบตาชินอย่างเบื่อหน่าย อยากให้การราวน์จบลงโดยเร็วแบบไม่เสียเวลาพูดคุยกับน้อง ๆ นักศึกษา

    ชายหนุ่มยิ้มกลับให้รุ่นพี่อย่างปลอบใจ วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ไม่ได้อยู่เวร พี่ต่อจึงต้องการเลิกงานให้เร็วขึ้นเพื่อจะได้ใช้เวลาวันหยุดที่เหลือเพียงครึ่งวันอย่างมีค่า

    “ที่น้องบอกว่าปวดท้อง เขามีอาการปวดแบบไหนครับ” พี่สรรค์ที่ไม่ทันสังเกตสายตานั้นถามต่อไปอย่างมุ่งมั่น

    น้องเอ็กซ์เทิร์นนิ่งเงียบเมื่อไม่สามารถตอบได้ พี่ชีฟจึงเปลี่ยนเป้าหมายโดยหันไปจ้องหน้าน้องอินเทิร์น 

    แม้แต่การเรียนการสอนในวงราวน์ ทุกอย่างก็อ้างอิงตามลำดับยศ ผู้ที่ถูกถามเป็นลำดับแรกมักจะเป็นนักศึกษาปีสี่ และหากตอบไม่ได้ คำถามก็จะถูกโยนขึ้นมายังนักศึกษาปีห้า เอ็กซ์เทิร์น อินเทิร์น และเรสซิเดนต์ตามลำดับ

    “ปวดแบบ Biliary Colic ครับ เป็นอาการปวดบีบ ๆ หลังกินอาหารมัน” น้องอินเทิร์นตอบ

    พี่สรรค์ส่ายหน้าเล็กน้อยเมื่อคำตอบนั้นไม่ถูกต้อง แต่ยังไม่ทันหันไปหาเรสซิเดนต์ปีหนึ่งก็มีเสียงพูดแทรกขึ้นมา

    “Biliary Colic เป็น Misnomer คือจริง ๆ แล้วไม่ใช่ Colicky pain แต่เป็น Dull aching pain”

    และนั่นทำให้พี่ชีฟอมยิ้มที่มุมปาก เหลือบมองผู้ท้าชิงที่ก้าวเข้ามาในสังเวียนโดยไม่ต้องเชื้อเชิญ

    ใบหน้าแหลมซีด ดวงตาเรียวรีของน้องปอนด์กำลังยิ้มแป้นตอบกลับ ไม่มีใครรู้สึกแปลกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมันคอยตอบคำถามเช่นนี้เป็นประจำ

    คำตอบที่ฟังดูคล้ายปรัชญาของมันหมายความว่า การปวดท้องจากนิ่วในถุงน้ำดีคืออาการปวดตื้อ ๆ แน่น ๆ (Dull pain) ต่างจากชื่ออาการที่ถูกเรียกว่า Colic อันมีความหมายว่าปวดบิด ๆ บีบ ๆ (Colicky pain) ซึ่งเป็นการใช้คำไม่เหมาะสม ทั้งยังทำให้สับสน คล้ายกับการเรียกหมึก ว่า ‘ปลาหมึก’ทั้งที่หมึกไม่ใช่ปลา

    “แล้วเราแยก Biliary Colic กับ Dyspepsia ยังไง เพราะเป็นอาการปวดหลังกินอาหารเหมือนกัน”

    พี่สรรค์ที่ดูพึงพอใจเริ่มยิงคำถามต่อว่าจะแยกอาการปวดจากนิ่วในถุงน้ำดีและปวดจากโรคกระเพาะได้อย่างไร

    “แยกได้โดย Onset กับ Duration คือ โรคกระเพาะจะ Onset เร็วกว่า เมื่อกระเพาะเริ่มหลั่งกรดหลังกินอาหารก็จะมีอาการขึ้นมา ส่วน Biliary colic ต้องรอให้อาหารเคลื่อนที่ผ่านกระเพาะลงสู่ Duodenum กระตุ้นการหลั่งเอนไซม์ที่ทำให้ถุงน้ำดีบีบตัวก่อน ถึงจะเริ่มมีอาการบีบตัวครับ อีกอย่าง Duration โรคกระเพาะจะปวดไม่นาน แต่  Biliary colic จะยาวนานกว่าเป็นหลายชั่วโมง บางคนปวดข้ามคืนจนกลายเป็น Cholecystitis ได้เลย”

