ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เชียงใหม่ เมืองแห่งความสดใส

    ลำดับตอนที่ #3 : สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองและรอบเมืองเชียงใหม่

    • อัปเดตล่าสุด 14 ม.ค. 50


    ในตัวเมืองเชียงใหม่
        ชุมชนวัดเกตุ เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก เกิดจาก ชนหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวฝรั่ง และชาวพื้นเมือง สามารถดูได้จากรูปแบบของสถาปัตยกรรม ที่ยังหลงเหลือมาจนถึงในปัจจุบันนี้ มีวัดเกตุการามอยู่ศูนย์กลางระหว่างชุมชน การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เริ่มขึ้นอย่างจริงจังช่วงหลัง พ.ศ. 2339 หรือหลังการสถาปนา เมืองเชียงใหม่เป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง ก่อนหน้าที่รถไฟจะมาถึงเชียงใหม่ ที่นี่เป็นชุมชนที่เป็นท่าน้ำสำคัญของการเดินทางเรือระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ) มายังเมืองเชียงใหม่ และเมืองอื่นๆที่อยู่ทางใต้ลงไป ย่านวัดเกตุจึงเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆตามความ จำเป็นทางเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ในยุคนั้น
       สถานที่ที่รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนนี้อยู่ที่ พิพิธภัณฑ์วัดเกตุ ตั้งอยู่ที่วัดเกตุการาม สิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ คือ สมบัติเดิมของวัด เช่น ช่อฟ้า ใบระกาซึ่งเป็นไม้แกะสลักจากโบสถ์เดิม ถ้วย ชาม ฝาจีบ ภาชนะต่างๆ เป็นต้น พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.
        วัดเชียงมั่น อยู่ถนนราชภาคินัย  อำเภอเมือง  เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่  เมื่อพญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 พระองค์ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ “พระเสตังคมณี” หรือ “พระแก้วขาว” ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถ หอไตร และที่สำคัญคือ เจดีย์ ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยมและมีช้างล้อมที่ฐานหมายความว่าค้ำจุนพระพุทธศาสนาไว้
        วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อยู่ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง พญาผายูกษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังรายโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น ในปีพ.ศ. 1888 พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง 24 ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา มีพระพุทธรูป ที่สำคัญอยู่องค์หนึ่ง คือ พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ตามประวัติเล่าว่าเจ้ามหาพรหมได้เชิญพระสิงห์มาจากเมืองกำแพงเพชร เพื่อถวายแด่พระเจ้าแสนเมืองมา แต่พอราชรถมาถึงวัดมีเหตุให้ต้องอัญเชิญประดิษฐานไว้ที่นี่ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วกัน ในวิหารลายคำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์ และสังข์ทองซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียว
    ยังมีศิลปกรรมอื่นๆ ที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถตกแต่งแบบศิลปะล้านนา หอไตรประดับด้วยรูปปูนปั้นเทวดา และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา
        วัดพวกหงษ์ ตั้งอยู่ถนนสามล้าน (ในซ.ตรงข้ามกับซ.สามล้าน 7) ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง สิ่งที่ น่าสนใจ คือ วัดนี้มีเจดีย์โบราณซึ่งพบว่ามีเพียงสามวัดในเชียงใหม่ คือ วัดพวกหงษ์ วัดร่ำเปิง และวัดเจดีย์ปล่อง มีลักษณะเป็นทรงกลม ก่ออิฐถือปูนฐานเป็นสี่เหลี่ยมหนึ่งชั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานทรงกลมสามชั้น และมีองค์เจดีย์เป็นทรงกลมซ้อนกัน 7 ชั้นจากใหญ่ไปหาเล็ก โดยรอบเป็นซุ้มพระพุทธรูปรวม 52 ซุ้ม ตามประวัติเจดีย์นี้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2030 สมัยพระเจ้ายอดเชียงราย และได้รับการบูรณะสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พ.ศ. 2364 นอกจากนี้ที่วัดยังเก็บรักษาคัมภีร์ธรรมเก่าแก่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี และ มูลศาสนา
