ลำดับตอนที่ #7
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : ความเป็นศิลปินของเจย์
เรื่องของ เจ [เด็กชายชาวไทยในอเมริกาที่ถูกประหารชีวิต] คัดลอกมาจาก ประตูสู่ธรรม: dhamma-gateway โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดชีวิตกับธรรมะ กระทู้ 12852 โดย: ผู้สังเกต 15 ก.ย. 47 ถ้าเราปรารถนาจะปฏิบัติอย่างจริงจัง เราจะต้องปล่อยวางกฎเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ การสอนธรรมะขั้นละเอียดจะทำได้ ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจคุณค่าของธรรมะนั้นเท่านั้น อันที่จริงแล้ว เมื่อเราเข้าใจคุณค่าของธรรมะขั้นละเอียด กฎเกณฑ์และเงื่อนไขหลายอย่างดูเหมือนจะไม่ค่อยสำคัญเพราะว่ามันมีคุณค่าน้อยกว่าคำสอนมากมายนัก เมื่อนักปฏิบัติสามารถจะปล่อยวางได้ คำสอนใด ๆ ที่ได้รับก็จะให้ความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อผู้ปฏิบัติ บ่อยครั้งที่เราทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ จนเรื่องบานปลายออกไป บ่อยครั้งที่เรื่องยุ่งยากของเราเริ่มต้นจากความเข้าใจผิดเพียงนิดเดียว เช่น วันนี้คนบางคนไม่ยิ้มให้เราอย่างที่เคย อาจารย์มองเราอย่างมึนชา หรือเพื่อนรักตำหนิติเตียนเรา กาแฟถ้วยเมื่อเช้ารสชาติไม่ค่อยดี อารมณ์ของเราขุ่นมัวเล็กน้อย... เรื่องเพียงเท่านี้เองที่สามารถจะทำให้เราเศร้าหมองไปได้ทั้งวัน! ... ช่างน่าเศร้าอะไรเช่นนี้! เพราะความเข้าใจผิดนำมาซึ่งความยุ่งยากซับซ้อนอันไม่มีที่สิ้นสุด ได้แก่ ความหวังและความหวาดกลัว ความสิ้นหวังและแม้กระทั่งการฆ่าตัวตาย เราเป็นผู้ทำให้ตัวเองต้องทุกข์ทรมาน และเราเป็นผู้ก่อปัญหาให้แก่ตัวเราเองโดยที่ไม่จำเป็นอย่างยิ่ง อันที่จริงมันเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว เราเพียงแต่จะต้องเห็นความเป็นจริงในเรื่องนี้ให้ได้และในที่สุดเมื่อเราสามารถจะเห็นความจริงที่ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไม่จำเป็นเพียงไร ใจของเราก็แทบจะแตกสลายด้วยความสงสารใครก็ตามที่กำลังทนทุกข์ทรมานอยู่ด้วยเหตุนี้ ในขณะเดียวกัน เราก็จะเริ่มเห็นความไม่จำเป็นของทุกข์เหล่านั้น ความจริงแล้วเมื่อก่อนผมไม่มีเพื่อน (ในความหมายของผม) ถึงแม้จะมีคนหลายคนที่เรียกผมว่าเป็นเพื่อน มันเหมือนกับว่ามีกำแพงที่มองไม่เห็นล้อมรอบตัวผมอยู่ซึ่งคอยกันคนอื่น ๆ ให้อยู่ห่างออกไป ไม่มีใครเข้าถึงจิตใจของผม และใจของผมอ้างว้าง ผมเคยหวังว่ามันจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่ความเป็นจริงก็คือ ในบรรดาคนที่ผมรู้จักในช่วงที่ผมเติบโตขึ้นมานั้น ไม่มีใครมีลักษณะอย่างที่ผมจะชอบและไว้ใจอย่างแท้จริงเลยสักคน บางทีผมอาจจะเป็นเพียงคนหยิ่งที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าผู้อื่น และผมรู้สึกผิดเล็กน้อยที่ถือตัวเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าเพียงแต่ผมได้มีโอกาสพบกับใครสักคนที่มีปัญญาอย่างแท้จริงและมีคุณธรรม ใครสักคนที่ผมจะสามารถชื่นชมได้อย่างจริงใจว่าสามารถรักษาหลักการต่าง ๆ ที่ตัวผมเองไม่สามารถจะรักษาได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วบางที... จู่ ๆ ผมก็พบว่าผมมีเพื่อนมากอยู่เหมือนกันโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่ปล่อยวางและผมก็ไม่รู้สึกเหงาอีกต่อไป ความสมดุล ความสมดุลมีความจำเป็นทั้งต่อการทำสมาธิและการดำรงชีวิตประจำวัน การผลักดันมากเกินไปรังแต่จะก่อ ให้เกิดความตึง ความเครียด ความหวาดระแวง และความเจ็บปวด หากเฉื่อยชาหรือเกียจคร้านเกินไปก็จะทำให้ฟุ้งซ่าน เห็นผิดจากความเป็นจริง และทำให้ขาดสติและพลัง ในการทำสมาธิ เราตั้งใจอย่างเต็มที่และทุ่มพลังทั้งหมด ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องใช้ความพยายาม แต่หากเราทำโดยไม่รู้สึกเครียด มันก็เหมือนกับเราไม่ต้องใช้ความพยายาม เช่นเดียวกับสายกีตาร์ที่ขึงตึงได้ที่แต่ยืดหยุ่น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือตื่นตัวแต่ไม่เครียด ถ้าเราเกียจคร้าน จิตของเราจะไม่มั่นคงและไม่สงบ ถ้าเราตั้งใจมากเกินไป เราจะสูญเสียพลังงานและเกิดความยึดถือยึดมั่น ความยืดหยุ่นเป็นหัวใจในการรักษาความสมดุลของใจในชีวิตประจำวัน ในเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น เราต้องการมิตรภาพและการสนับสนุน และขณะเดียวกันเราก็ต้องการเป็นอิสระด้วย คนเรามักจะมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างสุดขั้วในทางใดทางหนึ่ง เด็กโตจำนวนมากกล่าวโทษพ่อแม่ว่าเป็นสาเหตุของปัญหาทางอารมณ์หรือรู้สึกต่อต้านใครก็ตามที่มีหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือน