ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เคล็ดลับนักเขียนและรายละเอียดสำนักพิมพ์

    ลำดับตอนที่ #21 : สาระความรู้::คำแนะนำในการส่งต้นฉบับ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 383
      0
      13 ก.พ. 52





    1. เมื่อเขียนจบแล้ว ยังไม่ต้องรีบร้อน ให้อ่านทวนอีกอย่างน้อยหนึ่งรอบ เพื่อตรวจทานคำผิด และขัดเกลาสำนวนให้ลื่นยิ่งขึ้น และวิธีนี้ก็อาจจะช่วยให้เราพบข้อบกพร่องของเรื่องได้ ตกหล่นตรงไหนก็เติมเข้าไปได้ทันที


    2. คำไหนที่ไม่แน่ใจ ให้เช็คกับพจนานุกรม เป็นวิธีที่แน่นอนที่สุดที่เราจะมั่นใจได้ว่าเขียนถูก และใช้ถูกความหมาย นอกจากนี้ ยังอาจจะช่วยให้เราพบคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้อีกเยอะเลยค่ะ เป็นการเพิ่ม คลังคำ ไปในตัว ในกรณีที่เป็นทับศัพท์ ไม่มีในพจนานุกรม แนะนำให้เช็คดูในดิกชันนารี ดูที่รากศัพท์ของคำนั้น ๆ เลยว่าเขียนยังไง มีหรือไม่มีและต้องใช้พยัญชนะตัวไหนเป็นตัวการันต์

    3. การจัดหน้า ทุกครั้งที่ขึ้นย่อหน้าใหม่ ให้ กด Tab ครั้งเดียว และไม่จำเป็นต้องเว้นบรรทัดทุกครั้ง แต่ให้เว้นบรรทัดเฉพาะเวลาเปลี่ยนฉากหรือเริ่มเหตุการณ์ใหม่เท่านั้นก็พอค่ะ และในเรื่องการเว้นวรรค ให้ เคาะ space bar เพียงครั้งเดียว ก็พอนะคะ

    4. ใส่ชื่อและอีเมล์มาในต้นฉบับด้วย เพราะมีต้นฉบับส่งมาเยอะมาก เมื่อ mail box เต็ม ก็จำเป็นจะต้องลบทิ้งไปบ้าง และถ้าไม่ใส่อีเมล์ที่ติดต่อได้มาในต้นฉบับ เมื่ออ่านจบแล้ว ทางสนพ.ก็ไม่ทราบว่าจะติดต่อคนเขียนได้ยังไง จะใส่มาตรงไหนก็ได้ค่ะ ต้นเรื่อง ท้ายเรื่อง (ใส่กลางเรื่องคงไม่ดีเท่าไร) Header Footer หรือแนบไฟล์ประวัติมาอีกไฟล์เลยก็ได้ (จะแนบรูปสวย ๆ มาด้วยก็ได้ไม่ว่ากัน นักเขียนสวย พิจารณาก่อน เอิ๊ก ล้อเล่นค่ะ)

    5. ข้อนี้สำคัญมากค่ะ โดยเฉพาะในกรณีที่เรื่องผ่านการพิจารณา คือ การที่นิยายเรื่องนั้น ๆ ติดอิทธิพลมาจากนิยายเรื่องอื่น ซึ่งปัจจุบันมีหนังสือนิยายออกมามากมาย และทางสนพ.ก็ไม่สามารถจะตามอ่านได้ทุกเล่ม คนที่จะรู้ดีที่สุดก็คือตัวคนเขียนเอง ว่าได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องไหนบ้าง

    ทีนี้ ถามว่า ได้รับอิทธิพลมา ผิดตรงไหน

    ไม่ผิดค่ะ ถ้าหากเป็นเพียงแค่ ได้รับอิทธิพลมาอย่างบางเบา หรือ เรียกว่า แรงบันดาลใจ ซึ่งก็จะมีความแตกต่างจากนิยายต้นแบบอย่างเห็นได้ชัด แม้จะให้คนอ่านที่เคยอ่านนิยายต้นแบบมาแล้วมาอ่านเปรียบเทียบก็จะไม่รู้สึกถึงความคล้ายคลึง หรือรู้สึกน้อยมาก

