ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #287 : รู้หรือไม่ "รังแค มาอยู่บนศรีษะเราได้อย่างไร"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 687
      0
      21 พ.ย. 53

    รังแค คือ ละอองหรือสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ เกิดจากเซลล์ชั้นบนสุดของหนังศีรษะที่ตายแล้วลอกตัวหลุดออก ตามปกติแล้ว เซลล์หนังศีรษะของคนเราซึ่งเกิดใหม่จะค่อยๆ เลื่อนจากใต้ผิวหนังขึ้นมาจนถึงผิวชั้นบนสุด และหลุดออกไปในเวลาประมาณ 28 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกจะเป็นชิ้นเล็กๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็น
     

    บางคนเชื่อว่า รังแคเกิดจากวงจรนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้น เช่น จาก 28 วัน เหลือแค่ 7-21 วัน โดยเซลล์ที่ลอกหลุดออก แทนที่จะเป็นชิ้นเล็กๆ กลับมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นขุยสีขาวหรือเทา และมองเห็นได้ชัด แต่ก็มีผู้แย้งว่า การที่ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ อาจเป็นเพราะมีขุยหลุดออกมามาก

    ส่วนใหญ่รังแคมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีผมแห้ง โดยมีลักษณะเป็นขุยแห้งๆ แต่ก็อาจเกิดได้กับผู้ที่มีผิวมัน โดยมีลักษณะเป็นขุยที่มีไขมันเคลือบอยู่ หรือมีลักษณะเป็นสะเก็ดมันสีเหลืองจนถึงขาว

    รังแคทำให้มีอาการคัน ยิ่งเกายิ่งคัน และจะทำให้มีขุยหลุดร่วงมากขึ้น สร้างความรำคาญและทำให้เสียบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก สามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มักจะกลับเป็นซ้ำได้อีก

     
    Pityrosporum ovale สาเหตุการเกิดรังแค

    สาเหตุของการเกิดรังแคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเชื้อ Pityrosporum ovale เป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนของคนทั่วไป และใช้ไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมันเป็นอาหาร ในผู้ป่วยที่มีปัญหารังแค มักจะมีจำนวนเชื้อเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไป

    ดังนั้น การรักษาจึงมุ่งไปที่การลดจำนวนเชื้อให้น้อยลง โดยใช้ยาสระผมซึ่งมีส่วนผสมของ คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อรา สามารถกำจัดเชื้อ Pityrosporum ovale ได้ดี จึงใช้ได้ผลดีในการรักษารังแค บางรายงานระบุว่า ใช้ได้ผลดีกว่าสารตัวอื่นๆ

    นอกจากนี้ ยาสระผมที่มีส่วนผสมของ ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc pyrithione) ซีลีเนียม ซัลไฟต์ (Selenium sulfide) ไพร็อคโทน โอลามีน (Pyroctone Olamine) หรือน้ำมันดิน (Tar) ก็ใช้ได้ผลเป็นครั้งคราว

    ซิงค์ ไพริไธโอน เดิมพบว่า ช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์ที่ทำให้เกิดรังแค แต่การทดลองภายหลัง ไม่พบว่าลดการแบ่งตัวของเซลล์ แต่จำนวนเชื้อลดลง แสดงว่า สารนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อมากกว่าลดการแบ่งตัวของเซลล์

    ซีลีเนียม ซัลไฟต์ รายงานการแพทย์ระบุว่า บางครั้งใช้แล้วอาจไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น จึงต้องล้างออกให้หมด เพราะบางคนใช้แล้วบ่นว่ากลิ่นไม่จาง และศีรษะยังมันอยู่

    ไพร็อคโทน โอลามีน มีฤทธิ์ขจัดรังแคและลดอาการคันศีรษะ

    น้ำมันดิน มีทั้งชนิดไม่กลั่นและชนิดกลั่นบริสุทธิ์ ชนิดไม่กลั่นได้ผลดีกว่า เพราะมีสารซึ่งไม่ได้กลั่นออก ให้ผลในการขจัดรังแคได้ดีกว่า มีฤทธิ์หยุดยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ถึง 40 วัน

