ผ่าหลุดโลก - นิยาย ผ่าหลุดโลก : Dek-D.com - Writer
×

    ผ่าหลุดโลก

    คนอื่นเค้าทำได้…เราก็ต้องทำได้

    ผู้เข้าชมรวม

    84

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    84

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    จำนวนตอน :  0 ตอน
    อัปเดตล่าสุด :  26 เม.ย. 67 / 18:47 น.
    loading
    กำลังโหลด...
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

    ต้องขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านตรงๆ ก่อนว่าผู้เขียนเองก็ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการการแพทย์ มีจะดีหน่อยคือ เรียนจบสายศิลป์ภาษาฝรั่งเศสจากโรงเรียนหญิงแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ แล้วเข้าเรียนต่อด้านกฎหมายและจบระดบการศึกษาสูงสุดด้านรัฐศาสตร์การทูต ส่วนท่ีว่ารู้เรื่องการแพทย์แบบงูๆ ปลาๆ นั้น ก็อ่านเอาจากหนังสือทั่วไป อินเตอร์เน็ต หรือได้ยินคำบอกเล่าจากคุณหมอ คุณลุงคุณป้า คุณน้าคุณอา คุณพี่คุณน้อง และคนรอบตัวเท่านั้นน่ะค่ะ

    ขอออกตัวอีกหน่อยนะคะเผื่อท่านผู้อ่านจะได้มโนออก ผู้เขียนนั้นเป็นสาวห้าวดูทะมัดทะแมง ร่างกายแข็งแรง เล่นกีฬาได้ดีในระดับปานกลาง (แม้จะไม่ได้โดดเด่นเหมือนเพื่อนหรือรุ่นพี่คนอื่น) แต่จะมาสนุกและออกจะเตะตาเพื่อนนักเรียนและน้องๆ ในช่วง 2 ปีสุดท้ายของการอยู่มัธยมปลายคือ ปิงปองและแฮนด์บอล แล้วพอเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ผู้เขียนก็ได้ร่วมกิจกรรมแผนกกีฬาประจำคณะ (ท่ีคิดว่าทำได้ดีท่ีสุด) คือบาสเกตบอล และโปโลน้ำของนิสิตปี 1 แล้วแน่นอนเป็นไปตามคาดค่ะ พวกเราตกรอบแรกทั้งสองชนิดกีฬา แต่ก็สนุกและก็ได้รู้จักเพื่อนต่างคณะในมหาวิทยาลัย ระหว่างนั้น การเรียนของผู้เขียนก็ดำเนินไปเหมือนนิสิตคนอื่น มีทั้งเล่น เครียด สนุก เศร้า งง และไม่พลาดกับการลอกเลกเชอร์ของรุ่นพี่และเพื่อนท่ีเก่งๆ ท่ีลายมือเจ๋งเจ้าประจำ (ส่วนตัวผู้เขียน แม้กระทั่งร้านถ่ายเอกสารยังไม่รับถ่ายแจกให้เพื่อนหรือรุ่นน้องเลย แถมโดยถูกก่นด่าว่าเสียตังค์เปล่า) 

    พอเรียนจบในรั้วมหาวิทยาลัย พวกเราทั้งชั้นปีก็แยกย้ายกันไปเรียนต่อ ฝึกงาน หรือทำงาน ซึ่งผู้เขียนเลือกเอาอย่างแรกโดยมีเป้าหมายในใจท่ีสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปีพร้อมมีโอกาสดูมหกรรมโอลิมปิคท่ีนครแอตแลนต้าท่ีตัวแทนนักกีฬาของไทยเราอย่างพี่สมรักษ์ คำสิงห์ คว้าเหรียญทองประเภทมวยสากลสมัครเล่นมาได้ (แม้ทางทางโทรทัศน์) และมีโอกาสฝึกงานกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำขนาดใหญ่ท่ีสุดของโลก (น่าจะรวมถึงปัจจุบันด้วย) ณ กรุงวอชิงตัน เป็นเวลา 3 เดือนแล้วกลับมาทำงานต่อท่ีบริษัทฯ เดียวกันในกรุงเทพฯ สยามเมืองยิ้ม (แต่ตอนทำงานมักไม่ค่อยได้ยิ้มหรอกนะคะ) เป็นเวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งขณะนั้นแม้ยังสนุกกับการทำงานแต่เนื่องด้วยอาการปวดหัวไมเกรนอย่างหนัก ก็ถึงคิวยอมแพ้แล้วเซย์บ๊ายบาย ได้พักรักษาร่างอยู่พักหนึ่ง ก็ได้สมัครงานแห่งใหม่ซึ่งไม่อยู่ในรูปองค์กรเอกชนหรือสังกัดรัฐบาลไทย และทำที่นี่ได้อยู่อีก 10 ปีพอดิบพอดี และครั้งนี้ดูเหมือนเป็นการตัดสินใจครั้งสุดท้ายท่ีผู้เขียน คุณพ่อคุณแม่ และสมาชิกในครอบครัวเห็นด้วยท่ีจะให้ทำงานประจำครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายเพราะปัญหาด้านสุขภาพของตัวผู้เขียนเองอีกเช่นกัน แต่คราวนี้ ไม่ใช่อยู่ในรูปของการปวดหัวแต่เป็นปวดท้อง คลื่นไส้ และแถมยังมีการผ่าตัดท่ีมีทีท่าไม่หายขาดซักที