    แต่ถ้าหากได้รับอิทธิพลมามากเกินไป จนคนอ่านรู้สึกได้ ว่า เหมือนเรื่องนั้น ๆ ที่เคยอ่าน อันนี้เสี่ยงมากกับการถูกกล่าวหาว่า ลอก ถึงแม้จะบอกว่า เป็นคนคิดพลอตเอง เขียนเอง ไม่ได้ไป copy แล้ว paste ของใครมา แต่คำว่า ลอก ไม่ได้หมายถึง การ copy แล้ว paste เท่านั้นนะคะ ยังรวมไปถึงการหยิบเอาคาแรคเตอร์ตัวละคร คำพูด ฉาก หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในเรื่องของคนอื่นมาใส่ในเรื่องของเราด้วย

    จะไม่ขอพูดถึงเรื่องความแตกต่างของคำว่า ลอก กับ แรงบันดาลใจ นะคะ เพราะหัวข้อนี้มีการถกเถียงกันเยอะแยะมากมายแล้ว แต่จะขอพูดถึงความควรไม่ควรและผลเสียที่จะตามมา

    เข้าใจว่าบางครั้ง อ่านนิยาย การ์ตูน หรือดูหนังแล้วชอบหรือประทับใจในเรื่องราวเหล่านั้นมากๆ ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะ ได้รับอิทธิพลมาโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อเขียนจบแล้ว ลองอ่านทวนดูอีกครั้งแบบไม่เข้าข้างตัวเอง หรือให้เพื่อน ๆ ช่วยอ่าน โดยเปรียบเทียบกับต้นฉบับที่เป็นแรงบันดาลใจ ถ้าผลสรุปออกมาว่า ยังเหมือน หรือมีความคล้ายคลึงอยู่มาก จนอ่านแล้วนึกออกทันทีว่าเอามาจากเรื่องไหน ก็อย่าฝืน อย่าคิดเข้าข้างตัวเองว่าแค่นิดหน่อย หรือ ไม่มีใครรู้หรอก

    อย่าลืมว่า เมื่องานเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน คนอ่านไม่ได้มีคนเดียวนะคะ และคนหนึ่ง ๆ ก็ไม่ได้อ่านนิยายแค่เรื่องเดียว และแม้ว่านิยายที่เราได้อิทธิพลมาจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนอ่าน และคนอ่านคนนั้นก็อาจจะหยิบนิยายของเรามาอ่านด้วยก็ได้

    และเมื่อถูกจับได้ คนที่จะเจ็บปวดที่สุดก็ไม่พ้น ตัวคนเขียนเองนั่นแหละค่ะ หรือต่อให้ไม่มีใครรู้ เราเองที่รู้อยู่แก่ใจนะคะ ลองถามตัวเองดูว่า เราจะภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้ได้แค่ไหน จะสามารถเชิดหน้ายิ้มรับคำชมแล้วบอกกับใคร ๆ ว่านี่คือ ผลงานของเราได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจเลยจริง ๆ หรือ

    เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ตัวแล้วว่าผลงานของเราไปได้อิทธิพลมาจากเรื่องของคนอื่นมากเกินไป แก้ไขเสียก่อนที่จะส่งไปสนพ.นะคะ ไม่คุ้มเลย กับการที่จะตัดอนาคตของตัวเองเพราะความใจร้อน หรือความประมาท ตายใจว่าไม่มีใครรู้ เพราะสิ่งที่จะต้องเสียไป มันมากมายกว่าสิ่งที่ได้มานะคะ

    ยาวหน่อยนะคะ แต่ที่บอกมาทั้งหมด เพราะอยากให้ความฝันที่จะเป็นนักเขียนของทุกคนได้เป็นจริง และเป็นได้โดยบริสุทธิ์ใจ ให้สามารถยืดอกบอกใคร ๆ ได้อย่างภาคภูมิ และสามารถพัฒนาเป็นนักเขียนที่ดี มีคุณภาพต่อไปได้ในอนาคต