        วัดปราสาท ตั้งอยู่บนถนนอินทวโรรส ซ. 3 อำเภอเมือง ใกล้กับวัดพระสิงห์ จากวัดพระสิงห์สามารถ เดินไปได้ใช้เวลา 10 นาที จุดเด่น คือ วิหารซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาดั้งเดิม ที่หน้าบันวิหารมีลวดลายปูนปั้นประดับกระจกสี และไม้แกะสลักรูปสิงห์ฝีมือประณีต ซุ้มปราสาทที่ประดิษฐานพระประธานเป็นศิลปะ ล้านนาโบราณที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง
        วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อยู่ที่ถนนพระปกเกล้า วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่พอดี ประดิษฐานเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1913-1954) ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ ให้สูง และกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2024 และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.2011-2091 นานถึง 80 ปี ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหว เมื่อปี พ.ศ. 2088 ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ปัจจุบันเจดีย์มีความสูงคงเหลือ 40.8 เมตร ฐานกว้างด้านละ 60 เมตร
    วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หาง เกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็น นาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ และในวัดเจีย์หลวงนี้ยังมี เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้าง เมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุง ต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในวันแรม 12 ค่ำเดือน 8 (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงาน เรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง
        วัดพันเตา ตั้งอยู่บนถนนพระปกเกล้า ติดกับวัดเจดีย์หลวง วิหารเดิมเป็นหอคำหรือท้องพระโรงหน้า ของพระเจ้ามโหตรประเทศ เป็นอาคารเครื่องไม้แบบพื้นเมือง ซุ้มประตูประดับไม้แกะสลักรูปนกยูงอันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือซึ่งมองดูวิจิตรและสง่างาม
        คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ตั้งอยู่ที่ถนนพระปกเกล้าด้านที่ตัดกับถนนราชดำเนิน ต.ศรีภูมิ อ.เมือง เจ้าบุรีรัตน์เป็นตำแหน่งทางราชการ คุ้มเจ้าบุรีรัตน์หลังนี้คาดว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2432-2436 ปัจจุบัน ตกเป็นของตระกูลกิติบุตรและทิพย์มณฑล ซึ่งมอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดตั้งเป็นศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ภายใต้การดูแล จัดการ และดำเนินงาน ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูล และค้นคว้า วิจัย อันนำไปสู่แนวทางในการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างลักษณะท้องถิ่นและตะวันตก อันเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกที่สร้างในเชียงใหม่ยุคแรก เปิดให้ชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.30 น. สอบถามรายละเอียดที่โทร. 0 5327 7855
        วัดกู่เต้า ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ ติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ วัดนี้เดิมชื่อว่า วัดเวฬุวนาราม มีเจดีย์ที่มีลักษณะแปลกไปกว่าเจดีย์อื่นๆในเมืองไทย คือ คล้ายกับผลแตงโม วางซ้อนกันอยู่หลายลูก ชาวบ้านจึงเรียกว่า เจดีย์กู่เต้า วัดนี้ไม่มีประวัติแจ้งไว้แน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีตำนานเล่าว่า เจดีย์กู่เต้านี้เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าสารวดี ซึ่งเป็นราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งมาครองเมืองเชียงใหม่ในระหว่างปี พ.ศ. 2122-2150
        วัดอุปคุต ตั้งอยู่ถนนท่าแพ ด้านสะพานนวรัฐ ลงจากสะพานผ่านสี่แยกมาประมาณ 10 เมตร จะพบวัดอยู่ทางด้านซ้ายมือ สิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเพณีใส่บาตรพระอุปคุต ชาวเหนือเชื่อว่าหากเดือนใดมีวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ หรือที่เรียกว่า “เป็งพุธ” พระอุปคุตจะปลอมเป็นเณรมาบิณฑบาตตอนเที่ยงคืน ชาวบ้านเชื่อว่าหากได้ใส่บาตรพระอุปคุตจะได้บุญมาก จึงมีประเพณีใส่บาตรตอนเที่ยงคืน
