ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #4 : จอมพล ป.พิบูลสงคราม ตอนที่ 4

    • อัปเดตล่าสุด 14 ก.ค. 58



    จอมพล ป.เดินทางเยือนกองถ่ายทำภาพยนตร์ของฮอลลีวูด สหรัฐอเมริกา ระหว่างการเดินทางเยือน ๑๗ ประเทศรอบโลก
     


    รัฐประหาร ๒๕๐๐
     
              งานใหญ่ชิ้นสุดท้ายของจอมพล ป. คือโครงการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (๒๕๐๐)    มีการแบ่งงานเป็นสามส่วน ส่วนแรก สร้าง “พุทธมณฑล” ในพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโดยสร้างพระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่เป็นประธานสถานที่  สอง สร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่ม เช่น สะพานกรุงธน (ซังฮี้) นนทบุรี สร้างที่อยู่อาศัยโดยใช้ชื่อ “พิบูลฯ”  สาม ฉลองพระนครที่ท้องสนามหลวง
     
    อย่างไรก็ตามโครงการนี้คล้ายโครงการ “พุทธบุรีมณฑล” ที่สระบุรีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งทำเพื่อกีดกันญี่ปุ่นไม่ให้ใช้พื้นที่จังหวัดสระบุรีซึ่งจะขัดขวางแผนยุทธการที่ ๗ โดยเป็นการ “เอาพระเข้าช่วย”
     
              ในโครงการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษก็เช่นกัน เป็นการเอา “พระ” และ “ประชาธิปไตย” เข้าช่วยจอมพลซึ่งขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ผบ.ทบ. ขัดแย้งกับพลตำรวจเอกเผ่ามากขึ้นโดยจอมพลสฤษดิ์ถูกโจมตีเรื่องผลประโยชน์ทางการค้า ขณะที่พลตำรวจเอกเผ่าถูกโจมตีเรื่องขนฝิ่น    ในช่วงนี้จอมพล ป. ตระหนักถึงการกลับมาของกลุ่มอนุรักษนิยมและอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น จึงตัดสินใจเปิดการติดต่อกับจีนและติดต่อกับ ปรีดี พนมยงค์ อย่างลับ ๆ โดยส่ง สังข์ พัธโนทัย ไปแจ้งว่าต้องการรื้อคดีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ อีกครั้ง เนื่องจากมีหลักฐานใหม่  ส่วนปรีดีที่ลี้ภัยอยู่ในจีนได้เขียนจดหมายตอบขอบคุณที่จอมพล ป. “มิได้เปนศัตรูของผมเลย ท่านมีความรำลึกถึงความหลังอยู่เสมอ และอยากจะเห็นผมกลับประเทศทุกเมื่อ”
     
    จอมพล ป. ยังกล่าวกับ ปาล พนมยงค์ บุตรปรีดีที่มาลาบวชในเดือนมิถุนายน ๒๕๐๐ ฝากข้อความถึงเพื่อนเก่าว่า “บอกคุณพ่อของหลานด้วยว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้…ไม่ไหวแล้ว”  ทว่าสถานการณ์สุกงอมเสียก่อน เมื่อจอมพลสฤษดิ์สนับสนุนการตั้งพรรคสหภูมิ ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมรัฐมนตรีอีกห้าคน พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามมาด้วย ส.ส. แต่งตั้ง ๔๖ คนของพรรคเสรีมนังค-ศิลาโดยเฉพาะฝ่ายทหารลาออกจากพรรคพร้อมกัน
     
              ข้อความจากจดหมายของจอมพลสฤษดิ์ที่ส่งถึงจอมพล ป. (ที่เขาเพิ่งส่งสุนัขไปให้เป็นของขวัญวันเกิดเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๐ เพื่อยืนยันว่าจะซื่อสัตย์ “ดุจสุนัขตัวนี้”) ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๐ ระบุว่าตนยังเคารพและกตัญญูกับจอมพล ป. เสมอ แต่ปัญหาเกิดจากบุคคลในคณะรัฐบาลที่ “ฯพณฯ ท่านไม่สามารถแก้ปัญหาและขจัดบุคคลเหล่านี้ไปได้” ทำให้ “ฯพณฯ จมปลักสู่โคลนตมอันสกปรกและเน่าเหม็นลงไปตามลำดับ” โดยตัดสินว่าการแก้ไขสถานการณ์ของจอมพล ป. นั้น “ไม่ตรงกับจุดหมายและความประสงค์ของประชาชน” จึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ตำแหน่งเดียว ทั้งยังปฏิญาณว่าจะไม่ขัดขวางการกระทำใด ๆ ของรัฐบาล
     
