ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #128 : รู้หรือไม่ "สินสอดทองหมั้นคืออะไร และใครเป็นผู้มีสิทธิ"

    • อัปเดตล่าสุด 9 มี.ค. 52


    สินสอดทองหมั้นคืออะไร และใครเป็นผู้มีสิทธิ
    โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์.
    ขอบคุณภาพประกอบจาก hotref.com
           เมื่อกล่าวถึงสินสอดและทองหมั้นทุกท่านคงคิดและเข้าใจไปในทางเดียวกันก็คือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงาน ซึ่งตามประเพณีไทยไม่ว่าจะเป็น เหนือ อีสาน กลาง ใต้ ออก ตก ก็มีธรรเนียมประเพณีแตกต่างกันไป แต่ยังคงไว้ซึ่งจุดมุ่งหมายอันเดียวกันนั่นคือคำมั่นสัญญาของชายและหญิงว่าจะสมรสอยู่กินกันฉันสามีภรรยาต่อไป ไม่ว่าตามจารีตประเพณีจะเป็นเช่นไร แต่หากเกิดกรณีพิพาทกันขึ้นในเรื่องสินสอดและทองหมั้น ทรัพย์สินต่างๆที่ให้ไว้แก่กันนั้นจะเป็นสินสอดและของหมั้นที่กฎหมายให้ความคุ้มครองหรือไม่ หรือใครจะเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์สินนั้นก็ต้องนำหลักกฎหมาย (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ลักษณะ ๑ หมวด ๑ การหมั้น) มาใช้ในการวินิจฉัย
           
           ของหมั้น ตามกฎหมายต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
           
           
    1. ของหมั้นต้องเป็นทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นแก้ว แหวน เงินทอง รถยนต์ ไปจนถึงบ้าน คอนโด ที่ดิน และยังรวมไปถึงสิทธิต่างๆที่ตีมูลค่าเป็นเงินได้ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่เป็นของหมั้นได้
           
           2. ของหมั้นต้องเป็นสิ่งที่ฝ่ายชายได้ให้ไว้แก่ตัวหญิงเอง และหญิงได้รับของสิ่งนั้นไว้เอง แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ หญิงให้แก่ชาย หรือ หญิงให้แก่หญิง หรือ ชายให้กับชาย ในทางกฎหมายไม่อาจถือว่าของสิ่งนั้นเป็นของหมั้นแม้ผู้ให้และผู้รับเจตนาที่จะให้สิ่งของเหล่านั้นเป็นของหมั้นก็ตาม แต่ถือเป็นเพียงการให้โดยสเน่หาอย่างหนึ่งเท่านั้น
           
           3. ของหมั้นต้องส่งมอบหรือโอนให้แก่หญิงในวันหมั้นโดยหญิงได้รับไว้หรือรับโอนทางทะเบียนในกรณีที่ของหมั้นเป็นทรัพย์สินที่ต้องจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น หากเป็นเป็นเพียงสัญญาจะให้แต่ไม่มีการส่งมอบหรือโอนให้กันจริงในวันหมั้นทรัพย์สินเหล่านั้นไม่ถือเป็นของหมั้นตามกฎหมายและหญิงไม่อาจฟ้องเรียกให้ส่งมอบในภายหลังได้
           
           4. ของหมั้นนั้นฝ่ายชายต้องให้แก่หญิงโดยมีเจตนาที่จะให้ของหมั้นนั้นเป็นหลักฐานว่าจะสมรสหญิงต่อไปซึ่งต้องมีเจตนาไปถึงขั้นที่ว่าจะจดทะเบียนสมรสด้วย มิใช่ประสงค์แต่เพียงจะจัดงานสมรสขึ้นในภายหลังเท่านั้น ทั้งของหมั้นนี้ต้องได้ให้ไว้ก่อนการจดทะเบียนสมรสด้วยมิเช่นนั้นแล้วของสิ่งนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นของหมั้นเป็นแต่เพียงการให้โดยสเน่หา

