ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #14 : รู้หรือไม่ "ชื่อจริง-ชื่อเล่น อะไรมีก่อนกัน"

    • อัปเดตล่าสุด 21 ส.ค. 51


            หลายๆคนอาจจะคิดว่าชื่อเล่นน่าจะกำเนิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตามนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด โดยความจริงคือคนไทยมีการตั้งชื่อจริงก่อนและเชื่อกันว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเพราะมีหลักฐานปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร
           
            ชื่อจริงในสมัยสุโขทัยนั้นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นคือเกือบทั้งหมดจะเป็นคำพยางค์เดียวและภาษาที่ใช้น่าจะเป็นภาษาไทยทั้งหมด โดยมีการตั้งชื่อมีความหมายสะท้อนถึงแนวคิดของคนในยุคนั้นคือความสัมพันธ์ฉันท์ญาติอาทิ อ้าย ยี่ ไส และแนวคิดเรื่องการมุ่งเอาความปลอดภัยมั่นคง และความเจริญของชุมชนเป็นหลักร่วมกัน เช่น คง จิด จอด ผากอง
           
            ต่อมาในสมัยอยุธยาและธนบุรี เริ่มมีการตั้งชื่อ 2 พยางค์ และมีการนำเอาภาษาบาลีสันสกฤต มาประยุกต์ใช้ ซึ่งความหมายของชื่อมักแสดงรูปธรรมที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน เช่น จัน (ต้นไม้) ทอง (ธาตุ) ฯลฯ หรือมีความหมาย แสดงกิริยาอาการเคลื่อนไหวที่กระทำอยู่อย่างปกติ เช่น มา พูน เลื่อน ฯลฯ
           
            ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหนต่อมาเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ระยะต้น โดยมีลักษณะแตกต่างจากคตินิยมเดิม คือมีชื่อที่มีความหมายในเรื่องอำนาจ ชัยชนะ และการสงครามเพิ่มขึ้นมา เช่น เฉลิมพล ณรงค์ ฯลฯ และชื่อที่มีความหมายเกี่ยวกับ ความรู้ ความฉลาด การศึกษา เช่น โกวิท ปรีชา สุธี ฯลฯ
           
            ในยุคปัจจุบันผู้คนนิยมสรรหาชื่อที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนคนอื่น จึงปรากฏชื่อที่มีรูปลักษณ์ทางภาษาแปลก ๆ หรือมีหลายพยางค์มากกว่าสมัยที่ผ่านมา โดยความหมายของชื่อจะลดความนิยมชื่อที่มีความหมายเป็นรูปธรรม และมีความหมายเป็นนามธรรมมากขึ้น
           
            ด้านประวัติของชื่อเล่นนั้นสันนิษฐานว่า น่าจะปรากฏครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรสมภพ ยศเจ้าฟ้ายังไม่มีในประเพณีกรุงศรีอยุธยา พระองค์เป็นราชนัดดาคงทรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า ฝรั่งจึงเรียกในจดหมายเหตุแห่งในสมัยนั้นว่า "The Black Prince" ตรงกับ "พระองค์ชายดำ" และเรียกพระอนุชาเอกาทศรถว่า "The White Prince" ตรงกับ "พระองค์ชายขาว"
           
            การตั้งชื่อเล่นปรากฏเป็นที่นิยมกันมากขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพราะในสมัยนั้นพระนามของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์มักเป็นคำมากพยางค์ ทำให้พระนามยาว และเรียกไม่สะดวก จึงต้องมีวิธีเรียกให้สั้นจนกลายเป็น "ชื่อเล่น" แต่กระนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับกาลเทศะของผู้พูดเป็นสำคัญ

    ที่มา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×