เราอาจจะต้องทำความเข้าใจอดีต แต่ขณะเดียวกันการกล่าวโทษไม่ได้ก่อให้เกิดอิสรภาพ ถ้าเราจมอยู่กับความขุ่นเคืองและความโกรธ เราอาจจะเก็บสะสมพิษร้ายไว้ในใจจนเกิดโทษ.. จงมองดูอดีตตามความเป็นจริง แล้วให้อภัยและปล่อยวาง นี่คือทางไปสู่ความสงบสุข การพึ่งพาแต่ตัวเองเท่านั้น ซึ่งเป็นความกลัวที่จะต้องพึ่งพาผู้อื่น อาจเป็นผลให้การพัฒนาทางอารมณ์และจิตวิญญาณของเราชะงักงันได้ คนบางคนไม่ยอมที่จะพึ่งพาใครเลย เนื่องจากมีแต่ความทะนงตัวหรือความกลัวมากจนเกินไป จึงปิดกั้นไม่ให้ได้รับผลจากการปฏิบัติเท่าที่ควร เราต้องการคนอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ชีวิตของเราต้องดิ้นรนน้อยลง แรงสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน ๆ และชุมชน มีคุณค่ามาก ในขณะเดียวกัน เราควรจะพัฒนาอารมณ์และจิตวิญญาณไปตามความสามารถและจังหวะที่เหมาะสมของเราเอง มิใช่ทำตามตารางของผู้อื่น ในทุกสถานการณ์ เราจะสามารถหาความสมดุลได้เสมอ ถ้าเราสงบและผ่อนคลาย ความกรุณา จงเมตตาตนเองและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เข้าถึงจิตใจของผู้อื่นด้วยเมตตา มีความกรุณา ไม่ยอมที่จะเกลียดชังใคร เปิดใจให้กว้าง ความรู้สึกที่ถูกต้องต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายที่มีความผิดพลาดเป็นธรรมดา คือความสงสารและความเห็นอกเห็นใจ ต้องไม่ยินดีกับอารมณ์อื่น ๆ เช่น ความแค้นเคือง หรือความรำคาญใจ ความกล้าหาญ อย่ากลัวความยากลำบาก อย่าไปหวังว่าที่อื่นจะไม่มีปัญหา เพราะถ้าเราเผชิญหน้ากับอุปสรรคอย่างถูกต้อง อุปสรรคนั้นก็จะกลายเป็นบันไดไปสู่โอกาสที่ดียิ่ง ไม่มีจิตใดที่มุ่งมั่นต่อความจริงแล้วจะไม่สูงขึ้น จิตที่มีเมตตาจะไม่หมดที่พึ่ง ความยากลำบากมีอยู่ อุปสรรคมีไว้เพื่อให้ผู้ชนะได้เข้มแข็ง ผู้ที่เคยผ่านพ้นความทุกข์เท่านั้นที่จะช่วยคนอื่นได้จริง มีทางเดียวที่จะรู้ขอบเขตความรู้ของตน นั่นคือกรณีที่ถูกท้าทายและต้องยืนหยัดในอุดมการณ์ ความถ่อมตัว จงถ่อมตัวอย่างที่สุดแล้วจึงจะยึดหลักความสงบได้ ที่ใดมีความใจบุญและปัญญา ที่นั่นจะปราศจากความหวาดกลัวและอวิชชา ที่ใดมีความอดทนและความถ่อมตัว ที่นั่นจะปราศจากความโกรธและความรำคาญใจ ความปรองดอง เมื่อจิตใจเต็มไปด้วยความเมตตา ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยความรู้สึกนึกคิดหรือความปรารถนา ความรักอันเต็มเปี่ยมนี้จะสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองซึ่งมีพลังอันอ่อนโยนที่จะเยียวยาผู้ที่ได้เข้ามาสัมผัส ความสุขสงบในใจดวงหนึ่งก็จะแผ่ไปสู่ใจดวงอื่น ๆ แน่นอนเสียยิ่งกว่าที่การแก่งแย่งชิงดีจะนำไปสู่การแก่งแย่งชิงดีต่อ ๆ ไป ความสุขนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องติดตามหรือค้นหา แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกชีวิต สำหรับมนุษย์แล้ว เราจะรับรู้ความสุขได้ ก็ต่อเมื่อจิตของเราไม่ถูกปรุงแต่งโดยอดีต
ผมไม่เคยแน่ใจเลยว่าบุคลิกของผมเป็นเช่นไร ผมเคยคิดว่าผมเป็นคนขวางโลก ค่อนข้างจะเก็บกด ผมถูกสอนมาว่าความสุขทางโลกทุกอย่างย่อมมีโทษ ผมมักจะกังวลกับผลต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น แทนที่จะมุ่งสนใจอยู่กับปัจจุบัน เมื่อก่อนผมคิดอยากจะร้องไห้เป็นเหมือนกัน แต่น้ำตาไม่ยอมไหล ผมกลายเป็นคนที่ไม่มีความรู้สึกไปได้อย่างไรกัน ผมทิ้งแม่ พี่สาว และคนที่ผมรักมาได้อย่างไร ผมเริ่มสงสัยมากขึ้นว่าจิตใจของผมเหือดแห้งกระมัง ยี่สิบปีผ่านไปดูเลือนรางเหมือนหมอกปกคลุมความทรงจำของชีวิตวัยเด็กของผมที่เมืองไทย มิตรภาพไม่ยั่งยืน สถานที่ ต่าง ๆ ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ผมเป็นคนที่ไม่มีที่มา และผมก็รู้สึกเคยชินและพอใจที่เป็นอย่างนั้น (หรือ อย่างน้อยก็คิดว่าเป็นเช่นนั้น) ผมนี่ไง วนเวียนอยู่กับความเวทนาตัวเอง ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนลาโง่ วันหนึ่งผมทำสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ได้ทำมาแล้วเป็นเวลาหลายปี แต่อยู่ดี ๆ หลังจากวันนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ผมเป็นเหยื่อของความวิตกกังวลและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มาตลอดชีวิต อะไรที่เปลี่ยนแปลงไป การยอมรับนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะง่ายขึ้นอีกมาก ถ้าเราสามารถยอมรับในสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบรมครูของเราได้ทรงสอนธรรมะซึ่งไม่ต้องการความเชื่องมงายจากผู้ปฏิบัติ แต่เราได้รับการสนับสนุนให้พินิจพิเคราะห์คำสั่งสอนต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนเสมอมา วิธีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมนั้น ไม่ว่าผู้ศึกษาจะศึกษาพระธรรมจากมุมมองธรรมดา ๆ ของผู้ที่ยังไม่บรรลุสัจธรรม หรือจากมุมมองของพระอริยเจ้าที่กอปรด้วยปัญญาและความตระหนักรู้ จะพบว่ายิ่งศึกษาและพินิจพิเคราะห์พระธรรมมากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งพบประโยชน์ คุณค่า และเหตุผลที่จะปฏิบัติมากขึ้นเท่านั้น โดย: ผู้สังเกต 15 ก.ย. 47 ปสนฺโน ภิกขุ โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 009103 - โดยคุณ : ผู้อ่านคนหนึ่ง [ 9 มิ.ย. 2546 ]