    ทว่า ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ เพียงวันเดียวหลังกลุ่มนักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งเดินขบวนไปหาจอมพลสฤษดิ์เพื่อ “ขอร้องให้ใช้กำลังบังคับให้จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” จอมพลสฤษดิ์ก็เข้าพบจอมพล ป. ยื่นคำขาดให้ลาออกและส่งพลตำรวจเอกเผ่าไปนอกประเทศ    คืนนั้นจอมพลสฤษดิ์ก็ทำรัฐประหาร จอมพล ป. ลี้ภัยไปกัมพูชา ท่านผู้หญิงละเอียดซึ่งเพิ่งเสร็จการประชุมสหพันธ์สมาคมสหประชาชาติที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ต้องเดินทางไปฝรั่งเศสและบินตรงไปเวียดนามใต้เพื่อสมทบกับสามีที่กำลังลี้ภัย
     
     
     
    พิบูลซัง
     
              ธันวาคม ๒๕๐๐ หลังลี้ภัยอยู่ในกัมพูชามา ๓ เดือน จอมพล ป. ก็ตัดสินใจเดินทางไปญี่ปุ่น    จีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรีบันทึกไว้ว่าเหตุที่ไปญี่ปุ่นนั้นเกิดจาก “…ระหว่างที่มีชีวิตว่าง ๆ อยู่ในเขมรเรา (จอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด) ก็หยิบอัลบั้มภาพเมืองต่าง ๆ มาดูกัน ในที่สุดก็ตกลงใจว่าญี่ปุ่นเหมาะที่สุดที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายมากกว่าที่อื่น” และเมื่อทูตญี่ปุ่นในกัมพูชาตกลงจึงเดินทางทันที
     
    จอมพล ป. ถึงญี่ปุ่นในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๐ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากนายวะดะ (K. Wada) ประธานบริษัทมารูเซน ออยส์ จำกัด ให้พักในบ้านย่านชินจุกุกลางโตเกียว  วะดะเล่าเหตุผลที่เขาช่วยจอมพลในนิตยสาร FACE ของญี่ปุ่นว่า เพราะเคยเป็นอาคันตุกะญี่ปุ่น คราวนี้ลี้ภัยมาไม่มีที่พึ่ง “เห็นอกเห็นใจเป็นอันมากจึงเสนอบ้านพักในโตเกียวหลังหนึ่งให้เป็นที่พำนักของท่าน พร้อมด้วยรถนั่งอีกหนึ่งคันสำหรับใช้ประจำ…เป็นธรรมดาที่ต้องตอบแทนบุญคุณกับผู้มีพระคุณ…ที่จริงรัฐบาลญี่ปุ่นควรช่วยเหลือ แต่เนื่องจากมีปัญหาต่าง ๆ ข้าพเจ้าจึงขอรับทำหน้าที่แทน”
     
    “พระคุณ” ที่วะดะกล่าวถึงคือการยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ต้องเสียชีวิต คนญี่ปุ่นจึงรู้จักและเรียกจอมพล ป. ด้วยความนับถือว่า “พิบูลซัง” และ “เด็กชาวญี่ปุ่นในละแวกบ้านพักทราบว่าท่านจอมพลคือใครต่างก็มาแสดงความคารวะ บ้างก็มาขอลายเซ็น”
     
    จอมพล ป. เล่าชีวิตประจำวันช่วงนี้ให้ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ (๑๔ มิถุนายน ๒๕๐๑) ฟังว่า “ตื่นนอน ๐๘.๐๐ น. ดื่มน้ำส้ม เสร็จแล้วฟังวิทยุ อ่านหนังสือ เขียนจดหมายถึงบ้าน ๑๓.๐๐ น. อาหารกลางวัน เสร็จแล้วไปดูภาพยนตร์บ้าง ไปเล่นกอล์ฟบ้าง  บางคราวเดินทางทัศนาจร พักตามโรงแรมนอกโตเกียว…งานประจำที่แน่ก็คือคิดบัญชีรายจ่ายค่าอาหารประจำวัน เวลานี้เป็นนักหนังสือพิมพ์ก็เขียนมาแก้คำฟ้องบ้าง” และจากคำบอกเล่าคนรอบข้าง จอมพลยังใช้เวลาทำสวนหย่อม เรียนภาษาญี่ปุ่น บางครั้งก็ขับรถไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ
     
