คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #11 : ความรู้เบื้องต้น:: 12 วิธีการแก้ไขต้นฉบับ
๑๑. การตรวจแก้ไขต้นฉบับ
เมื่อเราเขียนนวนิยายจบแล้ว ใช่ว่าการเขียนหนังสือของเราจะจบลงเพียงแค่นั้น นักเขียนที่ดีมักจะทำการอ่านทบทวนตรวจแก้ผลงานตัวเองจนพอใจแล้วจึงจะนำออกไปสู่สาธารณะ และก็มีบางคนเหมือนกันที่คิดว่า ขั้นตอนนี้มันยากและน่าเบื่อเสียกว่าการเขียนในตอนแรกเป็นไหน ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไร นักเขียนใหม่อย่างเราต้องใส่ใจเอาไว้เลยว่า ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ และควรทำทุกครั้งที่คุณเขียนต้นฉบับแรกเสร็จ มาเริ่มกัน
๑. วางแผน
ก่อนจะทำการตรวจแก้ควรจะวางแผนไว้เสียก่อนว่าจะตรวจทานเรื่องอะไรในการอ่านแต่ละครั้ง เช่น
การตรวจแก้ไขครั้งที่หนึ่ง ดูโครงสร้างความไหลรื่นของเรื่องตั้งแต่ตอนเริ่มต้นจนจบ ตัวละครมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โครงเรื่องย่อยสัมพันธ์กับโครงเรื่องใหญ่ไหม แต่ละบทมีเบ็ดเกี่ยวให้คนอ่านติดตามหรือเปล่า ฯลฯ
การตรวจแก้ไขครั้งที่สอง เพื่อเพิ่มเติมในสิ่งที่ขาดหาย หรือตัดทิ้งในสิ่งที่ไม่จำเป็น
การตรวจแก้ไขครั้งที่สาม ดูรายละเอียดไปทีละอย่าง ทีละบท ภาษาที่เลือกใช้เหมาะสมแล้วหรือยัง แสดงออกถึงความหมายที่ต้องการจะสื่อไหม ใช้คำซ้ำซากหรือเปล่า
การตรวจแก้อีกครั้งหลังจากที่แก้ไขไปแล้ว
๒. จัดเตรียม
- ต้นฉบับ พิมพ์งานเขียนออกมา หากคุณทำมันในคอมพิวเตอร์ การอ่านในกระดาษกับการอ่านจากจอมอนิเตอร์มันแตกต่างกัน แม้จะต้องใช้ต้นทุนมากขึ้น คุณก็ต้องยอม และถ้าหากคุณเขียนมันด้วยลายมือของคุณเอง ก็จงใช้เครื่องพิมพ์ดีด พิมพ์มันออกมา ด้วยวิธีการนี้จะทำให้คุณเห็นงานของคุณในมุมมองใหม่ ความผิดพลาดจะชัดเจนยิ่งขึ้น ความใกล้ชิดกับผลงานของคุณก็มีมากขึ้น เมื่อคุณสามารถที่ลบ ขีดฆ่า โยงเส้นสายได้ตามใจชอบของคุณและ เพื่อสายตาของคุณเอง อย่าพยายามตรวจแก้ในจอมอนิเตอร์เด็ดขาด
( ในการพิมพ์ ควรจะมีระยะห่างระหว่างบรรทัดมากกว่าปกติ และส่วนกั้นหน้าและหลังให้เหลือพื้นที่กระดาษมากพอที่คุณจะเขียนลงไปได้ )
- ปากกา ควรจะมีปากกาต่างสีที่เขียนได้ลื่นคล่องมือ สักสองสามสี
- สมุดเล่มเล็ก เพื่อจดเอาไว้ว่า จะต้องเพิ่มเติมอะไร หรือแก้ไขในตอนไหนบ้าง
๓. จัดตารางเวลา
ในการตรวจแก้ ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ กำหนดเวลาแล้วเสร็จด้วย
๔.ขณะที่ทำการตรวจแก้
ให้แกล้งทำเป็นว่าคุณไม่เคยพบเห็นเรื่องนี้มาก่อนเลย ( จึงมีข้อแนะนำว่า หลังจากที่คุณเขียนหนังสือจบแล้ว ควรทิ้งมันไว้สัก 2-3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น แล้วจึงเอามาทำการตรวจแก้ ) อย่าอ่านด้วยความคิดว่าคุณคือคนเขียนเรื่อง แต่อ่านให้เหมือนกับคุณเป็นคนอ่านอื่น ๆ หรือเป็นนักวิจารณ์
๕. อ่านดัง ๆ
เพื่อให้ตัวคุณเองได้ยินเสียงด้วย เริ่มอ่านตั้งแต่เริ่มต้น จนจบ พร้อมกับตั้งคำถามไปด้วย เช่น
