ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #370 : รู้หรือไม่ "วันพืชมงคล มีที่มาอย่างไร"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 282
      1
      9 พ.ค. 55

    พืชมงคล-แรกนาขวัญ? พิธีศักดิ์สิทธิ์ธำรงวิถีเกษตร

    สำนักนวัตกรรมทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม


     
    "ศรัทธา-ความเชื่อ เป็นพืชพันธุ์ข้าวปลูกของเรา ตบะ-ความเพียร เผาบาป เป็นเมล็ดฝน ปัญญา-ความรอบรู้เป็นแอกและไถ หิริ-ความละอายใจ เป็นงอนไถ เป็นเชือกถัก สติ-ความระลึกได้ เป็นผาลและปฏัก เราจะระวังกาย ระวังวาจาและสำรวม ระวังในอาหาร ทำความสัตย์ให้เป็นท่อไขน้ำ เป็นพาหนะนำไปสู่ที่อันเกษม จากเครื่องผูกพันที่ไปไม่กลับ ที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถของเราเช่นนี้มีผลเป็นอมตะมิรู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์สิ้นทุกประการ"

    เป็นคาถาภาษาบาลีพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 ที่ได้ยกพระคาถาที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงการทำนาของพระองค์แก่กสิภารทวาชพราหมณ์ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของคำอธิษฐานในประกาศพระราชพิธีพืชมงคล เพื่อสร้างสิริมงคลให้แก่การทำนา และให้พืชผลที่เพาะปลูกของประเทศไทยเกิดความเจริญงอกงาม อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ แก่เกษตรกรหรือชาวนา ผู้ที่มีอาชีพปลูกข้าว อาชีพที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติในสังคมเกษตรกรรม

    ฉะนั้นเมื่อฤดูกาลเพาะปลูกข้าวเวียนมาถึง ประเทศไทยโดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์จะให้ความสำคัญ ต่อช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และกำหนดให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา พิธีนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา จนเป็นประเพณีที่สำคัญและถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แต่มีเหตุให้งดจัดงานระหว่าง ปีพ.ศ.2480-2502 เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในความไม่สงบ

    พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกันคือ พระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดเพิ่มขึ้น และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ จึงมีชื่อเรียกรวมกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

    โดยพระราชพิธีพืชมงคลจะประกอบพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพิธีการทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด ถั่ว งา เป็นต้น เพื่อให้ปลอดจากโรคภัยและให้เจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ดี สำหรับพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนา หว่านเมล็ดข้าว เพื่อเป็นอาณัติสัญญาณว่าบัดนี้ฤดูกาลทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

    ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ถึงความมุ่งหมายที่เป็นสาเหตุให้เกิดมีพระราชพิธีนี้ขึ้นว่า "การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยมที่มีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีทรงเลี้ยงตัวไหม ส่วนในประเทศสยามก็มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้อยู่เสมอไม่มีว่างเว้น ด้วยการที่ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจมุ่งมั่นในการทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง"

    ส่วนการที่ต้องมีพิธีกรรมทางด้านพุทธและพราหมณ์มาเจือปน ก็ด้วยความหวาดกลัวต่ออันตรายหรือปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกคือ ปริมาณน้ำฝน หรือน้ำจากธรรมชาติที่มีมากไป หรือมีน้อยไปบ้าง แมลงศัตรูพืช โรคภัยต่างๆ ที่ทำให้ไม่ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์อย่างที่ต้องการ จึงต้องมีพิธีการที่จะช่วยส่งเสริม และเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนเพาะปลูก ด้วยใช้พิธีกรรมทางพุทธศาสนาเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคล พิธีกรรมทางพราหมณ์ การบูชาเซ่นสรวง

    แม้ปัจจุบันจะมีความทันสมัยและมีเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ กลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกครั้ง สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนอย่างมหาศาล ดังอุทกภัยใหญ่ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อปี 2554 นอกจากจะสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน พื้นที่อุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สร้างขวางกั้นเส้นทางของน้ำแล้ว พื้นที่ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไทย ก็ถูกน้ำท่วมขังนานนับเดือน สร้างความปวดร้าวแก่ชาวนา ชาวไร่

    ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ ประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท เมื่อเดือนธันวาคม 2554 โดยจัดให้เป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุด อันดับสี่ของโลก ซึ่งสร้างความเสียหายต่อบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม กว่า 150 ล้านไร่ ใน 65 จังหวัด ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,086,138 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังสร้างความเสียหายต่อต้นข้าวและพืชไร่ถึง 11.20 ล้านไร่ บ่อเลี้ยงปลา กุ้ง หอย 2 แสนกว่าไร่ ถือเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุด ทั้งด้านปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ

    วันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็น "วันพืชมงคล" ประจำปี 2555 จึงเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อวิถีชีวิตของพี่น้องชาวนา ชาวไร่ และผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้วยเป็นวันที่ใช้เริ่มฤดูกาล เป็นการเริ่มต้นการทำนาเพาะปลูก "ข้าว" ซึ่งเป็นอาหารหลักที่ใช้เลี้ยงชีวิตของคนทั้งประเทศและคนส่วนใหญ่ของโลก การประกอบพระราชพิธีเนื่องในวันพืชมงคลในวันนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวนา ชาวไร่ ได้มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีความเชื่อมั่นต่อผลผลิตที่จะเจริญงอกงามในอนาคต

    แม้ประชาชนทั่วไปจะไม่ได้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก จึงควรทำความเข้าใจ ช่วยกันอนุรักษ์ และเผยแพร่วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่านี้ เพื่อดำรงวิถีชีวิตเกษตรกร การทำนาปลูกข้าว ให้เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง และประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

    ที่มา ข่าวสดออนไลน์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×