    พี่สรรค์พยักหน้า ในขณะที่น้อง ๆ นักศึกษาเริ่มตาลอย พยายามตามศัพท์เหล่านั้นให้ทัน

    “แล้วทำไมคนนี้ต้องผ่า เราผ่าทุกคนที่เป็นนิ่วรึเปล่า”​ พี่ชีฟหันกลับไปถามน้อง ๆ ทุกคน เรียกสติให้กลับมา

    “เราผ่าเมื่อคนไข้มีอาการปวด หรือที่เรียกว่า Symptomatic gall stone ค่ะ” น้องเอ็กซ์เทิร์นคนหนึ่งเอ่ยปากตอบ

    “แล้วแค่ปวดทำไมต้องผ่า กินยาแก้ปวดเฉย ๆ ไม่ได้เหรอ”

    พี่ต่อขยับตัวอยู่ด้านหลังชิน อีกทั้งยังถอนหายใจรดต้นคอเบา ๆ จนทำให้เขาต้องกลั้นหัวเราะด้วยความจั๊กจี้

    ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับเรสซิเดนต์ศัลยกรรม ไม่แปลกที่พี่ต่อรู้สึกเบื่อจะฟัง แต่เป็นธรรมชาติของผู้มีความรู้สูงส่งบางคนที่ชอบส่งมอบความรู้ต่อไปอย่างไม่จบสิ้น และพี่ชีฟรายนี้ก็เป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น

    “หากคนไข้เริ่มมีอาการปวด จากการวิจัยพบว่ามีโอกาสเกิด อาการแทรกซ้อนเช่น Acute Cholecystitis (โรคถุงน้ำดีอักเสบ) ได้มากถึง 10-20%ครับ” น้องปอนด์เอ่ยปากขึ้นเมื่อไม่มีใครพูดอะไรออกมา

    คนไข้โรคนิ่วในถุงน้ำดีที่แสดงอาการ หากปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ หรือให้กินเพียงยาแก้ปวดก็อาจจะเริ่มมีการอักเสบและติดเชื้อได้ จึงแนะนำให้ผ่าตัดเสียแต่เนิ่น ๆ

    “เปอร์เซ็นต์ก็มาว่ะ” พี่ต่อที่ยังคงยืนอยู่ข้างหลังซุบซิบ  ท่ามกลางสายตาตำหนิของพี่เจเจ เรสซิเดนต์ปีสามอีกคน

    แม้พี่เจเจก็อยากรีบราวน์ให้เสร็จ แต่มีมารยาทพอที่จะไม่แสดงท่าทางอะไรออกมา ส่วนชินได้แต่คิดว่าศึกครานี้คงยืดเยื้อกว่าที่คิด

    “แล้วคนที่ไม่มีอาการล่ะ ต้องผ่ามั้ย” พี่ชีฟยังเดินหน้าต่อ

    “ไม่ต้องผ่าทุกคนครับ จะผ่าในกรณี เช่น Porcelain gall bladder หรือ Relative Indication เช่น นิ่วมีขนาดใหญ่กว่าสามเซนต์ เป็นโรคเลือด ทาลัสซีเมีย หรือจำเป็นต้องไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีหมอครับ” มันพรั่งพรูความรู้และศัพท์แพทย์เฉพาะออกมาอย่างมั่นใจ

    แม้คำตอบนั้นจะเป็นสิ่งที่ชินรู้อยู่แล้ว แต่ก็อดประทับใจในความรู้ที่เหนือกว่าคนรุ่นเดียวกันของมันไม่ได้ ไหนจะลีลาการตอบที่รวดเร็วและความใจกล้าเปิดฉากสู้พี่ชีฟอีกด้วย