       ภายในวิหารประดิษฐานพระอุปคุตซึ่งเป็นพระประธาน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมัน เรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของชาวเหนือ วาดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพ่อบุญปั๋ง พงษ์ประดิษฐ์ ศิลปินล้านนา อาคารที่มีลักษณะแปลกตาอีกหลังหนึ่งคือหอเก็บพระพุทธรูปทรงลูกบาศก์ ยกพื้นสูงมีลายปูนปั้นประดับ อยู่โดยรอบผนังด้านนอก ทวารบาลเป็นยักษ์ปูนปั้น บานประตูลงรักปิดทอง
        วัดแสนฝาง ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีศิลปกรรมพม่าผสมอยู่ โดยเฉพาะเจดีย์ที่มี การตกแต่งลวดลายปูนปั้นวิจิตรงดงาม นอกจากนี้ยังมีกุฏิเจ้าอาวาสซึ่งสร้างมานานกว่า 100 ปี เป็นจุดที่น่าสนใจ อีกด้วย ตามประวัติเล่าว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ให้รื้อที่ประทับของพระเจ้า กาวิโรรสสุริวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 มาสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2420 ครั้นสร้างเสร็จแล้ว จึงโปรดให้มีการฉลองในปี พ.ศ. 2421
        วัดบุพพาราม ตั้งอยู่บนถนนท่าแพเยื้องกับวัดแสนฝาง อำเภอเมือง เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่ พระเมืองแก้วโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2039 ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2362 เจ้าหลวงธรรมลังกา โปรดให้สร้างวิหารหลังเล็กซึ่งเป็นเครื่องไม้ศิลปะล้านนา หน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระจกแกะลายสลักไม้อย่างงดงาม ส่วนวิหารหลังใหญ่หน้าบันมีลวดลายไม้แกะสลักแบบพม่า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดงล้วนหนัก 1 โกฏิ อายุ 400 ปีเศษ และพระพุทธรูปเชียงแสนหล่อด้วยสำริดอยู่ทางด้านซ้ายและขวาอีกหนึ่งคู่
    ภายในหอมณเฑียรธรรมประดิษฐานพระพุทธรูปไม้สักขนาดหน้าตักกว้าง 1 วาเศษ มีอายุประมาณ 400 ปี ตามประวัติเล่าว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพจากเมืองอยุธยาเพื่อขึ้นมาปราบอริราชศัตรูที่มารุกรานเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2147 จนทัพศัตรูได้ล่าถอย ไปทางเมืองแหงและเมืองต๋วน สมเด็จพระนเรศวรฯจึงพักรบและสร้าง “พระพุทธนเรศศักดิ์ชัยไพรีพินาศ” องค์นี้ขึ้น
        วัดป่าเป้า อยู่ที่ถนนมณีนพรัตน์ เป็นวัดเงี้ยวแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2426 ชาวเงี้ยว หรือชาวไทยใหญ่ในสมัยนั้นจะอาศัยอยู่บริเวณย่านช้างเผือก ข่วงสิงห์ ช้างม่อย ฟ้าฮ่าม และวังสิงห์คำ แต่เดิมบริเวณนี้มีต้นเป้าเป็นจำนวนมาก วัดจึงได้ชื่อว่า วัดป่าเป้า ลักษณะของพระธาตุที่วัดป่าเป้านี้เป็นแบบ ไทยใหญ่ เละที่วัดได้จัดประเพณีปอยส่างลองเป็นประจำในเดือนเมษายนของทุกปี
        วัดช่างฆ้อง สร้างเมื่อ พ.ศ.1900 ชาวบ้านช่างฆ้องที่อพยพมาจากเชียงแสนราวต้นรัตนโกสินทร์เป็น ผู้สร้างขึ้น ภายในวัดมีหอไตรซึ่งเป็นตึกสองชั้นตกแต่งด้วยลายปูนปั้นและไม้ฉลุ เป็นศิลปะผสมระหว่างจีน และพม่า ด้านนอกอาคารมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเจ้าสิบชาติฝีมือช่างพื้นบ้าน ซึ่งยังคงสมบูรณ์อยู่
    วัดช่างฆ้องตั้งอยู่ที่ถนนลอยเคราะห์ ติดกับถนนกำแพงดิน จากประตูท่าแพเลี้ยวซ้ายเข้าถนนคชสาร และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนลอยเคราะห์ พบสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนกำแพงดิน วัดอยู่ทางด้านซ้ายมือ
        เวียงกุมกาม เป็นเมืองโบราณที่พญามังราย (พ่อขุนเม็งราย) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1829 มีคูเวียงอยู่ 4 ด้านเพื่อไขแม่น้ำปิงให้ขังไว้ในคูเมือง จากการสำรวจพบว่ามีโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเวียงกุมกาม และใกล้เคียง 20 แห่ง ทั้งที่เป็นซากโบราณสถาน และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดช้างค้ำ วัดน้อย วัดปู่เปี้ย วัดกู่ขาว วัดอีก้าง วัดหัวหนอง และ วัดปู่ซ้ง
    ปัจจุบันเวียงกุมกาม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณกิโลเมตรที่ 3-4 ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำพูน) ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก การเดินทาง เข้าทางตู้ยามหนองหอยและตรงมาจนทะลุแยกเกาะกลางป่ากล้วยตรงต่อไปจนถึงตู้ยามเจดีย์เหลี่ยม
        วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ เจดีย์กู่คำ ตั้งอยู่ถนนสายเกาะกลางบริเวณเวียงกุมกาม สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญามังราย เมื่อปี พ.ศ. 1831 กล่าวคือ หลังจากที่พระองค์ได้ยกทัพมาตี เมืองลำพูนแล้วทรงมอบเมืองลำพูนให้อำมาตย์คนสนิทชื่อ อ้ายฟ้า ครองเมืองแทน ส่วนพระองค์ก็ยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ได้ 2 ปี จึงยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง เมื่อปี พ.ศ. 1829 ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเวียงกุมกาม จนถึงปี พ.ศ. 1830 พระองค์ ทรงให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์มาจากวัดจามเทวีลำพูน เพื่อนำมาสร้างให้เป็นที่สักการะ แก่คนทั้งหลาย โดยสร้างเจดีย์องค์นี้ มีฐานกว้าง 8 วา 1 ศอก สูง 22 วา มีพระพุทธรูปบรรจุ อยู่ในซุ้มทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์
    หลังจากนั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี วัดนี้ได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีคหบดีชาวพม่าคนหนึ่งได้มาเห็นเข้า เกิดความเลื่อมใส ได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยให้ช่างชาวพม่าเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีศิลปแบบพม่าเข้ามาแทนที่ศิลปแบบดั้งเดิม คงมีแต่โครงสร้างที่ยังเป็น รูปเดิมอยู่เท่านั้น
        วัดพระธาตุดอยคำ ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่เหี๊ยะ อำเภอเมือง เดินทางไปได้ตามเส้นทางเรียบคลองชลประทาน จะมีป้ายบอกข้ามคลองไปทางต.แม่เหี๊ยะ ตามประวัติ เมื่อ พ.ศ. 2509 ว่า ขณะนั้นวัดอยคำเป็นวัดร้าง ต่อมากรุแตกชาวบ้านพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระรอดหลวง พระหินทรายปิดทององค์ใหญ่ พระสามหมอ (เนื้อดิน) ซึ่งนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระธาตุดอยคำ พระธาตุดอยคำนอกจากจะเป็นที่สักการะบูชาของคนท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของการบินไทยที่ใช้กำหนดพื้นที่ทางสายตา ก่อนที่จะลงจอดที่สนามบิน
        ศาลาธนารักษ์ 1 จังหวัดเชียงใหม่รวบรวมและจัดแสดงทรัพย์สินโบราณอันมีค่า ประกอบด้วยเงินตราไทย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งเป็นศูนย์รับแลก-จ่ายแลกเหรียญกษาปณ์และตรวจพิสูจน์เหรียญกษาปณ์ ในภูมิภาคนั้นๆ ตลอดจนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ และธนบัตรไทย เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น. ที่เลขที่ 52
       เจดีย์เจ็ดยอด ลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยาในประเทศอินเดีย ที่ฐานเจดีย์ประดับปูนปั้นรูปเทวดา ด้านนอกพระเจดีย์ก็เช่นกันประดับงานปูนปั้นรูปเทวดาทั้งนั่งขัดสมาธิและยืนทรงเครื่องที่มีลวดลายต่างกันไปดูงามน่าชม สถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช เมื่อพระเจ้า ติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ.2030 พระยอดเชียงราย ราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน และ โปรดให้สร้างสถูปใหญ่บรรจุอัฐิของพระอัยกาธิราช และ สัตตมหาสถาน คือสถานที่สำคัญ ในพุทธประวัติเจ็ดแห่ง ได้แก่ โพธิบัลลังก์ อนิมิตเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโครธเจดีย์ ราชายตนเจดีย์ ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดเจ็ดยอดเพียงสามแห่ง คือ อนิมิตเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ มุจจลินทเจดีย์
       ที่วัดนี้เป็นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช พระพุทธศาสนา เจริญรุ่งเรืองมาก ทรงสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสิงหล (ลังกาวงศ์) ทรงส่งเสริมการเล่าเรียนทางด้านปริยัติธรรม ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญภาษาบาลี และในปีพ.ศ. 2020 โปรดให้ประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่เพื่อชำระ พระไตรปิฎก ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน) ใช้เวลา 1 ปีจึงเสร็จ นับเป็นการสังคายนา พระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก เป็นครั้งแรกของไทย และถือเป็นหลักปฏิบัติของสงฆ์ในล้านนา
       พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) ใกล้ๆ กับวัดเจ็ดยอด รวบรวมสิ่งของที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือไว้ เช่น พระพุทธรูปสกุลช่างสมัยล้านนาต่างๆ และ พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องถ้วยภาคเหนือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวล้านนา และชาวเขาเผ่าต่างๆ ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่
    พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. หยุดช่วงวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท นักเรียน นักศึกษาฟรี รายละเอียด โทร. 0 5322 1308
       พิพิธภัณฑ์แมลงโลกและสิ่งมหัศจรรย์ธรรมชาติ รวบรวมแมลงชนิดต่างๆ จากทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ เช่น ด้วง กว่าง ผีเสื้อ ตั๊กแตน นอกจากแมลงแล้ว ยังมีซากพืชและสัตว์ดึกดำบรรพ์ต่างๆ และหินสะสมสวยงามประเภทต่างๆไว้ด้วย แต่สิ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์นี้ มีความเป็นพิเศษขึ้นมาอีก คือ เป็นแหล่งรวมยุงในประเทศไทยสี่ร้อยกว่าชนิดที่ใช้เวลาสี่สิบ กว่าปีในการรวบรวม เพื่องานวิจัยทางการแพทย์ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 72 ถ.นิมมานเหมินทร์ ซ. 13 (ศิริมังคลาจารย์ ซ. 3) ต.สุเทพ อ.เมือง โทร. 0 5321 1891 โทรสาร 0 5341 0916 E-mail address: insects_museum@hotmail.com ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 09.00-16.00 น.
       วัดสวนดอก หรือวัดบุปผาราม ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ ในเขตอำเภอเมือง พญากือนา ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตน ปัญญาเกตุ) เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิ ลังกาวงศ์ในล้านนา วัดนี้แต่เดิมเป็นพระราชอุทยานของกษัตริย์ล้านนาไทยสมัยแรกเริ่มมีสถาปัตยกรรมสำคัญ คือ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลม กู่บรรจุอัฐิเจ้าตระกูล ณ เชียงใหม่ และวิหารโถง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งพญาเมืองแก้วโปรดให้หล่อขึ้น เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะสุโขทัย
       วัดอุโมงค์ ตั้งอยู่ที่ถนนสุเทพ อำเภอเมือง สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราวปี พ.ศ. 1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา ต่อมาพญากือนา ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้น เพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน อุโมงค์นี้มีลักษณะเป็นกำแพงภายในเป็นทางเดินหลาย ช่องทะลุกันได้ ภายในอุโมงค์เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่าวาดในระหว่าง พ.ศ.1900-2000 แต่เดิมคงเป็น ภาพจิตรกรรมเต็มบริเวณของทุกห้อง ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกบัว ดอกโบตั๋น และ นกต่างๆ เช่น นกยูง นกกระสา นกแก้ว และนกเป็ดน้ำ
    ด้านบนอุโมงค์เป็นเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่ของล้านนา นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างประมาณ ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มีชั้นทรงกลมประมาณ 3 ชั้นเหมือนกลีบบัวซ้อนกันอยู่ ด้านบนมีปลียอด
    ด้านหน้าอุโมงค์มีเศียรพระพุทธรูปหินสลักสกุลช่างพะเยา พ.ศ.1950-2100 บริเวณวัดเป็นสวนพุทธธรรม ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เป็นสวนป่าที่เหมาะกับการนั่งวิปัสสนา ด้านหลังเป็นสวนป่าและสวนสัตว์ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน เดินเล่นได้ และเป็นสถานที่ดูนกที่ดีอีกแห่งหนึ่ง
       สวนรุกขชาติห้วยแก้ว เป็นที่รวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิดไว้ศึกษา เป็นสถานที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนและยังมีสวนสุขภาพสำหรับออกกำลังกาย ตั้งอยู่ถัดจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทางขึ้นดอยสุเทพ
       สวนสัตว์เชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนห้วยแก้ว ใกล้กับสวนรุกขชาติ เป็นสวนสัตว์ ขนาดใหญ่ได้รับการจัดสภาพอย่างดี บริเวณกว้างขวาง มีบรรยากาศร่มรื่น และมีสัตว์อยู่มากกว่า 2,000 ชนิด ทั้งที่มีอยู่ในเมืองไทยและนำมาจากต่างประเทศ ภายในสวนสัตว์ยังมีอุทยานสัตว์น้ำ 700 ปี ศรีนครพิงค์ สวนนกเพนกวิน และสวนนกฟิ้นซ์ซึ่งเป็นนกขนาดเล็กที่มีสีสันสวยงาม จนได้รับการขนานนามว่าเป็น อัญมณีบินได้
    เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.
       อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่ตรงทางขึ้นดอยสุเทพ ก่อนถึงน้ำตกห้วยแก้ว ครูบาศรีวิชัยเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทยผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเชียงใหม่และประชาชนโดยทั่วไป ผู้ที่จะขึ้นไปดอยสุเทพมักจะ แวะนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ริเริ่มชักชวนให้ประชาชน ชาวเหนือร่วมแรงร่วมใจกันสร้างถนนจากเชิงดอยขึ้นไปสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยเริ่มลงมือเมื่อวันที่
    9 พฤศจิกายน 2477 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2478 รวมระยะทาง 10 กิโลเมตร
    อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
       การเดินทาง ไปยังที่ทำการอุทยานฯ จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามถนนห้วยแก้ว -มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-สวนสัตว์เชียงใหม่ ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ จากนั้นเดินทางต่อไป อีกเล็กน้อยถึงทางแยกขวามือ มีป้ายบอกทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
    สถานที่น่าสนใจในอุทยาน
       น้ำตกห้วยแก้ว เป็นน้ำตกเล็กๆ สูงประมาณ 10 เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 6 กิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี รอบๆ บริเวณสวยงามด้วยทิวทัศน์และร่มรื่นด้วย พันธุ์ไม้นานาชนิด นอกจากนี้ยังมีที่พักผ่อนนำอาหารไปนั่งรับประทานกันที่ผาเงิบและ วังบัวบานอันเป็นสุสานแห่งความรักของสาวบัวบานผู้ถือรักเป็นสรณะ
       พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จากวัดพระธาตุดอยสุเทพไปยังพระตำหนักฯ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2505 ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า โดยปกติแล้วจะเปิด ให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน ทั้งนี้จะต้องเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มิได้เสด็จแปรพระราชฐาน ไปประทับ ซึ่งปกติจะปิดในช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณกลางเดือนธันวาคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่ทั้งนี้นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามจากสำนักงาน ททท.ภาคเหนือเขต 1 (สำนักงานเชียงใหม่) จำหน่ายบัตรเวลา 08.30-11.30 น. และ 13.00-15.30 น. ค่าเข้าชม เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท
       หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง (แม้ว) ดอยปุย บริเวณรอบๆ หมู่บ้านมีทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างยิ่งและยังสามารถมองเห็นดอยอินทนนท์เบื้องหน้าได้อย่างชัดเจนอีกด้วย นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้สะดวกเพราะอยู่ใกล้ ตัวเมือง โดยใช้เวลาในการเดินทางจากตัวเมืองประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ภายในหมู่บ้านมีร้านขายของที่ระลึก ซึ่งมีทั้งผลิตภายในหมู่บ้านและนำมาจากที่อื่นวางขายให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย
       การเดินทาง หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่บนดอยปุย ห่างจากพระตำหนักฯ 3 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอด สามารถเข้าไปเที่ยวด้วยตนเองได้ หรือจะเช่ารถสองแถวจากดอยสุเทพขึ้นไปได้ทุกฤดูกาล บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีคิวรถรับจ้างขึ้นดอยสุเทพ, พระตำหนักฯ, ดอยปุย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×