ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #38 : ศึก ๒ เจ้าพระยาเพราะจราจร สมัยใช้แคร่คานหามอย่านึกว่าไม่มี “จอมปาด”

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 177
      3
      30 ก.ย. 58

    คานหามพาหนะของคนมีบรรดาศักดิ์
            สมัยก่อนที่ยังไม่มีรถยนต์ ผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลายจะไปไหนมาไหนก็ใช้วิธีขึ้นนั่งบนแคร่ มี ๔ คนหามหัวท้าย สะดวกสบายเหมือนมีคนขับรถให้นั่งอย่างทุกวันนี้
           
           สมัยนี้การจราจรคับคั่ง โดยเฉพาะตอนที่เป็นคอขวด ถนน ๒ เลน ๓ เลนถูกปีบให้เหลือ ๑ หรือ ๒ เลน เช่นตอนขึ้นสะพาน ถึงตอนนี้ก็ต้องใช้ฝีมือเบียดกันหน่อย แต่บางคนไม่ได้ใช้แค่ฝีมือ ใช้ความหน้าด้านเข้าด้วย ปาดคนอื่นเขาดื้อๆ จนเกิดมีเรื่องมีราวกันก็บ่อย
           
           ในสมัยที่ใช้แคร่คานหาม อย่าคิดว่าเรื่อง “จอมปาด” จะไม่มี การจราจรแคร่ในสมัยนั้น บางทีก็มีคอขวดที่ต้องเบียด ต้องชิง จนเกิดเรื่องเหมือนกัน
           
           อย่างเช่นในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๖ ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทพวดี ที่ท้องสนามหลวง และมีมวยให้ชม ขุนนางข้าราชบริพารจึงไปร่วมพระราชพิธีกันพร้อมหน้า รวมทั้งเจ้าพระยามหาเสนา สมุหพระกลาโหม ซึ่งพาภรรยาน้อยไปดูมวยด้วย
           
           เมื่อถึงเวลาค่ำ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯกลับ เหล่าขุนนางก็พากันกลับตาม หลายคนใช้เส้นทางผ่านประตูวิเศษไชยศรีไปออกประตูเทวาภิรมย์ เพื่อลงเรือที่ท่าขุนนาง หรือท่าราชวรดิฐในปัจจุบัน การจราจรที่ประตูวิเศษไชยศรีจึงคับคั่ง
           
           ขณะนั้นแคร่ของเจ้าพระยามหาเสนา ซึ่งนอกจากจะมีแคร่ของภรรยาน้อยตามหลังแล้ว ยังมีบ่าวไพร่และทนายหน้าหอถือเครื่องยศตามมาอีกเป็นขบวน จะเข้าประตูวิเศษไชยศรีแต่ก็ยังเข้าไม่ได้ เพราะมีขบวนออกันอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว จึงต้องต่อคิวรออยู่ แต่พอขบวนของเจ้าพระยาอภัยภูธร สมุหนายก มาถึงก็ไม่รอช้า แหวกคิวบุกเข้าไปเลย ฝ่ายของเจ้าพระยามหาเสนาประท้วงก็ไม่ยอมฟัง ขบวนของสองเจ้าพระยาเลยเกิดตะลุมบอนกันขึ้น ฝ่ายเจ้าพระยามหาเสนาบอบช้ำมากหน่อย แต่ก็แย่งชิงกระบี่ฝักทองเครื่องยศของเจ้าพระยาอภัยภูธร แหวกผ่านประตูวิเศษไชยศรีเข้าไปได้
           
           ฝ่ายขบวนของเจ้าพระยาอภัยฯผู้เสียกระบี่ เมื่อผ่านพ้นประตูวิเศษไชยศรี พอจะเลี้ยวไปทางศาลาลูกขุน ก็พบกับกลุ่มของพระตำรวจหลวง ซึ่งเพิ่งไปส่งเสด็จที่พระมหามณเฑียรกลับออกมา กลุ่มนี้มีบุตรหลานของเจ้าพระยาอภัยฯอยู่หลายคน เมื่อทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงพากันวิ่งตามขบวนของเจ้าพระยามหาเสนาไปทันที่ท่าเรือ เกิดตะลุมบอนกันอีกยก และแย่งกระบี่เครื่องยศของเจ้าพระยาอภัยฯกลับมาได้
           
           ครั้นเสร็จงานพระศพแล้ว เจ้าพระยามหาเสนาได้นำเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาอภัยภูธร โปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นตระลาการชำระความ แต่ทว่ายังไม่ทันจะแล้วเสร็จ ก็เกิดช้างเผือกล้มถึง ๒ เชือกติดต่อกัน คือในวันขึ้น ๗ ค่ำ ของเดือน ๗ พระยาเศวตไอยราล้ม ต่อมาอีกวันขึ้น ๘ ค่ำ พระยาเศวตคชลักษณ์ก็ล้มอีก ต้องตามคำโบราณที่ว่า หากเสนาบดีผู้ใหญ่วิวาทกัน ถือเป็นอุบาทว์ มักเกิดเรื่องร้ายต่อแผ่นดิน
           
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งชราภาพและทรงสะเทือนพระราชหฤทัย ที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทพวดี ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องยาเธอร่วมพระราชชนนีองค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ พอช้างเผือกต้องมาล้มคราวเดียวอีก ๒ เชือกเช่นนี้ จึงทรงพระวิตกเป็นที่ยิ่ง
           
           มีพระราชดำรัสว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระชนม์ครบอุปสมบทแล้ว แต่เป็นเวลามีพระเคราะห์ร้ายแรง เสียช้างศรีบ้านเมืองไปแล้ว อย่าให้เสียปีเสียเดือนอีก ให้จัดการทรงผนวชเสียโดยเร็ว มิต้องแห่แหนเป็นการใหญ่เหมือนอย่างประเพณีทรงผนวชพระเจ้าลูกยาเธอที่เคยทำมาแต่ก่อน
           
           ครั้งถึงเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เสด็จสู่สวรรคต โดยมิได้ดำรัสสั่งในการสืบราชสมบัติ เหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ในความตรึงเครียดชั่วขณะ ทำให้กรณีพิพาทของสองเจ้าพระยาจากเหตุการณ์จราจรหน้าประตูวิเศษไชยศรี กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งที่ไม่มีใครให้ความสนใจอีก 
     
    ประตูวิเศษไชยศรี

     

    Credit http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000090871

     

    Flag Counter
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×