เจเติบโตในประเทศไทย และเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เขาเคยพูดเล่น ๆ ว่า อยากให้เอาอังคารของเขาไปโปรยในทะเลให้ปลากิน เมื่อคนมากินปลาอีกต่อหนึ่ง เขาก็จะได้กลับมาเกิดในภูมิมนุษย์อีก เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมต่อไป เขารู้ว่ามนุษย์เท่านั้นที่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้โดยไม่มีขีดจำกัด รู้จักแยกแยะ สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว และผิด-ถูก พัฒนาการและการเรียนรู้ของแต่ละคน เป็นผลสืบเนื่องจากวิถีกรรมที่คนเลือกเอง ที่แล้วมาเจได้เลือกทางผิดไปบ้าง แต่เขาก็มีทางที่ถูกอยู่ด้วยเหมือนกันเจได้เรียนรู้ความจริงบางอย่างแล้ว จากประสบการณ์ชีวิตในชาตินี้ เขาจึงมุ่งมั่นที่จะได้ปฏิบัติธรรมต่อไปในชาติหน้า ท่านอาจารย์ได้รับนิมนต์เข้าไปเป็นที่พึ่งทางใจให้เจได้อย่างไรครับ ครั้งแรกที่เจจะถูกประหาร เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ เป็นผู้นำทางศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นสุภาพสตรีที่ได้เคยช่วยเหลือนักโทษประหารอื่น ๆ ในเรือนจำ ซาน เควนติน มาแล้วหลายคน เจก็รู้จักกับท่านมาหลายปีและสนิทสนมกับท่าน แต่เมื่อถึงคราวของตัวเอง เจพบว่า แทนที่จะช่วยให้เจสงบ กลับทำให้เขารู้สึกวิตกกังวลยิ่งขึ้น เจเองรู้อยู่ว่าควรจะเตรียมตายอย่างไรในเดือนพฤศจิกายนนั้น แต่ก็ไม่เป็นไปตามแผน ในนาทีสุดท้าย ศาลได้ตัดสินเลื่อนการประหารออกไปอีกสามเดือน ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของเจอย่างยิ่ง เขาอยากตายอย่างสงบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เจเองรู้ตัวว่าจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร พอมาถึงครั้งที่สอง เจจึงตัดสินใจที่จะเผชิญกับความตายตามลำพัง เพื่อให้เวลาตัวเองได้ทำจิตสงบในช่วงสุดท้าย คุณเคนดัล โก๊ะ เป็นห่วงว่าเจจะขาดที่พึ่งทางใจ จึงรับอาสาจะหาที่ปรึกษาใหม่ที่เป็นชาวพุทธให้ แต่การขอเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย มีอุปสรรคมากมายหลายด้าน ทั้งในและนอกเรือนจำ เจจึงต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะสิ่งที่เขาต้องการที่สุดในเวลานั้น คือการอยู่อย่างสงบ อย่างไรก็ตาม เมื่อเจได้ติดต่อกับอาตมาทางโทรศัพท์ อาตมาก็ถามว่า "จิตใจเป็นยังไง พร้อมหรือเปล่า" เขาก็ตอบว่า "พร้อมครับ ผมเตรียมตัวมาตั้งนานแล้ว ยอมรับว่าจะถูกประหาร ไม่รู้สึกกลัว ไม่หวั่นไหว แต่ยังมีข้อสงสัยบางอย่างที่อยากจะขอศึกษาจากท่านอาจารย์" เจบอกว่าไม่เสียดายหากจะถูกประหาร เพราะการอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น บีบบังคับให้เขาแสวงหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อชีวิต เขาไม่แน่ใจว่าถ้าหากอยู่ธรรมดา ๆ จะมีความเข้าใจขนาดนี้หรือไม่ เจเล่าให้ฟังว่า หลังจากถูกตัดสินประหารแล้ว ๖-๗ ปี เขาอยู่ในเรือนจำ ก็เกิดความรู้สึกว่า เขาจะต้องรีบตัดสินใจ ว่าจะอยู่อย่างคนที่ผูกโกรธ มีความอาฆาตเศร้าหมอง มีอกุศลธรรมทั้งหลายครอบงำจิตใจ หรือเขาจะพัฒนาจิต ให้เป็นจิตใจที่ดี จิตใจที่มีธรรมะ จิตใจที่สงบ ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่าจะอยู่ได้อีกนานเท่าไร ไม่รู้ว่าจะถูกเรียกไปประหารเมื่อไร เขาเลยเกิดความตั้งใจว่า อย่างไรเสียจะต้องพยายามละสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง และพยายามพัฒนาส่วนที่ดีในจิตใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับเวลาที่ยังเหลืออยู่แล้วเขาก็ได้พยายาม ได้หาหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาศึกษาพุทธศาสนา เลยเป็นโอกาสให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษด้วย เพราะในคุกไม่มีคนพูดภาษาไทย ตัวเขาเองตอนติดคุกภาษาอังกฤษก็ยังไม่ดี เนื่องจากไปอเมริกาได้ไม่กี่เดือนก็เกิดคดี และตอนนั้นญาติพี่น้องในอเมริกาก็ไม่มีสักคน เขาเลยฝึกภาษาอังกฤษจนกระทั่งเขียนอธิบายปรัชญาในศาสนาพุทธได้อย่างละเอียด เขียนกลอนก็ได้ เป็นคนมีศิลปะในชีวิต