ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    งานศึกษาและวิจัยจากทั่วโลกที่น่าสนใจ

    ลำดับตอนที่ #20 : ผลวิจัยล่าสุดยัน “จันทร์เต็มดวง” ไม่เกี่ยวอุบัติเหตุ-อาชญากรรมเพิ่ม

    • อัปเดตล่าสุด 18 เม.ย. 51


    ผลวิจัยล่าสุดยัน “จันทร์เต็มดวง” ไม่เกี่ยวอุบัติเหตุ-อาชญากรรมเพิ่ม
    โดย ผู้จัดการออนไลน์
    เอพี – “เคยไหม? เวลาที่คุณยกของหนักๆ แล้วเกิดปวดหลัง หรือนิ้วโป้งของคุณถูกค้อนทุบอย่างแรง แล้วก็โทษว่าเพราะวันนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ” นักวิชาการตั้งคำถามถึงความเชื่อที่มีมาช้านานและยังเป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไปถึงทุกวันนี้ ซึ่งพวกเขาวิเคราะห์แล้วว่า มันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลยแต่น้อย
           
           จากอุบัติเหตุและคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในออสเตรีย จนผู้คนพากันตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องราวร้ายๆ มักเกิดขึ้นในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงที่แสงจันทร์ส่องสว่างมากที่สุดในรอบ 1 เดือน นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลออสเตรียจึงต้องตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพื่อหาทางลดอุบัติเหตุและไม่ให้ประชาชนพากันหวาดหวั่นและวิตกกังวลทุกคืนวันเพ็ญ ข้อสรุปที่ได้ชัดเจนคือ ดวงจันทร์ไม่ได้มีอิทธิพลต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
           
           โรเบิร์ต ซีเบอร์เกอร์ (Robert Seeberger) นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ประจำกระกรวงเศรษฐกิจ (Ministry of Economic Affairs) ออสเตรีย เปิดเผยว่า เขาและทีมผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ร่วมกันศึกษาวิเคราะห์บันทึกคดีอาชญากรรมและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2543-2547 กว่า 500,000 คดี พบว่าไม่ได้สัมพันธ์กับวิถีโคจรและอิทธิพลของดวงจันทร์เลย
           
           “มีอุบัติเหตุและคดีความที่ได้ลงบันทึกประจำวันเฉลี่ย 415 เรื่องต่อวัน และเมื่อพิจารณาเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในคืนวันเพ็ญเฉลี่ยอยู่ที่ 385 คดี ซึ่งเป็นความต่างที่ไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติ” ซีเบอร์เกอร์ กล่าว
           
           นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ตรวจสอบด้วยว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่อัตราการเกิดอุบัติเหตุมีส่วนสัมพันธ์กับตำแหน่งของดวงจันทร์ ซึ่งเกี่ยวพันธ์กับแรงโน้มถ่วงของโลก โดยมีการกล่าวถึงทฤษฎีที่ว่าแรงโน้มถ่วงของโลกอาจมีผลกับการสัญจรไปมาของผู้คน
           
           “ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเกือบจะเป็นวงกลม และไม่มีความสำคัญทางสถิติระหว่างอัตราการเกิดอุบัติเหตุกับระยะที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วในวันที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลกมากที่สุดมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 400 ราย ขณะที่วันอื่นๆเฉลี่ยอยู่ที่ 396 ราย” ซีเบอร์เกอร์ ชี้แจง
           
           ความเชื่อเรื่องอิทธิพลของดวงจันทร์มีมาตั้งแต่คริสตศตวรรษแรกแล้ว เมื่อผู้เฒ่าไพลนี (Pliny the Elder) นักปราชญ์โรมันผู้มีชื่อเสียงได้บันทึกเรื่องราวจากการสังเกตของเขาว่า “ดวงจันทร์ก่อให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอนและทำให้ทุกผู้คนที่อยู่ภายใต้แสงจันทร์รู้สึกเคลิบเคลิ้มจนหลับใหลไปในที่สุด”
           
           อีกทั้งก่อนหน้านี้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้ศึกษาถึงอิทธิพลของดวงจันทร์ต่อของเหลวในร่างกาย เพราะนักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ฉะนั้น แรงดึงดูดของดวงจันทร์จึงมีอิทธิพลกับน้ำในร่างกายเช่นเดียวกับการเกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงในทะเล และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับของเหลวในร่างกาย จึงส่งผลต่อสุขภาพและสภาวะอารมณ์ด้วย และมีงานวิจัยที่เสนอไว้ว่าอัตราการก่ออาชญากรรมและการเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลเกิดขึ้นมากมายในค่ำคืนวันเพ็ญ
           
           ความสัมพันธ์ระหว่างอิทธิพลของดวงจันทร์กับเหตุอาชญากรรมเป็นที่กล่าวขานและทำให้ผู้คนตื่นตระหนกกันมากขึ้น เมื่อวารสารบริติชเมดิคอล (British Medical Journal) ตีพิมพ์ผลการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในปี 2527 ซึ่งนักวิชาการได้รายงานการศึกษาคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นช่วงปี 2521-2525 ใน 3 ท้องถิ่นของประเทศอินเดีย ทั้งในเมือง, ชนบท และชุมชนอุตสาหกรรม พบว่ามีอัตราการเกิดอาชญากรรมในวันพระจันทร์เต็มดวงมากเป็นพิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับวันอื่นๆ
           
           ทว่าในปี 2541 ได้มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งศึกษาการเกิดอุบัติเหตุจราจรในแคนาดา พบมีอุบัติเหตุทั้งที่รุนแรงและที่ผู้ขับขี่บาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเกิดขึ้น 250,000 ครั้งตลอดช่วง 9 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่พบว่ามีส่วนสัมพันธ์ใดๆกับวิถีของดวงจันทร์เลย งานวิจัยนี้จึงขัดแย้งกับความเชื่อเดิมอย่างสิ้นเชิง
           
           อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ประมาณ 385,000 กิโลเมตร นั้นเป็นระยะทางที่ไกลกันมาก และมนุษย์ก็เป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยมากๆเมื่อเทียบกับดวงจันทร์ จึงไม่น่ามีอิทธิพลต่อกันได้
           
           “ไม่มีเหตุผลเลยว่าทำไมมันถึงควรจะเป็นเช่นนั้น อาจเป็นไปได้ที่ผู้คนมักสนใจและเลือกจดจำว่ามีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นในวันพระจันทร์เต็มดวง แต่เมื่อไม่มีอะไรพิเศษเกิดขึ้น พวกเขาก็ไม่ได้สังเกตว่าดวงจันทร์กำลังทำอะไรอยู่เช่นกัน ซึ่งมันก็คือระบบความจำที่เลือกจำสิ่งที่เป็นเรื่องราวเล่าขานต่อๆ กันมา” ศาตราจารย์ ดี. จอห์น ฮิลไลเออร์ (D. John Hillier) นักดาราศาสตร์ชาวออสเตรียผู้หนึ่ง ซึ่งเขาไม่ได้อยู่ในทีมวิจัยแต่ได้ร่วมแสดงทัศนะ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×