ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ล้ำโลกโลกาภิวัฒน์

    ลำดับตอนที่ #187 : “โดมแอลอีดี” แก้เด็กตัวเหลือง ไม่ร้อน-ใช้ที่บ้านได้

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 90
      0
      3 ก.ย. 57

     
           นักวิจัย ม.สยาม พัฒนาโดมส่องไฟแอลอีดีประหยัดพลังงานรักษาภาวะตัวเหลืองในทารก ไม่สร้างความร้อน ป้องกันผิวลูกน้อยไหม้ นำกลับไปใช้ที่บ้านได้ แก้ปัญหาเด็กล้นโรงพยาบาล
           
           ดร.พุทวรรณ ชูเชิด อาจารย์ประจำ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า ภาวะตัวเหลืองในทารก เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในเด็กแรกเกิด เกิด (bilirubin) ที่เป็นสารสีเหลือง ในทารกปกติจะมีสารนี้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ แต่ในทารกที่มีภาวะตัวเหลืองจะมีปริมาณบิลิรูบินในปริมาณมากกว่าปกติ ทั้งในกระแสเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้มองเห็นทารกมีผิวสีเหลืองขึ้น
           
           “อาการตัวเหลืองในทารกมี 2 แบบคือ อาการตัวเหลืองปกติ ที่จะเห็นทารกมีผิวเหลืองหลังคลอดประมาณ 2-3วัน และอาการตัวเหลืองผิดปกติที่ทารกจะมีลักษณะตัวเหลืองแต่กำเนิด และผิวเหลืองมากจนสังเกตได้ อาการตัวเหลืองในทารกไม่ถือว่าเป็นโรค หรืออาการร้ายแรงแต่เป็นอาการที่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในอดีตจะรักษาโดยการพาเด็กออกไปตากแดดยามเช้าเพื่อรับวิตามินดี และการให้เด็กกินนมแม่มากๆ เพื่อขับสารบิลิรูบินออกทางปัสสาวะให้ได้มากที่สุด แต่ในปัจจุบันจะใช้การรักษาด้วยการให้ความเข้มแสงจากโดมส่องไฟ ซึ่งจำเป็นต้องทำที่โรงพยาบาล” ดร.พุทวรรณกล่าว
           
           ด้าน นายพิทักษ์พงษ์ บุญประสม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า แต่เดิมโคมส่องไฟรักษาภาวะเด็กตัวเหลือง จะเป็นโดมที่ประกอบเข้ากับหลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องความร้อนที่หากให้แสงเป็นเวลานานๆ ผิวอาจไหม้ได้ ทางทีมแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าจึงเสนอแนวคิดให้พัฒนาโดมส่องไฟเด็ก ที่ไม่ให้ความร้อนและผู้ปกครองสามารถนำกลับไปส่องไฟเด็กที่บ้านได้ เนื่องด้วยปัญหาเด็กล้นโรงพยาบาลจึงได้พัฒนาโดมส่องไฟรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแอลอีดีและสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านขึ้น
           
           “ปกติแล้วการส่องไฟเด็กจะใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เหมือนที่ใช้กันในครัวเรือนแต่เป็นแบบสั้นมาประกอบเข้ากับแผงไฟเหมือนที่ติดฝังบนฝาผนังซึ่งมีขนาดใหญ่เทอะทะ และมีข้อเสียในเรื่องของความร้อน ทุกคนจะทราบกันดีว่าหลอดฟลูออเรซเซนต์เมื่อเปิดใช้เป็นเวลานานจะมีความร้อนแผ่ออก เช่นเดียวกันหากนำมาใช้กับทารกเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวไหม้ได้ งานวิจัยนี้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี '55 โดยเริ่มต้นจากการศึกษาชนิดของหลอดไฟที่ให้ความเข้มแสงได้คุณภาพดีเช่นเดียวกับหลอดฟลูออเรสเซนต์แต่ไม่ให้ความร้อน ซึ่งหลอดไฟแอลอีดีคือสิ่งที่ตอบโจทย์ แม้ราคาจะสูงขึ้นประมาณ 10-15 % แต่หลอดไฟแอลอีดีประหยัดพลังงาน และมีประสิทธิภาพรวมถึงอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์” เจ้าของงานวิจัยกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
           