แล้วก็ฝึกวาดรูปในเรือนจำจนเก่ง มีความสามารถในงานศิลปะ และเป็นคนที่ตั้งใจนำสันติสุขให้เกิดขึ้น ในที่ซึ่งเป็นที่รวมของผีของเปรตอย่างในคุก เพราะนักโทษส่วนใหญ่ก็แย่มาก ๆ เจ้าหน้าที่ก็พอ ๆ กัน เลยต้องทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับ วันแรกที่อาตมาไปเรือนจำ ทนายความก็ไปรับ อาตมาถามว่าเจเป็นยังไง ทนายก็บอกว่า เจน่ะเขาสบายแต่พวกเราซีแย่ ท่านอาจารย์รู้สึกอย่างไรที่ได้ช่วยเป็นที่พึ่งทางใจ แก่นักโทษประหาร ตอนแรกอาตมาก็รู้สึกยินดี แต่พอมาคิดได้ว่า เอ... นี่เรากำลังจะเข้าไปแดนนรกนะ อาตมาก็ชักรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจขึ้นมานิดหน่อย ระบบรักษาความปลอดภัยของเรือนจำก็เข้มงวดกวดขันมาก กว่าจะผ่านเข้าไปถึงต้องผ่านประตูเหล็กหลายต่อหลายชั้น ผ่านเครื่องตรวจหาอาวุธสองครั้ง แล้วก็ยังมีผู้คุมมาตรวจอีกหลายคณะ ตรวจแล้วก็ประทับตราที่มือของอาตมา แล้วก็ต้องไปผ่านประตูเหล็กและผู้คุมอีก หลายชั้นหลายขั้นตอนทีเดียว แต่มีสัญญาณบางอย่างที่แสดงให้เห็นความแตกต่าง อาตมาได้ยินผู้คุมทักทายเด็กบางคนอย่างสนิทสนมเหมือนรู้จักกันดี เขาให้เวลาเยี่ยมตอนเช้าถึงบ่ายสองโมง หลังจากนั้นแล้วแขกต้องกลับหมด เมื่ออาตมาเห็นเจ เขาไม่เหมือนคนใกล้ตายคนอื่น ๆ ที่อาตมาเคยพบ เจยังหนุ่ม แข็งแรง และดูมีสุขภาพจิตดี เขาเป็นคนฉลาดหลักแหลม ประณีต ไม่น่าสงสัยเลยว่า เขาได้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายอย่างมีคุณค่า แม้จะถูกล่ามโซ่ที่เอว เจก็ยังดูภาคภูมิเป็นตัวของตัวเอง มารยาทงาม และต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอบอุ่น ทุกอย่างดูเป็นปกติ ไม่มีอะไรส่อเค้าเลยว่า เที่ยงคืนของวันมะรืนผู้ชายคนนี้จะถูกประหาร เขาจะต้องตาย ท่านอาจารย์ได้พูดกับเจเกี่ยวกับทางเลือกที่ผิดของเขาบ้างหรือเปล่าครับ เกี่ยวกับอาชญากรรมของเขา เปล่า อาตมาไม่ได้เอ่ยถึงอดีตของเจเลย เราไม่มีเวลาพอด้วย อาตมามุ่งไปที่การช่วยให้เขามีสุขภาพจิตที่ดี พอที่จะเผชิญกับความตายได้อย่างสงบมากกว่า เพราะอาตมาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเจในฐานะที่เขาฆ่าคนตาย แต่ในฐานะคนที่กำลังเผชิญกับความตาย บรรยากาศในวันนั้นเครียดไหมครับ ไม่นะ ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า ค่อนข้างผ่อนคลายทีเดียว บางครั้งเราก็ถกกันเรื่องที่สุขุมลุ่มลึกเกี่ยวกับธรรมชาติของจิต แต่บางทีเราก็มีเรื่องเบา ๆ ให้ได้หัวเราะกันบ้าง เจทำหน้าที่เจ้าของบ้านได้อย่างวิเศษ โดยเฉพาะในวันแรก แม้ในสภาพอย่างนั้น เขาก็ยังได้จัดการต้อนรับพระด้วยความเคารพ และกำชับเพื่อน ๆ ให้ปฏิบัติต่อพระอย่างถูกต้องตามธรรมเนียม เจเตรียมอาหารไว้ถวายด้วย และบอกว่ารู้สึกเป็นสุขที่ได้มีโอกาสถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุ เป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปี นอกจากนี้ยังคอยสนับสนุนให้เพื่อน ๆ ได้ซักถามข้อสงสัย ซึ่งอาตมาก็เทศน์ให้ฟังเกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาพุทธ การเข้าถึงธรรมะโดยการเปรียบเทียบกับบัวสี่เหล่า นอกจากนี้ก็ได้อธิบายความหมายของคำว่า "ไตรสรณาคมน์" คือการถือเอาพระพุทธเป็นที่พึ่งในฐานะผู้รู้แจ้ง พระธรรมในฐานะที่เป็นสัจธรรม และพระสงฆ์ในฐานะพระสุปฏิปันโน ดูเจรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นผู้ให้โอกาสแก่เพื่อน ๆ ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม อาตมาได้กำชับเจให้พยายามประคับประคองจิตของตัวเอง ไม่ให้หวั่นไหวไปกับความว้าวุ่นของคนรอบข้าง เพราะวันประหารใกล้เข้ามาแล้ว เจเองก็คอยหลีกความฟุ้งซ่านที่เกิดจากความพยายามช่วยเหลือของคนรอบข้าง เขาตระหนักดีว่า จะต้องรับผิดชอบต่อความตั้งมั่นของตนเอง เจจึงให้เวลากับเพื่อน ๆ อย่างเต็มที่ตลอดชั่วโมงเยี่ยม แต่นอกนั้นแล้ว เขาทำสมาธิวันละหลายชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนประมาณสองหรือสามนาฬิกา นอกจากไตรยา พี่สาวของเจแล้ว ยังมีหมู่เพื่อนที่ประทับใจในตัวเจมาเยี่ยมมากมาย โดยเฉพาะเมื่อใกล้วันประหาร หลายคนเป็นทนายความ หลายคนเป็นชาวคริสต์ บางคนก็เลื่อมใสในปฏิปทาของเจ และยึดถือเป็นแบบอย่างในการพัฒนาจิต ต่างคนต่างมีจุดมุ่งหมาย และเจซึ่งมีนิสัยโอบอ้อมอารีอยู่แล้ว ก็พยายามสนองตอบทุกคน อย่างเช่นทนายความที่ติดต่อกับอาตมา ก็เพิ่งจะเริ่มศึกษาธรรมะและหัดนั่งสมาธิ กำลังอยู่ในระหว่างแสวงหาครูบาอาจารย์ ก็ได้อาศัยเจเป็นผู้แนะนำเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งที่แสดงว่าเจได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจก็คือ ปกติเมื่อรับแขกในห้องอย่างนั้นจะต้องมีเจ้าหน้าที่สี่คนยืนเฝ้าอยู่ทุกมุมตลอดเวลา ตัวนักโทษเองนั่งเก้าอี้พิเศษ มีโซ่ล่ามที่เอว และมีโซ่จากเอวมาที่แขนทำให้ยกแขนได้ไม่มาก แล้วก็ต้องมีโซ่ล่ามติดเก้าอี้ด้วย แต่วันนั้นเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีโซ่ล่ามเก้าอี้ เจ้าหน้าที่ก็มีคนเดียวยืนฟังเทศน์ด้วย บรรยากาศร่าเริงพอสมควรไม่เครียด ช่วงสุดท้ายที่ท่านอาจารย์ได้อยู่กับเจ บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้างครับ ในวันแรก หลังจากบ่ายสองโมงแล้ว อาตมามีโอกาสได้พบโยมผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นชาวคริสต์ซึ่งเคยเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ประหารมาแล้ว ๖-๗ ครั้ง ในฐานะผู้นำทางศาสนา ได้คุยกันอยู่นาน เขาเล่าให้ฟังว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หลังจากหกโมงไปแล้วจนถึงเวลาประหาร เมื่อเรารู้ตัวล่วงหน้าจะได้ไม่ตกใจ ไม่เสียสมาธิเขาบอกว่า จะมีพวกเจ้าหน้าที่หกคนควบคุมเราตลอดเวลา พวกนี้เป็นทีมเพชฌฆาต ซึ่งสมัครใจมาทำหน้าที่นี้ด้วยตัวเอง คงตื่นเต้นและมีความสุขในการประหาร เขาบอกว่า พวกนี้อาจจะรังแกเราด้วยวิธีการต่าง ๆ อาจเบียดเบียนทั้งกายและวาจา พูดจาหยาบคาย เขาจะมาพาเราไปตั้งแต่หกโมง และเวลาประหารเป็นหกทุ่ม ซึ่งเหลือเวลาน้อยเต็มที เราควรจะได้อยู่กับนักโทษให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เขาก็จะทำให้เราเสียเวลาในระหว่างพาไป โดยทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องยืดยาว ระหว่างอยู่ในห้องรอประหาร เขาก็จะคุยกันเสียงดัง บางทีก็เปิดโทรทัศน์รบกวน ไม่เป็นมิตรกับนักโทษเลย ในวันที่กำหนดจะประหารเจครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนนั้น เจได้รับอนุญาตให้ถือลูกประคำเข้าในห้องประหารได้ แต่ก่อนที่จะส่งถึงมือเจ ผู้คุมก็โยนลงบนพื้น แล้วก็เหยียบเสียทีหนึ่ง เมื่ออาตมาได้ข้อมูลมาอย่างนี้ ก็มาคิดวางแผนว่าจะทำอย่างไรดี หากเจอเหตุการณ์อย่างที่เขาเล่า วันสุดท้ายคืนวันจันทร์ เยี่ยมได้เฉพาะทนายความ ญาติ และผู้นำทางศาสนาซึ่งทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางใจให้แก่นักโทษ วันนั้นอาตมาอยู่ตลอดวัน ก่อนเวลาประหารหกชั่วโมง นักโทษจะต้องลาครอบครัวและเพื่อน ๆ ไปสู่ห้องขังพิเศษ ซึ่งอยู่ติดกับห้องประหาร เฉพาะผู้นำทางศาสนาเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ติดตามไป เมื่อเขามาคุมตัวเราจากห้องรับแขกไปยังห้องรอประหาร อาตมาก็เริ่มต้นทักทายหัวหน้าผู้คุม ถามทุกข์สุข ถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ คุยไปเรื่อย เขาก็ตรวจร่างกาย ตรวจเสื้อผ้า ต้องเอาผ้าออกหมดทุกชิ้น ไม่ให้มีอะไรซ่อนไว้ได้เลย แต่เขาก็อำนวยความสะดวก ไม่ให้เสียเวลามาก ส่วนเจก็มีผู้คุมมาพาไปอีกทางหนึ่ง แล้วเขาก็พาไปขังไว้คนละห้อง ห้องที่ขังเจยาวไปอีกทางหนึ่ง ส่วนห้องที่ขังอาตมาก็ยาวไปอีกทางหนึ่ง แต่ก็มีมุมหนึ่งที่เราคุยกันได้ พอเราเข้าไปในห้องขังแล้ว หัวหน้าผู้คุมก็มาอบรมเรา ว่าจะต้องอยู่ในระเบียบอย่างไร โยมผู้หญิงที่เป็นผู้นำทางศาสนาคนนั้น ได้เตือนไว้แล้วว่า ถ้าเจอหัวหน้าผู้คุมตัวสูง มีเครา ลักษณะอย่างนี้ ๆ ให้ระวัง เพราะนั่นน่ะตัวร้าย ดุ อย่าทำให้เขารังเกียจ อาตมาก็เจอจริง ๆ เพราะฉะนั้นเวลาเขาพูดอะไร เราก็...ครับ ครับ เขาอบรมอะไร ก็...ครับ ครับ อาตมาได้ตกลงกับเจไว้แล้วว่า พอถึงเวลาที่สมควร ก็ให้เจขอพระไตรสรณาคมน์ ขอรับศีลเป็นภาษาบาลี เป็นเบื้องต้น ก็เป็นช่องที่จะได้อบรมเขาว่า สรณะที่พึ่งคืออะไร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คืออะไร ศีลคืออะไร แล้วก็เทศน์สั้น ๆ กัณฑ์หนึ่ง อบรมให้ความรู้เจ ไม่ใช่เพื่อเจคนเดียว แต่เพื่อผู้คุมด้วย เมื่อเจขอไตรสรณาคมน์ ขอศีลเสร็จแล้ว ก็ให้อาราธนาพระปริตร แต่เจหลง เขาขึ้น ..พรหม จะ โลกา คืออาราธนาเทศน์ เราเลยได้โอกาสแสดงธรรมต่อ เพื่อเป็นการดึงจิตใจเจ้าหน้าที่ไปในตัว แล้วเจก็อาราธนาพระปริต สวดมงคลชยคาถา บางบทที่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราก็สวดเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเราสวดอะไร พอสวดเสร็จ หัวหน้าผู้คุมที่ว่าดุนั่นก็เข้ามาพูดอย่างเอ็นดูว่า "ช่วงที่ท่านสวดมนต์อยู่ ทนายของเจโทรศัพท์มาสองครั้ง ผมไม่ได้บอก เพราะอยากให้ท่านสวดให้เสร็จ ตอนนี้จะผมโทร. กลับให้ไหมครับ" อาตมาก็เลยให้เบอร์โทรศัพท์เขาไป เพราะทนายก็อยู่อีกอาคารหนึ่งในเรือนจำสักประเดี๋ยวก็มาถามอีก "ท่านสวดมนต์นาน คงจะคอแห้ง ต้องการน้ำไหมครับ หรือจะเอาน้ำส้ม" อาตมาบอกว่า "ไม่เอาดีกว่า เพราะมีคนอธิบายให้ฟังว่า ถ้าจะเข้าห้องน้ำต้องมีคนพาไป