ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #83 : รู้หรือไม่ วิธีรับมือแม่ค้าเมื่อต้องเดิน "ตลาดสด" ต้องทำยังไง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.1K
      1
      21 พ.ย. 51

    วิธีรับมือแม่ค้าเมื่อต้องเดิน "ตลาดสด"
    โดย ผู้จัดการออนไลน์
           เป็นธรรมดาที่ทุกครอบครัวต้องจับจ่ายซื้อหาอาหารเข้าบ้านกันใช่ไหมคะ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ตึงเครียดอยู่ในขณะนี้ บางครั้ง การเลือกซื้อผักผลไม้ในตลาดสดใกล้บ้านก็อาจช่วยประหยัดรายจ่ายให้ครอบครัวได้เหมือนกันนะคะ
           
           แต่เมื่อพูดถึงตลาดสด โดยเฉพาะตลาดสดในเมืองกรุง นักเดินตลาดก็ต้องพึงระวัง "กลยุทธ์" ของบรรดาพ่อค้าแม่ขายเอาไว้ให้ดีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผงลอยที่ตั้งอยู่ตามแหล่งจับจ่ายที่มีคนเดินผ่านไปมามาก ๆ ซึ่งจากการสอบถามบรรดาครอบครัวรุ่นใหม่ที่มีโอกาสไปจับจ่ายซื้อสินค้าตามตลาดสด ส่วนมากมักพบกลยุทธ์การขายที่ชวนอึ้งกันไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น
           
           "โกงตาชั่ง"
           
           ปัญหานี้พบบ่อย จนแทบจะเป็นปัญหาหลักของการเดินตลาดเลยทีเดียว กลวิธีการโกงลูกค้าตาดำ ๆ ด้วยตาชั่งสินค้ามีตั้งแต่ ใช้แม่เหล็กถ่วง เปลี่ยนน้ำหนักของถาด ผูกหนังยางแล้วใช้นิ้วดึง ทำให้สปริงภายในเครื่องอ่อนตัวลง ฯลฯ วิธีรับมือพ่อค้าแม่ขายที่ชอบโกงตาชั่งนี้อาจทำได้โดยการตรวจสอบน้ำหนักของสินค้าจากตาชั่งส่วนกลางที่จัดเตรียมไว้ในตลาด และถ้ามีโอกาสเดินตลาดบ่อย ๆ ผู้ซื้อจะเริ่มกะปริมาณสินค้าได้ดีมากขึ้น เช่น เคยซื้อส้ม 1 กิโลกรัมได้ประมาณ 7 - 8 ลูก ดังนั้น ถ้าในอนาคตส้มลูกเท่าเดิมแต่ซื้อได้น้อยลงจนผิดสังเกตก็อาจมาจากการโกงตาชั่งของผู้ขายก็เป็นได้
           
           "ติดป้ายราคาถูกแต่เลือกไม่ได้"
           
           ส่วนมากร้านค้าที่มีพฤติกรรมประมาณนี้ เป็นร้านค้าที่ขายของสด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผลไม้" แม่ค้าหัวใสจะเลือกเขียนป้ายโต ๆ ด้วยราคาที่เย้ายวนใจบรรดาแม่บ้านผู้ชอบซื้อสินค้าขายปลีก แต่ทันทีที่เราสาวเท้าเข้าไปเตรียมซื้อของ ก็จะพบการปฏิเสธ ไม่ยอมให้เลือกหยิบสินค้าได้ตามความต้องการ แถมบางรายยังบอกให้ช้ำใจด้วยว่า ราคาแค่นี้ยังจะเลือกอีกหรือ
           
           หลักทั่วไป ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าได้ แต่บางคนเมื่อเจอแม่ค้าบอกว่าห้ามเลือกก็เหมือนต้องมนต์สะกด ยอมให้แม่ค้าทำตามใจ แต่สำหรับผู้ที่ใจแข็งมากขึ้นอีกนิด คำแนะนำจากทีมงานที่อาจโหดร้ายไปหน่อยก็คือ ไม่ยอมให้เลือกก็ไม่ซื้อค่ะ ไปซื้อร้านอื่นก็ได้ หรือทุกร้านในละแวกนั้นใช้กลยุทธ์เดียวกันหมด ก็อาจต้องตัดใจไม่ทานไปเสียเลย วันหน้าค่อยมาเดินใหม่นะคะ

    ขอบคุณภาพประกอบจาก freefoto.com
           "แอบเปลี่ยนสินค้า"
           