    ระหว่างพำนักในญี่ปุ่น จอมพล ป. ไปต่างประเทศสองครั้ง ครั้งแรกไปรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๐๒ ท่องเที่ยวอยู่หลายเดือนก่อนกลับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒ ไปสักการะสังเวชนียสถานพระพุทธเจ้าและอุปสมบทที่อินเดียในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๓  อย่างไรก็ตามการบวชครั้งนี้ผิดจากที่จอมพลคิดว่าจะแวะหรือกลับไปจำพรรษาที่เมืองไทยแต่ก็ต้องยกเลิกเมื่อได้คำตอบ “ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล” จากจอมพลสฤษดิ์ว่าไม่อยากให้กลับมาเพราะ “สำหรับท่าน (จอมพล ป.) นั้นไม่มีอะไร แต่ไม่แน่ใจว่าพรรคพวกที่ใกล้ชิดของท่าน…จะไม่ถือโอกาสแห่กันไปแบกท่านขึ้นบ่าเข้ามาอีกเหมือนวันรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน…ถ้าท่านเข้ามาผมก็จำเป็นต้องจับ”
     
    ช่วงนี้มีคำบอกเล่าจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยานายปรีดี ว่าจอมพล ป. ส่งโปสต์-การ์ดถึงปรีดีที่ขณะนั้นพำนักอยู่ในฝรั่งเศสด้วยข้อความสั้น ๆ ว่า “Please อโหสิ”
     
    หลังลาสิกขากลับญี่ปุ่น จอมพล ป. จึงซื้อบ้านที่เมืองซะกะมิฮะระที่อยู่ห่างโตเกียวออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๓๐ กิโลเมตรและใช้ชีวิตอย่างสงบ  อย่างไรก็ตามฐานะ “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” ก็ถูกตอกย้ำในหลายโอกาส อาทิ ปี ๒๕๐๖ เมื่อบุคคลสำคัญจากไทยไปเยือนญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ขอให้จอมพล ป. เดินทางไป “ตากอากาศ” นอกเมืองเสียโดยจะออกค่าใช้จ่ายให้ เรื่องนี้จอมพล ป. เขียนจดหมายบอกลูกชายว่า “ไม่มีความเห็นขัดข้องประการใด เราไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอะไรก็ควรทำตนเป็นพลเมืองดีต่อไป…”
     
    ปี ๒๕๐๖ สุขภาพจอมพล ป. เริ่มทรุดลงเมื่อต้องตัดถุงน้ำดีที่เจอ “หิน stone (นิ่ว) ก้อนขนาดใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย…รวม ๒๐๐ เม็ด” มีแผลผ่าตัดยาวตั้งแต่หน้าอกจนถึงสะดือ ต้องพักฟื้นพักใหญ่สุขภาพจึงกลับมาแข็งแรง
     
    จนวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๗ จีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรีจอมพล ป. บันทึกว่าบิดา ตื่นนอน ทำสวน จัดห้อง เรียนภาษาญี่ปุ่น ไปซื้อกับข้าว  หลังรับประทานอาหารค่ำ “ท่านก็ลุกขึ้นไปข้างบน พร้อมกับบ่นว่าเจ็บที่หน้าอก ซึ่งท่านก็เคยบ่นอยู่แล้ว” เมื่อท่านผู้หญิงละเอียดตามไปดูก็พบว่าจอมพล ป. ยืนรับประทานยาอยู่ ก่อนจะขอตัวลงมาเดินผ่อนคลายในสวนแล้วกลับขึ้นไปฉายไฟอินฟราเรดตรงหน้าอก  ถึงตอนนี้ท่านผู้หญิงละเอียดตัดสินใจเรียกหมอ  เมื่อหมอมาถึงจึงนำตัวส่งโรงพยาบาล ทว่า “หมอที่โรงพยาบาลก็กำลังติดการผ่าตัดอยู่ในห้องอีก และบอกให้วัดหัวใจคุณพ่อด้วยคาดิโอแกรมไว้”  ถึงตอนนี้เพื่อนบ้านสองคนมาช่วยพยาบาลจอมพลที่ถูกนำมานอนพัก  “ฉันรู้สึกจะเป็น heart attack (หัวใจวาย)” จอมพล ป. เอ่ยกับท่านผู้หญิงละเอียด     “ไม่จริง ไม่จริง เธออย่าพูดอย่างนั้น” ท่านผู้หญิงละเอียดซึ่งประคองศีรษะจอมพลร้อง    
    “เธอ ความตายคือความสุข”    ก่อนจะสิ้นใจอย่างสงบด้วยวัย ๖๗ ปี
     
    http://www.sarakadee.com/2015/02/11/por-pibulsongkram/4/

     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×