แล้วห้องน้ำก็อยู่ไกลด้วย ขากลับก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตรวจ เปลือยกายอีก ยุ่งยากไม่เอาดีกว่า" เขาก็บอกว่า "ที่จริงห้องน้ำใกล้ ๆ ก็มี จะให้ใช้ก็ได้" อาตมาก็เลยเอาน้ำส้ม ตลอดคืนเขาก็อยู่ แต่ไม่ได้รังแกหรือรบกวนอะไรเลย ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งทำเสียงดัง ก็มีเจ้าหน้าที่ตักเตือนกันเอง เวลาสั่งงาน เขาก็เขียนใส่กระดาษ ส่งกันต่อ ๆ เพื่อจะได้ไม่มี่เสียงรบกวนเรา คืนนั้นอาตมากับเจ ก็เลยมีโอกาสได้อยู่ด้วยกันเต็มที่ เราก็นั่งสมาธิ สนทนาธรรม และสวดมนต์ โดยเฉพาะการแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศล ตลอดเวลานับตั้งแต่อาตมาได้พบเจ จนกระทั่งถึงวันประหารเป็นเวลาสามวันนี้ อาตมาก็ได้ตอบข้อสงสัย ข้อข้องใจของเจ โดยเฉพาะเรื่องอนัตตา เรื่องขันธ์ ๕ และการปล่อยวาง ว่าจะทำอย่างไร การสังเกตในตัวเองว่าละได้จริง ๆ อย่างไร เรื่องทำสมาธิเขาเก่ง สมาธิดี เพราะเขาฝึกอยู่ในเรือนจำนาน เวลากลางคืนที่คนอื่นนอน เขาก็นั่งสมาธิ กลางวันตื่นสาย เพราะตอนกลางวันในเรือนจำมีเสียงรบกวนมาก สำหรับในคืนสุดท้าย อาตมาก็ได้ไขข้อข้องใจต่าง ๆ บางอย่าง และฝึกเขาในการทำจิตให้มั่นคง พร้อมที่จะรับความตายโดยไม่หวั่นไหว ฝึกให้เขาเปลี่ยนกรรมฐาน คือปกติเขาทำสมาธิโดยวิธีอาณาปานสติ กำหนดลมหายใจ แต่เมื่อยาที่ใช้ในการประหารออกฤทธิ์ ทำให้หัวใจหยุด ลมหายใจก็หยุด ถ้าเอาลมหายใจเป็นอารมณ์และลมหายใจหยุดชะงักขณะเขากำลังกำหนดอยู่ การตั้งสติก็จะไม่มั่นคงเท่าที่ควร แล้วเจเคยฝึกสมาธิมาตอนก่อนบวชที่เมืองไทย เมื่อมานั่งสมาธิที่วัด เขาได้เห็นนิมิตแสงสว่างครั้งหนึ่ง แต่เมื่อเขาพยายามนั่งจะให้เห็นอีกก็ไม่สำเร็จ แต่เมื่อเจบอกว่า สามสัปดาห์ก่อนเขาได้เห็นแสงสว่างอีก ก็ทำให้อาตมาใจชื้นขึ้นเป็นอันมาก และเนื่องจากเจเป็นจิตรกร อาตมาก็เลยได้ความคิดว่า เขาน่าจะกำหนดภาพแสงสว่างเป็นอารมณ์กรรมฐาน อาตมาเลยให้เขาใช้นิมิตแสงสว่างแทน ซึ่งเขาก็ทำได้ตอนแรกอาตมาก็แนะนำท่านั่ง คืนนั้นก็แนะนำน้อยลง ให้เขาทำเองมากขึ้น ช่วงสุดท้ายเขาบอกว่า จิตเป็นสมาธิได้เร็ว อาตมาพยายามอธิบายการตั้งจิต เมื่อลมหายใจหมด จิตกำลังจะดับ ทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนที่เจ้าหน้าที่ต้องนั่งฟังอยู่ด้วย เพราะหนีไปไหนไม่ได้ เขาเลยพลอยได้ความรู้มากเหมือนกัน ตลอดคืนเราก็ได้ยินเสียงเตรียมการในห้องประหารซึ่งอยู่ติด ๆ กัน ผู้ว่าการเรือนจำและจิตแพทย์ก็ต้องเข้ามาตรวจ เพราะถ้าเจบ้า เสียสติ เขาก็ประหารไม่ได้ และเขาก็ต้องตรวจอาตมา ถ้ามียาพิษให้เจกินตายไปก่อน เขาจะเสียดาย ในคืนนั้นท่านอาจารย์เทศน์เรื่องอะไรครับ อาตมาเล่าประวัติพระพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ ไม่ทรงปรารถนาจะโปรดสัตว์ เพราะทรงเห็นว่าธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นของลึกซึ้ง ยากที่คนจะเข้าใจปฏิบัติตามได้ จากนั้นก็พูดถึงโมหะกิเลส ซึ่งเป็นธรรมดาของสัตว์โลก และธรรมะเพื่อการหลุดพ้น แล้วก็พูดถึงอริยสัจ ๔ และอธิบายความหมายของการปล่อยวาง ซึ่งไม่ใช่การปล่อยทิ้ง คือเจจะต้องตั้งสติจดจ่ออยู่กับการกำหนดรู้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าอารมณ์อะไรจะเกิดขึ้น ก็เพียงแต่กำหนดรู้ แล้วก็ปล่อยวาง อย่าปล่อยจิตให้เลื่อนไหลไปกับอารมณ์ เพราะนั่นหมายถึงการเกิด แล้วก็ทุกข์ เราได้พูดถึงการปล่อยวาง ในความหมายที่เชื่อมโยงถึงการ "การให้อภัย" และ "อนัตตา" ถ้าเราไม่ให้อภัย คือเรายังยึดทุกข์ไว้ เราก็จะสร้างตัวตนขึ้นบนความทุกข์เรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเกิดมีตัวตนขึ้นเมื่อไร ทุกข์ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้ แล้วอาตมาได้ถามเจว่า "ยังมีใครอีกบ้างไหมที่เจยังไม่ได้ให้อภัย" เจนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดก็ตอบค่อย ๆ ว่า "ผมยังไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้หมดใจครับ" คำตอบของเจกินใจอาตมาจนทำให้เกิดความรู้สึกตื้นตัน เจยังฝังใจจำที่ตัวเองได้พลาดพลั้งไปในอดีต อาตมาจึงได้ชี้แจงให้เห็นธรรมชาติของการเกิดดับ เจจะต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มันได้ดับไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นคนละคนกับคนในอดีต เจจะต้องปล่อยวางเหตุการณ์ในอดีต รวมทั้งคนที่เคยประกอบกรรมในอดีตนั้นเสีย ด้วยน่าสังเกตว่า บรรดาผู้คุมก็สนใจฟังเทศน์ของอาตมาเหมือนกัน และตลอดคืนนั้นพวกเขาก็ดูให้ความเคารพและเกรงใจเราทั้งคู่มากขึ้น เจมีอาการอย่างไรบ้างครับ เมื่อวันใกล้การประหาร ตอนหนึ่งเขาถามอาตมาว่า "ถ้าผมไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต แล้วอะไรล่ะครับที่จะหลุดพ้น" อาตมาตอบว่า "นี่ก็ไม่ใช่อะไรอื่น เป็นเพียงคำถามที่เกิดจากความสงสัยเท่านั้นเอง เมื่อได้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียกว่าอะไร" และอีกครั้งหนึ่ง เจบอกอาตมาว่า "ตอนนี้ผมมีคนสองคนอยู่ในใจผม คือท่านอาจารย์กับตัวผมเอง" อาตมาตอบว่า "เจต้องปล่อยวางอาตมาเสีย เพราะอาตมาจะไม่เข้าไปข้างในกับเจ และก็ต้องปล่อยวางตัวเองด้วย" แล้วเราก็หัวเราะกันจริง ๆ แล้ว อาตมาได้พยายามช่วยเจในการเตรียมตัวเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งอาจรบกวนความสงบของเขามากกว่า "พวกเขาจะมัดเจติดกับเตียง" อาตมาเตือน "และคงทำอะไรวุ่นวายหลายอย่างรอบตัวเจ เพราะฉะนั้นเจต้องกำหนดจิตจดจ่ออยู่ภายในเท่านั้น อย่าส่งจิตออกข้างนอก" ตลอดคืนนั้นเราก็นั่งสมาธิบ้าง สวดมนต์บ้าง และสนทนาธรรมบ้าง เพราะฉะนั้น เจจึงสงบมาก และสามารถกำหนดจิตแน่วแน่กับอารมณ์กรรมฐาน ท้ายที่สุดเราได้จัดเวลาประกอบพิธีสวดมนต์ อุทิศส่วนกุศล และแผ่เมตตาแก่ทุก ๆ คน รวมทั้งผู้คุม หลังจากรู้แน่ชัดว่าการอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายคงไม่ได้ผล เจก็ขอร้องอาตมาให้แผ่เมตตาแก่คณะทนายความที่ร่วมในการทำคดีของเขาด้วย แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต เจก็ยังอุตส่าห์มีน้ำใจเผื่อแผ่ถึงผู้อื่น เกือบหกทุ่ม เขาก็มาบอกว่าจะพาเจไปแล้วพอเขาเรียก เจก็ลุกเดินออกไป ...เฉย ไม่หวั่นไหว ไม่ตกใจกลัว ตอนเดินผ่านห้องของอาตมา ก็ยกมือไหว้บอกว่า "ผมลาครับ" แล้วก็เข้าไปในห้องประหาร ตอนนั้นอาตมาก็ยังถูกขังอยู่ ก็ได้ยินเสียงการเตรียม รัดเจไว้กับเก้าอี้ ซึ่งอาตมาก็ได้เคยอธิบายให้เจฟัง และได้กำชับแล้ว ว่าอย่าได้ใส่ใจกับสิ่งอื่น ให้สนใจในการทำจิตให้สงบที่สุด หนักแน่นที่สุด สบายที่สุด พิจารณาการปล่อยวาง หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็มาพาอาตมาออกไปนอกเรือนจำ ซึ่งต้องออกทางด้านหลัง เพราะด้านหน้ามีการประท้วง คนมาร่วมด้วย ๓๐๐ ๔๐๐ คน ฝนตกหนักที่สุด ลมก็แรง เหมือนกับเทวดาไม่พอใจเลย หลายคนก็ไม่พอใจการประหาร เพราะได้ข่าวว่านักโทษเจสามารถปรับตัวได้ เป็นคนสงบ มีหลักการในการดำเนินชีวิต น่านับถือ คนเลยออกมาประท้วง ซึ่งที่จริงทุกครั้งที่จะมีการประหารก็มีคนออกมาต่อต้าน ไม่เห็นด้วย เพราะรู้สึกว่าป่าเถื่อน ไม่สมควรกับประเทศที่เจริญ แต่ครั้งนี้มีคนออกมาประท้วงมากกว่าครั้งก่อน ๆ และอากาศก็แย่กว่าทุกครั้ง ตอนเช้าดูหนังสือพิมพ์ เขารายงานข่าวว่า เจนอนนิ่งหลับตา รอรับการประหารอย่างสงบ อาตมาก็รู้สึกภูมิใจ เพราะเชื่อว่าเจกำลังกำหนดจิต มีพิธีศพไหมคะ มีพิธีเผาศพอย่างเงียบ ๆ ในวันรุ่งขึ้น อาตมาได้ไปพบไตรยา พี่สาวของเจ ที่นั่นด้วย เขาเอาศพใส่ในกล่องกระดาษ ก่อนหน้านั้นไตรยาขอดูศพ แต่ไม่ได้รับอนุญาต อาตมาไม่ทราบเรื่องนี้ เลยไปขอให้ผู้อำนวยการเผาศพเปิดฝากล่อง เธอลังเลอยู่นิดหน่อยแต่แล้วก็ยอมทำตาม ปรากฏว่าศพอยู่ในถุงพลาสติก "น่าจะมีซิปเปิดนะ" อาตมาบอก เธอมองหาและบอกว่าซิปอยู่ทางปลายเท้า แต่ก็ลังเลก่อนที่จะบอกว่าเจอาจไม่ได้ใส่เสื้อผ้า อาตมาบอกว่าน่าจะใช้กรรไกรตัดได้ เพราะเป็นเพียงถุงพลาสติก เธอก็เลยเปิดถุงตรงช่วงไหล่และศีรษะ ........ ศพของเจ เปรียบได้กับครูกรรมฐานซึ่งให้พลังบันดาลใจอย่างมาก ใบหน้าของเขาดูสงบผ่องใส และคล้ายมีรอยยิ้มจาง ๆ น่าเชื่อว่า เจได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ หลังจากประมวลเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นดูแล้ว อาตมามั่นใจว่า เจไปดี ท่านอาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างครับ หลังการประหาร อาตมารู้สึกเป็นบุญที่ได้อยู่กับเจ มันเป็นประสบการณ์ที่ช่วยลดอัตตาของเราลงได้มากทีเดียว อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นพวกเรา เจอสภาพอย่างเดียวกันนี้บ้าง เราจะเป็นอย่างไร กับการที่จะได้สัมผัสความตายที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ โดยที่รู้เวลาแน่นอนด้วย ไม่ใช่แค่ว่าจะตายในวันใดวันหนึ่งในอนาคต แต่รู่แน่ว่า ๒๔.