ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #30 : เปิดตำนานสาวไทยที่ “ชอบกินฝรั่ง”

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 383
      8
      31 ส.ค. 58

    การแต่งกายและบ้านชาวสยามที่คนฝรั่งเศสเขียน
            ในสมัยอยุธยา มีชาวตะวันตกเข้ามามากมายหลายชาติหลายภาษา ทั้งพ่อค้า ราชทูต และกลุ่มสำคัญก็คือบาทหลวงฝรั่งเศส ที่มีบทบาททั้งศาสนากับการเมืองควบคู่กัน ซึ่งได้เขียนรายงานไปยังต้นสังกัดในยุโรปเป็นระยะ ทำให้เราได้รู้ประวัติศาสตร์ไทยในยุคนั้นได้ละเอียดพอสมควร แต่ก็ต้องบวกลบคูณหารเอาบ้าง เพราะเป็นการมองที่อาจไม่เข้าใจธรรมเนียมประเพณี หรือเจตนาระบายสี
           
           ในจำนวนนี้ มีบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ซอกแซกล้วงลึกกว่าฉบับอื่น สนใจไปถึงเรื่องที่ไม่มีใครกล้าเล่าอย่างเปิดเผย นำเรื่องที่กระซิบกระซาบกันบันทึกไว้
           
           เจ้าของบันทึกรายนี้คือ บาทหลวงเดอเบส ซึ่งเข้ามากรุงศรีอยุธยาในปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมกับคณะทูตจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสชุดที่ ๒ ซึ่งมี ลาลูแบร์ เป็นหัวหน้าคณะ และกลับออกไปพร้อมกับกองทหารฝรั่งเศสตอนต้นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา อยู่ในสยาม ๑๔ เดือนในช่วงที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ถูกมอบหน้าที่ให้ประกบ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีฝรั่งสัญชาติกรีซ เพื่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศส
           
           ในบันทึกของบาทหลวงเดอเบส นอกจากจะมีเรื่องลับลวงพรางทางการเมืองจากคำบอกเล่าของฟอลคอนแล้ว บาทหลวงเดอเบสยังบันทึกถึงพฤติกรรมเริงโลกีย์ของผู้หญิงแห่งราชสำนักสยามคนหนึ่ง ที่ผิดแผกจากผู้หญิงไทยทั่วไปที่รักนวลสงวนตัว รายนี้แม้จะสูงศักดิ์แต่กลับมีรสนิยมล้ำหน้า “ชอบกินฝรั่ง”
           
           แม้บาทหลวงเดอเบสจะไม่ได้ระบุชื่อของหญิงสยามผู้นี้ว่าเป็นใคร แต่ก็บอกว่า นางเป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ และเป็นน้องสาวของพระเพทราชา ฉะนั้นนางจึงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) ซึ่งมารดาของนางและเป็นมารดาของพระเพทราชาด้วยนั้น ก็คือพระนมที่ถวายการเลี้ยงดูสมเด็จพระนารายณ์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พอโตเป็นสาวนางได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา และได้รับการสถาปนาเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอก
           
           นางไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดาเลย แต่ตัณหาราคะก็ไม่ได้เลือกชั้นวรรณะ
           
           ในพงศาวดารไทยระบุว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) ผู้นี้ ก็คือพระสนมเอกที่มีเรื่องกระทบกระทั่งกับ ศรีปราชญ์ จนทำให้กวีเอกของกรุงศรีอยุธยาถูกเนรเทศ จนไปจบชีวิตที่เมืองนครศรีธรรมราชนั่นเอง
           