    ดังท่ีกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเป็นคนชอบออกกำลังกายโดยเฉพาะว่ายน้ำ มีอยู่ระยะหนึ่งผู้เขียนมีความคิดอยากว่ายน้ำข้ามทะเลเช่นทหารเรือหรือนาวิกโยธิน (แต่โดยปราศจากสัมภาระ) จากเกาะล้านมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งท่ีหาดพัทยา แต่มิวายถูกกระแสคัดค้านอย่างหนักทั้งจากคุณแม่และคุณพ่อว่าไม่ประมาณกำลังตนเอง แผนนี้เลยต้องเก็บเข้าลิ้นชักไป แต่ตามความเป็นจริง ผู้เขียนก็ยังรักท่ีจะว่ายน้ำต่อไปเรื่อยๆ โดยเรียนกับโค้ชและฝึกในสระของสโมสร โดยหวังลึกๆ ว่าจะเป็นหนึ่งในนักว่ายน้ำระยะไกลให้ได้แม้เริ่มต้นเมื่ออายุมาก (และไม่หน่อยแล้วก็ตาม) จะบอกว่าว่ายจริงจังแบบนี้ได้ประมาณ 5 ปี ผู้เขียนก็เก็บระยะทางได้กว่าหนึ่งล้านเมตรหรือกว่า 1,000 กิโลเมตร ก็แอบภูมิใจเล็กๆ ว่ามีชื่อเราขึ้นบอร์ดของสโมสร โดยโค้ชก็ช่วยเชียร์ว่าเราทำได้นะ เราเองก็มีศักยภาพไม่น้อยหน้าคนอื่นเหมือนกัน

    แต่แล้วช่วงเช้าตรู่ของวันหนึ่งเมื่อราวปี พ.ศ. 2547 เหตุเกิดท่ีสโมสรออกกำลังกายท่ีว่า ซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากโรงเรียนของผู้เขียน ผู้เขียนกำลังมุ่งมั่นเตะเท้าพร้อมแผ่นโฟมเพื่อวอร์มอัพได้สัก 400 เมตรแล้วก็เริ่มว่ายท่าฟรีสไตล์และสลับด้วยท่ากบอย่างละ 200 ถึง 300 เมตรอย่างเคย แต่หลังจากนั้น อยู่ๆ ก็รู้สึกว่ายไม่ไหวแล้วเพราะจุกแน่นท้องกระทันหันจนต้องขึ้นจากสระมาเข้าห้องน้ำเนื่องจากโดนข้าศึกจู่โจมหนัก ภายหลังเสร็จภาระกิจ ผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่าร่างกายยังคงไม่เป็นปกติคือ มันอื้ออึงยังไงไม่รู้ เลยวิ่งรถตื๋อไปโรงพยาบาลเข้าหาหมอท่ีคุ้นกันประจำแผนกสูตินรีเวชดีกว่า คุณหมอซักไซ้เรื่องราวแล้วก็ส่งตัวไปเอกซ์เรย์โดยละเอียด ผลปรากฏว่ามีอุจจาระเต็มท้องเปรียบเป็นโบกี้รถไฟเหมือนไม่ได้ถ่ายมาเป็นสัปดาห์ (ทั้งๆ ท่ีก็เพิ่งถ่ายก่อนมาเมื่อขึ้นจากสระ) คุณหมอเลยส่งต่อให้คุณหมอประจำตัวผู้เขียนอีกท่านท่ีแผนกทางเดินอาหาร ซึ่งสรุปได้ว่าลำไส้ใหญ่มันพับคล้ายเชือกผูกรองเท้าไขว้กันซึ่งน่าจะเป็นนานแล้ว แต่อาการเพิ่งกำเริบอย่างจริงจัง จำต้องผ่าตัดด่วน ดีนะท่ีวันนั้นผู้เขียนยังไม่ได้กินอาหารหรือดื่มอะไรมาตั้งแต่เทึ่ยงคืนวันก่อน คุณพ่อและคุณแม่ถูกตามตัวจ้าละหวั่นมาโรงพยาบาลเพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกน้อยลำเลียงเข้าห้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องครั้งใหญ่เป็นครั้งท่ีสองหลังจากผ่าตัดไส้ติ่งเมื่อนานมาแล้ว และต่อจากนั้นมา ชีวิตของผู้เขียนก็มีแต่การละเลงด้วยการผ่าตัด โดยหลังจากนี้มี การส่งต่อเปลี่ยนไม้ผัด (ดังท่ีท่านอาจารย์หมอศัลย์สองท่านพูดแซวกัน) และบุคคลากรท่ีเกี่ยวข้องหลายท่านคงเบื่อหน้าผู้เขียนแล้ว