           
           หากของสิ่งใดเข้าลักษณะเป็นของหมั้นดังกล่าวแล้วของสิ่งนั้นก็จะตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันทีซึ่งฝ่ายชายอาจเรียกคืนได้เฉพาะในกรณีที่หญิงผิดสัญญาไม่สมรสด้วยเท่านั้น
           
           ส่วนสินสอดนั้น ต้องมีลักษณะสำคัญดังนี้
           
           1. สินสอดต้องเป็นทรัพย์สินเช่นเดียวกับของหมั้น
           
           2. สินสอดต้องเป็นสิ่งที่ฝ่ายชายให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิงซึ่งมิได้ให้แก่ตัวหญิงเองอย่างของหมั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งไปที่ตัวพ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิง หากหญิงไม่มีตัวบุคคลดังกล่าวอยู่แล้วแม้จะมีการตกลงกันให้มอบทรัพย์สินนั้นแก่หญิงเองก็ไม่ทำให้ทรัพย์สินนั้นเป็นสินสอดไปได้ และสินสอดที่ตกลงให้กันนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งมอบให้แก่ฝ่ายหญิงทันทีอย่างของหมั้นเพียงแต่ตกลงที่จะให้หรือจะนำมาให้ภายหลังก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นสินสอดที่ทำให้ฝ่ายหญิงมีสิทธิเรียกร้องได้
           
           3. สินสอดต้องเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสด้วยซึ่งต้องกินความถึงขนาดที่จะต้องมีการจดทะเบียนสมรสกันตามกฏหมาย แต่ไม่ใช่การให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิงที่ให้ความยินยอมในกรณีที่หญิงยังเป็นผู้เยาว์
           
           สินสอดเมื่อให้แล้วจะตกเป็นสิทธิของพ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิงทันทีแม้ชายหญิงจะยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ตามเพียงแต่ฝ่ายชายอาจเรียกสินสอดคืนได้ถ้าการสมรสไม่มีขึ้นเพราะตัวหญิงเองเป็นต้นเหตุ หรือเป็นเหตุที่ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ซึ่งในกรณีนี้รวมไปถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่เป็นเหตุให้ไม่มีการสมรสขึ้น ถึงอย่างไรก็ตามชายหญิงจะทำการหมั้น หรือการสมรสกันโดยไม่มีสินสอดก็ได้ เพียงแต่ว่าหากมีการตกลงให้สินสอดกันแล้ว พ่อแม่ ผู้ปกครองของหญิงเท่านั้นมีสิทธิเรีนกเอาสินสอดดังกล่าวได้
           
           จากลักษณะสำคัญของทั้งสินสอดและของหมั้นดังกล่าวจะทำให้สามารถเห็นภาพของสินสอดและทองหมั้น (ของหมั้น) ในทางกฎหมายได้ดียิ่งขึ้นมากกว่าความเข้าใจในแบบจารีตประเพณีทั่วไป ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดสิทธิตามสัญญาหมั้นแก่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่จะเรียกร้องหรือเรียกคืนสินสอดและของหมั้นระหว่างกันได้เท่านั้น แต่การทำสัญญาหมั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการสมรสว่าจะต้องมีการหมั้นก่อนแต่ประการใดแม้ว่าการให้ของหมั้นนั้นจะเป็นการให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกัน หรือการให้สินสอด ที่เป็นการให้ไว้เพื่อตอบแทนการที่หญิงยินยอมสมรสก็ไม่ได้หมายความว่าหากมีการผิดสัญญาคือไม่มีการสมรสเกิดขึ้นแล้วจะมีใครไปบังคับให้ชายหญิงต้องสมรสกันได้ ซึ่งหากมีการบังคับกันจริงการสมรสนั้นก็ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะการสมรสจะเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ได้ชายหญิงต้องยินยอมเป็นสามีภรรยากันเท่านั้น ดังนั้นความยินยอมในทางกฎหมายหรือความรักตามหลักความเป็นจริงจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สอดคล้องกันอันจะทำให้การสมรสของชายและหญิงเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×