๐๑ นาฬิกาของวันนั้น เราจะต้องตาย (๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒) ก่อนหน้านี้เจไม่ได้กังวลหรือหวังผลจากขบวนการยุติธรรม เขาไม่ได้ตั้งความหวังว่าการอุทธรณ์จะได้ผล และเมื่อผลปรากฏออกมาว่าไม่สำเร็จจริง ๆ เขาก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร เจบอกอาตมาว่า "ผมยอมรับความจริงว่าผมจะต้องถูกประหาร" หลังจากวันประหาร อาตมาก็ต้องพบทนายอีกสองคน และโยมผู้หญิงซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาคนนั้น เขาอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ เพราะกฎหมายระบุว่าเฉพาะผู้นำทางศาสนาเท่านั้นที่จะเข้าไปกับนักโทษได้ แต่ตลอดเวลา ๖ ๗ ปี ที่ผ่านมา เรื่องมันยังอยู่ระหว่างการต่อรองทางกฎหมายที่จะให้นักโทษเลือกที่พึ่งทางใจได้เอง แต่ถึงตอนนั้นก็ยังไม่เป็นสิทธิตามกฎหมายที่แท้จริง เมื่ออาตมาเล่าเหตุการณ์ทุกอย่างให้เขาฟัง เขาก็แปลกใจ ว่าราบรื่นจริง ๆ นึกไม่ถึงว่าจะดีอย่างนั้น เขาก็อนุโมทนา หลังจากการประหารผ่านมาสองสามเดือน อาตมาก็ได้ข่าวจากคนที่มาวัด ซึ่งมีเพื่อนเป็นนักจิตวิทยาผู้ทำหน้าที่ช่วยเจ้าหน้าที่อยู่ในเรือนจำ ว่าหลังจากประหารเจแล้ว เจ้าหน้าที่หลายคนรู้สึกสะเทือนใจ ลำบากและอึดอัดใจในการกลับไปปฏิบัติหน้าที่อีก ก็ดีที่ทำให้เขาสำนึกได้ ตอนอาตมาเข้าไปก็ไม่ได้ถามเจเกี่ยวกับคดี ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะมุ่งแต่ให้เขาทำหน้าที่ของเขา คือ ทำจิตใจให้มั่นคง หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว อาตมากลับมาศึกษาคดี ศึกษากรณีต่าง ๆ แล้ว ก็รู้สึกว่า เจไม่ได้เป็นคนผิด แต่ตลอดเวลาที่อยู่ในคุก เขาไม่บอกว่าที่จริงคนฆ่าคือใคร นอกจากยอมรับเคราะห์แทน เมื่อเจขึ้นศาลตอนแรกนั้น เงินทุนที่จะต่อสู้คดีก็ไม่มี ภาษาอังกฤษก็ยังไม่ดี ทนายที่ศาลแต่งตั้งให้เจก็กำลังหาเสียงเลือกตั้ง เลยไม่สนใจคดี ไม่หาพยานให้เจด้วย ศาลก็ตัดสินอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่เป็นคนไทย เมื่อถูกจับเข้าคุก ตามกฎหมายระหว่างประเทศ สถานทูตไทยควรมีส่วนช่วยเหลือ แต่เขาก็ไม่ได้แจ้งเรื่องให้สถานทูตทราบเลย จนกระทั่งหลังตัดสินประหารไปแล้ว ถึงแม้มีการอุทธรณ์ แต่ตามกฎหมาย ศาลก็จะพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่มีในตอนตัดสินครั้งแรกเท่านั้น จะเอาข้อมูลใหม่เข้าไปไม่ได้ เจก็เลยเสร็จ ไม่มีประตูสู้ ฟังแล้วบางทีก็หดหู่นะ สลดใจ แต่เจเองเขาก็พูดอยู่เสมอว่า ไม่สมควรหดหู่ ไม่สมควรเศร้าใจ เราต้องเชื่อในหลักกรรม ถ้าไม่เป็นกรรมในชาตินี้ ก็ต้องเป็นกรรมในชาติก่อนตามมา ทางที่ดีคือยอมรับด้วยจิตใจผ่องใส ถ้าเราไปมีทุกข์ ทำใจไม่ดี เราก็ต้องเกิดมาพัวพันกับกรรมเก่านี้อีก ตอนนี้มีโอกาสที่จะทำให้มันหมดสิ้นไป เขาพูดได้อย่างนี้นะ ... เจเป็นศิลปินมีฝีมืออย่างที่เขาว่าหรือเปล่าคะ จริง อาตมาได้เห็นผลงานศิลปะที่เจรวบรวมไว้ เขาเป็นคนมีพรสวรรค์จริง ๆ และเชี่ยวชาญในศิลปะหลายแขนง ผลงานส่วนใหญ่ ๖๐๐ ชิ้น เจได้แจกจ่ายแก่เพื่อน ๆ และคนคุ้นเคยไปแล้ว เจอาศัยศิลปะเป็นสื่อในการแสดงออก เขามักใช้ภาพผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์แทนพัฒนาการของตนเอง เจเล่าว่า มีอยู่ขณะหนึ่งเขาปลงตก คิดว่า อย่างไรเสีย ตัวเองก็คงจะต้องตายในคุกเป็นแน่แท้ เวลาก็เหลือน้อยเต็มทีแล้ว จะผูกโกรธอาฆาตตัวเองและผู้อื่นอยู่อีกทำไม แปดปีสุดท้ายของชีวิต เป็นช่วงที่การปฏิบัติของเจ เริ่มปรากฏผลเป็นความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของเขาอย่างชัดเจน เจได้รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ และได้เรียนรู้ว่า หากรู้จักปฏิบัติอย่างถูกวิธี การติดคุกก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสียทีเดียว เจยอมรับว่า ถ้าไม่ได้เผชิญความยากลำบากและความทุกข์แสนสาหัสอย่างที่ได้รับระหว่างต้องโทษในเรือนจำ เขาคงไม่อาจพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ถึงระดับนี้ เจรู้จักใช้ปัญญาในการใคร่ครวญพิจารณา ว่าอะไรเป็นเหตุแห่งความสว่างสงบของจิต ยิ่งใกล้วันประหาร เขาก็ยิ่งตระหนักชัดและให้ความเอาใจใส่ ระมัดระวังสิ่งที่จะขัดขวางความสงบและความก้าวหน้าของจิต ระยะหลังเขาจึงมุ่งไปเอาจริงเอาจังกับการฝึกจิต โดยใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญความเป็นจริงยิ่งขึ้น เจเติบโตในประเทศไทย และเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เขาเคยพูดเล่น ๆ ว่า อยากให้เอาอังคารของเขาไปโปรยในทะเลให้ปลากิน เมื่อคนมากินปลาอีกต่อหนึ่ง เขาก็จะได้กลับมาเกิดในภูมิมนุษย์อีก เพื่อปฏิบัติธรรมต่อไป เขารู้ว่ามนุษย์เท่านั้นที่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองได้โดยไม่มีขีดจำกัด รู้จักแยกแยะ สุข-ทุกข์ ดี-ชั่ว และผิด-ถูก พัฒนาการและการเรียนรู้ของแต่ละคน เป็นผลสืบเนื่องจากวิถีกรรมที่คนคนเลือกเอง ที่แล้วมาเจได้เลือกทางผิดไปบ้าง แต่เขาก็มีทางที่ถูกอยู่ด้วยเหมือนกัน เจได้เรียนรู้ความจริงบางอย่างแล้ว จากประสบการณ์ชีวิตในชาตินี้ เขาจึงมุ่งมั่นที่จะได้ปฏิบัติธรรมต่อไปในชาติหน้า |
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น