คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : จุฬาฯลดแอดมิชชันรับนิสิตปี53 คณะอักษรรับตรงทั้งหมด
วันนี้ (4 มี.ค.) ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกนิสิตเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2553 ว่า จุฬาฯ ยังยืนยันว่าเห็นด้วยกับระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบ กลาง (แอดมิชชัน) เพราะ เป็นระบบที่เอื้อต่อนักเรียนและหน่วยรับ จุฬาฯ ได้ใช้แอดมิชชันมาตลอด แต่ก็มีความจำเป็นต้องใช้รูปแบบอื่นร่วมในการรับนักเรียนเข้าศึกษาด้วย ในโครงการที่ต้องคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติพิเศษและหลักสูตรที่ต้องการการทดสอบ พิเศษ แต่ส่วนทดสอบกลางไม่สามารถจัดสอบได้ เช่น ทักษะด้านดนตรี แพทย์ เป็นต้น
อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการรับนักศึกษาปีการศึกษา 2553 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ปรับการทดสอบเป็นการสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) โดย กำหนดสัดส่วนและค่าน้ำหนักของแต่ละวิชาเพื่อให้ใช้ร่วมกันทุกสถาบัน ปรากฎว่า บางสาขา สัดส่วนและน้ำหนักไม่เหมาะสมกับเกณฑ์การรับเข้าของจุฬาฯ จึงต้องรับตรงเพิ่มขึ้นในสาขาเหล่านั้น แต่ยังคงใช้ GAT และ PAT เพื่อมิให้เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของนักเรียน โดยปรับค่าน้ำหนักให้เหมาะสม ทั้งนี้ หากในปี 2554 และปีต่อ ๆ ไป ทปอ.สามารถปรับสัดส่วนให้สอดคล้องกับเกณฑ์ที่หลักสูตรของจุฬาฯ ต้องการ ก็พร้อมที่จะรับนักเรียนเข้าศึกษาด้วยระบบแอดมิชชันกลางต่อไป
สำหรับการรับตรงในปี 2553 ของจุฬาฯ นั้น จะใช้ผลการสอบ GAT และ PAT ในทุกคณะ/หลักสูตร ถ้ามีการสอบความรู้เพิ่มเติม เช่น ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ทักษะดนตรีสากล เป็นต้น จะจัดสอบตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค. 2552 เพื่อให้นักเรียนรู้คะแนนของตนเองในทุกวิชาก่อนสมัครเข้า และจะรับสมัครในการรับตรง 2 รอบ โดยรอบแรก ในส่วนของโครงการผู้มีความสามารถพิเศษ จะประกาศผลต้นเดือน พ.ย. 2552 รอบที่ 2 โครงการรับตรงทั่วไป จะรับสมัครกลางเดือน พ.ย. ในรอบนี้นักเรียนมีโอกาสเลือกได้ถึง 4 คณะ หรือ 4 หลักสูตร โดยสอบครั้งเดียว รวมไปถึงนักเรียนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกแบบรับตรงมีโอกาสสมัครเข้าจุฬาฯ โดยใช้แอดมิชชันกลางอีกรอบ
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวถึงสัดส่วนการรับตรงและรับแอดมิชชัน ปี 2553 ว่า ประมาณการในการรับนิสิตปี 2553 จำนวน 6,003 คน ประกอบด้วย แอดมิชชัน 2,420 คน หรือร้อยละ 40 รับตรงปกติ 2,479 คน ร้อยละ 41 และรับตรง (พิเศษ) 1,104 คน ร้อยละ 19 รวม ปี 2553 จุฬาฯ ใช้วิธีรับตรงเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนปี 52 รับตรง ร้อยละ 30 แอดมิชชันกลาง ร้อยละ 70 ขณะที่ปี 53 สัดส่วนการรับตรงจะเพิ่มเป็นร้อยละ 40 แอดมิชชันกลาง ร้อยละ 60 โดยคณะที่มีการเปลี่ยนแปลงมากจากเคยรับแอดมิชชันทั้งหมด มาเป็นรับตรง 100 เปอร์เซ็นต์ คือ คณะอักษรศาสตร์ เนื่องจากการกำหนดสัดส่วนของ PAT 7 หรือความถนัดในการเรียนภาษาต่างประเทศของ สทศ. ใช้เพียงร้อยละ 10 ขณะที่จุฬาฯ ประเมินว่าไม่เพียงพอ ควรต้องใช้ร้อยละ 30 นักเรียนที่เข้าศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงจะสำเร็จการศึกษาในคณะนี้ได้ ปี 53 คณะ อักษรศาสตร์จึงต้องรับตรงทั้งหมด นอกจากนี้ จะมีคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่รับตรงเพิ่มขึ้น เพราะต้องการสัดส่วนของความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ที่ตรงตามความต้องการของ สาขาที่จะเรียน
ความคิดเห็น