    ชีวิตของผู้เขียนน่าจะดำเนินไปด้วยความปกติเฉกเช่นคนอื่น แต่สรุปว่ามันไม่ใช่แบบนั้นคือ ชะตาเกิดเล่นตลกทำให้ตัวเองต้องมานอนเล่นบ่อยๆ ในโรงพยาบาล สำหรับอวัยวะท่ีนำมาซึ่งความปวดแน่นท้องและคลื่นไส้ท่ีว่าคือ ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ (GI Dysmotility) โดยผู้เขียนได้รับการบอกกล่าวว่าเป็นภาวะเรื้อรังตลอดชีวิต อัตราท่ีพบกับผู้ป่วยแบบนี้มากท่ีสุดมักเกิดกับชาวไนจีเรีย (ไม่ทราบสาเหตุ) และไม่มียารักษาให้หายขาดได้เพราะบางครั้งให้ยามากไปอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก หรือถ้าให้ยาระบายก็อาจทำให้เกิดผลในทางตรงข้ามเลยคือท้องร่วง (มากกว่าท้องเสียในคนปกติ) หรือให้เห็นภาพมากขึ้นคือ กล้ามเนื้อลำไส้ทำงานผิดปกติ กล่าวคือ บางส่วนทำงานแต่บางส่วนไม่ทำสอดคล้องไปด้วย คุณผู้อ่านคงคิดถึงตัวหนอนท่ีลำตัวยาว ส่วนต้นออกก้าวเดิน ตอนกลางขากลับไม่ขยับ ตอนปลายก็เร่งฝีเท้าตามให้ทันส่วนหน้ายังไงอย่างนั้นละค่ะ

    ในท่ีสุด กรณีของผู้เขียน คุณหมอศัลย์ท่านหนึ่งท่ีชำนาญการเฉพาะด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนักอาจ เรียกได้ว่ามากท่ีสุดของประเทศไทยคนหนึ่งและได้รับการยกย่องโดยแพทย์ทั่วโลก ได้พิจารณาเฝ้าสังเกต อาการพักใหญ่และตัดสินใจผ่าลำไส้ใหญ่ของผู้เขียนเพราะมันไม่เคลื่อนไหวหรือเรียกว่าภาวะอุดตัน ตอนแรกพวกเราก็นึกว่าเอาแค่ความคิดเห็นของคุณหมอท่านเดียวมาตัดสินผ่าตัด แต่จริงๆ แล้วมีมากกว่านั้น กล่าวคือยกแพทย์ทั้งทีม มีทั้งแพทย์ผู้พี่ผู้น้อง ลูกศิษย์แพทย์ เพื่อนพ้องในโรงพยาบาลเดียวกันและต่างโรงพยาบาล สิ่งท่ีท่านได้ทำคือ รักษาแบบประคับประคอง (conservative treatment) แล้วค่อยๆ ทยอยผ่าตัดภายหลังจากตรวจสอบโดยแน่ใจแล้วว่าลำไส้ใหญ่ไม่ทำงาน คุณหมอได้พยายามกระตุ้นแล้วกระตุ้นอีกพลาง ให้ยาระงับปวดอย่างแรงหลายขนาน คือพวกมอร์ฟีน อีกทั้งใช้สาย NG และเครื่องกองโก้ดูดของเสียออกจากระบบทางเดินอาหารพร้อมให้สารอาหารแบบขาวขุ่นๆ ผู้เขียนจำได้ดีว่าตัวเองปวดท้องมาก เป็นเวลานานแสนนาน เพราะฉะนั้นคุณหมอจึงตัดสินใจตัดลำไส้ใหญ่บางส่วนออก

    อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดข้างต้นก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อันนำมาซึ่งการผ่าตัดอีกประมาณ 7 ครั้งบริเวณหน้าท้องและหนึ่งครั้งท่ีเจาะหน้าท้องเป็นรูจำนวน 3 รู ซึ่งเป็นการทยอยตัดลำไส้ใหญ่ทีละนิดและในที่สุดผู้เขียนเหลือลำไส้ใหญ่ประมาณ 4 นิ้ว เพื่อเชื่อมต่อระหว่างทวารหนักและลำไส้เล็ก (จนไม่มีอะไรจะตัดอีกแล้ว - คุณหมอย้ำกับผู้เขียนหลายครั้ง)

    ส่วนอีกสองครั้งเป็นการผ่าตัดเพื่อใส่กระเป๋าจิงโจ้หรือกระเป๋าเทของเสียทางหน้าท้อง และต่อมาอีกเดือนเศษๆ หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 ก็จำต้องผ่าตัดปิดกลับเข้าไปเนื่องจากผู้เขียนจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรท่ีมหาวิทยาลัยรามคำแหง
    ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจอยากถามผู้เขียนอยู่ตะหงิดๆ ใช่ไหมคะว่าควรเตรียมใจยังไงว่าทั้งก่อนและหลังเข้าหลังการผ่าตัด (น้อยกว่าสมาชิกทีมฟุตบอลเพียงหนึ่งคนเท่านั้น) ก่อนอื่นเลย คงต้องทำความเข้าใจว่าถ้าคุณหมอเจ้าของไข้คุณๆ มีคำสั่งให้เตรียมการผ่าตัดแล้ว เขาคงต้องมาอธิบายขั้นตอนและมาปลอบโยนว่ามันเจ็บมากน้อยแค่ไหน แต่รับรองว่าไม่มีคนไหนบอกว่า “เจ็บสุดๆ เตรียมใจเลยนะ (ครับ/ค่ะ)” ทั้งท่ีจริงแล้วคนไข้เองหลังจากฟื้นตัวดีแล้วคือหมดฤทธิ์ยาแก้ปวดเมื่อไหร่ละก็ต้องเรียกว่าเจ็บสุดตัวในวันแรกๆ ของวันผ่าตัดเลยละค่ะ แล้วท่ีสำคัญก็ขึ้นอยู่กับอวัยวะท่ีถูกผ่าและการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์เช่น การเคลื่อนไหวบ่อยๆ เพื่อไม่ให้พังผืดรัดลำไส้ซึ่งผู้เขียนปฏิบัติเป็นสรณะ (แต่ก็ไม่วายต้องผ่าแล้วผ่าอีกไม่รู้ทำไม) หรือวางไว้ใน ตำแหน่งที่เหมาะสมและปรับองศาหรือมุมให้ได้ขนาดตามท่ีคุณหมอแนะ (ถ้าเป็นเรื่องของกระดูกหรือเอ็น)

