คลิกเดียวเปิดอ่าน หอสมุดแห่งชาติในอนาคต - คลิกเดียวเปิดอ่าน หอสมุดแห่งชาติในอนาคต นิยาย คลิกเดียวเปิดอ่าน หอสมุดแห่งชาติในอนาคต : Dek-D.com - Writer

    คลิกเดียวเปิดอ่าน หอสมุดแห่งชาติในอนาคต

    โดย Tabo_0

    ...........

    ผู้เข้าชมรวม

    1,950

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    2

    ผู้เข้าชมรวม


    1.95K

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  17 ม.ค. 50 / 18:07 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      คลิกเดียวเปิดอ่าน หอสมุดแห่งชาติในอนาคต

      วันนี้คุณไม่ต้องนั่งจับเจ่าอยู่บนรถเป็นเวลานานหลายชั่วโมง เพื่อเดินมาค้นคว้า ข้อมูล ข่าวสาร เอกสาร และอื่นๆ ที่หอสมุดแห่งชาติอีกต่อไปแล้ว เพียงคุณคลิ๊ก www.nlt.go.th แล้วพิมพ์ ชื่อหนังสือ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ชื่อบุคคล หรือข้อความที่เกี่ยวข้อง เพียงข้อความใดข้อความหนึ่ง จะโชว์ที่หน้าจอทันทีว่า จัดวางอยู่ห้องไหนของหอสมุด

      นี่คือภาพลักษณ์ใหม่ ของหอสมุดแห่งชาติที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างขนานใหญ่นับตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อ พ.ศ.2448 หรือเมื่อ 99 ปีที่ผ่านมาชีวิตของผู้คนที่อยู่ในหอสมุดแห่งนี้เป็นอย่างไรในยุคเปลี่ยนผ่าน ทั้งบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ใช้บริการในทุกช่วงอายุที่มีสถิติบันทึกเอาไว้ว่ามีมากถึงปีละ 2 ล้านคน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

      99 ปีหอสมุดแห่งชาติ
      อรพินท์ ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ เล่าว่า หอสมุดแห่งชาติ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2448 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า "หอสมุดพระนคร" ตั้งอยู่ที่หอพระสมุดวชิรญาณ (ตึกแดง) ใกล้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยพระองค์มองว่าประเทศที่เจริญแล้ว มีหอสมุดประจำชาติ และประเทศไทยก็มีภาษาประจำชาติ อีกทั้งมีผู้รู้เขียนหนังสือไว้มากมาย จึงเห็นสมควรตั้งหอสมุดเป็นสถานที่รวบรวมหนังสือ

      ต่อมาปี 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้จัดสร้างหอสมุดขึ้นที่ท่าวาสุกรี และตั้งชื่อว่า หอสมุดแห่งชาติ แล้วให้ขนย้ายหนังสือจากหอพระสมุดวชิรญาณมาทั้งหมด และนับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติมีอายุ 99 ปี หน้าที่หลักของหอสมุดแห่งชาติ ก็คือ เป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวม สงวนรักษา จัดระบบ และให้บริการมรดกทางสติปัญญา วิทยากร และวัฒนธรรมของชาติ ที่ปรากฏในรูปศิลาจารึก หนังสือตัวเขียน เอกสารโบราณ สมุดไทย คัมภีร์ใบลาน หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ และสื่อทันสมัยต่างๆ นอกจากเก็บรักษาแล้ว ยังให้บริการประชาชนเข้ามาค้นคว้า วิจัย อ่าน จากทรัพยากรหอสมุดรวบรวมด้วย

      ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติ ได้แยกหมวดหมู่หนังสือ เพื่อง่ายต่อการหยิบไปเปิดอ่านและค้นคว้า โดยแบ่งออกเป็น 1. ห้องหนังสือพิมพ์ วารสาร 2. ห้องข้อมูลข่าวสาร บัตรรายการ3. สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ 4. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี 5. ทั่วไป ปรัชญา ศาสนา 6. ศิลปะ วรรณคดี ประวัติศาสตร์ 7. ห้องหนังสือเก่า หนังสือหายาก ห้องดนตรี ห้องวิทยานิพนธ์และงานวิจัย ห้องสมุดกล้วยไม้ และอื่นๆ โดยเปิดให้บริการทุกวัน

      คนใช้บริการปีละ 2 ล้านคน
      อรพินท์ บอกว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2542-2546) ปรากฏว่ามีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี ปีล่าสุดเกือบ 2 ล้านคน ส่วนกลุ่มผู้มาใช้บริการจะเป็นประชาชนทุกสาขาอาชีพ นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ลูกจ้าง พระ อาชีพส่วนตัว เป็นต้น

