ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #189 : รู้หรือไม่ "จังหวะเต้นรำ ชาชาช่า มีประวัติความเป็นมายังไง"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.2K
      1
      1 ก.ย. 52

    ชาชาช่า




    จังหวะเต้นรำ ชาชาช่า (Cha Cha Cha) หรือเรียกแบบไทยว่า ชะชะช่า พัฒนามาจากจังหวะแมมโบ้ (Mambo) นับเป็นจังหวะลีลาแบบละตินที่คนส่วนใหญ่เรียนรู้เป็นอันดับแรก โดยชื่อของจังหวะตั้งเลียนเสียงรองเท้ากระทบพื้นขณะกำลังเต้นรำของสตรี จังหวะชาชาช่าพบเห็นเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา ก่อนแพร่หลายเข้าไปในยุโรปช่วงเวลาเดียวกับจังหวะแมมโบ้ กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แมมโบ้เสื่อมความนิยมลง ขณะที่ชาชาช่ายังเต้นกันทั่วไป ด้วยดนตรีที่เล่นด้วยอารมณ์ความรู้สึก ปราศจากความตึงเครียดใดๆ ร่วมด้วยลักษณะกระแทกกระทั้นของจังหวะที่ทำให้นักเต้นรำสามารถสร้างบรรยากาศของความรู้สึกขี้เล่นและซุกซนให้กับผู้ชมได้

    การเต้นรำจังหวะชาชาช่าแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2498 โดยชาวฟิลิปปินส์ที่รู้จักในชื่อ "มิสเตอร์เออร์นี่" นักดนตรีของวงซีซ่า วาเลสโก นำลีลาการเต้นชาชาช่า และการเขย่ามาลากัส (ลูกแซ็ก) มาประกอบดนตรีเข้าไปด้วย เป็นลีลาแสนประทับใจบรรดานักเต้นรำและครูสอนลีลาศทั้งหลายซึ่งได้ขอให้มิสเตอร์เออร์นี่สอนให้ การเต้นชาชาช่าตามแบบของมิสเตอร์เออร์นี่ถูกถ่ายทอดและมีอิทธิพลอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และถึงรูปแบบจะผิดหลักมาตรฐานสากล แต่ยังได้รับความนิยมเต้นเรื่อยมา แม้ภายหลังจะได้นำเอารูปแบบการเต้นที่เป็นมาตรฐานสากลเข้ามาสอนแทนแล้วก็ตาม



    เอกลักษณ์ดนตรีในจังหวะชาชาช่ามีห้องดนตรีที่สนุก สนานเร้าใจ ลีลาการเต้นนอกจากแสดง ออกถึงความเบิกบานแล้ว ยังแสดง ออกถึงความรักได้ด้วย โดยห้องดนตรีจังหวะชาชาช่า จะเป็นแบบ 4/4 เหมือนจังหวะคิวบันรัมบ้า คือ มี 4 จังหวะใน 1 ห้องเพลง ดนตรีบรรเลงด้วยความเร็วมาตรฐาน 32 ห้องเพลงต่อนาที หรือประมาณ 30-40 ห้องเพลงต่อนาที การนับจังหวะดนตรีสามารถนับได้หลายวิธี เป็น หนึ่ง-สอง-สาม-สี่-ห้า หรือหนึ่ง-สอง-ชาชาช่า หรือจะนับตามแบบคิวบันรัมบ้า คือนับสอง-สาม-สี่ และหนึ่ง โดยก้าวแรกจะตรงกับจังหวะที่ 2 ของห้องเพลง

    การก้าวเท้าในจังหวะชาชาช่าจะต้องให้ฝ่าเท้าสัมผัสพื้นก่อนแล้วจึงค่อยลงน้ำหนักทีหลัง การใช้ขาสองข้างต้องสัมพันธ์กัน เมื่อก้าวเท้าใดเข่านั้นจะงอเล็กน้อย เมื่อเท้าได้วางราบลงบนพื้นแล้วเข่าจะตึงและรับน้ำหนัก ส่วนเข่าอีกข้างจะงอเพื่อเตรียมก้าวเดินต่อไป และเมื่อวางเท้าลงเข่าก็จะตึง ทำอย่างนี้สลับกันเรื่อยไป สับเปลี่ยนการตึงและงอของช่วงขา พร้อมทั้งลดลงและยกขึ้นของส้นเท้าสลับกันตามลำดับ การปฏิบัติในลักษณะนี้จะทำให้สะโพกบิดไปมาดูสวยงาม แต่อย่าให้เป็นในลักษณะเจตนานัก เพราะไม่เป็นธรรมชาติและเป็นภาพที่ไม่น่าดู ผู้ที่เริ่มต้นฝึกควรฝึกฝนการเต้นให้ถูกต้องตามจังหวะดนตรีก่อน เมื่อเกิดความชำนาญแล้วจึงค่อยฝึกการก้าวให้เกิดความสวยงามภายหลัง

    สำหรับการจับคู่ในจังหวะชาชาช่า เน้นการจับคู่แบบปิดในรูปแบบของละตินอเมริกัน มือขวาของชายแตะบริเวณสะบักของผู้หญิง แต่อาจเปลี่ยนไปตามลวดลายการเต้น ซึ่งอาจจะจับด้วยมือเพียงข้างเดียว จับแบบสองมือ หรืออาจปล่อยมือทั้งสองออกจากคู่เลยก็ได้

    ลวดลายการเต้นจังหวะชาชาช่ามีอยู่หลายแบบด้วยกัน ที่นิยมเต้นกันทั่วไป ได้แก่ 1.เบสิก มูฟเมนต์ (Basic Movement) 2.นิวยอร์ก (New York) 3.สปอต เทิร์น (Spot Turn) 4.แฟน (Fan) 5.อเลมานา (Alemana) 6.โชลเดอร์ ทู โชลเดอร์ (Shoul der To Shoulder) 7.อันเดอร์ อาร์ม (Under Arm) 8.แฮนด์ ทู แฮนด์ (Hand To Hand) 9.ฮอกกี้ สติ๊ก (Hockey Stick) 10.ไทม์ สเต็ป (Time step)

    ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×