           บาทหลวงเดอเบสบันทึกไว้ว่า นางหญิงใจทรามผู้นี้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามากด้วยกามคุณ ยกเว้นในหลวงพระองค์เดียวเท่านั้นที่มิได้ทรงทราบระแคะระคาย นางได้กระทำตนให้เป็นที่โปรดปรานของในหลวง จนกระทั่งเกือบจะมีอำนาจสิทธิ์ขาดในพระราชวัง แต่โดยที่ตกอยู่ในที่คุมขังวังล้อมตามประเพณีท้าวนางฝ่ายใน จึงไม่มีช่องทางที่จะส้องเสพกามกรีฑาให้สมกับความหื่นกระหายของนางได้ แต่อาศัยที่เป็นผู้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย จึงเพทุบายขอพระบรมราชานุญาตออกจากวังได้เป็นบางครั้งบางคราว เพื่อไปให้ศัลย์แพทย์ชาวฮอลันดาคนหนึ่งชื่อ ดาเนียล รักษาบาดแผลที่ขา ซึ่งนางจงใจทำขึ้นเอง ศัลยแพทย์ผู้นี้ก็สมรู้ร่วมคิดด้วย จึงยืดเวลาการรักษาออกไป กราบทูลในหลวงว่า เป็นบาดแผลค่อนข้างฉกรรจ์ ต้องใช้เวลานานในการรักษา ในหลวงก็มิได้ทรงระแวงแคลงพระทัย ทรงเป็นห่วงแต่อาการของบุคคลที่ทรงสนิทเสน่หา นางจึงได้โอกาสเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ และเพื่อหลบสายตาของคนสยาม นางจึงมักจะไปที่ค่ายของชาวโปรตุเกส ซึ่งมีฝรั่งบางคนสนิทสนมกลมเกลียวกัน ทั้งไม่ได้ระมัดระวังตัวเท่าใดนัก ความจึงได้อื้อฉาวออกมาสู่ชาวบ้าน ถึงขนาดเอาเรื่องบัดสีบัดเถลิงของนางที่ไม่กล้าพูดกล้านินทากัน มาแต่งเป็นเพลงร้องกันทั่วไป เรื่องจึงระแคะระคายเข้าพระกรรณสมเด็จพระนารายณ์ แต่นางกลับเป็นฝ่ายร้องทุกข์ขึ้นมาก่อนว่า ได้รับการใส่ร้ายไม่เป็นธรรม และกราบทูลขอให้ทรงลงโทษแก่บุคคลที่บังอาจกล่าวคำใส่ร้ายหรือร้องเพลงเสียดสีนาง แต่สมเด็จพระนารายณ์ไม่ทรงเชื่อคำพูดของนางนัก และเพื่อป้องกันการอื้อฉาว จึงทรงห้ามไม่ให้นางออกจากวังไปไหนมาไหนอีก ส่วนแผลนั้นก็ให้พอกยารักษากันในวัง
           
           นางต้องทนกระวนกระวายอยู่แต่ในวังชั้นใน ของที่เคยกินก็ไม่ได้กินทำให้หิวกระหาย พระราชฐานชั้นในก็ไม่มีผู้ชายอื่นสามารถเข้าไปได้ แต่ก็มีเจ้าชายหนุ่มรูปงามองค์หนึ่งเข้าออกอยู่เป็นประจำ นางจึงเล็งไปที่เหยื่อรายนี้
           
           เจ้าชายองค์นี้ บาทหลวงเดอเบสไม่กล่าวพระนามเช่นกัน แต่ระบุว่าเป็นพระอนุชาองค์เล็กของสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงโปรดปรานมากเหมือนเป็นพระราชโอรส ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าคือ เจ้าฟ้าน้อย และได้บรรยายรูปโฉมไว้ว่า ทรงมีพระสิริโฉมโสภาสง่างาม มีพระฉวีวรรณค่อนข้างขาว มีพระทัยโอบอ้อมอารี และมีพระจรรยามารยาทละมุนละไม เป็นที่ประทับใจของชนทุกชั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงดำริที่จะให้เป็นรัชทายาทแทนพระเชษฐา คือเจ้าฟ้าอภัยทศ โดยจะพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาองค์เดียวให้ และเตรียมการอภิเษกสมรสไว้แล้ว ซึ่งเจ้าฟ้าหญิงก็ทรงมีพระทัยกับเจ้าอาเช่นกัน
           
           แต่แล้วทุกอย่างที่สวยหรูนี้ก็ต้องพังทลาย เจ้าฟ้าน้อยซึ่งยังทรงเป็น “ไก่อ่อน” ไหนเลยจะพ้นมือ “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” ที่กำลังโหยหิวไปได้ ทั้งคู่จึงได้จำเริญสวาทสามัคคีรสกันใกล้พระเนตรพระกรรณสมเด็จพระนารายณ์นั่นเอง จนวันหนึ่งความชะล่าใจก็ทำให้ความแตก เมื่อนางเดินผ่านไปที่หน้าห้องประทับของสมเด็จพระนารายณ์ เห็นฉลองพระองค์ของเจ้าชายคู่สวาทถอดวางไว้ ด้วยเป็นธรรมเนียมที่ผู้เข้าเฝ้าในที่ประทับ จะต้องเปลือยร่างกายท่อนบนจากเอวขึ้นไป ให้เห็นว่าไม่ได้พกพาอาวุธเข้าไปด้วย นางจึงให้ทาสหญิงที่ติดตามหยิบฉลองพระองค์เจ้าชายไปเก็บไว้ที่ตำหนักของนาง ด้วยคิดว่าเจ้าชายคงจะทราบดีว่าใครเอาไป จะได้ติดตามไปเอา แต่ “ไก่อ่อน”ไม่ทันคิดอย่างที่นางหวัง กลับโวยวายเมื่อเห็นฉลองพระองค์หายไป เรื่องจึงอื้อฉาวไปถึงพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระพิโรธที่สมบัติของพระอนุชาวางไว้หน้าทวารที่ประทับยังหายได้ จึงรับสั่งให้ค้นหาทันที
           
