ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    งานศึกษาและวิจัยจากทั่วโลกที่น่าสนใจ

    ลำดับตอนที่ #27 : อังกฤษพัฒนา "ผิวปลอม" สำเร็จ-ปฏิวัติวิธีรักษาบาดแผลร้ายแรง

    • อัปเดตล่าสุด 19 เม.ย. 51


    อังกฤษพัฒนา "ผิวปลอม" สำเร็จ-ปฏิวัติวิธีรักษาบาดแผลร้ายแรง
    โดย ผู้จัดการออนไลน์
    คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
    ไฟโบรบลาสต์รับบทบาทหลักในการรักษาบาดแผลและสร้างผิวหนังใหม่





    บีบีซีนิวส์/เดลิเมล์/เอเยนซี - นักวิจัยอังกฤษประสบความสำเร็จในการพัฒนาผิวหนังปลอม เชื่อปฏิวัติวิธีการรักษาเหยื่อไฟคลอก-น้ำร้อนลวก และปิดฉากการบำบัดด้วยการตัดผิวหนังบริเวณอื่นมาแปะแทนที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวมากขึ้น
           
           ผิวหนังปลอมที่ได้รับการอวดสรรพคุณว่าเป็น ‘จอกศักดิ์สิทธิ์’ สำหรับการรักษาบาดแผลนี้ คิดค้นโดยนักวิจัยจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ อินเตอร์ไซเท็กซ์ (Intercytex Group) ในเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร
           
           ดร.พอล เคมป์ (Paul Kemp) หัวหน้านักวิจัยของอินเตอร์ไซเท็กซ์ ที่ร่วมงานกับเคน ดันน์ (Ken Dunn) ศัลยแพทย์ที่ปรึกษาแผนกผู้ป่วยไฟไหม้-น้ำร้อนลวกของโรงพยาบาลไวเทนชอว์ (Wythenshawe Hospital) ในแมนเชสเตอร์ เผยว่าวิธีการคือ นำไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตคอลลาเจนหรือโปรตีนที่ทำให้ผิวหนังยืดหยุ่นและแข็งแรงและได้รับบริจาคมาไปเพาะเลี้ยงในถาดรูปสี่เหลี่ยมในห้องวิจัย
           
           ไฟโบรพลาสต์เหล่านั้นจะถูกกระตุ้นด้วยสารเคมีหลายชนิดเพื่อให้แบ่งตัวและผลิตคอลลาเจน หลังจากนั้น 6-7 สัปดาห์ ไฟโบรบลาสต์กับคอลลาเจนจะรวมตัวกันกลายเป็นวัสดุที่คล้ายผิวหนัง
           
           ทีมวิจัยอธิบายว่ากระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะต้นแบบของผิวหนังอยู่ในรูปแบบที่เสถียรซึ่งทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการรักษาได้มากกว่า ทั้งนี้โดยปกติแล้วคอลลาเจนจะถูกสังเคราะห์จากเซลล์ได้โดยตรงและเป็นกระบวนการรักษาโดยธรรมชาติที่ถอดแบบได้เกือบเหมือนเดิม
           
           "มันให้ผลการทำงานที่ดีกว่าวัสดุที่มีความพยายามนำมาทดแทนผิวหนังในอดีต" ดร.เคมป์กล่าว
           
           วารสารรีเจเนเรทีฟ เมดิซิน (Regenerative Medicine) รายงานว่า ในการทดลอง นักวิจัยตัดผิวหนังของอาสาสมัครสุขภาพดีบริเวณเล็กๆ เป็นรูปวงรีออก และนำผิวหนังที่เพาะเลี้ยงจากห้องวิจัยมาปลูกถ่ายแทน ปรากฏว่าผิวหนังปลอมเชื่อมติดกับผิวหนังจริงของอาสาสมัครอย่างรวดเร็ว ภายในหนึ่งเดือนแผลหายสนิทโดยหลงเหลือแผลเป็นเพียงเล็กน้อย
           
           เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู พบว่าผิวหนังปลอมไม่แตกต่างจากผิวหนังธรรมชาติแต่อย่างใด นอกจากนั้น เครือข่ายเส้นเลือดยังกระจายครอบคลุมบนบริเวณที่เป็นผิวหนังปลอม ที่สำคัญ ร่างกายของอาสาสมัครไม่แสดงอาการต่อต้านผิวหนังปลอมแม้แต่น้อย
           
           "ชิ้นส่วนที่ทำขึ้นมาเฉพาะนี้ประพฤติตัวคล้ายผิวหนังของคนไข้เอง ดูเหมือนว่ามันจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างผิวหนังโดยส่งผลข้างเคียงน้อยกว่าวัสดุอื่นๆ ที่เราเคยใช้มา ถ้าหากมีการสนับสนุนให่ใช้ในระดับคลีนิคอย่างกว้างขวาง เราก็สนใจที่จะใช้กับกลุ่มผู้ป่วยของเรา" ดันน์กล่าว
           
           นักวิจัยคาดหวังว่าในอนาคตผิวหนังปลอมที่ขณะนี้เรียกว่า ICX-SKN จะสามารถนำไปทดแทนผิวหนังของเหยื่อที่ถูกไฟคลอก รวมถึงรักษาแผลของคนไข้อื่นๆ ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องตัดผิวหนังบางส่วนออก
           
           ดร.สตีเฟน มิงเกอร์ (Stephen Minger) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การฟื้นฟูจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (King's College London) ยกย่องว่านวัตกรรมนี้เป็นการปฏิวัติการรักษาบาดแผลและเวชศาสตร์การฟื้นฟูโดยรวม
           
           ทั้งนี้ริชาร์ด โมลสัน (Richard Moulson) จากอินเตอร์ไซเท็กซ์ เชื่อว่าจะเปิดตัว ICX-SKN ในเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 3 ปี โดยที่สามารถผลิตออกมาในขนาดต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับบาดแผลที่ต้องการใช้ อีกทั้งยังเก็บรักษาได้ง่ายภายในช่องแข็ง
           
           “ศัลยแพทย์เพียงนำ ICX-SKN ในขนาดที่ต้องการออกจากช่องแข็งมาวางบนบริเวณบาดแผล และใช้แถบกาวฆ่าเชื้อติด ก่อนปิดผ้าพันแผลทับอีกชั้นเท่านั้น” โมลสันกล่าว
           
           ก่อนหน้านี้ เคยมีการพยายามพัฒนาผิวหนังปลอมแต่ล้มเหลวมาตลอด ทำให้ศัลยแพทย์พากันชื่นชมยินดีต่อความสำเร็จของอินเตอร์ไซเท็กซ์ กระนั้น นักวิจัยบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ควรมีการปลูกถ่ายผิวหนังปลอมในบริเวณกว้าง เพื่อดูว่าร่างกายจะปฏิเสธผิวหนังใหม่หรือไม่
           
           ดร.ฟิล สตีเฟนส์ (Dr.Phil Stephens) ผู้เชี่ยวชาญด้านเซลล์ชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) กล่าวว่าการศึกษาในอนาคตจำเป็นต้องมีหลักฐานว่าระบบนี้จะมีมั่นคงดีก่อนที่จะนำออกสู่ตลาด
           

           "อย่างไรเสียระบบการทดแทนผิวหนังนี้ก็มีประสิทธิภาพที่ลดรอยแผลได้รวดเร็วอย่างน่าประหลาด และช่วยรักษาบาดแผลเรื้อรังในคนไข้ที่อายุมากเพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" ดร.สตีเฟนส์กล่าว
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×