    อ้อ ก่อนหน้านั้น คุณพยาบาลประจำชั้น (หรือวาร์ด) ของคุณคงต้องมาช่วยแต่งตัวเช่น ชำระร่างกายให้สะอาด ทั้งอาบน้ำ สระผม ให้เรียบร้อยเอี่ยมอ่อง (สองรายการนี้ควรทำให้สะอาดอย่างละเอียด เพราะคุณจะไม่ได้ทำไปอีกหลายวันนะคะ) แต่งดการปะแป้ง ทาโรลออนที่รักแร้ หรือฉีดน้ำหอมนะคะ แล้วเจ้าหน้าท่ีเวรเปลพร้อมพยาบาลประจำวาร์ดจะมาพาตัวไปหัองรับรองผู้ป่วยหรือ Day Care (ภาษาโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง) ...โดยให้เวลาทั้งคนไข้และญาติทำใจอีกพักใหญ่ ทั้งนี้ จะมีการลงทะเบียนรับผู้ป่วยเพื่อผ่าตัดก่อนอีกชั้นเพื่อป้องกันการผิดพลาดก่อนเข้าสู่กระบวนการห้องผ่าตัดทั้งหมดเท่าท่ีผู้เขียนจำความได้ คนไข้จะต้องถูกนำมาท่ีห้องนี้ก่อนล่วงหน้าเวลานัดผ่าตัดจริงประมาณ 1 ชั่วโมงซึ่งระหว่างนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ พยาบาล (ถามสัพเพเหระเช่น กินอาหารและดื่มน้ำมื้อสุดท้ายกี่โมง มีฟันปลอมไหม ให้ถอดแว่นตาและของมีค่า สร้อยพระ รวมทั้งเสี้อชั้นในและกางเกงชั้นในออก มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไร (กรณีสุภาพสตรี) จะเข้าห้องน้ำไหม - ผู้เขียนแนะนำให้ทุกท่านเข้านะคะก่อนคุณๆ ย่างกรายเข้าสู่การผ่าตัดจริงเพราะส่วนใหญ่จะตื่นเต้นปวดเบา/ปวดหนัก จะได้ช่วยคลายปัญหาเมื่อออกจากห้องผ่าตัดไปได้ส่วนหนึ่ง) คุณหมอดมยา (คนนี้มาแนะนำตัวพร้อมเสนอตัวยาท่ีจะใช้วางยาสลบ ผลข้างเคียงของยาท่ีอาจมีและปลอบเชิงขู่ว่าอย่ากลัว ทุกอย่างจะอยู่ในความควบคุมของทีมแพทย์อย่าง ดีที่สุด รับรอง!!! และถามด้วยว่ามีอะไรอยากถามไหม สไตล์ว่าไม่สบายกายตรงไหน มีอะไรให้หมอช่วยได้บ้างทำนองนี้ ก็ต้องยกให้คนนี้เค้าเลยน่ะค่ะ)

    ทีนี้ เรามาพูดถึงบรรยากาศในห้องผ่าตัดกันนะคะ หลักๆ ผู้เขียนก็เบี้ยน้อยหอยน้อยเคยมีประสบการณ์ ทั้งสิบครั้งล้วนแล้วแต่ในประเทศไทย ก็แยกเป็นโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลรัฐเท่านั้นนะคะ อย่างแรก ก็กระเบื้องรอบห้องและชุดหมอกับทีมเจ้าหน้าท่ีอยู่ในโทนฟ้าแบบสระว่ายน้ำสดใส แต่อย่างหลังของรัฐนี่ทุกอย่างในห้องผ่าตัดมาแบบสีเขียวอื๋อน่ะค่ะ แต่สิ่งหนึ่งท่ีเหมือนกันน่าจะเรื่องเตียงก็จะมีขนาดพอดีๆ กับขนาดมาตรฐานตัวคนไข้ทั่วไป (ซึ่งผู้เขียนเดาว่ามันอาจยาวเพิ่มเติมตามความสูงของคนไข้ขนาดพิเศษได้) โดยทั้งนี้ วัสดุน่าจะทำด้วยสเตนเลสและมีเบาะวางข้างบนอีกที และแน่นอนเต็มไปด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น โคมไฟยักษ์แสงขาวและแสงเหลืองหลายแบบ ถาดท่ีเต็มไปด้วยอุปกรณ์อะไรบางอย่างคลุมผ้าซึ่งคนไข้มักจะยังไม่ได้เห็นว่ามีอะไรบ้าง (สีฟ้าหรือสีเขียวตามประเภทของโรงพยาบาลท่ีผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างดี) สายระโยงระยางจะมาแปะท่ีตัวคุณทันทีท่ีคุณนอนลง และความเย็นยะเยือกท่ีผู้เขียนสังเกตว่าหนาวกว่าห้องอื่นๆ ของโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ผู้เขียนเป็นคนขี้ร้อนมากๆ เลยเดาเอาว่าอุปกรณ์หรือยาบางอย่างในห้องนั้นต้อง อยู่ในที่อุณหภูมิต่ำเป็นพิเศษ หรือให้เดาอีกนัยหนึ่ง (แบบมั่วๆ) ว่าเป็นการช่วยห้ามเลือดในตัวคนไข้ ถ้าจำเป็นจริงๆ

     อีกสิ่งหนึ่งท่ีผู้เขียนแนะนำให้ท่านผู้อ่านพกไปใช้ (โปรดถามคุณหมอเจ้าของไข้ก่อนว่าใช้ได้หรือไม่หลังผ่าต้ด หากท่านเจ็บคอหรือระคายคอเพราะท่านยังดื่มน้ำไม่ได้ในวันแรกๆ หลังผ่าตัด) คือ Kamilosan-M ซึ่งเป็น  สเปรย์รสมินท์ซ่าๆ บรรเทาอาการดังกล่าวได้ เนื่องจากอุปกรณ์ท่ีใช้ในการดมยาสลบและช่วยการหายใจอาจไปกระทบทระทั่งหลอดลมได้