    ส่วนพี่สรรค์คล้ายยังมีคำถามอีกมากมายที่อยากจะโพล่งออกมา แต่ดูเหมือนจะได้สติ นึกได้ว่าเสียเวลาที่เตียงนี้มากเกินควรแล้ว ยังมีโอกาสอีกมากที่จะให้ความรู้แก่เด็ก ๆ และขัดเกลาดาวรุ่งดวงนี้ให้เจิดจ้า 

     

                โดยทั่วไปเวลาที่ใช้ในการราวน์ขึ้นกับปริมาณและความซับซ้อนของโรคที่คนไข้เป็น สำหรับหน่วย Hepato เวลาเริ่มราวน์คือหกโมงครึ่งของทุกเช้า เนื่องจากมีปริมาณคนไข้เยอะเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับหน่วยอื่น และในวันนี้จำนวนคนไข้ในมือของทีมอยู่ที่ 53 คน อีกทั้งความซับซ้อนของโรคก็ไม่ได้ด้อยกว่าหน่วยไหนแม้แต่น้อย 

    หากคำนวณคร่าว ๆ ให้แพทย์ใช้เวลากับคนไข้ราว 5 นาทีต่อคน การราวน์ในเช้าวันนี้ต้องใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงถึงจะเรียบร้อย ซึ่งแน่นอนไม่มีแพทย์คนไหนมีเวลามากมายขนาดนั้น ด้วยเหตุนี้พี่ชีฟจึงเลิกซักไซ้ และเดินไปยังเตียงถัดไปซึ่งมีคุณป้าอายุราว 65 ปี นอนรออยู่

    “ใครเป็นเจ้าของเคสครับ” พี่ชีฟเริ่ม

    “คนไข้เป็น HCC กำลังรอทำ TACE ค่ะ” น้องปีสี่ผู้หญิงคนหนึ่งตอบ

    “HCC ย่อมาจากอะไรครับ”

    “Hepato Cellular Carcinoma ค่ะ” รุ่นน้องเอ่ยชื่อเต็มของมะเร็งตับชนิดหนึ่ง คนไข้รายนี้กำลังนอนรอการให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง (TACE :Transarterial Chemoembolization)

    “มี Risk Factor อะไรบ้างครับ” พี่สรรถามถึงปัจจัยที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดโรคดังกล่าว

    “Cirrhosis ค่ะ”​ รุ่นน้องตอบ อาการตับแข็ง (Cirrhosis) คือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ เพราะการอักเสบเรื้อรังเป็นระยะเวลานานมักนำไปสู่การเกิดเซลล์มะเร็ง

    “แล้วมีสาเหตุไหนที่ไม่ต้องเป็น Cirrhosis แล้วกลายเป็น HCC ได้เลยมั้ยครับ” พี่สรรค์เริ่มติดลมในการโปรยทานความรู้ให้แก่น้อง ๆ อีกครั้ง

    “Hep B ครับ” น้องเอ็กซ์เทิร์นผู้ชายคนหนึ่งตอบ Hep B คือคำย่อของ Hepatitis B หรือเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

    “ทำไมล่ะครับ”

    “เอ่อ...น่าจะจีโนมอะไรซักอย่างใช่มั้ยครับ” รุ่นน้องอ้ำอึ้ง

    “ใช่แล้ว ไวรัสจะแทรกจีโนม (สารพันธุกรรม) ของตัวเองเข้าไปในเซลล์ตับ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งโดยไม่ต้องผ่านภาวะตับแข็ง” พี่สรรค์เฉลยออกมาก่อนที่น้องปอนด์จะทันอ้าปากตอบ

    “แล้วคนไข้รายนี้เป็นอะไรมาก่อนครับ”

