ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #138 : รู้หรือไม่ "ประเทศไทยเริ่มใช้เวลามาตรฐานตั้งแต่เมื่อใด"

    • อัปเดตล่าสุด 5 เม.ย. 52





         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ คือ การเปลี่ยนเวลาของนาฬิกาในประเทศไทยให้เร็วขึ้นอีก ๑๘ นาที กับ ๒.๗ วินาที และได้ใช้กันเป็นเวลามาตรฐานมาจนทุกวันนี้

         ในสมัยโบราณ คนไทยกำหนดเวลากันอย่างคร่าว ๆ เป็นต้นว่า  เวลาพระอาทิตย์ขึ้นเรียกว่า ย่ำรุ่ง  เวลาพระอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะเรียกว่า เที่ยงวัน เวลาพระอาทิตย์ตกเรียกว่า ย่ำค่ำและเวลากึ่งกลางระหว่างย่ำค่ำกับย่ำรุ่งเรียกว่า เที่ยงคืนครั้นเมื่อทางราชการทหารเรือได้ตั้งกรมอุทกศาสตร์ขึ้น มีที่ทำการอยู่ภายในบริเวณพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ได้มีเครื่องวัดแดด (พระอาทิตย์) และมีนาฬิกาใช้ ทำให้การกำหนดเวลามีความละเอียดยิ่งขึ้นเป็นชั่วโมง นาที และวินาที มีความถูกต้องแมนยำเป็นอย่างดี และได้กำหนดว่าเวลาของประเทศไทย(วัดที่บริเวณพระราชวังเดิม) เร็วกว่าเวลาเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ ๖ ชั่วโมง ๔๑ นาที ๕๘.๒ วินาที

         ต่อมากรมอุทกศาสตร์ได้ย้ายออกมาตั้งอยู่ภายนอกพระราชวังเดิม และพิจารณาเห็นว่าจุดตำบลที่ยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นตำบลซึ่งกรมแผนที่ได้คำนวณมีหลักฐานแน่นอนถูกต้องกว่าบริเวณพระราชวังเติมซึ่งใช้อยู่แต่ก่อน  จึงได้ย้ายมาตรวจวัดแดด ณ บริเวณพระปรางค์นี้ ดังนั้นเวลาของประเทศไทย (วัดที่ยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม) จึงถูกกำหนดให้เร็วกว่าเวลาเมืองกรีนิช ๖ ชั่วโมง ๔๑ นาที ๕๗.๓  วินาที และทางราชการได้ถือเวลานี้เป็นเวลา ยิงปืนเที่ยง ในพระนคร และเป็นเวลาที่ถือใช้กันทั่วประเทศไทย

         เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีประเทศต่าง ๆ ประชุมปรึกษากันเป็นครั้งแรกเพื่อจะให้กำหนดเวลาที่ใช้สำหรับประเทศต่าง ๆ ให้นับห่างกันเพียงกึ่งชั่วโมง เพื่อให้เป็นการสะดวกแก่การที่จะคิดคำนวณและสังเกตได้ง่าย และเรียกกำหนดเวลานี้ว่า เวลาอัตรา

         ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการประชุมว่าด้วยอุทกศาสตร์  ที่กรุงลอนดอน  ประเทศอังกฤษ  รัฐบาลไทยก็ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมครั้งนั้นด้วย ที่ประชุมได้ตกลงกันให้แบ่งเขตหรือภาคของเวลาออกเป็นส่วน ๆ ทั่วโลก ประเทศใดตกอยู่ในส่วนใดก็ใช้เวลาของส่วนนั้นตลอดไป และได้กำหนดให้ตำบล ณ หอตรวจดาวที่เมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ เป็นจุดแรกแห่งการกำหนดและเรียกว่า เวลามาตรฐานกรีนิช (Greenwich Mean Time หรือย่อเป็น GMT) ส่วนภาคของเวลามีกำหนดด้วยเส้นแวง (ลองจิจูด) ภาคละ ๑๕ องศา ซึ่งคิดเป็นเวลาเท่ากับ ๑ ชั่วโมง (โลกเป็นเสมือนวงกลมจึงแบ่งเป็น ๓๖๐ องศาเส้นแวง และโลกหมุนรอบตัวเองใช้เวลา  ๒๔ ชั่วโมง  ดังนั้นในเวลา    ชั่วโมง  โลกจึงเคลื่อนที่ไป ๑๕ องศาเส้นแวง)

         ประเทศไทยมีอาณาเขตอยู่ระหว่างเส้นแวง ๙๗.๕ องศาตะวันออก กับเส้นแวง ๑๐๕ องศาตะวันออก ซึ่งถ้ากำหนดใช้เวลาอัตราตรงเส้นแวง ๙๗.๕ องศาตะวันออก ผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็จะเป็นเวลาก่อนเวลามาตรฐานกรีนิช ๖ ชั่วโมงครึ่ง  แต่ถ้ากำหนดใช้เวลาอัตราตรงเส้นแวง ๑๐๕ องศาตะวันออกผ่านจังหวัดอุบลราชธานีก็จะเป็นเวลาก่อนเวลามาตรฐานกรีนิช ๗ ชั่วโมงพอดี

         เพื่อความสะดวก ประเทศไทยจึงได้ประกาศเปลี่ยนมาใช้เวลาอัตรา หรือเวลามาตรฐานสำหรับประเทศไทย เป็นเวลาก่อนเวลามาตรฐานกรีนิช ๗ ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นต้นมา

    ข้อมูลนี้ได้มาจากสารานุกรมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎกล้าเจ้าอยู่หัว

    ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี 
    ภาพประกอบจาก http://farm1.static.flickr.com/68/190101132_a654931331.jpg

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×