    หลังจากจบกระบวนการผ่าตัด คุณหมอท่ีเกี่ยวข้องก็เขียนรายงานทั้งหมดลงในแฟ้มประวัติรวมทั้งการตัดชิ้นส่วนเนื้อหรือการเพาะเชื้ออะไรไปตรวจและติดตามผลในภายหลังพร้อมรายงานให้คนไข้และญาติทราบต่อมา แต่กรณีผู้เขียนไม่มีอะไรผิดปกติ ผ่าทุกครั้ง คุณหมอก็บอกว่าไม่มีอะไร จนไม่มีให้ตัดอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นท่ีน่าสังเกตว่าแม้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ใช่ว่าจะได้รับอนุญาตให้กลับห้องพักได้ทันที แต่พยาบาลจะแจ้งให้ทราบแล้วบอกว่าคาดหมายได้ว่าอีกประมาณ 2 ชั่วโมง (ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ก็จะพากลับนะ) ช่วงนี้ คนไข้ก็จะอยู่ในการดูแลของพยาบาลและเจ้าหน้าท่ีอีกชุดท่ีห้องพักฟื้น (อย่างกรณีผู้เขียนนี่ จำได้ว่าร้องโหยหวนปวดสุดๆ ขอยาแก้ปวดตลอด แล้วก็โวยวายว่าอยากกลับห้องก่อนครบสองชั่วโมง แต่เขาก็ยื้อไว้จนครบ) เมื่อจะกลับจริง ก็จะมีพยาบาลประจำห้องพักฟื้นเดินถือแฟ้มมาพร้อมกับเวรเปลเข็นพามาท่ีห้องพักแผนกคนไข้ใน แล้วก็ช่วยกันกับพยาบาลและเจ้าหน้าท่ีประจำวาร์ดเคลื่อนย้ายคนไข้จากเตียงรถเข็นมานอนเตียงในห้องพักโดยมีแผ่นกระดานเป็นสะพานเชื่อม ซึ่งโดยปกติ จะให้คนไข้กอดอกแล้วใช้ผ้ายกพร้อมกระดานนั้นสอดเข้าใต้แผ่นหลังของคนไข้ (อันนี้ผู้เขียนก็รู้แค่คร่าวๆ นะคะ)

    ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2557 มา ชีวิตของผู้เขียนก็เริ่มกลายเป็นฟ้าหลังฝน กล่าวคือเว้นว่างจากการผ่าตัด แล้วมาเปิดศักราชใหม่ (เหมือนพายุโหมเข้าสูชีวิตอีกครั้ง) ในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เนื่องจากปัญหาท่ีเคยเกิดคือ พังผืดรัด ทำให้ลำไส้อุดตัน ระบบทางเดินอาหารเป็นอัมพาต ซึ่งมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงคิดออกว่าผู้เขียนระทมทุกข์ทั้งกาย-ใจ เพราะมันเต็มไปด้วยความเจ็บปวดชนิดข้ามาคนเดียว ปวดคนเดียวจริงๆ และหลังจากการผ่าตัดครั้งล่าสุดจบลง ก็มีการส่องกล้องเพื่อระบายแก๊สหรือลมและของเสียในลำไส้ระบายออกอีก 3 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน เพราะกล้ามเนื้อลำไส้บางส่วนเอาแต่ใจขี้เกียจทำงานก็ประท้วงด้วยการหยุดทำงาน

