ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ลิ้มรสสิ่งที่อยู่ในใจ (ต่อ)

    ลำดับตอนที่ #5 : คุยกับพระอาจารย์3

    • อัปเดตล่าสุด 10 พ.ย. 50


    ในคืนนั้นท่านอาจารย์เทศน์เรื่องอะไรครับ

    อาตมาเล่าประวัติพระพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ ๆ ไม่ทรงปรารถนาจะโปรดสัตว์ เพราะทรงเห็นว่าธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นของลึกซึ้ง ยากที่คนจะเข้าใจปฏิบัติตามได้ จากนั้นก็พูดถึงโมหะกิเลส ซึ่งเป็นธรรมดาของสัตว์โลก และธรรมะเพื่อการหลุดพ้น แล้วก็พูดถึงอริยสัจ ๔ และอธิบายความหมายของการปล่อยวาง ซึ่งไม่ใช่การปล่อยทิ้ง
    คือเจจะต้องตั้งสติจดจ่ออยู่กับการกำหนดรู้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าอารมณ์อะไรจะเกิดขึ้น ก็เพียงแต่กำหนดรู้ แล้วก็ปล่อยวาง อย่าปล่อยจิตให้เลื่อนไหลไปกับอารมณ์ เพราะนั่นหมายถึงการเกิด แล้วก็ทุกข์ เราได้พูดถึงการปล่อยวาง ในความหมายที่เชื่อมโยงถึงการ "การให้อภัย" และ "อนัตตา" ถ้าเราไม่ให้อภัย คือเรายังยึดทุกข์ไว้ เราก็จะสร้างตัวตนขึ้นบนความทุกข์เรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเกิดมีตัวตนขึ้นเมื่อไร ทุกข์ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น มันเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้ แล้วอาตมาได้ถามเจว่า "ยังมีใครอีกบ้างไหมที่เจยังไม่ได้ให้อภัย" เจนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดก็ตอบค่อย ๆ ว่า "ผมยังไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้หมดใจครับ" คำตอบของเจกินใจอาตมาจนทำให้เกิดความรู้สึกตื้นตัน เจยังฝังใจจำที่ตัวเองได้พลาดพลั้งไปในอดีต อาตมาจึงได้ชี้แจงให้เห็นธรรมชาติของการเกิดดับ เจจะต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มันได้ดับไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นคนละคนกับคนในอดีต เจจะต้องปล่อยวางเหตุการณ์ในอดีต รวมทั้งคนที่เคยประกอบกรรมในอดีตนั้นเสีย ด้วยน่าสังเกตว่า บรรดาผู้คุมก็สนใจฟังเทศน์ของอาตมาเหมือนกัน และตลอดคืนนั้นพวกเขาก็ดูให้ความเคารพและเกรงใจเราทั้งคู่มากขึ้น



    เจมีอาการอย่างไรบ้างครับ เมื่อวันใกล้การประหาร

    ตอนหนึ่งเขาถามอาตมาว่า "ถ้าผมไม่ใช่รูป ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต แล้วอะไรล่ะครับที่จะหลุดพ้น" อาตมาตอบว่า "นี่ก็ไม่ใช่อะไรอื่น เป็นเพียงคำถามที่เกิดจากความสงสัยเท่านั้นเอง เมื่อได้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียกว่าอะไร" และอีกครั้งหนึ่ง เจบอกอาตมาว่า "ตอนนี้ผมมีคนสองคนอยู่ในใจผม คือท่านอาจารย์กับตัวผมเอง" อาตมาตอบว่า "เจต้องปล่อยวางอาตมาเสีย เพราะอาตมาจะไม่เข้าไปข้างในกับเจ และก็ต้องปล่อยวางตัวเองด้วย" แล้วเราก็หัวเราะกันจริง ๆ แล้ว อาตมาได้พยายามช่วยเจในการเตรียมตัวเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งอาจรบกวนความสงบของเขามากกว่า "พวกเขาจะมัดเจติดกับเตียง" อาตมาเตือน "และคงทำอะไรวุ่นวายหลายอย่างรอบตัวเจ เพราะฉะนั้นเจต้องกำหนดจิตจดจ่ออยู่ภายในเท่านั้น อย่าส่งจิตออกข้างนอก"

    ตลอดคืนนั้นเราก็นั่งสมาธิบ้าง สวดมนต์บ้าง และสนทนาธรรมบ้าง เพราะฉะนั้น เจจึงสงบมาก และสามารถกำหนดจิตแน่วแน่กับอารมณ์กรรมฐาน ท้ายที่สุดเราได้จัดเวลาประกอบพิธีสวดมนต์ อุทิศส่วนกุศล และแผ่เมตตาแก่ทุก ๆ คน รวมทั้งผู้คุม หลังจากรู้แน่ชัดว่าการอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายคงไม่ได้ผล เจก็ขอร้องอาตมาให้แผ่เมตตาแก่คณะทนายความที่ร่วมในการทำคดีของเขาด้วย แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิต เจก็ยังอุตส่าห์มีน้ำใจเผื่อแผ่ถึงผู้อื่น

    เกือบหกทุ่ม เขาก็มาบอกว่าจะพาเจไปแล้วพอเขาเรียก เจก็ลุกเดินออกไป ...เฉย ไม่หวั่นไหว ไม่ตกใจกลัว ตอนเดินผ่านห้องของอาตมา ก็ยกมือไหว้บอกว่า "ผมลาครับ" แล้วก็เข้าไปในห้องประหาร ตอนนั้นอาตมาก็ยังถูกขังอยู่ ก็ได้ยินเสียงการเตรียม รัดเจไว้กับเก้าอี้ ซึ่งอาตมาก็ได้เคยอธิบายให้เจฟัง และได้กำชับแล้ว ว่าอย่าได้ใส่ใจกับสิ่งอื่น ให้สนใจในการทำจิตให้สงบที่สุด หนักแน่นที่สุด สบายที่สุด พิจารณาการปล่อยวาง

    หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็มาพาอาตมาออกไปนอกเรือนจำ ซึ่งต้องออกทางด้านหลัง เพราะด้านหน้ามีการประท้วง คนมาร่วมด้วย ๓๐๐ – ๔๐๐ คน ฝนตกหนักที่สุด ลมก็แรง เหมือนกับเทวดาไม่พอใจเลย หลายคนก็ไม่พอใจการประหาร เพราะได้ข่าวว่านักโทษเจสามารถปรับตัวได้ เป็นคนสงบ มีหลักการในการดำเนินชีวิต น่านับถือ คนเลยออกมาประท้วง ซึ่งที่จริงทุกครั้งที่จะมีการประหารก็มีคนออกมาต่อต้าน ไม่เห็นด้วย เพราะรู้สึกว่าป่าเถื่อน ไม่สมควรกับประเทศที่เจริญ แต่ครั้งนี้มีคนออกมาประท้วงมากกว่าครั้งก่อน ๆ และอากาศก็แย่กว่าทุกครั้ง ตอนเช้าดูหนังสือพิมพ์ เขารายงานข่าวว่า เจนอนนิ่งหลับตา รอรับการประหารอย่างสงบ อาตมาก็รู้สึกภูมิใจ เพราะเชื่อว่าเจกำลังกำหนดจิต



    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×