    “คนไข้เป็น Hep B มาก่อนครับ” น้องเอ็กซ์เทิร์นคนเดิมตอบ

    “ถ้าอย่างนั้นเราต้องถามอะไรคนไข้อีกครับ” พี่สรรค์ถามท่ามกลางน้อง ๆ ที่ยืนเงียบอย่างงุนงง ไฟในตัวที่แรงกล้าทำให้รุ่นพี่คนนี้เผลอถามคำถามปลายเปิดที่กว้างจนเกินไป

    ทว่าไม่ใช่สำหรับน้องปอนด์

    “ถามว่าญาติสายตรง ลูก สามี หรือภรรยาไปตรวจมารึยังครับ” 

    และคำตอบนั้นทำให้พี่ชีฟหน้าตายยอมหันไปยิ้มกว้างให้อย่างประทับใจ

    โรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางเลือด อสุจิ น้ำลาย หรือของเหลวต่าง ๆ ในร่างกาย การที่พบว่าคนหนึ่งในครอบครัวเป็น ก็มีโอกาสที่คนอื่น ๆ จะมีเชื้อนี้อยู่ในตัว ซึ่งหากตรวจพบจะได้ทำการคัดกรองมะเร็งตับเพื่อรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ

    “เคยมีเคสลูกชายพาแม่มาตรวจด้วยโรค HCC จาก Hep B จนกระทั่งแม่เสียชีวิต ไม่นานลูกชายก็มีอาการ พอตรวจก็พบว่าเป็น HCC ในระยะที่รักษาไม่ได้แล้ว เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น หากเราดูแลแบบองค์รวมได้ดีพอ” พี่รังสรรค์เอ่ย ท่ามกลางแววตาปลื้มปริ่มของน้อง ๆ ที่มีต่อเจ้าชายแห่งแดนภารตะผู้นี้

    หลังจากนั้นน้องปอนด์ก็อวดความสามารถอันเหลือล้นจนไม่มีคำถามใด ๆ หลุดรอดมาถึงชิน

    “จะมีคำถามง่าย ๆ หลุดมาถึงกูกับมึงบ้างมั้ยวะ” พี่ต่อซุบซิบกับเขาอย่างหวาดกลัว​ “กูสงสัยจริง ๆ ว่าคำถามที่มันตอบไม่ได้จะยากสักแค่ไหน” เพราะคำถามนั้นคงจะถูกส่งขึ้นมาที่เรสซิเดนต์รุ่นพี่อย่างไม่ต้องสงสัย

     

    ไม่นานทีมราวน์ก็เดินมาถึงเตียงหนึ่งในวอร์ดอายุรกรรมชาย เคสนี้เป็นคุณลุงฝรั่งอายุ 70 กว่าปีที่มาใช้ชีวิตเกษียณในประเทศไทย คนไข้ได้รับการทำหัตถการตัดเนื้อตายที่ต้นขาและนอนทำแผลมามากกว่า 5 วัน

    ด้วยปริมาณของคนไข้ที่มีจำนวนมาก เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน ผู้ป่วยบางรายจะได้รับการดูข้อมูลและแก้ปัญหาคร่าว ๆ โดยนักศึกษาแพทย์รุ่นเล็กก่อนจะรายงานปัญหาเรื่อย ๆ ขึ้นมาจนถึงพี่ชีฟ 

    เมื่อเดินมาถึง น้องปีสี่ผู้ดูแลคนไข้รายนี้ก็รีบแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น “พี่คะ ลุงเตียงนี้เป็นอะไรไม่รู้ เช้านี้พูดไม่ค่อยรู้เรื่องเลย”

    “น้อง หัวทองขนาดนั้น ฟังไทยไม่รู้เรื่องหรอก” พี่ต่อรีบตอบ ท่าทางอยากเดินผ่านเตียงนี้ไปให้เร็วที่สุดเพราะไม่อยากให้คนไข้ตื่นขึ้นมาซักถามอะไรเป็นภาษาอังกฤษ

    “ไม่นะคะ หนูก็พูดภาษาอังกฤษเนี่ยแหละค่ะ แต่เค้าดูงง ๆ ตอบอะไรมาก็ไม่รู้” น้องปีสี่ยืนยันเสียงแข็ง