      สำหรับห้องที่มีผู้มาใช้ในลำดับต้น คือ ห้องวารสาร หนังสือพิมพ์ มีประชาชนมาใช้บริการเป็นประจำจำนวนมาก เกือบเรียกได้ว่าบางคนมาอ่านข่าวสารทุกวัน รองลงมา ห้องคอมพิวเตอร์ มีอยู่จำนวน 10 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ไม่เพียงพอกับผู้มาขอใช้บริการ จึงกำหนดเงื่อนไขให้ลงชื่อและเล่นเน็ตฟรีคนละ 1 ชั่วโมง เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้คนอื่นได้ค้นข้อมูลจากเน็ตบ้าง

      ส่วนห้องสังคมศาสตร์ ผู้ที่มาใช้บริการส่วนมากเป็นนักเรียน ที่มาขอข้อมูลทำรายงานส่งอาจารย์ สำหรับห้องอื่นๆ อย่างห้องหนังสือเก่า หนังสือหายาก ผู้มาใช้จะต้องทำหนังสือขออนุญาต เพราะเกรงว่าหนังสือจะชำรุดเสียหาย อีกอย่างคนที่เข้ามาอ่านจะอ่านภาษาโบราณได้ด้วย สำหรับพระสงฆ์มาขอคัดเลือกพระธรรมคัมภีร์

      อรพินท์ กล่าวต่อว่า จากการที่หอสมุดมีอายุยาวนานเกือบ 100 ปี ส่งผลให้มีหนังสือมากมายจนพูดได้ว่า ไม่มีที่เก็บสมบัติของชาติ ตอนนี้ต้องขยับขยายไปสร้างอาคาร 1 หลังที่พุทธมณฑล สาย 5 จังหวัดนครปฐม เพื่อเก็บหนังสือ ส่วนผลงานวิจัยของนิสิต นักศึกษา ส่วนหนึ่งส่งไปเก็บไว้ที่หอสมุดลาดกระบัง

      นอกจากนี้ หอสมุดแห่งชาติ ยังมีหอสมุดแห่งชาติสาขา 4 ภาค ภาคเหนือ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ หอสมุดแห่งชาติลำพูน ภาคตะวันออก หอสมุดแห่งชาติชลบุรี หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอสมุดแห่งชาติประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม และภาคใต้ หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช หอสมุดแห่งชาติวัดดอนรัก จ.สงขลา หอสมุดสาขาเหล่านี้จะมีหนังสือเหมือนกับหอสมุดแห่งชาติ เพียงแต่จำนวนหนังสือน้อยกว่า

      แปรสภาพสู่ห้องสมุดดิจิตอล
      อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจต่อหอสมุดแห่งชาติไม่น้อยก็คือ การเดินหน้าไปสู่ความเป็น "ห้องสมุดดิจิตอล" ผ่านเว็บไซด์ www.nlt.go.th ที่ช่วยทำให้การค้นหาหนังสือเป็นไปอย่างสะดวกสบาย โดยสามารถทำได้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งที่บ้านหรือที่ทำงาน

      อรพินท์อธิบายถึงวิธีการใช้หอสมุดแห่งชาติยุคดิจิตอลว่า ทางหอสมุดได้เปิดให้บริการเมื่อเว็บไซด์ www.nlt.go.th โดยรวมรวบข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือที่มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติเอาไว้ และจัดหมวดหมู่ที่ชัดเจน เพียงแค่คลิ๊กเข้าไปที่เว็บไซด์ดังกล่าวแล้วพิมพ์ ชื่อหนังสือ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ชื่อบุคคล หรือข้อความที่เกี่ยวข้อง เพียงข้อความใดข้อความหนึ่ง ข้อมูลของหนังสือเล่มนั้นก็จะโชว์ที่หน้าจอทันทีว่า จัดวางอยู่ห้องไหนของหอสมุด

      อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีโครงการพัฒนาหอสมุดประจำชาติให้ทันสมัยมากกว่านี้ นั่นก็คือแผนการในอนาคตที่จะทำให้บรรดาหนอนหนังสือใช้บริการได้อย่างมีอิสระในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะอยู่ตรงมุมไหนของประเทศ เพียงขอให้มีคอมพิวเตอร์และเล่นอินเทอร์เน็ตได้ ก็สามารถนั่งจิบเครื่องดื่มร้อนๆ พร้อมพลิกหนังสืออ่านอย่างมีความสุขเลยทีเดียว