    การใช้ยาสระผมเหล่านี้ ไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปได้ เพียงแต่ทำให้ลดจำนวนลง ผู้ที่มีรังแคต้องใช้ยาสระผมเหล่านี้ติดต่อกัน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ การสระผมแต่ละครั้งต้องทิ้งยาสระผมไว้เป็นระยะเวลา 5-15 นาที เพื่อให้ออกฤทธิ์ ไม่ควรรีบล้างออก หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว สามารถลดการใช้ลงเหลือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

    หลังจากใช้ยาสระผมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจพบว่าไม่ได้ผลดีเหมือนเดิม ควรเปลี่ยนเป็นยาสระผมที่มีส่วนผสมชนิดอื่นๆ ในกลุ่มที่กล่าวข้างต้น แล้วหมุนเวียนสลับกันไปเรื่อยๆ ส่วนมากหลังจากที่พ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว หรือเมื่อความมันของผิวลดลง อาการก็จะดีขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนแอนโดรเจนมีบทบาทเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

    ในกรณีที่ใช้ยาสระผมเพียงอย่างเดียวแล้วไม่ได้ผล อาจต้องได้รับการตรวจเพื่อหาโรคผิวหนังชนิดอื่น ซึ่งอาจเป็นสะเก็ดผิวหนังคล้ายรังแค โดยทั่วไป รังแคจะไม่มีการอักเสบบวมแดงที่บริเวณหนังศีรษะ แต่ถ้ามีรังแคมาก ร่วมกับอาการคัน หรือผื่นแดงที่หนังศีรษะ อาจเป็นอาการของโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบ เซ็บ-เดิร์ม (seborrheic dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) หรือโรคแพ้สารเคมี หรือน้ำยาบางอย่าง

    สำหรับแชมพูสมุนไพรที่โฆษณาว่าขจัดรังแคได้ หากเป็นสมุนไพรสดๆ อาจช่วยได้จริง แต่ถ้านำมาผ่านกระบวนการทำเป็นแชมพู ส่วนใหญ่สรรพคุณต่างๆ ของสมุนไพรก็แทบจะสูญสลายไปหมด

    มีบางรายงานระบุว่า สารอาหารที่มีส่วนช่วยลดอาการของรังแค ได้แก่ เลซิติน สังกะสี แมกนีเซียม และวิตามินบี 6


     
    แหล่งของเลซิตินในธรรมชาติ จะพบมากในไข่ ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง ปลา ธัญพืช ตับ เนื้อวัว เนยแข็ง และน้ำมันจากพืชและสัตว์ต่างๆ

    แหล่งอาหารตามธรรมชาติที่มีปริมาณสังกะสีสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเลโดยเฉพาะหอยนางรม

    แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม ได้แก่ ผักสีเขียวเข้ม ข้าวไม่ขัดสี ผลไม้เปลือกแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย และอาหารทะเล

    แหล่งที่พบวิตามินบี 6 ได้แก่ ไข่แดง ผักสีเขียว เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ นม ข้าวซ้อมมือ กล้วย มะเขือเทศ และฝักถั่วต่างๆ

    นอกจากนี้ ภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบาย มีความเครียด อาจทำให้รังแคกำเริบขึ้นมาอีกได้ ใช้ยาสระผมเพื่อขจัดรังแคโดยตรง และดูแลสุขภาพเพื่อขจัดรังแคทางอ้อม ควบคู่กันไป เพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น...


    ที่มา : เอมอร คชเสนี ผู้จัดการออนไลน์
    ที่มาข้อมูล : ผู้จัดการออนไลน์

    Credit  https://www.myfirstbrain.com/main_view.aspx?ID=28225




    free counters
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×