    ถ้าชีวิตมันง่ายแค่นี้ก็คงไม่ตื่นเต้นสินะคะ ผู้เขียนยังประสบปัญหาเรื่องของการติดยาแก้ปวดชนิดอย่างแรงพวกสารสกัดจากฝิ่นหรือมอร์ฟีนหรือ (opioids) อีก ผู้เขียนต้องไปเข้าค่ายท่ีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งชานกรุงซึ่งคล้ายๆ กับการไปควบคุมความประพฤติพร้อมปรับทัศนคติในคราวเดียวกันละมั้ง ทั้งนี้ ถ้าจำไม่ผิด การประเดิมครั้งแรกคือ 42 วัน พ่วงด้วยการรักษาบริโภคยาแก้เมาคลื่นหรือยาแก้คลื่นไส้ท่ีมีจำนวนมหาศาลนิยมเป็นการส่วนตัวโดยการฉีดชื่อ Dramamine อีกกว่า 7 ปี คุณหมอท่ีรักษาผู้เขียนเป็นหัวหน้าทีมจิตแพทย์ให้กุศโลบายว่าพวกเราควรย้ายสำมโนครัวไปห่างๆ โรงพยาบาลฝ่ายกายท่ีเหมือนแผ่นเหล็กดูดตัวเราซึ่งเป็นเปรียบได้เป็นตัวแม่เหล็กชิ้นเล็กๆ วิธีการเช่นนี้น่าจะเป็นทางออกท่ีดีท่ีสุด ตอนแรกพวกเราก็งงๆ อยู่กับกุศโลบายนี้ แต่เมื่อมาลองพิจารณาถึงรายละเอียด เหตุผล ทำเล บรรยากาศ ระยะเวลา และการย้ายสถานท่ีอยู่ ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ผู้เขียนเริ่มมั่นใจในตัวแพทย์ทุกท่าน และเริ่มห่างจากการฉีดยาดังกล่าวได้ทีละนิด ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ท่ีเกิดกับผู้เขียนครั้งแล้วครั้งเล่า ตัวเราเองรู้สึกซาบซึ้งกับน้ำใจท่ีทุกคนหยิบยื่นให้ในรูปแบบต่างๆ อุทิศทั้งแรงเงินและแรงกายท่ีทำให้ผู้เขียนยังไม่ลาจากโลกนี้ไป แต่หากมีลมหายใจอยู่ถึงทุกวันนี้ ในขณะท่ีจิตและสมองเองก็ขยันเรียกร้องว่าต้องเอายาโดยวิธีการฉีด ฉีด และฉีดเท่านั้นนะโว้ยท่ีจะหายจากอาการแย่ๆ แบบนี้!!! ครั้งแรกๆ พวกเราก็ล้อหมุนภายในประเทศโดยระยะใกล้ และเมื่อมั่นใจแล้วก็ได้กระเถิบตัวเองออกท่องภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย หลังจากนั้น คุณพ่อและคุณแม่ซึ่งท่านทั้งสองแม้เข้าสู่วัยชราก็ยังพาผู้เขียนและบริวารโบยบินออกนอกประเทศ และในปัจจุบัน พวกเราก็ไช้เวลาอยู่ท่ีบ้านชานกรุงบ้าง ตะลอนต่างจังหวัดหรือเดินทางต่างประเทศแล้วแต่โอกาสจะอำนวย แต่พอโคขวิดมาทีเดียว แผนนี้เลยกระเจิง กล่าวคือทุกคนหยุดนิ่ง แทบจะไม่เคลื่อนที่ไปไหน อยู่กับบ้าน สนองนโยบายรัฐนาวาท่ีนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อ (ความอยู่รอดของ) ชาติไทยอันเป็นที่รัก

    ว่าแล้วก็ต้องไม่ลืมกล่าวคำขอบพระคุณตัวโตๆ แด่คุณหมอทหารท่านหนึ่งท่ีมาเข้าเวรห้องฉุกเฉินท่ีโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งท่ีผู้เขียนมุ่งหวังจะไปฉีดยา Dramamine ข้างต้นเช่นเคย คุณหมอพูดสั้นๆ แต่หนักแน่นและฟังแล้วรู้เลยว่าปรารถนาดีต่อคนไข้ว่าฉีดให้ก็ได้แต่ว่าผลเสียมันตกกับเรา บริโภคยาไปไม่รู้เท่าไรแล้ว ตับไตพังหมด ไม่ใช่แช่งนะ (แค่พูดให้รับทราบความจริง) หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ ผู้เขียนก็ไม่สบายเช่นเดิมคือ มีอาการคลื่นไส้และปวดท้อง โดยลึกๆ ก็คาดว่าจะได้รับยาตัวเดิมท่ีโรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง แล้วดวงก็ช่างสมพงษ์กับแพทย์ท่านนี่อีก (ซวยมั้ยละกู) คุณหมอก็บอกในทำนองเดียวกันว่า แหม คิดถึงกันนะ และท่านก็กล่าวทวนวลีเด็ดข้างต้นเป๊ะ 