    แถมอีกนิด เรื่องการตรวจคำผิดและการจัดหน้า บางคนอาจจะบอกว่า นั่นเป็นหน้าที่ของทางสนพ.ไม่ใช่หรือ ถูกค่ะ ว่าก่อนจะตีพิมพ์ ทางสนพ.จะต้องมีการตรวจแก้คำผิดแน่นอนอยู่แล้ว

    แต่ จะไม่ดีกว่าเหรอคะ ถ้าต้นฉบับที่เราจะนำเสนอต่อสนพ. เป็นต้นฉบับที่เรียบร้อย สวยงาม แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ใส่ใจในชิ้นงาน เป็นการเพิ่มความประทับใจให้กับกองบรรณาธิการที่มีต่อนักเขียนอีกทางหนึ่งที่ทำได้อย่างง่าย ๆ โดยยอมเสียเวลาเพียงน้อยนิด

    ใครจะดูแลเอาใจใส่ลูกตัวเองได้ดีเท่ากับคนเป็นแม่ จริงไหมคะ

    เน้นว่า ไม่ต้องรีบร้อน ค่อย ๆ ฝึกฝน ขัดเกลา และเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ใส่ความพยายาม ความมุ่งมั่นตั้งใจ และจริงใจกับผลงานของตัวเองเข้าไปอีกนิด ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ

    วันนี้เก็บเกี่ยวความรู้ดีๆในการส่งต้นฉบับมาฝากกันค่ะ



                   เพราะว่างมาก หรือยุ่งมากจนวงจรสมองเริ่มรวนก็ไม่ทราบได้ จึงอยากเอาประสบการณ์ที่ได้พบเจอบ่อย ๆ มาเขียนเป็นข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ เผื่อว่าจะมีประโยชน์แก่ทุกคนที่มีความฝันเดียวกันนะคะ หากใครมีข้อสงสัยขัดแย้ง หรือต้องการเพิ่มเติมประการใดก็ยกมือขึ้น แล้วจรดปลายนิ้วพิมพ์มาได้เลยค่ะ  

     

    แนะอีกนิดแล้วกันนะคะ สำหรับข้อ 3

    3. การจัดหน้า ทุกครั้งที่ขึ้นย่อหน้าใหม่ ให้ กด Tab ครั้งเดียว และไม่จำเป็นต้องเว้นบรรทัดทุกครั้ง แต่ให้เว้นบรรทัดเฉพาะเวลาเปลี่ยนฉากหรือเริ่มเหตุการณ์ใหม่เท่านั้นก็พอค่ะ และในเรื่องการเว้นวรรค ให้ เคาะ space bar เพียงครั้งเดียว ก็พอนะคะ

    >>>ตรงส่วนนี้ ถ้าทำในโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด การกด Tab ทุกครั้งที่ขึ้นย่อหน้า อาจทำให้เผลอลืมหรือเสียเวลา ถ้าไม่ต้องการกด Tab ทุกครั้งที่ขึ้นย่อหน้าหรือบรรทัดใหม่ ก็ขอแนะนำว่าให้ไปที่ รูปแบบ>ย่อหน้า> และให้ดูตรงการเยื้องพิเศษ ซึ่งมีตัวเลือก 3 หัวข้อ คือ 1. ไม่มี 2. บรรทัดแรก 3. หน้าลอย ให้เลือกข้อ 2 แล้วเลือกขนาดการเยื้องได้ตามสบายค่ะ โดยค่าที่โปรแกรมตั้งไว้ให้นั้นจะเป็นที่ 1.27 ซม.

    ถ้าเลือกตรงนี้ก็ไม่จำเป็นต้องกด Tab ทุกครั้งที่ย่อหน้าค่ะ







    ขอบคุณเครดิตข้อมูลจาก สนพ.คำออนและสีม่วง   http://www.emotionway.com/board/show.php?Category=talk&No=251

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×