    พี่สรรค์อมยิ้มเล็กน้อยเมื่อได้ยินคำตอบของรุ่นน้อง พี่ชีฟคนนี้ชอบนักศึกษาที่คอยตั้งคำถามเกี่ยวกับคนไข้อยู่เสมอ เพราะมันแสดงถึงการเอาใจใส่ในงานที่ทำ มีความใฝ่รู้ อีกทั้งยังมีความกล้าที่จะเอ่ยปากพูดกับรุ่นพี่โดยไม่เขินอาย

    “ปกติผู้ป่วยอายุมากที่นอนโรงพยาบาลนานมักจะมีปัญหานี้ครับ” พี่สรรค์เริ่มสั่งสอน “เขาเรียกว่าภาวะเพ้อ สับสนหรือ Delirium คือจะมีปัญหา Disorientation to time place person หรือรับรู้สภาวะแวดล้อมผิดไป เดี๋ยวพี่ประเมินให้ดูนะครับ” 

    พี่ชีฟยื่นมือไปเขย่าอกคนไข้ เริ่มถามด้วยภาษาอังกฤษชัดเจน “Hello Mister What your name?”

    เมื่อถูกปลุก ฝรั่งร่างโตที่นอนอยู่บนเตียงก็ค่อย ๆ ลืมตาสีฟ้าอ่อนขึ้นอย่างเลื่อนลอย ไม่โฟกัสอะไร

    “Donald” คนไข้ตอบเสียงแผ่ว

    “Do you know this time is day or night?”

    ลุงฝรั่งเริ่มมองไปรอบ ๆ ดูงุนงงที่ถูกรายล้อมด้วยคนกลุ่มใหญ่

    “I think... Daytime?”

    พี่สรรค์พยักหน้าเล็กน้อย เริ่มประเมินต่อ

    “Do you know who are we?”

    “Doctor?”

    “Correct” พี่ชีฟตอบและพยักหน้าอีกครั้ง

    “Can you remember where you are now?”

    ดวงตาสีฟ้าซีดจับจ้องใบหน้าได้รูปของพี่สรรค์ นิ่วหน้าพิจารณาคิ้วหนาเข้ม ดวงตาโตที่ล้อมกรอบด้วยแพขนตายาว ดั้งโด่งที่งองุ้มเล็กน้อย และสันกรามแข็งแรงเต็มไปด้วยไรหนวดเครา

    “India” มิสเตอร์ฝรั่งตอบอย่างมั่นใจ พร้อมกับดึงผ้าห่มคลุมใบหน้า พลิกตัวหนีเพื่อหลับต่อ

    ทันใดนั้นเสียงพูดคุยเบา ๆ ของคนในวงราวน์พลันเงียบกริบลง ไม่มีใครกล้าพูดหรือหัวเราะออกมา เหลือเพียงเจ้าหน้าที่โภชนาเดินแจกข้าวให้เตียงข้าง ๆ ที่ยังเคลื่อนไหว ทุกสายตาต่างจับจ้องใบหน้าเรียบตึงไม่แสดงความรู้สึกใดของพี่ชีฟ

    “ผมว่าเขาดู Delirium อยู่นะครับ” พี่สรรค์ตอบด้วยน้ำเสียงที่ดูเหมือนพยายามกลั้นหัวเราะ แล้วบรรยากาศก็ผ่อนคลายลงในทันที

    ทุกคนรีบตามพี่ชีฟไปยังเตียงถัดไป ยกเว้นพี่ต่อที่เดินรั้งท้าย ดึงแขนชินมากระซิบให้ได้ยินกันเพียงสองคน “กูว่าไอ้ฝรั่งพูดถูกนะ”

    ชินพยักหน้า คิดตามช้า ๆ

    “แล้วต้องคอนเซาต์ไซไคมั้ยพี่” น้องเอ็กซ์เทิร์นคนหนึ่งที่แอบฟังอยู่ถามแทรกขึ้นเบา ๆ