           นอกจากตัวหลอดไฟที่เปลี่ยนไปแล้ว ทีมวิจัยยังพัฒนาในเรื่องของรูปทรงให้สะดวกแก่การนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ด้วย เนื่องจากภาวะเด็กล้นโรงพยาบาลและอาการตัวเหลืองไม่ใช่โรคหรืออาการที่รุนแรงการพัฒนาให้มีเครื่องมือที่สามารถนำกลับไปดูแลทารกเองที่บ้านได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับพ่อแม่เด็ก จากรูปแบบเดิมที่คล้ายแผงไฟขนาดใหญ่ ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบโดมที่มีรูปร่างคล้ายประตูเหล็กสามารถยืดและพับได้ ซึ่งวิศวกรสามารถดูและและออกแบบเรื่องความปลอดภัยต่อทารกได้ แต่ในส่วนการทดลอง การปรับความเข้มแสง และการนำมาใช้จริงกับทารกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยทีมแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิจัย วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
           
           “งานวิจัยนี้ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ และนำมาใช้แล้วที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าเป็นแห่งแรกนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นการทำวิจัยสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับคน การทดลองต่างๆ จึงจำเป็นต้องค่อยเป็นค่อยไป และเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด” ทีมวิจัยระบุ
           
           ด้าน นายขวัญชัย กังเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงตัวผลงานว่า ตัวโดมทำขึ้นจากวัสดุคล้ายพลาสติกโพลิเมอร์ มีขนาดความกว้าง 260 มิลลิเมตร ความยาว 350 มิลลิเมตร ความสูง 290 มิลลิเมตร ใช้หลอดแอลอีดี (LED : Light Emitting Diode) ผลิตความเข้มแสงเชิงสเปกตรัมในระดับมาตรฐานแทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่มีปัญหาในเรื่องของการเกิดความร้อนเมื่อใช้เป็นเวลานานๆ โดยสร้างขึ้น 2 แบบด้วยกัน คือ แบบปรับค่าความเข้มแสงได้และค่าความเข้มแสงคงที่ โดยวัดค่าความเข้มแสงเชิงสเปคตรัมด้วยบิลิบลานเก็ตไลน์มิเตอร์ (biliblanket light meter) และวัดอุณหภูมิภายในโดมด้วยดิจิทัลเทอร์โมมิเตอร์
           
           ผลการทดลองโดมส่องไฟทั้ง 2 แบบ พบว่าแบบปรับค่าความเข้มแสงได้ สามารถปรับความเข้มแสงเชิงสเปคตรัมได้ตั้งแต่ 0.6-14 ไมโครวัตต์ ต่อตารางเซนติเมตร ต่อนาโนเมตรและมีอุณหภูมิภายในขณะใช้สูงสุด 28.2 องศาเซลเซียส ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานที่กุมารแพทย์กำหนดไว้อยู่ที่ 8-11 ไมโครวัตต์ต่อตารางเซนติเมตร ต่อนาโนเมตร อยู่ในเกณฑ์สำหรับการใช้รักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดชนิดไม่รุนแรง ในส่วนของแบบที่มีค่าความเข้มแสงคงที่ มีค่าเฉลี่ย 40.5 ไมโครวัตต์ ต่อตารางเซนติเมตร ต่อนาโนเมตร และมีอุณหภูมิภายในขณะใช้งานสูงสุด 28.7 องซาเซลเซียส สำหรับใช้รักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดชนิดรุนแรง ซึ่งต้องการความเข้มแสงเชิงสเปคตรัมมากกว่า 30 ไมโครวัตต์ ต่อตารางเซนติเมตรต่อนาโนเมตร
     
           ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000091393
     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×