           วิธีแอบเปลี่ยนสินค้า นำของดี ๆ สวย ๆ งาม ๆ มาวางล่อใจ แต่ทันทีที่ลูกค้าก้มลงหยิบเงินในกระเป๋าสตางค์ หรือเผลอมองไปทางอื่น พ่อค้าแม่ขายก็จะรีบมือไว เปลี่ยนของที่เราเลือกแล้วเป็นสินค้าชิ้นอื่นทันที หรือมิเช่นนั้น หากเราซื้อของสด ผลไม้ ตอนชั่งน้ำหนักก็จะแอบใส่ของเน่าเสีย ด้อยคุณภาพลงมาในถุงด้วย
           
           ข้อนี้ Life & Family เคยเจอมากับตัวด้วยค่ะ ตอนนั้นแวะไปซื้อกุ้ง แล้วหยิบเงินในกระเป๋าสตางค์ ไม่ทันดูให้ดี กลับมาบ้านเจอว่ามีกุ้งเน่าอยู่ในถุงด้วยล่ะค่ะ แถมตอนจ่ายเงินแม่ค้ายังบอกให้เราดีใจว่าคิดเงินน้อยกว่าน้ำหนัก ฮ่า ๆ ๆ
           
           ต้นเหตุที่ทำให้หลายคนหลงกลเทคนิคนี้เข้าก็คือ ของที่ดีมีคุณภาพที่วางล่อใจผู้ซื้อนั้น มีคุณภาพไม่เหมาะสมกับราคา นั่นทำให้ผู้ซื้อกระหยิ่มยิ้มย่องในใจว่าได้ของดีราคาถูก จึงทำให้ความระมัดระวังตัวลดลง หยิบจ่ายเงินได้โดยง่ายก็เป็นได้นะคะ
           
           เทคนิคการรับมือกับแม่ค้ากลุ่มนี้คือการคอยสังเกตการขายทั้งกระบวนการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสินค้าดี ไม่มีตำหนิ แต่ราคาถูกจนผิดสังเกตค่ะ
           
           "ทอนเงินผิดหรือลืมทอนเงิน"
           
           กรณีนี้ ผู้ซื้อเองต้องมีสติอยู่กับตัวอย่างมั่นคง และควรจะแจ้งให้ผู้ค้าทราบด้วยน้ำเสียงราบเรียบแต่หนักแน่น รวมถึงใช้สีหน้าจริงจัง ซึ่งถ้าเป็นการลืมโดยไม่ตั้งใจ เชื่อว่าผู้ขายจะรีบทอนเงินคืนพร้อมคำขอโทษมาโดยแน่ แต่ถ้าเป็นการลืมทอนเงินในเชิงเทคนิค ก็อาจจะมีคำพูดคำจาไม่น่าฟังหลุดออกมาด้วย แนะนำว่า ถ้าได้เงินทอนครบแล้วควรจะรีบจากมาโดยไวที่สุดค่ะ เพื่อความปลอดภัย
           
           "ระวังสินค้าด้อยคุณภาพ"
           
           เราคงพบกันบ่อย กับสินค้าปลอม หมดอายุ แตกหัก หรือสูญเสียคุณค่าไปแล้ว เช่น ไข่ที่แตก หรือเน่าเสีย แต่ก็ยังนำมาขาย พริกที่ไม่มีวันเน่า ผักที่ไม่มีวันเหี่ยว ผักกาดดองที่ดองอย่างไม่มีคุณภาพ ผงชูรสปลอมที่นำมาแบ่งขาย อาหารกระป๋องแต่ไม่ระบุวันที่ผลิต - วันหมดอายุ เส้นหมี่ บะหมี่ที่มีกรรมวิธีการผลิตเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นต้น
           
           
    สำหรับสินค้าในกลุ่มนี้ ทางเลือกทางรอดของผู้ซื้อแทบไม่มีเลยก็ว่าได้ ทางที่ดี ผู้ซื้ออาจเปลี่ยนไปซื้อกับดิสเคาน์สโตร์ชื่อดังที่ตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเมืองแทนจะปลอดภัยกว่า อย่างน้อยสินค้าที่วางขายในดิสเคาน์สโตร์เหล่านั้นก็มีการระบุโรงงานผู้ผลิตอย่างเด่นชัด ไม่ใช่ขายกันในลักษณะตักใส่ถุงผูกหนังยาง
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×