- ตัวละครที่ปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ได้หายไปโดยไม่ได้อธิบายหรือเปล่า ( ตาย หรือเดินทางไปต่างประเทศ ฯลฯ )เพราะตัวละครไม่ควรจะหายไปจากเรื่องเสียเฉย ๆ
- ตัวละครยังคงเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนไปจากตอนต้นของเรื่องไหม ถ้าเปลี่ยน ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นหรือเปล่า
- ฉากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มี ได้ช่วยให้เกิดไอเดีย หรือสร้างบทบาทใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อจะเชื่อมไปยังตอนจบไหม
- คุณพบวัตถุประสงค์ในเรื่องที่คุณต้องการเสนอแล้วหรือยัง ( หาแก่นเรื่องของตัวเองเจอไหม )
- ฉากเหตุการณ์ ในแต่ละบทเหมาะสม และเขียนออกมาได้ดีหรือยัง
- ตัวสะกด ภาษาที่ใช้ เหมาะสมถูกต้องเพียงใด
- ฯลฯ
๖. ระหว่างที่อ่าน
คุณสามารถแก้ไขความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อยไปได้ด้วย เช่น ตัวสะกด การใช้ภาษา
๗. ทำเครื่องหมายดอกจันทร์
ไว้ที่ตอนที่คุณเห็นว่าควรจะปรับเปลี่ยน และเขียนความคิดที่จะเปลี่ยนเอาไว้ใจสมุดโน้ตด้วย
๘. เมื่ออ่านจบทั้งเรื่อง
ก็ให้เริ่มอ่านใหม่ พร้อมทั้งเพิ่มเติม หรือตัดทิ้งสิ่งที่ต้องการแก้ไขได้ ขั้นตอนนี้อย่าได้ทำจนกว่าคุณจะอ่านตลอดทั้งเรื่องจบก่อน บางครั้งเรื่องราวก็ผูกโยงสัมพันธ์กัน ทำให้ต้องแก้เป็นทอด ๆ จงมั่นใจว่าคุณต้องการที่จะเพิ่ม หรือตัดตอนใดตอนหนึ่งทิ้งไปจริง แล้วไม่ลืมที่จะไปแก้ผลที่ตามมาตอนหลังด้วย ขอแนะนำว่า ควรจะอ่านซ้ำที่คุณต้องการเพิ่ม หรือตัดทิ้งให้ดีเสียก่อน แล้วจึงแก้ไปทีละบท ๆ
๙. อ่านอีกครั้ง
หลังจากที่คุณรวมทุกอย่างที่คุณแก้ไขเข้าด้วยกันแล้ว
๑๐. สิ่งที่คุณตัดทิ้ง หรือไม่ใช้แล้ว
ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ควรจะทิ้งไปทันที ให้เก็บเข้าแฟ้ม “ ตัดทิ้ง ” เอาไว้เผื่อใช้เป็นประโยชน์ในเรื่องอื่นได้
๑๑. ในการตรวจแก้ อย่าไปเสียดาย
หรือกลัวจะเสียเวลาที่จะตัดบางตอน หรือบางบททิ้งไปทั้งหมด นักเขียนบางคนเขียนลงไปเพราะรู้ในสิ่งที่เขียน หรืออาจจะรัก หรือสนุกกับตอนนั้น แต่เพราะการเขียน นวนิยายไม่ใช่การเขียนทุกสิ่งทุกอย่างลงไปในหนังสือ แต่เป็นการเขียนสิ่งที่สำคัญที่สุดลงไปในหนังสือ หากบทไหน ตอนไหน ไม่ได้สอดคล้อง หรือทำให้เรื่องมันสอดคล้องเดินหน้าไปตามที่วางจุดประสงค์ไว้ ก็ควรทิ้งมันไป เอาไปใส่ในหนังสือเล่มต่อไปของคุณก็ได้
๑๒. ยิ่งคุณตรวจแก้มากเท่าไหร่
งานของคุณก็จะออกมาดีมากเท่านั้น ( ไม่ใช่ยิ่งแก้ยิ่งเละนะ )สิ่งหนึ่งที่ต้องขอเน้น และทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็คือ วิธีการตรวจแก้ หรือเรื่องที่จะแก้ไขนั้น นักเขียนแต่ละคนมีวิธีของตัวเองอาจจะไม่เหมือนใคร ไม่มีคำว่าถูกหรือผิดในการใช้แต่ละวิธี ตราบใดที่มันยังทำงานให้คุณได้ผล
(เป็นส่วนหนึ่งที่ยกมาจากหนังสือ ๑๐๐ คำถามสร้างนักเขียน : นวนิยายคุณเขียนได้ด้วยเอง )
ขอบคุณเครดิตความรู้ดีๆจาก http://www.forwriter.com/
ความคิดเห็น