           พวกฝ่ายในที่สนองรับสั่งก็พอจะรู้อะไรๆอยู่บ้าง จึงทรงไปที่ตำหนักของพระสนมเอกเป็นแห่งแรก ก็ได้เห็นฉลองพระองค์ของเจ้าชายวางอยู่ที่นั่น เพราะนางก็ไม่ได้คิดเอาไปซ่อน จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล ฝ่ายบรรดานางกำนัลและทาสหญิงของพระสนมต่างก็ร้อนตัวไปตามกันที่รู้เห็นกับเรื่องนี้ด้วย จึงชิงกันเข้ากราบทูลกล่าวโทษพระสนมเพื่อเอาชีวิตตัวเองรอด
           
           สมเด็จพระนารายณ์ทรงพิโรธและเสียพระทัยอย่างมาก กับการกระทำของคนที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย และเลี้ยงดูมาด้วยพระเมตตา แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเอาพระโทสะจริตพิจารณาโทษ จึงโปรดเกล้าฯให้คณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินเป็นผู้วินิจฉัยการกระทำของตนทั้งสอง
           
           พระเพทราชาซึ่งอยู่ในคณะที่ปรึกษาด้วย และมีตำแหน่งใหญ่ในแผ่นดินได้ก็ด้วยน้องสาวมีส่วนช่วยสนับสนุน แต่ไม่คัดค้านคำพิพากษาหรือขอพระราชทานอภัยโทษให้น้องสาว กลับธำรงอำนาจวาสนาของตนไว้ ด้วยการเสนอให้ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต คณะที่ปรึกษาจึงพิพากษาให้ลงโทษด้วยการนำตัวนางไปให้เสือกิน ซึ่งบาทหลวงเดอเบสว่าเป็นบทระวางโทษชนิดธรรมดาสามัญอย่างหนึ่งของชาวสยาม
           
           ส่วนเจ้าชาย คณะที่ปรึกษาให้ประหารชีวิตเช่นกัน แต่ด้วยพระขนิษฐาภคินีพระองค์หนึ่งที่ทรงรักใคร่ ได้เคยขอไว้เมื่อใกล้สิ้นพระชนม์ว่า หากพระอนุชาทำความผิดสถานใด ก็อย่าให้ลงโทษถึงแก่ชีวิต ขอเพียงให้ทรงลงทัณฑ์เสมอที่บิดาทำต่อบุตร จึงทรงมีพระบัญชาให้พระเพทราชาและพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรม เป็นผู้ลงโทษเจ้าชายด้วยการโบย ซึ่งทั้งสองได้ปฏิบัติตามรับสั่งอย่างเหี้ยมโหด โบยเจ้าชายผู้น่าสงสารจนสลบแน่นิ่ง เมื่อฟื้นขึ้นมาพระวรกายก็บวมจนผิดปกติ และมีอาการคล้ายเป็นอัมพาตที่ชิวหา พูดไม่ได้ แม้ไม่สิ้นพระชนม์ก็ยิ่งกว่าสิ้น ต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป และไม่อาจไปถึงราชบัลลังก์ตามที่ถูกกำหนดไว้ได้ ก็เพราะทรงอ่อนไหวจนตกไปในหลุมโลกีย์ที่ตัวอ่อนเชิง
           
           แน่นอนว่าเรื่องราวคาวโลกีย์เช่นนี้มีอยู่ทุกชาติทุกชนชั้น แต่พงศาวดารไทยไม่ค่อยมีบันทึกไว้ นอกจากเรื่องของเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เพราะเกี่ยวพันกับบทบาททางการเมือง แต่เรื่องของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) นี้ ถือได้ว่าเป็นเรื่องซุบซิบนินทา แต่บาทหลวงฝรั่งเศสก็ยังอุตส่าห์ล้วงลึกบันทึกไว้ ทำให้ได้รู้ชีวิตสังคมสมัยกรุงศรีอยุธยาในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ก็อย่างว่า “ต้องบวกลบคูณหาร” 
     
    การแต่งกายของฝ่ายสตรีฝ่ายใน ภาพนี้คือสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ
            
     
    ภาพที่ช่างฝรั่งเศสเขียนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
            
    Credit http://manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000088228



    Flag Counter
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×