ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #448 : รู้หรือไม่ "ตราของสำนักนายกรัฐมนตรี มีมาตั้งแต่สมัยใด"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 640
      5
      16 ก.ย. 58



              เครื่องหมายราชการแห่งสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นรูปกลม ลายกลาง เป็นรูปรัฐธรรมนูญมีรัศมีประดิษฐานอยู่บนพาน 2 ชั้น เหนือตั่ง มีรูปราชสีห์กับคชสีห์ยืนในท่าเผ่น หันหน้าเข้าหากันอยู่ 2 ข้าง รวมเป็นตราราชสีห์ คชสีห์ รักษารัฐธรรมนูญ  หมายถึง ระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บทแห่งประชาธิปไตย ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐกาลที่ 7 พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทย คือรัฐธรรมนูญที่มีตราครุฑด้านบน และรัศมี 7 ดวง ส่วนราชสีห์ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งอัครเสนาบดีสมุหนายกที่บังคับบัญชาปกครองข้าราชการพลเรือน และคชสีห์ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งอัครเสนาบดีสมุหกลาโหม ที่บังคับบัญชาปกครองข้าราชการทหาร อันเป็นข้าราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทพระเจ้าแผ่นดินมาแต่ครั้งโบราณนั้น จะเป็นผู้ดูแลและรักษาไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยที่มาจากปวงชนชาวไทย คือ รัฐธรรมนูญที่ได้รับพระราชทานเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ดังนั้น

    เครื่องหมายราชการของสำนักนายกรัฐมนตรีจึงเป็นสัญลักษณ์ของตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง อันหมายถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำการบริหารแผ่นดินที่ประชาชนชาวไทยได้เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งการปกครองราชอาณาจักรไทย อันถือเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย


              ความเป็นมาของตราราชสีห์และตราคชสีห์ ตราราชสีห์น่าจะมาจากคติพราหมณ์ว่า พระอิศวรสร้างพระอาทิตย์โดยนำราชสีห์ 6 ตัวมาป่นละเอียด แล้วห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต บังเกิดเป็นพระอาทิตย์ ทั้งนำราชสีห์มาเทียมราชรถของพระอาทิตย์ด้วย นอกจากนั้นในหนังสือปัญหาพระยามิลินท์ ยังระบุคุณลักษณะ 7 ประการของราชสีห์ คือ 1.เป็นสัตว์สะอาดหมดจดไม่มัวหมอง 2.เที่ยวไปด้วยเท้าทั้ง 4 มีเยื้องกรายอย่างกล้าหาญ 3.มีรูปร่างโอ่อ่า สร้อยคอสะสวย 4.ไม่นอบน้อมสัตว์ใดๆ แม้เพราะจะต้องเสียชีวิต 5.หาอาหารไปโดยลำดับ พบปะอาหารที่ใดก็กินเสียจนอิ่มในที่นั้น ไม่เลือกว่าดีหรือไม่ดี กินได้ทั้งนั้น 6.ไม่มีการสะสมอาหาร และ 7.หาอาหารไม่ได้ก็ไม่ดิ้นรน ได้ก็ไม่ทะยานและไม่กินจนเกินต้องการ อันเป็นลักษณะ ของข้าราชการที่รับใช้สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนคชสีห์เป็นลักษณะของราชสีห์ผสมกับช้าง (คช) ซึ่งคติไทยถือว่าช้างเป็นสัตว์ประจำชาติใช้ในราชสงคราม ตราคชสีห์จึงสอดคล้องกับข้าราชการที่ออกสงคราม ซึ่งหมายถึงทหาร


              สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานว่า "ตราพระราชสีห์เห็นจะมีก่อนอื่นทั้งหมด เพราะว่าเดิมเสนาบดีคงมีตำแหน่งเดียว เป็นผู้รองพระเจ้าแผ่นดินในที่ว่าราชการต่างๆ แต่การรบคงมากกว่าอย่างอื่น ตามตำแหน่งที่เรียกเสนาบดี ก็หมายความว่าเป็นใหญ่ในเสนา (คือทหาร) ให้ใช้ตราราชสีห์เป็นการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ ตามคำที่ใช้เรียกคนกล้าว่านรสิงห์ ภายหลังการมากขึ้น คนเดียวบังคับไม่ไหว จึงตั้งเติมอีกตำแหน่งหนึ่ง แบ่งกันบังคับการ คนหนึ่งให้บังคับพลทหารที่ประจำการสงคราม อีกคนหนึ่งให้บังคับพลเรือน คือพลที่อยู่เรือนไม่ไปสงคราม ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่นั้นจะให้ใช้ตราอะไรคู่กัน ก็เลือกได้คชสีห์ แต่ที่จริงคลาดไปหน่อย คำว่าคชสีห์เห็นจะเป็นคำยกย่องช้างตัวกล้าว่าดุเหมือนราชสีห์ ได้มาจากคำว่านรสิงห์นั่นเอง"

    สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้กำหนดตำแหน่งบังคับบัญชาในด้านการปกครองไว้ 2 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี ทรงโปรดให้พระยาเพชรบูรณ์เป็นพระยามหาเสนา ที่สมุหกลาโหม ใช้ตราคชสีห์ประจำตำแหน่ง บังคับหัวเมืองฝ่ายใต้ ทั้งปวง และทหารบก ทหารเรือ โปรดให้พระอักขรสุนทร (สน) เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ที่สมุหนายกมหาดไทย ใช้ตราราชสีห์ประจำตำแหน่งบังคับหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง

              ดังนั้น การที่นำตราราชสีห์และคชสีห์มาประกอบกับพานรัฐธรรมนูญในเครื่องหมายราชการแห่งสำนักนายกรัฐมนตรี น่าจะหมายความว่า นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารทั้งปวง ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บท ทั้งนี้ การกำหนดเครื่องหมายราชการดังกล่าว โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ.2482

    Credit 
    http://daily.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNakUxTURrMU9BPT0=&sectionid=
    Y25Wd1lXbHRiMlJs&day=TWpBeE5TMHdPUzB4TlE9PQ==


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×