    จากนั้นมา ผู้เขียนก็พยายามเต็มกำลังท่ีจะไม่ไปเหยียบกรายโรงพยาบาลเพื่อฉีดยาตัวนี้อีกเลย เพราะคิดว่ายาทุกตัวเป็นสารเคมีท่ีมีผลต่อร่างกายไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง ไม่ควรนำเข้าสู่ร่างกายหากไม่จำเป็นจริงๆ อย่าลืมนะคะว่าเราจะต้องใช้ร่างกายท่ีแสนบอบบางนี้อีกเป็นปีหรือหลายสิบปี เพราะฉะนั้นทนุถนอมเค้าหน่อย อย่าใช้จนสะบักสะบอม และผู้เขียนขออนุญาตแนะนำ (และขอเน้น) ให้ท่านผู้อ่านนำพาร่างของตนเองไปตรวจเช็คสภาพ (พูดเหมือนตรวจสภาพรถเพื่อจดทะเบียนเลยเนอะ?!?) ปีละครั้งเป็นอย่างน้อยหรือตามท่ีแพทย์ประจำตัวคุณบอกนะคะ เพราะถ้ามีปัญหาหรือข้อขัดข้องอะไร จะได้แก้ไขทันการ

    สำหรับสุขภาพของผู้เขียนทุกวันนี้ ผู้เขียนก็มีชีวิตท่ีบนเส้นทางท่ีไม่ประมาทโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ มี ความสุขตามอัตภาพและพยายามมองโลกตามความเป็นจริงและไม่คิดลบกับตัวเอง (อันนี้คุณแม่คอยเฝ้าสอนลูกน้อยบ่อยๆค่ะ) อีกทั้งไม่เอามาตรฐานของตัวเองไปใช้หรือตัดสินคนอื่น (อันหลังนี้ได้เรียนรู้เยอะเลยจากคุณหมอน่ะค่ะ) 

    บทเรียนเรื่องความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และการเข้าออกโรงพยาบาลข้างต้นทั้งหมดของผู้เขียนเป็นเพียงกระจกเงาเล็กๆ ใบหนึ่งเท่านั้นท่ีอยากแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน ทั้งนี้ เวลานี้ผู้เขียนก็มีอวัยวะเพียง 31 ส่วนกล่าวคือ อาจเรียกได้ว่าไม่มีลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็กเองก็ทำงานมากบ้างน้อยบ้างทำนองบ๊องๆ บวมๆ หมายถึงได้อาการแถมมาภายหลังจากการผ่าตัดลำไส้คือ ลำไส้แปรปรวนภายหลังจากจากการผ่าตัด (คล้ายๆ กับ Irritable Bowel Syndrome (IBS) อาการปวดท้องสืบเนื่องจากเส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ถูกตัดขาด จึงทำงานผิดปกติ หรือสูญเสียการควบคุม) และเกิดมีเรื่องกล้ามเนื้อลำไส้ท่ีทำงานไม่เข้าขากันมาผสมโรง อาการเหล่านี้นำมาซึ่งความปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้องคล้ายท้องจะแตกเสียให้ได้ การทำงานจะค่อนข้างไวมากและปวดถ่ายเข้าห้องน้ำได้รวดเร็วปานจรวด หรืออาจท้องอืดชนิดมโหฬาร ต้องสวนน้ำประมาณ 1 ลิตร (คล้ายกระบวนการดีท็อกซ์ลำไส้) แต่ช่วงหลังพบว่า น้ำท่ีเข้าไปจะเป็นการเพิ่มปัญหา ถ่ายออกไม่ได้ตามปริมาณท่ีเข้าไปเป็นอย่างน้อย จึงแก้ปัญหาด้วยการสวนด้วยลูกสวน ทานยาระบายสลับขนานไปเรื่อยๆ เพื่อมิให้ร่างกายเกิดความชินกับตัวยาอันใดอันหนึ่งซึ่งผลเสียท่ีตามมาคือ การดื้อยา ฉะนั้น จึงไม่แปลกใจท่ีพบว่าหลายครั้งไม่น้อย ความฝันของผู้เขียนต้องดับค้างกลางอากาศหรือการกะเกณฑ์วางแผนจะทำอะไรกับคนอื่น อยู่ๆ ก็เป็นไปไม่ได้ซะอย่างนั้น เพราะฉะนั้น มีหลายอย่างท่ีต้องปรับตัว ไม่ท้อ มันจะอยู่กับเราก็ให้มันได้พักพิงร่างของเรา ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหน เวลาใดก็ตาม ต้องคิดว่าคนอื่นเขาสู้ได้ เราก็ต้องทำได้นิ




     


     


     


     


     


     


     


     

     


     


     

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น