      "ประชาชนอ่านผ่านเน็ตได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาลว่าให้ความสำคัญและส่งเสริมรักการอ่านมากน้อยเพียงใด เพราะกว่าหนังสือแต่ละเล่มจะปรากฏบนหน้าเว็บได้ต้องใช้งบประมาณสูง เพื่อนำมาซื้ออุปกรณ์และพัฒนาด้านเทคนิค สมมติว่าวันหนึ่งพัฒนาไปถึงจุดนั้นจริงจะมีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วประเทศ ทุกคนเข้าไปอ่านหนังสือที่ตัวเองสนใจ และการอ่านหนังสื่อหลายเล่มเป็นการเพิ่มพูนสติปัญญาด้วย"

      "อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นนี้ หาก search ไม่พบ ลองโทรมาสอบถามบรรณารักษ์ เพราะถ้าเป็นหนังสือเก่ามากๆ ก็ยังไม่ได้ลงข้อมูลให้บุคคลภายนอกดู แต่บรรณารักษ์ก็สามารถค้นได้ เมื่อรู้ว่ามีหนังสือหรือข้อมูลที่ต้องการค่อยเดินทางมาจะได้ไม่เสียเวลา เพราะเคยมีบางคนเดินมาถึงหอสมุดแล้ว ไม่มีหนังสือให้ยืม"

      วอนอัปเดท พรบ.การพิมพ์
      ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า นับวันจะมีหนังสือเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีหนังสือใหม่ๆ ออกมาวางจำหน่ายจำนวนมาก และตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 กระทรวงมหาดไทย มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับหอสมุดแห่งชาติ ที่ระบุว่าสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ใดที่พิมพ์หนังสือจะต้องส่งให้หอสมุดอย่างน้อย 2 ฉบับ ถ้าหากไม่ส่งจะต้องถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 12 บาท

      "จากข้อกำหนดข้างต้นสำนักพิมพ์บางแห่งปฏิบัติตามโดยส่งหนังสือให้ แต่ก็มีสำนักพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งหลีกเลี่ยง ไม่ยอมส่งหนังสือมาให้ โดยยอมเสียค่าปรับดีกว่า เพราะจ่ายแค่ 24 บาท ขณะที่หนังสือเล่มหนึ่งมีราคา 200 บาท 300 บาท หรือบางเล่มมีราคา 1,000 บาท"

      อรพินท์ เล่าและบอกว่า หอสมุดเคยขอให้ปรับปรุงกฎหมายใหม่ ขอให้ปรับเป็น 20 เท่าของราคาหน้าปกหนังสือมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาก็เปลี่ยนรัฐบาลทุกครั้ง อยากฝากให้รัฐบาลชุดนี้พิจารณาปรับปรุงด้วย

      "อยากให้รัฐปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ เพราะมีผลบังคับใช้มา 70 ปีแล้ว เชื่อว่าเงิน 12 บาทสมัยนั้นเป็นจำนวนที่สูง พอมาถึงยุคนี้ค่าเงินเปลี่ยนไปเงิน 12 บาทในปัจจุบันยังซื้อข้าวราดแกงเลยจริงๆ แล้วหอสมุดไม่ได้ต้องการเงินค่าปรับ แต่ต้องการหนังสือที่พิมพ์มากกว่า เพราะหน้าที่ของเราคือรวบรวมหนังสือทุกเล่มที่พิมพ์ในประเทศ เพื่อที่จะได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นสมบัติของชาติ ทั้งนี้ หนังสือ 2 เล่มที่สำนักพิมพ์ส่งมาให้หอสมุด เล่มหนึ่งนำไปบริการประชาชน อีกเล่มเก็บไว้เป็นต้นฉบับ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีรุ่นลูกรุ่นหลานเจ้าของหนังสือมาขอต้นฉบับจากหอสมุดไปถ่ายสำเนา"

      อรพินท์บอกด้วยว่า อีกเรื่องหนึ่งอยากฝากไปยังเจ้าของผลงาน เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ผลงานฉบับนี้มอบให้เป็นมรดกของชาติ คือให้หอสมุดแห่งชาติ เป็นเจ้าของ หรือมอบให้ญาติ เพราะตามกฎหมาย หากผลงานตีพิมพ์เกิน 50 ปี หากไม่มีเจ้าของ ใครจะนำไปตีพิมพ์ใหม่ คัดลอก หรือนำไปทำอะไรก็ได้โดยลูกหลานหรือเจ้าของผลงานไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย

      "ขณะนี้มีชาวต่างชาติท่านหนึ่งเดินทางมาซื้อหนังสือเก่า หนังสือหายาก จากตระกูลที่มีชื่อเสียงอยู่ในสังคม ซึ่งข้อความบางตอนเกี่ยวข้องกับเชื้อพระวงศ์ และชาวต่างชาติมีโครงการนำข้อความเหล่านี้ขึ้นเว็บไซต์ คือ เราไม่รู้ว่าบันทึกส่วนตัวนั้นเขียนไว้อย่างไรบ้าง กลัวว่าเผยแพร่ออกไปทั่วโลกแล้วจะมีผลกระทบต่อประเทศรึเปล่า อีกอย่างก็จะทำให้มรดกของคนไทยกลายเป็นมรดกของต่างชาติไปอย่างน่าเสียดาย"

      เสียงสะท้อนจากประชาชน
      รนิดา บัวคำ หรือ ดา วัย 42 ปี เล่าพร้อมรอยยิ้มให้ฟังว่า เป็นขาประจำของหอสมุดแห่งชาติ ทุกเช้าจะมาอ่านหนังสือพิมพ์ กับนิตยสาร ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์จะอ่านละครกับเรื่องที่น่าสนใจ แต่จะไม่อ่านข่าวฆ่ากันตาย เพราะส่วนลึกในใจรู้สึกสะเทือนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเสียใจกับครอบครัวที่สูญเสียคนที่เป็นที่รักไป ส่วนนิตยสาร มีเรื่องน่าสนใจเยอะมาก เกี่ยวกับการศึกษา บทสัมภาษณ์บุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต บุคคลที่ช่วยเหลือสังคม คือมีแง่มุมที่หาอ่านในหนังสือพิมพ์ไม่ได้

      ขณะที่ วิทยา (สงวนนามสกุล) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า มาใช้บริการในวันเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งส่วนมากจะมาหาข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ส่งอาจารย์ พร้อมกันนี้มาค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตของหอสมุดฯ ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าดึงข้อมูลจากที่บ้าน

      "ผมมีคอมพ์ที่บ้านแต่เก่าแล้วกว่าจะเปิดเน็ตได้ใช้เวลานานมาก แถมยังเออเร่อร์(error) บ่อยจนรู้สึกเสียอารมณ์ พอมาใช้คอมพ์ที่หอสมุดค้นข้อมูลได้รวดเร็ว ผมจะรีบก็อปปี้ใส่แผ่นดิสก์ เก็บไปอ่านที่บ้าน เนื่องจากมีคนอื่นต่อแถวใช้เครื่องอยู่" วิทยา เล่าและว่า อยากให้หอสมุดเพิ่มเครื่องและติดเครื่องพรินท์เตอร์ด้วย บางครั้งผมต้องไปจ้างที่ร้านเขาพิมพ์งาน แผ่นละ 8-10 บาท อยากให้หอสมุดมีบริการตรงนี้จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปที่ร้าน โดยอาจคิดราคาเท่ากับร้านข้างนอกก็ได้

      อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลความคิดเห็นของผู้มาใช้บริการโดยภาพรวมในหัวข้อว่า ต้องการให้ปรับปรุงหอสมุดแห่งชาติในจุดใดบ้าง ผู้มาใช้บริการแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า อยากให้ เพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ จัดหนังสือให้เป็นระเบียบ เพราะหาไม่ค่อยเจอ ทั้งๆ ที่ระบุว่าวางอยู่ตรงไหน

      นอกจากนี้ ห้องอ่านหนังสือบางห้องแสงไม่พอ รู้สึกว่าฝุ่นเยอะ(เวลาค้นหนังสือที่ชั้นจะคันจมูกและจามบ่อยจนน้ำมูกไหล) และ ต้องการให้มีมุมพักผ่อนในบริเวณหอสมุด เช่นมุมกาแฟ มุมเด็กเล่น เป็นต้น

      นั่นคือภาพที่เกิดขึ้นกับหอสมุดแห่งชาติ หอสมุดเก่าแก่อายุร่วม 100 ปีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งสังคมไทย รัฐบาลไทยและประชาชนคนไทย ควรจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบหอสมุดที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง เพราะหอสมุดนั้นเปรียบเสมือนเป็นขุมทรัพย์แห่งความรู้ที่จะทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ในอนาคตอันใกล้

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×