    การคอนเซาต์ (Consult) ในวงการแพทย์คือการขอคำปรึกษาจากแพทย์ท่านอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยนอกเหนือจากความเชี่ยวชาญของตน เพื่อให้ช่วยประเมินอาการจะได้รักษาคนไข้อย่างถูกวิธี ส่วนไซไค (Psychi) คือคำย่อของ Psychiatrist หรือจิตแพทย์ ผู้เป็นเป้าหมายการคอนเซาต์ในครั้งนี้ให้มาจัดการกับอาการเพ้อสับสนของคนไข้

    และเพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างผู้ยิ่งใหญ่ในแผนกต่าง ๆ หน้าที่เดินสารคอนเซาต์จึงตกเป็นของเอ็กซ์เทิร์นหรือนักศึกษาแพทย์ปีหกที่ลำดับยศน้อยที่สุด

    “คอนไปเลย เอาจริง ๆ มันนอนมาห้าวันแล้ว กูยังฟังมันพูดไม่รู้เรื่องสักคำ” พี่ต่อบ่นโดยไม่เกี่ยวอะไรกับอาการของคนไข้แม้แต่น้อย

     

    เหตุการณ์เหล่านี้คือชีวิตประจำวันในช่วงเช้าของภาควิชาศัลยกรรมที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องโดยไม่เคยมีวันหยุด

    หน่วยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ ทำหน้าที่ผลิตศัลยแพทย์ทั่วไปออกสู่ตลาดโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยผู้ที่เข้ามาศึกษาต่อเป็นได้ทั้งแพทย์จบใหม่หรือแพทย์ทั่วไปที่ทำงานมาระยะหนึ่งแต่สนใจกลับมาเรียนต่อ เมื่อเรียนครบสี่ปีและผ่านการสอบวัดผลศัลยแพทย์ส่วนกลางของประเทศก็จะได้รับยศศัลแพทย์ทั่วไปมาประดับอก

    แต่ถึงแม้จะได้ประดับยศสมใจแล้ว ศัลยแพทย์บางคนที่ต้องการเรียนต่อเฉพาะทางให้ลึกขึ้นไปอีกขั้นก็สามารถยื่นใบสมัครเรียนต่อได้ในสาขาที่ตนเองสนใจ ตามหน่วยย่อยต่าง ๆ จนเมื่อจบเฉพาะทางสาขาย่อยก็จะได้รับยศอย่างไม่เป็นทางการว่า เชี่ยวตี้ หรือที่ย่อมาจาก Specialty

    ส่วนหน่วยย่อยบางอย่าง เช่น ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก ศัลยแพทย์สมอง ศัลยแพทย์พลาสติก หรือศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ สามารถสมัครเรียนต่อได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการติดยศศัลยกรรมทั่วไป เน้นการฝึกฝนดูแลคนไข้ที่เกี่ยวข้องกับเนื้องานของตนโดยเฉพาะ แต่ก็จัดว่าเป็นเรสซิเดนต์ในภาควิชาเดียวกัน


    คำอธิบายท้ายบท

    *Gall Stone : นิ่วในถุงน้ำดี

    *Cholecystitis : โรคถุงน้ำดีอักเสบ ซึ่งทำให้มีอาการปวดท้องรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล

    *Hepatitis B : เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อทาง เลือด น้ำลาย สารคัดหลั่ง ไวรัสจะทำร้ายเซลล์ตับจนทำให้เกิดการอักเสบ และกลายเป็นมะเร็งได้ ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

    *Cirrosis : โรคตับแข็ง ที่ตับเกิดความเสียหายถาวร จากหลายปัจจัย เช่น ดื่มสุรา ไวรัสตับอักเสบ สารพิษ เป็นต้น ในกรณีที่โรคมีความรุนแรง ทางเลือกเดียวในการรักษาคือปลูกถ่ายอวัยวะ

    *Complication :  ภาวะแทรกซ้อน/โรคแทรกซ้อน

    *Risk Factor : ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค

    *Onset : ระยะเวลาแรกเริ่มที่มีอาการ

    *Duration : ช่วงระยะเวลาที่มีอาการ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×